ประวัติ โพนี่ หม่า (Ma Huateng) โปรแกรมเมอร์เงินเดือนไม่ถึงหมื่น สู่บุรุษผู้ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย เจ้าของอาณาจักร Tencent

นิตยสาร Forbes ได้จัดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียในเดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่ ลี กาซิง (Cheung Kong Holdings) ไม่ใช่ แจ๊ค หม่า (Alibaba) ไม่ใช่ หวัง เจี้ยนหลิน (ต้าเหลียนแวนด้า-บริษัทอสังหาริมทรัพย์) ไม่ใช่ ซู เจียหยิน (Evergrande Group-บริษัทอสังหาริมทรัพย์) แต่เป็น โพนี่ หม่า หรือ หม่า ฮั่วเถิง Ma Huateng เจ้าของอาณาจักรออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่สุดของจีน นาม Tencent วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ผู้ที่ร่ำรวยเหนือ ลี กาซิง และ แจ๊ค หม่า

โพนี่ หม่า เกิดที่กวางตุ้ง ไปโตที่เซินเจิ้น

หม่า ฮั่วเถิง หรือ โพนี่ หม่า (ชื่อจีน 马化腾  Pinyin – MǎHuàténg ) เกิดวันที่ 29 ตุลาคม 1971 (อายุเพียง 45ปีเท่านั้น) เกิดในเมืองโจวหยาง มณฑลกวางตุ้ง ประวัติในวัยเด็กค่อนข้างปกปิด เนื่องจาก โพนี่ หม่า ไม่นิยมให้สัมภาษณ์ออกสื่อเท่าไหร่นัก แต่ครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์ หม่าเคยกล่าวว่า ตอนเด็ก ๆ เขาฝันที่จะเป็นนักดาราศาสตร์ เขาจึงชอบวิทยาศาสตร์ เขาต้องย้ายตามพ่อที่ได้งานเป็นผู้จัดการท่าเรือในเซินเจิ้น (ภายหลังพ่อของเขาได้เป็นสมาชิกในพรรคคอมมิวนิสต์จีน) หม่าได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเซินเจิ้นในปี 1989 และจบการศึกษาในปี 1993 ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ในปี 2014 โพนี่ หม่า เป็นผู้แทนในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติในเซินเจิ้นและทำหน้าที่ในการจัดประชุมสภาประชาชนแห่งชาติครั้งที่ 12)

งานแรกของโพนี่ หม่า คือโปรแกรมเมอร์

งานแรกของ หม่า คือ โปรแกรมเมอร์ที่ บริษัท China Motion Telecom Development เป็นบริษัทจำหน่ายและให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านโทรคมนาคม ซึ่งหม่าได้รับผิดชอบงานพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับวิทยุติดตามตัว โดยเงินเดือนแรกที่ได้รับคือ 1,100 หยวน (ประมาณ 176 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) เขายังได้ทำงานให้กับบริษัท Shenzhen Runxun Communications ในแผนกวิจัยและพัฒนาระบบบริการโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต

โพนี่ หม่า เริ่มก่อตั้ง Tencent

โพนี่ หม่า ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน ก่อตั้งบริษัท Tencent ขึ้นมาในปี 1998 ในช่วงแรกให้บริการเกี่ยวกับ System Integration หรือบริการวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสำหรับองค์กรเป็นหลัก โพนี่ หม่า และเพื่อน ๆ ต้องทำทุกหน้าที่ในบริษัท ตั้งแต่ภารโรง โปรแกรมเมอร์ บัญชี พนักงานขาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของ SME ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ในขณะเดียวกัน โพนี่ หม่า ก็หาโอกาสที่จะพัฒนาบริษัทให้ไปได้ไกลกว่านี้

จาก SME สู่ Tech Startup ในตำนาน

เช่นเดียวกับในหลาย ๆ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในจีน โพนี่ หม่า นำแรงบันดาลใจในธุรกิจต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป นำมาปรับใช้และทำตลาดในประเทศจีน และในปี 1999 Tencent ก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากโปรแกรมแชตแบบ instant messaging ตัวแรกของโลก คือ ICQ ก่อตั้งในปี 1996 โดยบริษัทในประเทศอิสราเอล ซึ่ง โพนี่ หม่า นำแนวคิดนี้มาทำเป็นโปรแกรมในชื่อ OICQ (หรือ Open ICQ) และเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1999 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และมีผู้ใช้มากถึง 1 ล้านคนภายในสิ้นปี 1999 นั้นเอง ซึ่ง OICQ นั้นเรียกได้ว่า ลอกแบบมาจาก ICQ ทั้งหมดแค่เปลี่ยนเป็นภาษาจีนเท่านั้นเอง

เมื่อระดมทุนไม่ได้ จะขายก็ไม่มีใครเอา

แม้จะเป็นตำนานของ Startup แต่ก็หนีไม่พ้นคำปฏิเสธ Tencent พยายามจะระดมทุนหลายครั้ง นำเสนอนักลงทุนมากมาย แต่ไม่สามารถระดมทุนได้เลย แม้ว่าจะมียอดผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่มีแผนรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน นักลงทุนจีนจึงไม่สนใจที่จะซื้อ ยิ่งมีผู้ใช้มากเท่าไหร่ รายจ่ายยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น สายป่านที่มีก็กำลังจะหมดลงเรื่อย ๆ

— ใครที่อยากเป็นเทคสตาร์ทอัพต้องศึกษาช่วงชีวิตนี้ของโพนี่ หม่าให้ดี ๆ การจะสร้างสินค้าใดขึ้นมาเพื่อหวังเพียงฐานของผู้ใช้มากๆแล้วค่อยคิดหารายได้จากฐานผู้ใช้นั้น จะต้องมีสายป่านที่ยาวมาก และต้องมีผู้สนับสนุนที่มองเห็นอนาคตเหมือนกันกับคุณด้วย –

โพนี่ หม่า ตัดสินใจเฉือนเนื้อเพื่อต่อลมหายใจ

ในที่สุด ในปี 2000 Tencent ก็พบเนื้อคู่ คือบริษัท Naspers จากแอฟริกาใต้ ที่เข้ามาร่วมลงทุนกับ Tencent แต่ก็ต้องแลกกับหุ้นที่สูงถึง 46% ของบริษัท ซึ่ง Tencent ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะต้องการเงินสดเข้ามาพยุงธุรกิจ ทำให้ Tencent สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และทำกำไรในเวลาต่อมา โดยในปัจจุบันนี้ Naspers ยังคงมีสัดส่วนหุ้นใหญ่อยู่ใน Tencent แม้จะมีสัดส่วนหุ้นที่ลดลง(จากการเพิ่มทุน)บ้างก็ตาม

— ซึ่ง Naspers นี้เอง ที่เป็นเจ้าของ Mweb ซึ่งต่อมา Mweb ได้เข้ามาซื้อกิจการ Sanook.com ในประเทศไทย (โดยไม่เปิดเผยมูลค่าจนถึงทุกวันนี้) จึงเกิด Sanook QQ  ภายหลัง Mweb ประสบกับปัญหาขาดทุนและได้ขาย Sanook ให้กับ Tencent ด้วยมูลค่า 341 ล้านบาท (ซึ่งถือว่าถูกมากในขณะนั้น) โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก เอ็มเว็บ พอร์ทัล (ประเทศไทย) จำกัด เป็น บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด และ Tencent ถือเป็นเจ้าของ Sanook.com ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยล่าสุดในเดือนธันวาคม 2016 ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น บริษัท เท็นเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด –

เมื่อ Tencent ถูกยักษ์ใหญ่ระดับโลกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์

AOL (America Online) ได้เข้าซื้อ ICQ ในปี 1998 และได้ยื่นฟ้อง Tencent ในปลายปี 1999 โดยอ้างว่า ชื่อโดเมนของ QICQ.com และ QICQ.net ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของ AOL ทำให้หม่าต้องยอมเสียหายโดยปิดโดเมนทั้งสองนี้ไป ในปี 2000 โพนี่ หม่า กลับมาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อ OICQ เป็น QQ  ซึ่งตั้งใจให้พ้องเสียงกับคำว่า Cute (น่ารัก) และใช้มาสคอตเป็นรูปนกเพนกวิ้น

หลังจากเปลี่ยนชื่อโปรแกรมแชตเป็น QQ และขายหุ้นให้กับ Naspers แล้ว ในปี 2000 นี้เอง Tencent ก็มียอดผู้ใช้ QQ ทะลุ 100 ล้านคน แต่บริษัทก็ยังคงหารายได้ด้วยตนเองไม่ได้ จึงต้องร่วมมือกับ ไชน่า โมบายล์ เชื่อมบริการหลายอย่างจาก QQ ไปยังโทรศัพท์มือถือ เช่นการส่งข้อความ เล่นเกม หรือหาคู่ผ่านมือถือ

หลังจากเสร็จสิ้นคดีความกับ AOL โพนี่ หม่า ตั้งใจจะขยายกิจการของ Tencent ให้มากขึ้นอีก โดยตั้ง QQ.com ให้กลายเป็นเว็บท่า (Portal) *หากใครนึกภาพไม่ออก เว็บท่าคือเว็บแบบ sanook kapook ในบ้านเรา ที่ใครคิดอะไรไม่ออก จะเข้าเว็บก็ต้องมาที่เว็บท่าก่อน (ซึ่งเว็บท่าประสบความสำเร็จมาก ก่อนที่จะมี Google)  การทำเว็บท่าทำให้มีรายได้จากค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น และในปี 2001 Tencent เริ่มมีกำไร 51 ล้านบาท



Tencent ปรับแผนหารายได้จากผู้ใช้ ไม่ใช่แค่รายได้จากโฆษณา

โพนี่ หม่า ตระหนักดี ถึงความมั่นคงของธุรกิจ ยิ่งมีผู้ใช้จำนวนมาก ค่าใช้จ่ายจะยิ่งเพิ่มสูงตาม ในขณะที่รายได้จากค่าโฆษณานั้นไม่ได้ขึ้นตามเร็วเหมือนค่าใช้จ่าย ซึ่งหากต้องพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียวแล้ว Tencent คงไม่สามารถยิ่งใหญ่ได้

ในขณะที่โปรแกรม MSN (โปรแกรม Instant messaging ที่โด่งดังของ Microsft ที่ปัจจุบันนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว) ซึ่งมีผู้ใช้ทั่วโลก ยังไม่มีแผนทำรายได้จากผู้ใช้ และรูปภาพ Avatar ก็เป็นเพียงรูปของผู้ใช้ปกติ พื้นหลังก็สีเรียบ ๆ แต่ QQ ทำอะไรได้มากกว่านั้น Tencent ได้ใช้รูป Avatar นี้ทำรายได้ให้กับบริษัท โดยเปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้างตัวแทนเสมือนขึ้นมา และแต่งหน้า ผม เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ได้ตามใจ ซึ่งก็มีทั้งแบบฟรี และเสียเงิน และไอเท็มที่ใช้ใน QQ เหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องเสียเงินซื้อ โดยใช้เงินเสมือนที่ชื่อว่า Qbi (คิวปี้) (โดย 1 เหรียญ = 1หยวน หรือ 10,000 แต้มในเกมออนไลน์) ซึ่ง Qbi นี้สร้างรายได้มหาศาลให้กับ Tencent ทำให้เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตรายแรก ๆ ที่สามารถหารายได้จากผู้ใช้งานได้ด้วย Virtual Money โดยไม่ต้องพึ่งพาค่าโฆษณา  ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 9% เท่านั้น

ในปี 2002 ยอดผู้ใช้ QQ มี 160 ล้านคน และมีกำไรเพิ่มขึ้น 14 เท่าจากปีก่อน ในปี 2004 จึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง โดยมีมูลค่า 149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Tencent ขยายอาณาจักรเข้าสู่เกมออนไลน์

และในปี 2004 นี้เอง Tencent ได้เริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดเกมออนไลน์ โดยเริ่มจากการซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทเกมต่าง ๆ ทั้งในญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ มาให้บริการผู้เล่นในประเทศจีน โดยสร้างรายได้ผ่านการขายไอเท็มต่าง ๆ ในเกม ทั้งเสื้อผ้าและอาวุธ โดยใช้เงินเสมือน ซึ่งกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทำเงินมหาศาลในเวลาต่อมา ภายหลังเมื่อธุรกิจเริ่มเติบโต Tencent จึงเริ่มพัฒนาเกมของตัวเอง รวมถึงเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทเกมในต่างประเทศมากมาย เช่น

  • Riot Games บริษัทเกมจากสหรัฐฯ เจ้าของเกม League of Legends ที่โด่งดังระดับโลก ตอนนี้  Tencent ถือหุ้นทั้งหมดของ Riot Games แล้ว
  • Epic Games ผู้ผลิตเกมพีซีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา มีผลงานอย่าง Unreal, Gears of War ตอนนี้ Tencent ถือหุ้นประมาณ 40% ของ Epic Games
  • Supercell ผู้ผลิตเกมมือถือจากฟินแลนด์ เจ้าของเกม Clash of Clans และ Clash Royale ตอนนี้ Tencent ถือหุ้น 84%
  • CJ Games บริษัทเกมแถวหน้าของประเทศเกาหลีใต้ Tencent ไปซื้อหุ้นมาประมาณ 28% ในปี 2014

ในปี 2005 Tecent เปิดตัวเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบ C2C ที่ชื่อ Paipai.com ที่ตั้งใจให้เป็นคู่แข่งกับ Taobao ของ Alibaba ในปี 2006 Tencent ลงทุน 500 ล้านบาท สร้างสถาบันวิจัยของตนเอง ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านอินเทอร์เน็ตแห่งแรกของจีน มีสาขาอยู่ในปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ในปี 2008 เริ่มรุกหนักในธุรกิจเกมออนไลน์ พร้อมกับเปิดตัวเว็บค้นหา หรือเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ชื่อว่า Soso.com (เป็นเว็บค้นหาอันดับ 3 รองจาก Baidu และ Google)

Ma Huateng - โพนี่ หม่า
Image credit: nbbehring

โพนี่ หม่า แอบลงทุนใน Facebook

Facebook มีความพยายามจะเจาะเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนมานานแล้ว แต่ติดขัดข้อกฎหมายของจีนที่มีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของประชากรในจีน ซึ่งหาก Facebook ต้องการเข้าจีนนั้นต้องทำตามกฎหมายของจีนสถานเดียวเท่านั้น (ก็คือจะโดนบล็อกโดนตรวจสอบแทบจะทุกโพสต์ก่อนจะขึ้นออนไลน์) และแน่นอนยังตกลงกันไม่ได้ ก็เหมือนกับที่ Google และ Youtube ไม่สามารถทำตลาดในจีนได้เช่นกัน

ในขณะที่ Facebook เจาะจีนไม่เข้า แต่ในปี 2010 Facebook กลับถูกเจาะเสียเอง โดย Tencent ได้ลงทุนในบริษัท Digital Sky Technologies ของรัสเซีย ซึ่งมีกองทุน ที่ลงทุนอยู่ใน Facebook เท่ากับว่า Tencent ก็เป็นเจ้าของ Facebook แล้วส่วนหนึ่งโดยปริยาย ว่ากันว่าเงินลงทุนรอบนั้นสูงถึง 10,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

และในปีเดียวกันนี้เอง โพนี่ หม่า ได้จัดการแข่งขัน ระหว่างทีมวิจัยของบริษัท 2 ทีม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ Tencent มี QQ ที่เป็นโปรแกรมแชตที่มีผู้ใช้มหาศาลบน PC อยู่แล้ว แต่ด้วยการมองการณ์ไกลว่าโลกของสมาร์ทโฟนกำลังจะมา จึงให้ทีมงานแข่งกันพัฒนาแอพฯ บนมือถือ และหลังจากนั้น 2 เดือน 1 ใน 2 ทีมได้เสนอ แอพพลิเคชั่นสำหรับการส่งข้อความและแชทเป็นกลุ่ม ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น แอพฯ ที่ชื่อว่า เหวยซิ่น (Weixin) (เป็นชื่อที่ใช้เรียกในประเทศจีน / ในต่างประเทศจะเรียกว่า Wechat) ได้เปิดตัวในปี 2011 และกลายเป็นแพลตฟอร์มการส่งข้อความแบบ Instant Messaging ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยครอบคลุมจำนวนผู้ใช้ 48% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก หรือประมาณ 800 ล้านคน ในปี 2015 ได้รับความนิยมมากในยุโรปและเอเชีย

Weixin/Wechat ไม่ใช่แค่แชท แต่เป็นทุกอย่าง

แพลตฟอร์มของ Weixin ในจีนไม่ได้มีแต่แอพฯ แชทอย่างเดียวเท่านั้น แต่ Weixin ยังเป็นต้นแบบของการผนวกเอาบริการต่าง ๆ มาอยู่บนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นบริการโอนเงิน (WechatPay – คู่แข่งของ AliPay) การเรียกรถแท็กซี่ (เหมือนอูเบอร์ หรือ Grab) สั่งอาหาร (เหมือน Lineman) ซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ เรียกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่แอพฯ แชท อย่าง Facebook Messenger พยายามทำนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในจีนมานานแล้ว

ขณะเดียวกัน Tencent ก็ไม่ได้ทิ้งฐานผู้ใช้เดิมของ QQ และในปัจจุบัน QQ ก็ยังเป็นแพลตฟอร์มที่คนจีนยังใช้งานอยู่มาก ทำให้ Tencent เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มแชทที่มีผู้ใช้งานระดับ 800 ล้านคน ถึง 2 ตัว (ซึ่งมีเพียง Facebook เท่านั้นที่ทำแบบนี้ได้ – โดยการทุ่มเงินซื้อ WhatsApp) และจากฐานผู้ใช้มหาศาลขนาดนี้ ส่งผลให้ Tencent ขยายตลาดมาทำ FinTech เกี่ยวกับการจ่ายเงินผ่านแอพฯ มือถือ ซึ่งปัจจุบันมีผู้นิยมใช้เป็นรองเพียง AliPay ของ Alibaba เท่านั้น

นอกจากนี้ Tencent ยังเริ่มลงทุนในธุรกิจออนไลน์อื่น ๆ อีก เช่น วิดีโอและเพลงออนไลน์ในรูปแบบสตรีม, อีบุ๊ก, ซอฟต์แวร์พีซีและมือถือ , เว็บเบราว์เซอร์, โปรแกรมแอนตี้ไวรัส และแอพสโตร์ในประเทศจีนอีกด้วย

Tencent ลงทุนในบริษัทจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศจีน

เมื่อมีรายได้มากขึ้น และมาจากทุกทิศทาง จึงมีเงินสดในมือมหาศาล และเงินเหล่านั้นต้องนำไปลงทุนต่อ Tencent จึงเข้าซื้อและลงทุนในกิจการต่างๆอย่างมากมาย เช่น เข้าลงทุนใน JD.com ของ ริชาร์ด หลิว ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 2 ของจีน รองจาก Alibaba ซึ่ง Tencent ถือหุ้น JD อยู่ 15% (แม้จะมี paipai.com ที่เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตัวเองอยู่แล้ว แต่การถือหุ้นของ JD จะทำให้ Tencent สามารถแข่งขันกับ Alibaba ได้ง่ายขึ้น)

นอกจากนี้ยังลงทุนใน Didi Dache (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Didi Chuxing) แอพฯ เรียกแท็กซี่  ที่สามารถเอาชนะ Uber ในจีนได้จน Uber ต้องยอมถอยและขายกิจการทั้งหมดในจีนให้กับ Didi (เบื้องหลังความพ่ายแพ้ของ Uber มาจาก Wechat บล็อกไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึง Uber ได้จาก Wechat ทำให้ Uber สูญเสียช่องทางขนาดใหญ่ไปในทันที)

Tencent ยังลงทุนในธุรกิจ ขายดีลแบบเดียวกับ Groupon คือเว็บไซต์ Meituan.com ที่เพิ่งจะระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อไม่นานมานี้ โดย Tencent ถือหุ้น 20% นอกจากนี้ยังลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ ฯลฯ

Tencent ยังเซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทสื่อของอเมริกา อย่าง HBO, NBA, Warner Bros. เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่าย/ถ่ายทอดสดแต่เพียงผู้เดียวในประเทศจีนอีกด้วย เรียกว่านอกจากสื่อดิจิตอลที่เป็นเกมแล้ว Tencent ยังพยายามที่จะรวบตลาดจีนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหาวิดีโอ เพลง กีฬา อีบุ๊ก ฯลฯ

ด้านธุรกิจสตรีมมิ่งเพลง Tencent มี Tencent Music ซึ่งมีบริการ QQ Music, Kugou และ Kuwo มีผู้ใช้งานรวมกัน 600 ล้านคน และมีแผนที่จะนำ Tencent Music เข้าตลาดหุ้นด้วย นอกจากนี้ยังมี Joox บริการเพลงสตรีมมิ่งที่เป็นที่นิยมในอาเซียนอีกด้วย

โซเชียล บวกกับ เกมออนไลน์ คือขุมทรัพย์ของ Tencent

ในปี 2015 เป็นต้นมา รายได้ของ Tencent ทะลุ 1 แสนล้านหยวน และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2016 จะมีรายได้ 1.38 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้หลักของบริษัทมาจากโซเชียล (QQ+Weixin) และเกมออนไลน์

สถานะทางธุรกิจของ Tencent ถือว่าร่ำรวยมหาศาล เนื่องจากมีกระแสเงินสดในมือมากถึง 5.4 หมื่นล้านหยวน โดยมีรายได้เติบโต 52% ต่อปี ในขณะที่มีกำไรเติบโตถึง 42% ต่อปี ถือว่าเป็นสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่บริษัททั่วโลกต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นแบบนี้

โดย Key success ของ Tencent นั้นคือ ฐานผู้ใช้ทั้ง QQ และ Weixin จำนวนมหาศาล รวมถึงบริการอื่น ๆในเครือของ Tencent จะมีผู้ใช้งานตั้งแต่ลืมตาตื่น จนหลับตานอน ทุกกิจกรรมหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มของ Tencent ซึ่งบริษัทพยายามมองหาวิธีสร้างรายได้จากทุกช่องทางที่เป็นไปได้ ซึ่งก็แปลว่า Tencent ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ล่าสุด Tencent ประกาศร่วมมือกับ Starbucks ในจีน เพื่อให้จ่ายเงินค่ากาแฟด้วย WechatPay ได้ ส่วนคาสิโนในลาสเวกัส Ceasars Palace ก็รองรับการจ่ายเงินด้วย WechatPay เช่นกัน

— หัวใจหลักของความสำเร็จคือการที่ โพนี่ หม่า คำนึงถึงรายได้จากผู้ใช้เป็นหลักโดยไม่หวังพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณา ยิ่งมีฐานผู้ใช้มากรายได้ก็จะยิ่งมาก –

Image credit: tencent.com

– Tencent มีรายได้ในปี 2016 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ 1.51 แสนล้านหยวน และในปี 2017 เพียงครึ่งปีแรกก็มีรายได้มากถึง 1.90 แสนล้านหยวนแล้ว –

Image credit: tencent.com

– กระแสเงินสดของ Tencent มีจำนวนมหาศาล โดยในปี 2017 แค่ครึ่งปีแรกก็มีเงินสดในมือมากถึง 8.37หมื่นล้านหยวนแล้ว (สี่แสนสองหมื่นล้านบาท)-

Image credit: tencent.com

– ฐานจำนวนผู้ใช้มหาศาล โดย QQ บน PC มีผู้ใช้มากถึง 850ล้านคน และในมือถือมีผู้ใช้ 662 ล้านคน ส่วนเหวยซิ่นหรือWechat นั้นมีผู้ใช้ 962.8ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศด้วย –

Image credit: tencent.com

– ผังธุรกิจของ Tencent ครอบคลุมทุกบริการทางออนไลน์ ทั้ง Communication (QQ + Wechat) , Social Networks (QZone) , Onlie Games (ทั้ง PC และสมาร์ทโฟน) , Media (ข่าว วิดีโอ เพลง(สตรีมมิ่ง) และวรรณกรรม) , Utilities (Mobile Security, Mobile Browser, App Store) –

Image credit: tencent.com

– Tencent สร้างระบบนิเวศของตัวเองอย่างครบวงจร และมีพันธมิตรที่ดี จึงทำให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่แข็งแกร่ง และบริษัทต่างชาติไม่สามารถเจาะเข้ามาทำการตลาดได้เลย –

Image credit: tencent.com

– ธุรกิจรับชำระเงิน (Payment Gate way) เป็นอีกหนึ่งแหล่งทำเงินให้กับ Tencent มีทั้ง WechatPay หรือ Weixin Pay และ QQ Wallet ที่รับจ่ายเงินทั้งจากบัตรเครดิตหรือเติมเงินเข้าระบบ จ่ายเงินเติมเกม จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก จองตั๋วหนัง เรียกแท็กซี่ มีแม้กระทั่งขายประกัน –

Image credit: tencent.com

– เกมระดับตำนานอย่าง League of Legends และ Call of Duty ก็ทำรายได้มหาศาลให้กับ Tencent เช่นกัน –

Image credit: tencent.com

Tencent กับประเทศไทย

นอกจาก Sanook.com และ Joox แล้ว Tencent ยังได้ลงทุนใน Garena (หรือตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Sea) ที่เป็นบริษัสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ ทำธุรกิจเกมออนไลน์เช่นกัน แต่ทำตลาดในอาเซียน นอกจากเกมออนไลน์แล้วยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Shopee และ AirPay ที่เป็นแอพฯ ตัวกลางจ่ายเงินเหมือนกับ WechatPay อีกด้วย

และล่าสุด Tencent ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด  เป็น  บริษัท เท็นเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเต็มตัว

สรุปเส้นทางชีวิตของ โพนี่ หม่า

Ma Huateng - โพนี่ หม่า
Image credit: dealbook

ในบรรดานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้น โพนี่ หม่า เป็นคนที่เก็บตัวมากที่สุดคนหนึ่ง เขาไม่ค่อยออกมาพบปะกับสื่อมวลชน ไม่ให้สัมภาษณ์ ไม่แถลงข่าว ไม่แสดงวิสัยทัศน์ แต่กลับชื่นชอบในงานด้านการกุศล โพนี่ หม่าจัดตั้งมูลนิธิของตัวเอง และบริจาคเงินเข้าไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่ชอบใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์หรูหรา ทำตัวเรียบง่ายและเก็บตัวอย่างที่สุด

แต่เราก็ยังพอสรุปแนวทางการทำธุรกิจของ โพนี่ หม่า ออกมาได้ดังนี้

โพนี่ หม่า เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “การที่จะมองเห็นอนาคตข้างหน้า หรือสิ่งที่อยู่ไกล ๆ คุณต้องขึ้นไปยืนบนไหล่ยักษ์” แม้จะเป็นการสัมภาษณ์เพียงเล็กน้อยก็เป็นคำพูดที่มีประโยชน์มาก โพนี่ หม่า ได้พิสูจน์คำพูดนี้ผ่านการทำธุรกิจของเขา ตั้งแต่เป็น SME จนก้าวสู่ Startup ระดับตำนานของจีน โพนี่ หม่า มีวิสัยทัศน์ที่มองไกลบนไหล่ยักษ์อย่างแท้จริง ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน โพนี่ได้ศึกษาธุรกิจจากอีกซีกโลกหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และนำเข้ามาเผยแพร่ในจีน ดินแดนที่มีแต่คนจีนเท่านั้นที่จะทำตลาดได้

และการที่เป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยยอมให้สัมภาษณ์ไม่ค่อยแถลงข่าว การดำเนินการแทบทุกอย่างจึงเป็นความลับเสมอ แต่ Tencent เองกลับแทรกซึมเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ มากมายทั่วโลก ซึ่งได้รับรู้ข้อมูลทั้งการคิดค้นวิจัยพัฒนาก่อนใคร บางครั้งรู้ก่อนที่สื่อมวลชนจะรู้เสียอีก เรียกว่า รู้เขาตลอด แต่เขาไม่รู้เราเลย ซึ่งทำให้ Tencent สามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและนำหน้าคู่แข่งไปหลายก้าวเสมอ

เมื่อเติบโตแล้วจึงลงทุนอย่างต่อเนื่อง หากคุณเคยติดตามบทความ เรื่อง ริชาร์ด หลิว คุณจะเข้าใจว่า โพนี่ หม่า นี่เองที่เป็นต้นแบบในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติบโตของ JD.com เมื่อ Tencent ลงทุนใน JD แล้ว JD ก็นำไปลงทุนต่อใน Xiaomi แบรนด์สมาร์ทโฟนของจีนต่อ ซึ่งการลงทุนต่อเนื่องแบบเป็นลูกโซ่เช่นนี้เอง ก็ยิ่งทำให้ Tencent ขยายอาณาจักรออกไปได้ไม่รู้จบ และยิ่งทำให้มีรายได้มาจากทุกทิศทุกทาง

การออกแบบโมเดลธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ โพนี่ หม่า กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเอเชีย หากในวันนั้น QQ ต้องพึ่งพารายได้หลักจากค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียว Tencent คงมาไม่ถึงวันนี้ แต่โพนี่ หม่า เปลี่ยนจำนวนผู้ใช้ให้เป็นรายได้ ได้อย่างน่าทึ่ง และกลายเป็นต้นแบบของการหารายได้จากจำนวนผู้ใช้ในแพลตฟอร์มของตัวเองในที่สุด

มูลค่าทรัพย์สินของ โพนี่ หม่า ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีประมาณ 3.98 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย อันดับที่ 2 คือ แจ๊ค หม่า มีทรัพย์สินรวม 3.78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่ 3 คือซู เจีย หยิน (เจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Evergrande Group) มีทรัพย์สินรวม 3.76 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ ลี กาซิง อดีตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเอเชียมีมูล่คาทรัพย์สินลดลงเหลือ 3.39 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยทั้ง 3 คนนี้ คือ โพนี่ หม่า , แจ็ค หม่า และ ซูเจีย หยิน กำลังขับเคี่ยวกันอย่างที่สุด มูลค่าทรัพย์สินของแต่ละคนมีการขึ้นลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงผลัดกันขึ้นเป็นที่ 1 แทบทุกเดือน ยังไม่มีผู้ใดทิ้งห่างและชนะแบบขาดลอย แต่คาดว่า ภายในปี 2018 หากสถานะกระแสเงินสดของ Tencent ยังดีมากขนาดนี้ น่าจะเอาชนะการเติบโตจากอสังหาริมทรัพย์ของ ซู เจีย หยิน และ เอาชนะอีคอมเมิร์ซ ของแจ๊ค หม่า ได้อย่างขาดลอยแน่นอน



Sources: