ประวัติ Cheng Wei อดีตพนักงาน Alibaba เงินเดือน 7 พันบาท สู่เศรษฐีหมื่นล้านใน 4 ปี CEO Didi Chuxing สตาร์ทอัพผู้พิชิต Uber จีน

เรื่องราวดังเทพนิยายต่อไปนี้เป็นเรื่องของชายผู้มีความสามารถที่สร้างฐานะขึ้นมาด้วยตนเองจนกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านดอลล่าร์ จากอดีตพนักงานในบริษัทอาลีบาบา ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย เขาใช้เวลาเพียง 4 ปี กับบริษัทสตาร์ทอัพ จนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถเอาชนะ Uber ในประเทศจีน จน Uber ต้องยอมถอยทัพ ขายกิจการทั้งหมดให้

เบื้องหลังการสู้รบครั้งนี้ ยิ่งกว่าพงศาวดาร สามก๊ก เพราะเป็นศึก สามก๊กฉบับดิจิตอล เป็นการรบกันระหว่าง Tencent , Alibaba และ Baidu สามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีน ที่ไม่มีใครยอมใคร แต่สุดท้ายศึกครั้งนี้ก็จบลงในเวลาเพียง 3 ปี วันนี้เราจะไปรู้จักประวัติของชายผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกที่ชื่อ Cheng Wei

จุดเริ่มต้นของมังกรน้อย Cheng Wei

Cheng Wei () (เฉิง เหว่ย หรือ เจิ้ง เวย) (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Will Wei วิล เหว่ย) เกิดในเมือง ช่างเหลา (Shangrao ) ทางใต้ของมณฑลเจียงซี (Jiangxi 江西) ในปี 1983 เรียนจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัย Beijing University of Chemical Technology

Will ไม่ใช่คนที่เรียนเก่ง มหาวิทยาลัยที่เข้าเรียนก็เป็นเพียงมหาวิทยาลัยระดับกลาง ๆ ของจีน  จบด้วยคะแนนแบบกลาง ๆ ไม่มีความโดดเด่นอะไร และหลังเรียนจบก็ทำงานจิปาถะ จนได้เข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการในบริษัท นวดฝ่าเท้า Will คิดว่า งานนี้ไม่น่าสนใจและคงไม่มีทางเติบโตไปมากกว่านี้  1 ปีต่อมาเขาจึงลาออกและไปสมัครงานกับ บริษัท อาลีบาบา ของ แจ๊ค หม่า  โดยเริ่มต้นด้วยตำแหน่งพนักงานขายทั่วไปของอาลีบาบา รับผิดชอบดูแลผลิตภัณฑ์ B2B(Business to Business) ของบริษัทในปี 2005 ด้วยเงินเดือนเริ่มต้นเพียง 225 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเพียง 7,650 บาทเท่านั้น

Cheng Wei ใช้เวลาในอาลีบาบาเพียง 6 ปี ก็ขึ้นเป็นผู้จัดการประจำภาคเหนือของจีน ในอาลีบาบา หลังจากนั้นเขาได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการที่ Alipay บริษัทตัวกลางรับชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในจีนในเครือของอาลีบาบา และใช้เวลาเพียง 2 ปี ขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานของ Alipay ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถและอายุน้อยที่สุดในจีน

Cheng Wei ก่อตั้ง Didi Dache

didi
Image credit: prnewswire

Will ได้ลาออกจาก Alipay ในปี 2012 และมาก่อตั้งบริษัท Beijing Orange Technology Co., Ltd. (Beijing Xiaoju Keji Co., Ltd.) และเปิดตัว Didi Dache (ตีตี ต่าเชอ 滴滴打车 ) (ต่าเชอ แปลว่าเรียกรถ(แท็กซี่) ต่าตี คือการเรียกแท็กซี่ ดังนั้น ตีตี คือการเลียนเสียงจากคำว่าต่าตีนั่นเอง) แอปพิลเคชั่นเรียกแท็กซี่แบบเดียวกับ UBER

Cheng Wei ขับรถไม่เป็นและไม่มีรถขับ

ใครจะคิดว่า Will ที่เคยเป็นถึงผู้บริหารระดับสูงใน Alipay จะขับรถไม่เป็น ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ซื้อรถ และเวลาเดินทางไปไหนมาไหน เขาจึงเรียกใช้บริการแท็กซี่เป็นหลัก และนั่นเองทำให้เขาเห็นโอกาสในการทำแอปพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถแท็กซี่ขึ้นในประเทศจีน

Didi Dache เปิดตัวแล้ว แต่แท็กซี่ไม่เล่นด้วย

Will จ้างโปรแกรมเมอร์แบบสัญญาจ้าง (ไม่ได้จ้างประจำ) เพื่อเขียนแอป Didi เวอร์ชั่นแรกให้ และเมื่อเปิดตัวแอปพลิเคชั่นออกไป กลับไม่ได้รับความนิยม เพราะแท็กซี่ในจีนงานล้นมือแทบจะวิ่งรับลูกค้าไม่ทันอยู่แล้ว ทำให้ Will ถึงกับต้องจ้างคนให้มาเรียกแท็กซี่ผ่านแอปของตัวเอง เพื่อเรียกความมั่นใจให้กับคนขับแท็กซี่ว่าแอปจะมีการใช้งานจริง ๆ จนในที่สุดช่วงปลายปี 2012 ประเทศจีนเกิดพายุหิมะ ผู้คนไม่สามารถยืนรอรถแท็กซี่นาน ๆ ได้ ทำให้ผู้ใช้แอปหันมาเรียกแท็กซี่ผ่าน Didi มากขึ้น จนมีการเรียกใช้เกิน 1,000 ครั้งต่อวันเป็นครั้งแรก

Didi Dache เป็นที่จับตามองของนักลงทุน

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ Didi Dache ได้รับเงินลงทุนครั้งแรก จาก GSR Ventures เป็นเงินจำนวน 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และในขณะนั้นเอง ก่อนที่จะมีการระดมทุนรอบที่สอง Garrett Camp ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหารระดับสูงของ Uber ก็ได้เข้ามาสังเกตการณ์อยู่ในประเทศจีน พร้อมทั้งยังแนะนำให้ Hans Tung ผู้จัดการกองทุน GGV Capital กองทุนขนาดใหญ่ หันมามองและเริ่มลงทุนใน Didi Dache พร้อมทั้งบอกว่า เขาสนับสนุนให้ลงทุนใน Didi เพราะขณะนั้นยังเร็วไปสำหรับ UBER และประเทศจีนไม่ใช่ประเทศที่จะเจาะเข้าไปได้ง่าย ๆ

คู่แข่งของนายเก่าก็สนใจมาลงทุน

ในปี 2013 คู่ปรับตลอดกาลของ Alibaba อย่าง Tencent ก็ติดต่อ Didi เพื่อขอลงทุนด้วย แต่ Cheng Wei และผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนซึ่งเป็นอดีตพนักงานของ Alibaba กลับลังเลที่จะตอบตกลง เพราะด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่หล่อหลอมพวกเขามา ก็ยังรู้สึกกระดากที่จะมารับเงินจากคู่แข่งของอดีตเจ้านายตัวเอง แต่ Pony Ma ก็ประเมินมูลค่าบริษัทของพวกเขาไว้สูงถึง 60 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 2,000 ล้านบาท) สูงกว่าที่บริษัทอื่น ๆ ที่เสนอตัวมาลงทุนให้ถึง 2 เท่าตัว ทำให้ผู้ก่อตั้ง Didi ทั้งสองคนตอบตกลง และ Tencent ให้เงินลงทุนสูงถึง 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 500 ล้านบาท) และกลายเป็นพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของ Didi รวมถึงยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทด้วย

และนอกจากนั้น Tencent ยังสนับสนุน Didi ด้วยการโปรโมทผ่านเครือข่าย Wechat ของตนเอง รวมถึงเครือข่ายออนไลน์ในเครือของ Tencent อีกด้วย ทำให้ Didi เติบโตแบบพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว จากการลงทุนของ Tencent ในครั้งนั้นทำให้ Didi กลายเป็นเทคสตาร์ทอัพที่เข้าสู่ระดับ Series B ในทันที

แล้วนายเก่าก็ไปลงทุนกับคู่แข่ง

Kuaidi Dache
Image credit: cbinsights

ในปี 2012 ปีเดียวกับที่ Didi เปิดตัว ก็มีแอปที่คล้ายกันเปิดให้บริการ ชื่อว่า Kuaidi Dache (ไคว่ตี ต่าเชอ) ซึ่งทำผลงานได้ดีไม่แพ้กันเลย และพอมีข่าวออกไปว่า Tencent ลงทุนใน Didi Dache 15 ล้านดอลล่าร์ ในปี 2013 Alibaba ก็เกทับด้วยการลงทุนใน  Kuaidi Dache 25 ล้านดอลล่าร์ ถือเป็นการรบผ่านร่างทรงที่ไม่มีใครยอมใครทั้งสิ้น

เมื่อต้นตำรับอย่าง UBER บุกมาเยือนอย่างเป็นทางการ

didi vs uber
Image credit: cnn

และในปี 2013 นี้เอง ต้นตำรับแอปเรียกแท็กซี่ของจริงและเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่าง UBER ก็บุกเข้ามาทำตลาดในประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ Uber China ที่มี Baidu เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และนับจากนี้ สงคราม สามก๊กยุคดิจิตอลก็เปิดฉากขึ้นอย่างสมบูรณ์ โดยมี Tencent, Alibaba และ Baidu เข้าร่วมรบกันอย่างดุเดือด ผ่านร่างทรงของตัวเอง อย่าง Didi dache, Kuaidi Dache และ Uber China ตามลำดับ โดย Tencent ได้เปรียบที่มีสื่อในมืออย่าง Wechat และ QQ ส่วน Alibaba พร้อมระดมเทคโนโลยีทุกอย่างเพื่อชิงส่วนแบ่งจาก Didi และ Baidu เองมีจุดเด่นที่บริการการค้นหาและแผนที่ ที่ละเอียดยิ่งกว่า Google Map เมื่อมาสนับสนุน UBER จึงทำให้ UBER ออกสตาร์ทได้อย่างรวดเร็ว

รบกันจนกลายเป็นทะเลแดงเดือด

Red Ocean คือความหมายของตลาดที่แข่งขันกันสูงจนเหมือนหลั่งเลือดย้อมมหาสมุทรจนเป็นสีแดง นี่คือสภาพการแข่งขันในตลาดของแอปเรียกแท็กซี่ในขณะนั้น โดยก่อนหน้าที่ UBER จะเข้ามานั้น Didi มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 55% และ Kuaidi ครองส่วนแบ่งที่ 45% แต่หลังจากที่ UBER เข้ามา ก็ทุ่มเงินงบประมาณอย่างมหาศาล เพื่อแย่งชิงคนขับให้เปลี่ยนมาใช้ UBER ซึ่งต้องบอกว่า UBER วางแผนมาดีมาก และถือเป็นบริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศจีนได้อย่างน่าประทับใจ เนื่องจากได้ศึกษาบทเรียนจากความล้มเหลวของ Ebay มาก่อนแล้ว เมื่อครั้ง Ebay ถูก Alibaba ไล่ตีจนแตกกระเจิงต้องถอยทัพกลับไปไม่เป็นท่า

Didi ได้รับการระดมทุนเพิ่ม เข้าสู่ Series C และได้เชิญ Jean Liu (Liu Qing) อดีตกรรมการผู้จัดการภาคเอเชียของ Goldman Sachs เข้ามารับตำแหน่ง COO ของบริษัท ซึ่งในปีต่อมาเธอได้ขึ้นเป็นประธานของ Didi (หลังการเข้าร่วมงานกับ Didi – Liu Qing ได้มีส่วนร่วมในการเรียกระดมทุนให้กับบริษัทได้ 700 ล้านดอลล่าร์ และอีก 3 หมื่นล้านดอลล่าร์ ตามลำดับ)

Jean Liu
Jean Liu (Liu Qing) Image credit: fastcompany

UBER โหมบุกอย่างหนักและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปีเดียว และเสนอขอเข้าลงทุนใน Didi แต่ Cheng Wei ปฏิเสธ เพราะเข้าใจดีว่า Didi มีความได้เปรียบในฐานะเป็นบริษัทท้องถิ่น ที่มีความเข้าใจคนจีนมากกว่า ศึกครั้งนี้มีท่าทีจะยืดเยื้อ เมื่อ UBER ยอมขาดทุนแบบเทหมดหน้าตัก เพื่อหวังชิงฐานคนขับมาครอบครองให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่มีคนขับแล้ว หากลูกค้าเรียกรถ Didi ก็จะไม่มีรถให้ขึ้น

Didi ก็ต้องลงมาแข่งราคาสู้ และขาดทุนสูงสุดมากถึงวันละ 200 ล้านบาท Cheng Wei และผู้บริหารระดับสูงทุกคนต่างทำใจและคิดว่าศึกนองเลือดนี้จะต้องมีไปอีกนานหลายปี แต่ทุกคนก็ถอยไม่ได้แล้ว

ประเทศชาติสำคัญกว่า สองคู่อริยอมรวมเป็นหนึ่ง

Didi Dache and Kuaidi Dache
Image credit: techinasia

ในปี 2015 เกิดการเจรจาระหว่างสองค่าย คือ Didi Dache และ Kuaidi Dache โดยการสนับสนุนของผู้ร่วมลงทุนหลัก ทั้ง Tencent และ Alibaba ที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จะให้ UBER เติบโตไปกว่านี้ในประเทศจีนไม่ได้ และถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อเผด็จศึก UBER ได้แล้ว ในปี 2015 ทั้ง Didi และ Kuaidi ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 และ 2 อยู่ หากเกิดการควบรวมกันเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นอันดับ 1 ที่มีส่วนแบ่งมากกว่า UBER China ทันที ดีลนี้จึงสำเร็จลงอย่างงดงาม หลังจากการควบรวมบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Didi Kuaidi ในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2015 และอดีตผู้บริหารของ Kuaidi ทั้งหมด ลาออก ซึ่งทั้ง Tencent และ Alibaba ร่วมกันลงทุนเพิ่มอีก 1,300 ล้านดอลล่าร์ ทำให้ Didi Kuaidi มีกระสุนพร้อมที่จะถล่ม UBER ให้ราบคาบ

การควบรวมครั้งนี้ทำให้บริษัทใหม่ Didi Kuaidi ครองส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมด กว่า 80% ทันที UBER ที่เพิ่งจะดีใจกับชัยชนะเล็ก ๆ ในปีที่แล้วถึงกับสะอึก และเริ่มเห็นเค้าลางของอันตรายคืบคลานเข้ามา เมื่อสองยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Alibaba ร่วมมือกัน

โดยแผนการควบรวมนี้เป็นความลับอย่างที่สุด เนื่องจาก Cheng Wei และ Liu Qing ได้ปรึกษากันและเริ่มเจรจากับ Kuaidi อย่างลับ ๆ ในวันที่ 21 มกราคม 2015 โดยตั้งชื่อแผนการลับนี้ว่า วาเลนไทน์ เพื่อควบรวมกิจการยุติสงครามตลอด 2 ปีที่ผ่านมากับ Kuaidi และทำให้มันจบลงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2015

Didi Kuaidi เผด็จศึก UBER ภายใน 7 เดือน

หลังจากการควบรวมกิจการ Didi เติบโตขึ้นเป็นสองเท่า และได้ระดมเงินลงทุนมหาศาลจากทั้งสองยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีจากจีน ตอนนี้ Didi แข็งแกร่งจน UBER ยากที่จะโค่นล้มได้แล้ว ทั้งจากฐานข้อมูลของลูกค้า และคนขับ ทั้ง Big Data ที่อยู่ในมือของ Tencent และ Alibaba ในขณะที่ พาร์ทเนอร์ของ UBER อย่าง Baidu ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

และ UBER ยังถูกกำลังภายในของ Tencent บล็อกแอคเคาท์ ออฟฟิเชียล ใน Wechat ที่มีผู้ใช้ Wechat ติดตาม Uber อยู่หลายร้อยล้านคนหายวับในพริบตา (เปรียบเหมือน แอคเคาท์ Line Official ในประเทศไทย) ทำให้ UBER ขาดช่องทางหลักในการสื่อสารกับลูกค้าและคนขับไปอย่างถาวร  และอีกเรื่องหนึ่งคือการผ่านกฎหมายในจีนเกี่ยวกับการเรียกรถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการโดยสาร ซึ่งเงื่อนไขข้อหนึ่งระบุว่าห้ามให้บริการโดยคิดราคาต่ำกว่าทุน จึงทำให้ UBER ที่ถนัดเล่นเกมตัดราคา ไม่สามารถทุ่มตลาดได้อีก แม้ยอดผู้ใช้จะพุ่งขึ้นสูงและเติบโตกว่านิวยอร์คมากถึง 480 เท่าก็ตาม จน Travis Kalanick (CEO UBER ในขณะนั้น) และผู้บริหารระดับสูงของ UBER ต้องทบทวนการตัดสินใจลงทุนในประเทศจีนอย่างเร่งด่วน

ในที่สุด เดือนกันยายน ปี 2015 UBER ตัดสินใจ ขายกิจการทั้งหมดในประเทศจีนให้กับ Didi Kuaidi โดยแลกกับการที่ UBER จะเข้าถือหุ้น 20% ในบริษัทใหม่ของ Didi หลังควบรวมกิจการ และ Cheng Wei ได้เข้าเป็นกรรมการบริหารใน UBER

แม้ว่า UBER จะทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ในด้านของจำนวนผู้ใช้ที่ครองส่วนแบ่งเกือบ 30% แต่กลับทุ่มทุนลงไปแล้วกว่า 2,000 ล้านดอลล่าร์ และขาดทุนทั้งหมด อีกทั้งยังไม่เห็นวี่แววว่าจะสามารถทำกำไรได้ในอนาคต เพราะอย่างไร Didi ก็แข็งแกร่งมาก และโค่นไม่ลงแน่นอน แทนที่จะถมเงินลงไปมหาศาล สู้ถอยทัพกลับบ้านแล้วลงทุนใน Didi รอรับผลกำไรอยู่ในอเมริกายังจะดีกว่า เหมือนกับที่ Yahoo China เคยขายกิจการให้กับ Alibaba  แลกกับการที่ Yahoo ได้ถือหุ้นใน Alibaba จนทำให้ตอนนี้มูลค่าหุ้นที่ Yahoo ถืออยู่ใน Alibaba นั้นมากกว่ามูลค่าของบริษัท Yahoo เองเสียอีก หรืออย่างกรณีของ Walmart China ก็ต้องถอยทัพกลับอเมริกา ขายกิจการเว็บ E-commerce ให้กับคู่แข่งอย่าง JD.com แลกกับหุ้นใน JD 5% เช่นกัน

ภายหลังการเข้าซื้อกิจการของ UBER – Didi Kuaidi ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Didi Chuxing (ตีตี ชูสิง) ซึ่งกลายเป็นเจ้าของแอปพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ ทั้ง 3 แพลตฟอร์มคือ Didi Dache , Kuaidi Dache และ Uber China โดยทั้ง 3 แอปยังคงให้บริการแยกกัน

จากการควบรวมทั้ง 3 กิจการเข้าด้วยกันนี้ก็เป็นการยุติสงคราม สามก๊กดิจิตอลในจีน (ชั่วคราว) ซึ่งถือเป็นการลงทุนร่วมกันของ 3 คู่แข่ง ในธุรกิจเดียวกันเป็นครั้งแรก ทั้ง Tencent , Alibaba และ Baidu ต่างมีหุ้นอยู่ใน Didi Chuxing และรับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ร่วมกันตามสัดส่วนการลงทุน

Didi Chuxing มูลค่า 35,000 ล้านเหรียญ

หลังการพิชิต UBER – Didi Chuxing กลายเป็นเทคสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านดอลล่าร์ฯ (หรือราว ๆ 1.2 ล้านล้านบาท) มีผู้ใช้บริการกว่า 300 ล้านคน ใน 400 เมืองทั่วประเทศจีน มีการให้บริการมากถึง 20 ล้านเที่ยวต่อวัน ยิ่งใหญ่กว่า UBER ที่ให้บริการทั่วโลกที่ 5.5 ล้านเที่ยวต่อวัน ทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น และตัว Cheng Wei เอง มีทรัพย์สินรวม 1,300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (หรือราว ๆ 4 หมื่นล้านบาท) เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 223 ในจีน ด้วยวัยเพียง 34 ปี เท่านั้น นอกจากนี้ Didi ยังเริ่มลงทุนใน Grab แอปเรียกแท็กซี่ที่ให้บริการในอาเซียน(รวมถึงไทยด้วย) เพื่อแผ่ขยายการลงทุนออกนอกประเทศจีน

บทเรียนสำหรับบริษัทข้ามชาติที่คิดจะเจาะตลาดจีน

จนถึงวันนี้ยังไม่มีบริษัทข้ามชาติบริษัทใด เจาะเข้าไปทำตลาดในจีนจนร่ำรวยเป็นล่ำเป็นสันได้เลย แม้แต่ Apple ที่ว่าแน่ ๆ คนจีนคลั่งไคล้ iPhone ขนาดไหน ก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับ Huawei  จึงมีคำกล่าวที่ว่า “หากยังใช้ตะเกียบกินข้าวไม่เป็น อย่าริไปทำการค้าในจีน” หมายความว่า หากยังไม่เข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมที่หลากหลายของคนจีนอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปหากำไรจากคนจีนได้ เพราะประเทศจีนนั้นกว้างใหญ่มีผู้คนมากมาย หลายร้อยเผ่าพันธุ์ จึงมีแต่คนจีนเท่านั้นที่จะเข้าใจคนจีนด้วยกัน ซึ่งข้อนี้ ทั้ง โพนี่ หม่า แห่ง Tencent และ แจ๊ค หม่า แห่ง Alibaba รู้ดี จึงสามารถต้านทัพจากอเมริกามาได้นับครั้งไม่ถ้วน

เรียนรู้เส้นทางชีวิตของ Cheng Wei ชายผู้พิชิต UBER

Cheng Wei
Image credit: bloomberg

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสวยงามราวกับเทพนิยาย จากพนักงานเงินเดือนเพียง 7 พันกว่าบาท สู่มหาเศรษฐีหมื่นล้าน โดยใช้เวลาทำธุรกิจเพียง 4 ปี หากคุณคิดว่านี่เป็นเรื่องง่ายราวกับความฝัน ต้องขอบอกว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ง่ายอย่างนั้น

จริงอยู่ที่ Cheng Wei เป็นคนเก่งที่มองการณ์ไกล เลือกทำในสิ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก (เขารู้จัก UBER มาก่อน และคิดว่าน่าจะเอาเข้ามาทำในประเทศจีน) แต่ทราบหรือไม่ว่า มีคนคิดแบบเดียวกับเขามากมาย เฉพาะที่เข้าประกวดโครงการนวัตกรรมในปีเดียวกัน มีคนคิดจะทำแอปเรียกแท็กซี่มากถึง 7,000 คน แต่ Cheng Wei เข้าใจในธุรกิจนี้อย่างถ่องแท้ และโครงการของเขาเป็น 1 ใน 9 โครงการที่ได้ตัดสินว่าให้ไปต่อ และหลังจากนั้นชีวิตก็ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ถึงขนาดต้องจ้างคนมาใช้แอปตัวเองก็ทำมาแล้ว

Cheng Wei เป็นนักอ่านตัวยง เขาจะชอบใช้เวลาเป็นสัปดาห์เพื่ออ่านหนังสือเล่มโปรด เมื่ออ่านมากก็เขียนมาก เขาเป็นคนที่ชอบอัพเดทความคิดและปรัชญาผ่านการเขียนบล็อกเป็นประจำ มีครั้งหนึ่งเขาเคยเขียนลงในบล็อกว่า วงจรการอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพคือ 3.7 ปี ซึ่งเขาเขียนไว้ในปี 2004 และตัวเลขนั้นได้เปลี่ยนเป็น 2.9 ปี ในปี 2011 ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไป นั่นก็เท่ากับช่วงเวลาที่เขาฝ่าฟันในการสร้าง Didi ให้ประสบความสำเร็จพอดี ความรวดเร็วนี้จึงไม่ใช่เทพนิยาย แต่เป็นความพยายามอย่างมีแบบแผน และปฏิบัติตามแผนนั้นอย่างเคร่งครัด

การเลือกเป็นพาร์ทเนอร์กับ Tencent ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของ Cheng Wei แม้ Tencent จะเป็นศัตรูคู่อริกับนายเก่าของเขา แจ๊ค หม่า แต่ในเมื่อเขาออกมาตั้งบริษัทเองแล้ว การแข่งขันของเจ้านายก็ไม่เกี่ยวกับเขาอีก และเขาต้องเลือกที่จะมองไปข้างหน้า แต่ความเลื่อมใสศรัทธาในตัว แจ๊ค หม่า ก็ไม่เคยเสื่อมคลาย เขามักจะนำคำพูดของแจ๊ค หม่า มาโพสในบล็อกส่วนตัวเสมอ ๆ

Cheng Wei เป็นคนที่มีความรักชาติ และเป็นชาตินิยมอย่างมาก เขาจะนึกถึงประเทศชาติก่อนเสมอ สาเหตุที่เขาปฏิเสธตอนที่ UBER ขอลงทุนในบริษัท ก็เนื่องมาจากไม่ต้องการขายหุ้นให้ต่างชาติ ไม่ว่า UBER จะเสนอเงินมากเท่าไหร่ก็ตาม แม้ในที่สุด UBER จะได้ครอบครองหุ้น 20% แต่ก็เกิดขึ้นหลังจากที่เขาสามารถพิชิต UBER ได้แล้ว



Resources: