didi

Didi ได้เงินทุนเพิ่มอีก 4 พันล้านดอลลาร์ เตรียมเผชิญหน้าคู่แข่งใหม่ Meituan ในธุรกิจ Ride Hailing บริการเรียกรถโดยสาร

Didi Chuxing บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดรายใหญ่ ในธุรกิจ Ride Hailing (บริการเรียกรถโดยสาร) ได้รับการระดมทุนเพิ่มอีก 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ขณะนี้ Didi มีเงินสดสำรองมากถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว (ประมาณ 3.9 แสนล้านบาท) และยังทำให้ Didi กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยบริษัทมีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.6 ล้านล้านบาท)

ความสำเร็จในการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนให้ Didi ขยายขีดความสามารถ Ai ของตัวเอง ขยายธุรกิจออกไปในระดับนานาชาติ และแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ได้อีกมาก รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายยานยนต์ที่ใช้พลังงานใหม่อีกด้วย

Meituan (เหม่ยถวน) ผู้นำในด้านธุรกิจแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร ในประเทศจีน มีความมุ่งมั่นที่จะท้าทาย Didi เนื่องจาก Meituan วางแผนที่จะขยายการบริการเป็นการเรียกรถโดยสาร ใน 7 เมืองใหญ่ ๆ ในจีนด้วย ได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เฉิงตู, หางโจว, ฝูโจว, เหวินโจวและเซียะเหมิน

สงครามในธุรกิจบริการเรียกรถ หรือ  Ride Hailing ที่ดุเดือดราวกับสงครามสามก๊ก เพิ่งจะสงบลงไปได้ไม่นาน ด้วยความปราชัยของ Uber ที่สุดท้ายต้องขายกิจการให้กับ Didi จนทำให้ Didi ครอบครองตลาดแต่เพียงผู้เดียว แต่ถัดมาเพียงไม่กี่เดือน คู่แข่งคนใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่ง Meituan นี้ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ เพราะในธุรกิจเรียกรถสำหรับส่งอาหาร(คล้าย ๆ Line Man ในบ้านเรา) Meituan ก็ครองตลาดแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน และฐานผู้ใช้งานก็มีจำนวนมหาศาล การที่ Meituan จะขยับเข้าสู่ธุรกิจรับเรียกรถ ก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Meituan ก็เพิ่งได้รับเงินทุน 4,000 ล้านดอลลาร์ (เท่ากับที่ Didi ได้ในครั้งนี้) ซึ่งผู้ลงทุนหลักก็ไม่ใช่ใครที่ไหน โพนี่ หม่า แห่ง Tencent ที่เคยลงทุนใน Didi เป็นคนแรกนั่นเอง ซึ่งทำให้ตอนนี้ Meituan ก้าวเข้าสู่ ซีรีย์ C เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้มูลค่าบริษัทของ Meituan พุ่งขึ้นไปถึง หมื่นล้านดอลลาร์เลยทีเดียว (น้อยกว่า Didi เพียง หมื่นล้านดอลลาร์)

นับว่าครั้งนี้ Didi จะต้องพบกับศึกหนักมากกว่าครั้งที่แล้วอย่างแน่นอน เพราะอัตราการเติบโต และขนาดของบริษัทไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย แต่ความชำนาญในธุรกิจเรียกรถนั้น Didi ดูจะมีภาษีที่ดีกว่า และมีโครงข่ายที่โยงใยเข้าถึงกันหมดแล้ว

แต่ในครั้งนี้จะหวังพึ่งพา Wechat ของ Tencent ไม่ได้อีกแล้ว เพราะโพนี่ หม่า ลงทุนในทั้งสองฝั่ง นักวิเคราะห์มองเกมนี้ผ่านการลงทุนของ Tencent ว่า เป็นการลงทุนเพื่อขยายขนาดของตลาดออกไปมากกว่า ยิ่งมีคู่แข่งก็จะยิ่งทำให้ตลาดโตขึ้น ถ้าปล่อยให้ Didi ครองตลาดทั้งหมดอยู่คนเดียว ตลาดอาจจะหยุดการเติบโต และการเพิ่มคู่แข่งให้ Didi ก็เป็นการป้องกันคู่แข่งคนอื่นจะเติบโตขึ้นมาด้วย หรืออีกนัยหนึ่งคือ โพนี่ หม่า ลงทุนใน Meituan เพื่อปกป้อง Didi ที่ตัวเองลงทุนไปด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้ควบคุมทั้งสองบริษัทให้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรมและไม่ต้องต่อสู้กันรุนแรงจนเกินไป เพราะถ้าหาก โพนี่ หม่า ไม่ลงทุนใน Meituan แล้วปล่อยให้ Meituan เติบโตไปเอง จะไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีกต่อไป

สงครามครั้งนี้จึงไม่ใช่การรบให้แตกหัก แต่เป็นการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดอย่างแท้จริง และภายหลังที่ Meituan ประกาศว่าจะเปิดตัวบริการเรียกรถ Didi ก็สวนกลับด้วยการประกาศว่า จะรุกเข้าตลาดบริการส่งอาหารบ้าง เรียกว่าเป็นการแลกหมัดกันอย่างไม่มีใครยอมใคร โดยที่ Meituan นั้นนอกจากให้บริการเรียกรถส่งอาหารแล้ว ยังมีบริการรับจองโรงแรม จองตั๋วหนัง จองตั๋วเครื่องบิน ซึ่งมีบริการที่หลากหลายมาก ในขณะที่ Didi นั้นมีเพียงบริการเรียกรถเท่านั้น

ศึกครั้งนี้ จะลงเอยอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

Source: