เจาะเส้นทางธุรกิจ: Steven Yang แบรนด์ Anker อุปกรณ์มือถือที่แจ้งเกิดบน Amazon และขยายไป 24 ประเทศทั่วโลก

อุปมาอุปมัย สมาร์ทโฟน ได้กลายเป็น ‘ปัจจัยที่ 5’ สำหรับมนุษย์ที่ต้องมีติดตัวตลอดเวลาไปเสียแล้ว ความจำเป็นของสมาร์ทโฟนจึงตามมาด้วยการใช้อุปกรณ์ประกอบสมาร์ทโฟนต่าง ๆ อาทิ สายชาร์จ, พาวเวอร์แบงค์, หน้ากาก, ซองหรือเคสสวมใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ

หากคุณเป็นนักช็อปอุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟน คุณอาจคุ้นเคยกับแบรนด์ Anker ที่วันนี้ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์จีนธรรมดา แต่เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากอเมริกาและอีกกว่า 24 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องของคุณภาพที่เทียบเท่ากับแบรนด์ใหญ่อย่าง Apple หรือ Samsung ในราคาเอื้อมถึง

Steven Yang คือ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Anker ในนามบริษัท Hunan Ocean Wing E-Commerce Co. เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2011 โดยที่เขาไม่มีความรู้ในด้านการผลิตสินค้าเหล่านี้เลย เขาเป็นอดีต Software engineer ที่ Google สหรัฐอเมริกา ก่อนจะลาออกมาทำตามความฝันของตนเองโดยเริ่มต้นด้วยพนักงานเพียง 2 คนเท่านั้น (คือเขาและภรรยา)

ขณะที่ทำงานที่ Google เขาเคยทดลองทำการขายสินค้าให้แบรนด์อื่นผ่าน Amazon (เป็นการทำตลาดในรูปแบบ Affiliate คือ ช่วยโปรโมทสินค้าของผู้ขายคนอื่นและรับค่าคอมมิชชั่น) ซึ่ง Steven Yang มีรายได้จากการทำ Affiliate กับ Amazon ค่อนข้างมาก

ประสบการณ์ขายสินค้าบน Amazon ช่วยให้เขาเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และมีฐานข้อมูล (ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร และอีเมล์) ของลูกค้ามากพอสมควร เขาเริ่มมองเห็นแล้วว่าตลาดของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และทุกคนมีปัญหาเดียวกันคือ ต้องการอุปกรณ์เสริมที่คุณภาพดีและราคาไม่แพง ทุกคนต้องการการรับประกัน และคุณภาพที่เทียบเท่ากับแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ตนเองใช้

เช่น คนใช้ iPhone อยากได้สายชาร์จที่ดี แต่ก็ไม่อยากซื้อสายชาร์จ iPhone ของแท้เนื่องจากราคาที่สูงแต่จะซื้อของโนเนมก็กังวล กลัวว่าจะทำให้โทรศัพท์ของตนเองเสียหาย นี่คือ Pain point ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ Steven Yang เรียนรู้

ทำไม ผลิตภัณฑ์ตัวแรกจึงเป็นแบตเตอรี่โน้ตบุ๊ค?

ช่วงปี 2009-2011 ก่อนหน้าที่เขาจะก่อตั้งบริษัท สมาร์ทโฟน ยังแพร่หลาย และสิ่งที่นิยมมากว่าก็คือแบตเตอรีโน้ตบุ๊ค ที่หลายคนพกพาออกไปทำงานนอกบ้าน และสิ่งที่จะเสียเร็วที่สุดของโน๊ตบุ๊คก็คือ แบตเตอรี่

ราคาของแบรนด์แท้ในสมัยนั้น หากเพิ่มเงินอีกเล็กน้อยก็เรียกว่าซื้อ โน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่ ได้เลยทีเดียว ปัญหานี้ทำให้ Steven Yang ออกสำรวจโรงงานทั่วเมือง เซินเจิ้น เพื่อหาโรงงานที่สามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ครุ่นยอดนิยมได้ (Steven Yang รู้ได้อย่างไรรุ่นไหน สเป็กใดขายดี? ก็เพราะเขาขายมันมาหมดแล้วตั้งแต่ตอนทำ Affiliate ให้กับ Amazon)

เขาก็รู้ว่าเมื่อใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไปประมาณ 2-4 ปี จะต้องเริ่มเปลี่ยนแบตเตอรี่ ดังนั้นแบตเตอรี่ที่เขาต้องการผลิตจึงไม่ใช่แบตเตอรี่ของโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ล่าสุด แต่เป็นแบตเตอรี่สำหรับโน๊ตบุ๊คเมื่อ 2-4 ปีก่อน ซึ่งมีโรงงานจีนหลายแห่งที่รับผลิต แต่สิ่งที่ยากกว่า คือ จะหาโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานอย่างไร

Steven Yang หาจนท้อ เซินเจิ้นช่างกว้างใหญ่ เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แต่สุดท้ายก็หากันจนเจอ แต่ถึงกระนั้นก็ใช้เวลาในการพัฒนาไป 12 เดือนกว่าจะออกวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ Amazon ได้

เลือกทำตลาดบน Amazon ก่อน

Steven Yang ทำในสิ่งที่แตกต่างจากสตาร์ทอัพชาวจีนคนอื่น ๆ ที่มักจะเริ่มต้นธุรกิจบนแผ่นดินแม่ของตนเอง เพราะเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวจีนได้ดีกว่า แต่ Steven Yang ทำงานอยู่ในอเมริกา และเข้าใจความต้องการพื้นฐานของ ชาวอเมริกัน มากกว่า อีกทั้งเขายังมองเห็นว่าการจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยต้นทุนที่ตำที่สุด ต้องเข้าหาแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมอยู่แล้ว

เขาร่วมโปรแกรม Fulfilment by Amazon (FBA) ซึ่งแตกต่างจากการทำ Affiliate โดยสิ้นเชิง ครั้งนี้เขาอยู่ในมุมของผู้ผลิตและนำสินค้าไปฝากขายบนเว็บไซต์ Amazon และในขณะเดียวกันเขาก็เปิดเว็บไซต์แบรนด์ของตนเอง และใช้ฐานข้อมูลลูกค้าเดิม ทำ Email marketing เพื่อโปรโมทสินค้าของเขา เมื่อลูกค้าเข้ามาที่เว็บไซต์ของเขา และจะทำการสั่งซื้อ ระบบจะพาลูกค้าไปชำระเงินบนหน้าเว็บไซต์ของ Amazon

โดยหลังจากการเปิดตัวด้วยวิธีนี้ ทำให้ชื่อของ Anker เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ด้วยคุณภาพที่เทียบเท่าแบรนด์ใหญ่ และการรับประกันสินค้านานถึง 18 เดือน ทำให้กระแสตอบรับดีมาก ๆ มีผู้เข้ามารีวิวสินค้าของเขาในหน้าเว็บไซต์ Amazon มากกว่า 1 พันคน

ยอดขายถล่มทะลายบน Amazon

ในปี 2012 ถัดมาเพียง 1 ปี Steven Yang เริ่มจับตลาดสมาร์ทโฟน โดยเริ่มจากผลิตอุปกรณ์สำหรับแบรนด์ HTC ก่อน ซึ่งเขาได้ซัพพลายเออร์เพิ่มมากขึ้นรวมไปถึง Panansonic จากประเทศญี่ปุ่นด้วย ทำให้การพัฒนาแบตเตอรี่ของ Anker ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ในช่วงปลายปี 2012 Anker ก็พร้อมที่จะบุกตลาดแบตเตอรี่สำหรับสำหรับสมาร์ทโฟน หรือเพาวเวอร์แบงค์อย่างเต็มตัว และสร้างปรากฏการณ์ยอดขาย 1000 ออเดอร์ต่อวันได้สำเร็จ ซึ่งข้อดีของการขายบนแพลตฟอร์มของ Amazon แบบ Fulfillment by Amazon (FBA) นั่นก็คือ Steven Yang ไม่ต้องรับออเดอร์เอง ไม่ต้องแพคของเอง ไม่ต้องจัดส่งเอง ทุกอย่างเป็นแบบ Automation ตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ผ่านเว็บไซต์ และ Amazon จะจัดส่งสินค้าให้เองทั้งหมด Steven Yang และทีมงานมีหน้าที่คิดค้น วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น และมีทีมงานอีก 1 ทีม คอยตอบคำถามซัพพอร์ตที่อยู่นอกเหนือ FAQ ซึ่งด้วยวิธีการนี้จะทำให้บริษัทของเขาใช้คนน้อยมาก

พัฒนาสู่ระบบชาร์จเร็ว

ในปี 2013 Anker ได้พัฒนาเพาเวอร์แบงค์ให้สามารถชาร์จได้เร็วขึ้นกว่ามาตรฐานทั่วไป จนในปี 2015 ก็สามารถวิวัฒนาการให้กลายเป็นระบบชาร์จเร็ว โดยเริ่มกับแบรนด์ อย่าง iPhone ในรุ่น iPhone7 และ Google Pixel โดย Anker ได้พัฒนาชิปเซ็ต ที่ติดตั้งเพิ่มในเพาวเวอร์แบงค์ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นอุปกรณ์ของแบรนด์ใด รุ่นอะไร เพื่อสั่งการให้ระบบจ่ายไฟได้ตรงกับอุปกรณ์เฉพาะรุ่น เพื่อให้สามาถชาร์จให้เต็มในเวลาที่เร็วที่สุด โดยไม่ทำอันตรายต่ออุปกรณ์นั้น ๆ ซึ่งชิปเซ็ตนี้เป็นสิทธิบัตรของ Anker ที่ชื่อว่า PowerIQ ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2013

ช่องโหว่ของ Apple คือโอกาสของ Anker

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยิ่งโทรศัพท์ของ Apple ขายดีเท่าไหร่ ตลาดอุปกรณ์เสริมของ iPhone ก็เติบโตมากขึ้นเท่านั้น แต่การเติบโตของตลาดอุปกรณ์เสริมนั้นไม่เคยโตที่ Apple เพราะ Apple ขายอุปกรณ์เสริมในราคาที่สูงจนเกินไป (อันที่จริงก็มีราคาสูงทุกอย่าง) ซึ่งทำให้ผู้ใช้ iPhone มองหาอุปกรณ์เสริมที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันแต่มีราคาถูกกว่า 10-20 ดอลลาร์

และนี่เองคือช่องว่างขนาดใหญ่ที่ Apple ทิ้งไว้ให้กับตลาดมูลค่ามหาศาล ซึ่ง Anker ไม่ยอมพลาดโอกาสนี้ เมื่อ Apple นำช่องเสียบหูฟังออกจาก iPhone7 แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคยังไม่ต้องการใช้หูฟังแบบไร้สาย (เพราะต้องการประหยัดแบตเตอรี่) Anker ก็เห็นช่องว่างที่จะผลิตอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ทำให้สามารถเสียบสายหูฟังได้ และแน่นอนเมื่อยังไม่มีใครทำออกขาย และ Anker เป็นเจ้าแรกในตลาด ยอดขายก็ตามมาแบบถล่มทะลายเช่นเคย กลายเป็นว่า Apple มาเปิดตลาดให้กับ Anker

กลับสู่มาตุภูมิ

Stenven Yang เลือกทำตลาดในสหรัฐอเมริกาที่เขาถนัดก่อน โดยผ่านระบบของ Amazon ซึ่งในปี 2015 เขาก็สามารถทำยอดขายบนเว็บไซต์ Amazon ได้สูงถึง 193.1 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,300 ล้านหยวน (6 พันล้านบาท) จากฐานลูกค้า 24 ล้านค ทั่วอเมริกาและยุโรป เติบโตจากปี 2014 ถึง 53% นี่เป็นเพียงรายได้ทางเดียวจาก Amazon เท่านั้น

และในปี 2015 ที่ Steven Yang ตัดสินใจกลับมาทำตลาดบนแผ่นดินแม่ ด้วยการเข้าร่วมโครงการ Belt and Road Initiative ที่จัดโดยรัฐบาลจีน ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ตามเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ซึ่ง Anker ต้องการจุดประกายให้กับนักธุรกิจจีนอีกมากมายที่เข้าร่วมโครงการ ให้เห็นถึงศักยภาพในด้านการผลิตของจีน สาเหตุที่เขาไม่เปิดตลาดในจีนเป็นที่แรก เนื่องจากต้องการพิสูจน์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ต่างชาติยอมรับ เพราะถ้าหากเปิดตัวที่จีน ก็จะไม่ต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่ผลิตในจีน และวันนี้เขาได้รับการตอบรับอย่างดีจากต่างชาติแล้ว เท่ากับเป็นการการันตีในคุณภาพการผลิตของจีนว่าเป็นที่ยอมรับแล้วในตลาดโลก

ในปี 2016 Anker เริ่มทำตลาดในประเทศอย่างจริงจัง โดยมีศูนย์บริการ และหน้าร้านของตนเอง กระจายไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน และเปิดตัวธุรกิจใหม่ เป็นการให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ เรียกว่า Anker Box ที่เป็นอุปกรณ์คล้ายกล่องสำหรับชาร์จเพาว์เวอร์แบงค์ ที่ผู้ใช้งานจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นของ Anker ก่อน และลงทะเบยนเพื่อจ่ายเงินมัดจำ หลังจากนั้นสามารถหยิบเพาเวอร์แบงค์ออกจากกล่อง โดยแสกน QR Code เพื่อจ่ายเงินค่าเช่า สามารถพกพาไปใช้งานได้ทันที ซึ่ง AnkerBox จะถูกติดตั้งตามโรงแรม หรืออพาร์ทเม้นต์ หรือร้านค้า ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ทั่วเมืองใหญ่ ๆ ย่านธุรกิจ โดยทั่วไปจะเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

ขยายอาณาจักรไปทั่วโลก

จากแผนโครงการ Belt and Road Initiative Anker ได้ขยายตลาดไปทั่วเอเชีย และตะวันออกกลาง และแม้ประเทศแถบตะวันออกกลางบางประเทศจะเปลี่ยนกฎหมายไม่ให้บริษัทข้ามชาติเข้าไปทำธุรกิจ แต่ Anker ก็แก้ปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยการตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น ๆ แทน และใช้โมเดลนี้กับทุกประเทศใหม่ ๆ ที่ Anker จะเข้าไปทำตลาด ซึ่งรวมถึงแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย ซึ่งตลาดในภูมิภาคนี้ มีขนาดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าใน 2 ปีที่ผ่านมา

มูลค่าของบริษัทพุ่งทะยาน 3600 ล้านหยวน

ในการระดมทุนรอบล่าสุด IDG Capital ได้ลงทุนเป็นจำนวน 47ล้านเหรียญ และมีการประเมินว่า Anker จะมีมูลค่าของบริษัทเป็น 3600 ล้านหยวน หรือ 512 ล้านเหรียญ (16,316 ล้านบาท)

สรุปเส้นทางของ Anker

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เห็นช่องว่างของตลาด Steven Yang เริ่มต้นธุรกิจกับภรรยาเพียง 2 คนเท่านั้น และสามารถนำพาบริษัท สู่มูลค่านับหมื่นล้านบาท เกิดจากการที่ Steven Yang มองเห็นโอกาส จาก Pain ของผู้ใช้สินค้าในแบรนด์อื่น ๆ นอกจากนั้นยังเข้าใจการใช้แพลตฟอร์มที่สามารถส่งเสริมธุรกิจของตนเองอีกด้วย การใช้ระบบ Automated system มาช่วยในการทำธุรกิจ ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เขามีเวลาไปใส่ใจกับการพัฒนาสินค้าได้มากขึ้น จนในปัจจุบัน พนักงานกว่า 50% ของบริษัท คือฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ Anker มีสิทธิบัตรของตนเองมากกว่า 200 ฉบับ

และด้วยการเปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้ใช้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือแบรนด์เมดอินไชน่า และเปิดใจยอมรับอย่างง่ายดาย แต่หากคุณภาพสินค้าไม่ดี แบรนด์ก็อาจจะพังได้ทันทีเช่นกัน Steven Yang จึงให้ความสำคัญกับโรงงานอย่างมาก และเสียเวลาไปมากกว่า 1ปี ในการผลิตสินค้าล็อตแรก แต่เมื่อผ่านด่านนี้ไปได้ แบรนด์ของ Anker ก็แจ้งเกิดได้ทันที

ด้วยความที่สินค้าดีมีคุณภาพ และราคาจับต้องได้ บวกกับการรับประกันที่นานถึง 18 เดือน โดยเคลมสินค้าให้ใหม่ทันทีไม่ต้องรอส่งซ่อม ทำให้ Anker ได้รับผลการรีวิว 4-5 ดาวในเว็บไซต์ Amazon เป็นจำนวนมาก และอันดับในการค้นหา แบเตอรี่สำรอง ในเว็บไซต์ Amazon ก็จะพบว่า Anker เป็นอันดับต้น ๆ ของผลการค้นหาเลยทีเดียว เป็นการตอกย้ำว่า ผู้ชนะในตลาดก็จะยิ่งชนะต่อไปเรื่อย ๆ จนทำให้ Anker กลายเป็นแบรนด์อุปกรณ์เสริมยอดนิยมที่สุดบนเว็บไซต์ Amazon

นอกจากเพาว์เวอร์แบงค์ที่เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อแล้ว Anker ยังมีอุปกรณ์เสริมอีกมากมาย ทั้งสายชาร์จสายต่อพ่วง ปลั๊กติดผนัง ที่ชาร์จไฟบนรถยนต์ หรือลำโพงบลูทูธที่คิดจะแข่งกับ Harman Kardon และ Bose เลยทีเดียว โดย Steven Yang ได้แตกแบรนด์ลูกออกมาเป็น Eufy ลำโพงอัจฉริยะที่มาพร้อมกับระบบ Alexa Aiของ Amazon ที่ใช้สั่งงาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน และเชื่อมต่อกับเครื่องช่างน้ำหนักอัจฉริยะทั้งหมดอยู่ภายใต้แบรนด์ Eufy และแบรนด์ Zolo หูฟังไร้สาย แบรนด์ Roav กล้องวงจรปิดติดรถยนต์ และ Nebula โปรเจคเตอร์พกพาพร้อมลำโพงในตัว

การเติบโตที่รวดเร็วนี้ใช้เวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น และคาดว่า Anker ยังเติบโตต่อไปได้อีกไกล จากฐานลูกค้า 24 ล้านคนทั่วโลกในปี 2015 ในวันนี้เมื่อกลับเข้ามาทำตลาดในจีนและเอเชีย Anker จะกลายเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว

หัวใจสำคัญคือการวิจัยพัฒนาสินค้าของตนเอง โดยจดสิทธิบัตร ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจจีนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต เพราะสิทธิบัตรจากงานวิจัย จะเป็นกำแพงที่ทั้งหนาและสูงจนคู่แข่งไม่สามารถปีนข้ามเข้ามาทำตลาดแข่งขันได้ และการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาจะต้องดำเนินต่อไปไม่มีวันหยุด ซึ่งจะทำให้บริษัทได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทก็จะเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน



Source:

http://www.businessinsider.com/best-tech-accessory-company-anker-founded-by-former-google-employees-2016-8

https://www.digitalcommerce360.com/2016/12/20/major-chinese-seller-amazon-raises-47-million/

https://www.theverge.com/2017/5/22/15673712/anker-battery-charger-amazon-empire-steven-yang-interview?&_encoding=UTF8&tag=cm-pr-post-20170523-20

https://news.cgtn.com/news/3d41544e78637a4d/share_p.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Anker_(electronics)

https://www.linkedin.com/in/meng-yang-2a228b5

http://www.ey.com/cn/en/about-us/entrepreneurship/entrepreneur-of-the-year/ey-eoy-china-2017-winner-steven-yang

https://www.anker.com/about

https://techcrunch.com/2016/03/29/anker-ankerbox/