นักลงทุนบิตคอยน์ ที่เพิ่งเข้าตลาดเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2021 และถือยาวบิตคอยน์เรื่อยมา จากวันนั้นจนวันที่ CEO Channels ทำบทวิเคราะห์นี้ คือ 7 มิถุนายน 2022 ล่วงเลยมาแล้ว 514 วัน ราคาผ่านการทำ All-time high ถึงสองครั้ง แต่ในที่สุดมูลค่าพอร์ตบิตคอยน์ที่พวกเขาถือยาวอยู่ ได้กลับมาขาดทุนอีกครั้งในวันนี้
เหตุการณ์นี้ อาจทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มไม่สบายใจ ถือยาวมาเกือบสองปี แทนที่มูลค่าพอร์ตคริปโตฯ จะโตขึ้น มันกลับเดินทางกลับมายังจุดเดิมกับตอนเข้าตลาดใหม่ ๆ แล้วจากนี้ไปราคาบิตคอยน์มีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร วันนี้ CEO Channels มี 4 ข้อมูล On-chain ที่ส่งสัญญาณว่า ณ วันนี้ ราคาบิตคอยน์ อาจยังลงไม่สุด
ก่อนจะไปฟังบทวิเคราะห์ ข้อแจ้งให้ทราบว่า นี่ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน เป็นเพียงการนำข้อมูลต่าง ๆ มาเล่าให้ฟังเท่านั้น การตัดสินใด ๆ ท่านจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยตัวของท่านเอง
เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว เราไปฟังกันเลยครับ
4 ข้อมูล On-chain เผยราคา บิตคอยน์ อาจยังร่วงได้อีก
ก่อนอื่น On-chain data หรือ ข้อมูลออนเชน คือ ข้อมูลที่นำมาจากการบันทึกธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ จากนั้นก็มีคนที่ดึงข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็นโมเดลคำนวณเพื่อหาค่าชี้วัดผล และสัญญาณทางเทคนิคต่าง ๆ เพื่อใช้วิเคราะห์ความน่าจะเป็นของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ
โดยขอย้ำว่า ค่าชี้วัด และ สัญญาณ เหล่านี้เพื่อวิเคราะห์ความน่าจะเป็น แต่ที่สุดแล้วมันจะเกิดขึ้นจริงตามสถิติเดิมหรือไม่นั้น ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ข้อมูลที่ 1 Bitcoin Net Unrealized Profit/Loss
เป็นข้อมูลที่ทางเว็บไซต์ Cointelegraph นำมาจากเว็บไซต์ข้อมูลออนเชนชื่อดัง Glassnode
ข้อมูล Bitcoin net unrealized profit/loss หรือ NUPL ตามภาพประกอบนี้ เผยให้เห็นถึงสัดส่วน กำไร หรือ ขาดทุน สุทธิแบบ Unrealized (ถือไว้ยังไม่ขาย) ของทั้งตลาด มีค่าระหว่าง +1 และ -1 หรือทำความเข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นสัดส่วน +100% และ -100% ของทั้งตลาด
วิธีเริ่มต้นดูสถิติง่าย ๆ คือ
ในช่วงที่ บิตคอยน์ เป็นตลาดกระทิง อัตราส่วนนี้จะสูงกว่า 0.50 ซึ่งจะแสดงในเส้นกราฟสีเขียว และกระทิงสุดขีด อัตราส่วนนี้จะทะลุ 0.75 ซึ่งจะแสดงในเส้นกราฟสีฟ้า แปลว่า นักลงทุน 50% และ 75% ขึ้นไป กำไรกันถ้วนหน้า
ในทางกลับกัน ตลาดหมี และหมีสุดขีด เส้นกราฟจะติดลบ 0.50 และ 0.75 ตามลำดับ แสดงด้วยเส้นกราฟสีแดงทั้งหมด
โดยในช่วงนี้เรียกว่า ช่วง Capitulation (คาพิทูเลชั่น) แปลตรงตัว คือ ยอมจำนน ความหมายในโลกของการลงทุน คือ นักลงทุนยอมแพ้ เทขาย และหนีตายออกจากตลาดอย่างเจ็บปวด
โดย ณ ตอนนี้ กราฟ NUPL อยู่ที่ระดับ 0.25
หรือเหลือนักลงทุนเพียง 25% ที่ยังถือบิตคอยน์อย่างมีกำไรอยู่ ส่วนที่เหลือ ทนถือด้วยสภาพที่จมอยู่ใต้น้ำไปแล้ว ในขณะที่เส้นกราฟถูกแสดงสัญลักษณ์ สีส้ม แปลว่า เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนกำลังสับสน มีทั้งความหวัง และ ความกลัว ไปพร้อมกัน เป็นช่วงที่จิตใจมีความเปราะค่อนข้างมาก
จากสถิติตลาดหมี ปี 2015 และปี 2018 หลังจากกราฟแตะสีส้ม เหตุการณ์ที่ตามมา คือ ตลาดทำ Capitulation เทขายจนถึงที่สุดจนกราฟลงมาเป็นสีแดง เป็นอันว่า บิตคอยน์ แตะจุด Bottom
กรณี ไซเคิ้ลปัจจุบัน
หากเราไม่นับเหตุการณ์ Covid Crash ปี 2020 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สุดวิสัยที่แทรกเข้ามาเป็นกรณีพิเศษ ก็จะนับว่า บิตคอยน์ ยังไม่ได้ถูกทำ Capitulation หรือ เทขายจนถึงที่สุดในไซเคิ้ลนี้
หาก History repeat หรือ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย บิตคอยน์ จะยังคงรอจังหวะที่จะเกิด Capitulation ใหญ่อีก 1 ครั้ง ซึ่งทาง Cointelegraph ประเมินว่าน่าจะลงไปแถว $25,700 – $20,560
ข้อมูลที่ 2 Mayer Multiple Model
ข้อมูลนี้ได้ค่าวัดผลจากการคำนวณความเคลื่อนไหวของราคา บิตคอยน์ จาก Moving average 200 วันเป็นหัวใจหลักในการคำนวณ โดยนักวิเคราะห์ได้ทำการสรุปออกมาเป็นตัวเลขชี้วัดจำง่าย ๆ ตามภาพประกอบ ได้แก่
- ตลาดหมี เส้นสีเหลือง ค่า 0.8
- หมีสุดขีด เส้นสีแดง ค่า 0.6
จากภาพประกอบนี้ จุดต่ำสุดของ บิตคอยน์ ในปี 2015 นั้น จะเห็นว่าราคาเริ่มวิ่งใต้เส้นสีเหลือง หรือ ค่า 0.8 ตั้งแต่หลังกลางปี 2014 ก่อนที่จะหล่นทะลุเส้นสีแดงในปี 2015 ในขณะที่ตลาดหมีปี 2018 มีการเคลื่อนไหวใต้เส้นเหลืองในระยะสั้นกว่าเพื่อไปแตะเส้นแดงจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองจึงจะร่วงทะลุเส้นแดง
หาก History repeat หรือ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย บิตคอยน์ รอบนี้ยังไม่ทะลุเส้นสีแดง และกำลังรอการทะลุเพื่อจบจุดต่ำสุด ในกรณีที่ทฤษฏีนี้ยังใช้ได้อยู่ โดยนักวิเคราะห์เล็งตัวเลขประมาณ $25,200
นอกจากโมเดล Mayer Multiple Model แล้วขอแถมอีกโมเดลดูง่ายสบายตา คือ Bitcoin realized price ที่นักวิเคราะห์ใช้ดูร่วมกัน โดยจากภาพประกอบนี้ นักวิเคราะห์เล็งราคา บิตคอยน์ ตามโมเดล Realized price ว่าน่าจะลงไปที่ $23,600
ข้อมูลที่ 3 Bitcoin Miner Net Position Change
ข้อมูล On-chain ตามภาพประกอบนี้ เผยพฤติกรรมของ Miner หรือ นักขุดบิตคอยน์ ว่าซื้อหรือขายบิตคอยน์ โดยสีเขียว คือ เก็บของ และสีแดง คือ ขายของ ช่วงเวลาที่ Miner จะมีการขายบิตคอยน์ออกเยอะเป็นพิเศษจะมี 2 ช่วงที่สังเกตได้ชัด คือ ช่วงที่ตลาดเริ่มกระทิงใหม่ ๆ และช่วงที่ตลาดใกล้จะทำจุดต่ำสุด
จากภาพประกอบ ช่วงที่ นักขุด ขายบิตคอยน์ออกมาจำนวนมาก คือ ไตรมาสแรกของปี 2021 ซึ่งก็เป็นช่วงที่นักลงทุนหน้าใหม่เพิ่งจะเข้ามานั่นเอง
จากนั้น นักขุด ก็ไม่ได้เทขายอย่างมีนัยยะสำคัญจนกระทั่งช่วง พฤษภาคม และ มิถุนายน 2022 ที่พวกเขาเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวด้วยการเทขาย บิตคอยน์ อีกครั้ง และนี้อาจเป็นสัญญาณว่า ราคาบิตคอยน์ อาจจะลงได้อีก
ข้อมูลที่ 4 Puell Multiple
ข้อมูล On-chain ตามภาพประกอบนี้ คำนวณจาก มูลค่าเหรียญที่ผลิตออกมาแต่ละวัน หารด้วย Moving average 365 ของมูลค่าเหรียญที่ผลิตออกมา
โดยนักวิเคราะห์ให้เราทำความเข้าใจง่าย ๆ ว่า ค่าติดลบ 0.5 หรือพื้นที่สีเขียวในภาพประกอบ คือ ตลาดหมี และเส้นกราฟนี้แตะหรือทะลุเส้นต่ำสุดของพื้นที่สีเขียว นั่นคือช่วง Capitulation ของตลาด
จากสถิติย้อนหลัง 10 ปีในภาพประกอบนี้ เท่ากับว่า บิตคอยน์ ไซเคิ้ลนี้ ยังไม่แตะจุดต่ำสุดของ Puell multiple model
สรุป
และนี้คือ 4 ข้อมูล On-chain ที่กำลังบอกเราว่าราคาบิตคอยน์อาจยังไม่ทำจุดต่ำสุด และยังมีเป็นไปได้ตามสถิติเก่าว่าจะยังลงได้อีก หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม อย่างไรก็ดี ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ 100% ว่าสถิติเหล่านี้จะซ้ำรอยหรือไม่ หรือว่าจะถูกทำลายลงไปในรอบนี้
ดังนั้น ขอให้นักลงทุน Do your own research คือ โปรดศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยหลักวิเคราะห์ของท่าน และตัดสินใจขั้นสูงสุดด้วยตัวท่านเอง
คุณอาจสนใจ
- Noah Kagan เผยเส้นทางปั้นพอร์ต Bitcoin จาก 2 ล้าน กลายเป็น 28 ล้านบาท ใน 5 ปี
- บิตคอยน์จะพุ่งหรือพัง? เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ ไล่เปิด Long Position สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
อ้างอิง
https://cointelegraph.com/news/traders-think-bitcoin-bottomed-but-on-chain-metrics-point-to-one-more-capitulation-event