วันนี้คุณมักมีโอกาสเห็นโฆษณาคอร์สสัมมนาสอนขายของออนไลน์, สอนหาเงินออนไลน์, และสอนทำการตลาดออนไลน์ ปรากฏอยู่มากมายตามสื่ออนไลน์ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความต้องการ’ ของตลาดที่มีคนอยากขายของออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่โจทย์ที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว คือ ขายอะไรดี?
4 ความผิดพลาดสำหรับคนเริ่มต้นขายออนไลน์
ก่อนที่คุณจะไปดูกรณีศึกษาวิธีคิดวิเคราะห์หาสินค้าขายดีมาขายออนไลน์ THE CEO จะพาคุณไปดู 4 ความผิดพลาดที่พบบ่อยอันดับต้น ๆ จากคนอยากขายของออนไลน์
1 ขายของตามคนอื่น
เห็นใครขายอะไรแล้วขายดีก็ก็อปปี้มาขายตาม นี่คือวิธีปฏิบัติที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด และสิ่งที่ตามมาคือ การขายตัดราคากันไปมา เมื่อหน้าใหม่เข้ามาตัดราคาเพื่อแย่งลูกค้า คนเก่าก็ตัดให้ต่ำกว่าเพื่อดึงลูกค้ากลับ แย่งกันขายและตัดราคากันไปมาจนในที่สุดตลาดวายวอด
สิ่งที่ควรทำ : ศึกษาว่าทำไมสินค้าขายดีนั้นจึงขายดี และมีอะไรที่ตลาดยังไม่ได้รับการเติมเต็มจากสินค้าขายดีตัวเดิมนั้น คุณจะสร้างความแตกต่างอย่างไรได้บ้าง คุณจะสร้าง คุณค่า ให้ตลาดอย่างไรได้บ้าง ไม่ว่าจะสินค้าเดิมและเพิ่มเติมบริการ หรือ สินค้าใหม่ใน Niche market เดียวกัน เป็นต้น
2. ขายของที่คิดว่าขายง่าย
หนึ่งในความผิดพลาดอันดับต้น ๆ ของมือใหม่อยากขายของออนไลน์ คือ เมื่อคิดอะไรไม่ออกก็ขายอะไรที่คิดว่าขายง่ายไว้ก่อน อาทิ เสื้อยืด กระเป๋า ต่างหู เป็นต้น ฯลฯ และเมื่อมือใหม่จำนวนมากต่างก็ทำแบบนี้ มันจึงส่งผลให้ สินค้าประเภทนั้น ๆ ล้นตลาด
สิ่งที่ควรทำ : แน่นอนว่าในตลาดมีคนขาย เสื้อยืดที่ขายดีมาก และมีคนขายต่างหูที่ขายดีมาก คุณต้องไปศึกษาให้ลึกว่า ทำไมสินค้าที่ดูจากผิวเผินแสนธรรมดาจึงขายดี อะไรคือปัจจัย อะไรคือที่มาที่ไป เขามีสตอรี่อย่างไร เขามีแบรนด์อย่างไร เขาสร้าง คุณค่า ให้ลูกค่าอย่างไร เป็นต้น ฯลฯ
ยกตัวอย่าง Oxwhite แบรนด์เสื้อเชิร์ตสีขาวโดยผู้ประกอบการมาเลเซียที่ดูผิวเผินแสนจะธรรมดา แต่มียอดขายคิดเป็นเงินไทยหลายล้านบาทต่อเดือน
นั่นเพราะเขาออกแบบเสื้อเชิร์ตคุณภาพสูงสำหรับผู้ชายชาวเอเชียโดยเฉพาะ และสร้างคุณค่าด้วยแพกเกจจิ้งที่หรูหราในราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ในห้าง แต่กว่าที่เขาจะได้เสื้อเชิร์ตคุณภาพดัง เขาต้องตระเวณไปทั่วโลกและลองเสื้อหลายพันครั้งกว่าจะได้เสื้อต้นแบบ นี่คือ คุณค่า ที่คนมองไม่เห็นโดยผิวเผิน
3. ขายของที่มีราคาถูก
ขอยกตัวอย่างตลาด อาหารเสริมและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นตลาดที่คนอยากขายออนไลน์หน้าใหม่อยากทำเป็นอันดับต้น ๆ THE CEO ได้รับข้อมูลบ่อยครั้งว่าบางคนเริ่มต้นด้วย สบู่ และบางคนสั่งผลิตไปแล้วโดยไม่รู้จะนำไปขายใคร
สาเหตุที่พวกเขาเริ่มต้นที่ สบู่ ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ต้นทุนต่ำ และสามารถสั่งผลิตจำนวนหลายชิ้นด้วยเงินลงทุนไม่กี่หมื่นบาท ทำให้รู้สึกว่าความเสี่ยงต่ำ น่าจะขายง่าย และได้กำไรเร็ว นี่คือแนวคิดของมือใหม่เริ่มต้นด้วยสินค้าราคาต้นทุนถูก
สิ่งที่ควรทำ : ทำไมจึงเป็นแนวคิดเริ่มต้นหาของมาขายที่ผิด? เพราะสินค้าจะถูกจะแพงก็มีคนซื้อทั้งสิ้น โจทย์สำคัญที่สำคัญกว่าในการตัดสินใจลงทุนผลิตหรือสั่งซื้อสินค้าสักชิ้น คือ คุณจะขายใคร
4. ขายของที่ตนไม่เข้าใจ
ขออยู่ในตลาด อาหารเสริมและเครื่องสำอาง ต่อ เนื่องจากเป็นตลาดที่คนอยากทำมากเป็นอันดับต้น ๆ และผิดพลาดล้มเหลวมากเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน
คนจำนวนไม่น้อยเข้ามาในตลาดนี้ด้วยความไม่เข้าใจโมเดลธุรกิจ กล่าวคือ ตลาดอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ในบริบทที่จะพูดถึงมี 2 ประเภท ได้แก่ โมเดลค้าปลึก และ โมเดลระบบตัวแทน โดยผู้ประกอบการมือใหม่หลายคนไม่รู้และไม่เข้าใจว่า การขายอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ที่เห็นคนทำและดูจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่านั้นจริง ๆ แล้วเป็น โมเดลระบบตัวแทน ยอดขายหลัก ๆ มาจาก พ่อค้าแม่ค้าด้วยกันเอง มากกว่า End consumers (โมเดลค้าปลีก)
สิ่งที่ควรทำ : ศึกษาโมเดลธุรกิจและตลาดให้รอบคอบ ใครคือลูกค้าทีแท้จริง เพราะแต่ละโมเดลมีกลยุทธ์การทำงานต่างกันไปตามกลุ่มลูกค้า หากเข้ามายังธุรกิจด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ศึกษาข้อมูล ความเสียหายจึงบังเกิดทันที
3 กรณีศึกษา ขายของออนไลน์ ขายอะไรดี
ธุรกิจ คือ การแก้ปัญหาให้กับตลาด และต่อไปนี้คือ 3 กรณีศึกษาที่โดดเด่นของคนที่ประสบความสำเร็จในการคิดหาสินค้าที่แก้ปัญหา หรือ Pain Point ให้ตลาดจากการสังเกตสิ่งใกล้ ๆ ตัว
Steven Yang วิธีคิดหาสินค้าจาก Pain Point ในการทำงาน
Steven Yang อดีตวิศวกรชาวจีนประจำบริษัทเอกชน ปัจจุบันเป็นเจ้าของอุปกรณ์อีเลคทรอนิกส์ยี่ห้อ Anker ขายดีทั่วโลกด้วยมีมูลค่ากิจการสูงถึง 512 ล้านดอลล่า
จุดเริ่มต้นจากการสังเกตว่าวิถีการใช้งานอุปกรณ์อีเลคทรอนิกส์ของคนทำงานรอบตัว อาทิ โน้ตบุ๊ค และ สมาร์ทโฟน ที่ทำงานนอกสถานที่นาน ๆ มักต้องซื้อแบตเตอรี่และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ใหม่บ่อย ๆ เขาจึงเริ่มต้นทดลองขายสินค้าในหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์ Amazon.com ในรูปแบบของ ‘นายหน้า’ หรือ ‘Amazon Affiliate Program’
Steven Yang เริ่มต้นสร้างรายได้ออนไลน์โดยไม่ต้องลงทุนผลิต ไม่ต้องสต็อก ไม่ต้องแพ็ก และไม่ต้องส่ง จนกระทั่งรู้ว่าสินค้าไอเทมไหนขายดีที่สุดจึงค่อยเริ่มสร้างแบรนด์และผลิตสินค้าของตนเองมาขาย
ผู้ใหญ่มักสอนคนอยากเป็นนายตัวเองว่า ‘จงไปเป็นลูกจ้างเขาก่อน’ กรณีของ Steven Yang อาจเปรียบได้กับการเป็น Sales ฟรีแลนซ์ รับจ้างขายของให้คนอื่นจนมีความรู้ ความเข้าใจ ในตัวสินค้าและตลาดเป็นอย่างดี และจึงพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง และแทนที่จะเล่นสินค้าตลาดที่แข่งขันสูงอย่าง โน้ตบุ๊ค และ สมาร์ทโฟน เขาหันไปเล่นตัวอุปกรณ์เสริมที่คนซื้อซ้ำถี่กว่า
อ่าน ประวัตินักธุรกิจ Steven Yang ฉบับสมบูรณ์ ที่นี่
Jack Mann วิธีคิดหาสินค้าจาก Pain Point ในไลฟ์สไตล์
Jack Mann อดีตพนักงานขายประจำบริษัทเอกชนสู่ไลฟ์สไตล์ ‘หนุ่มพเนจรผู้ใช้ชีวิตอยู่กินในรถตู้’ ไม่ใช่เพราะจน แต่เพราะเขามีไลฟ์สไตล์แสนอิสระจากการขายที่อุดหูยี่ห้อ ‘Vibes; High Fidelity-Reusable Concert Earplugs’ ยอดมากกว่า 2 ล้านดอลล่า ต่อปีบนเว็บไซต์ Amazon.com
จุดเริ่มต้นเกิดจากไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชมการชมดนตรีสด แต่เสียงจากการโรงดนตรีสดส่งผลกระทบต่อแก้วหูของเขาจึงต้องใช้ Earplugs ในการเข้าชมดนตรีสด แต่ส่งที่ต้องแลกมา คือ ความบันเทิงในการฟังเพลงลดลง เขาจึงทดลองออกแบบและสั่งทำ Earplugs รุ่นพิเศษมาใช้เองและพบว่าผลลัพธ์ได้ทั้ง ความปลอดภัย และ ความบันเทิง ไปพร้อมกัน
Jack Mann มีเงินทุนไม่มากพอที่จะผลิตขายจำนวนมากและทำการตลาดไปพร้อมกัน เขาจึงไปออกรายการ Shark Tank
นักลงทุนแห่ง Shark Tank เสนอเงินทุน 100,000 ดอลล่าแลกกับหุ้น 35% — Jack Mann จึงปฏิเสธรับเงินลงทุนและนำผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ‘Vibes’ ของเขาไปขายผ่านโปรแกรม Amazon Launchpad ซึ่งเป็นแพลทฟอร์ม Pre-Sales สำหรับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีไอเดียดีแต่ไม่มีทุน สุดท้ายเขาได้เงินทุนจาก Pre-Sales สูงถึง 1,000,000 ดอลล่า!
อ่าน ประวัตินักธุรกิจ Jack Mann ฉบับสมบูรณ์ ที่นี่
Noah Kagan วิธีคิดหาสินค้าแบบ Statistic Approach
Noah Kagan เป็นนักธุรกิจแบบ Serial Entrepreneur ที่ชอบลงทุนในกิจการใหม่ ๆ โดยเขามุ่งเน้นการใช้เครื่องมือวิเคราะห์สถิติและตัวเลขเพื่อตัดสินใจเข้าสู่ตลาด
แนวทางของ Noah Kagan มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ วิเคราะห์สถิติเพื่อหาสินค้าขายดี วิเคราะห์สถิติเพื่อหาแนวโน้มอนาคตของสินค้านั้น ๆ และ วิเคราะห์ปริมาณเงินที่สินค้านั้น ๆ ทำเงินให้คุณตลอด Life time การทำธุรกิจ
วิเคราะห์สถิติเพื่อหาสินค้าขายดี คือการเซอร์เวย์ตามเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ อาทิ Amazom.com, eBay, และ Zappos เป็นต้น ฯลฯ หากเป็นในไทย ได้แก่ Lazada, และ Shopee เป็นต้น
เมื่อได้สินค้าขายดีมาแล้ว เขาจะนำสินค้านั้นมา วิเคราะห์สถิติเพื่อหาแนวโน้มอนาคตของสินค้านั้น ๆ ผ่านเครื่องมือออนไลน์ ได้แก่ Google Trend เพื่อหาเส้นแนวโน้มว่ามีคนพูดถึงมากน้อยแค่ไหน พูดถึงเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง จากนั้นวิเคราะห์ Keyword ว่ามีคนค้นหาต่อเดือนมากแค่ไหน และวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้านั้น ๆ ใน Facebook เพื่อดูว่ามีตลาดมากพอให้ยิงโฆษณาบน Facebook หรือไม่
สุดท้าย คือ วิเคราะห์ปริมาณเงินที่สินค้านั้น ๆ ทำเงินให้คุณตลอด Life time ธุรกิจ ซึ่งจะมีการแตกตัวเลขออกมาอย่างละเอียด หลายขั้น หลายตอน โดยมีรายละเอียดอธิบายไว้ในบทความเฉพาะของ Noah Kagan