บิทคอยน์ จะหลุด $28,000 หรือไม่? ดัชนี CPI สหรัฐเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี อาจกดดัน FED เร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

วันที่ 10 มิถุนายน 2022 ของประเทศไทย ฝั่ง สหรัฐอเมริกา ประกาศตัวเลข Consumer Price Index หรือ CPI เป็นตัวเลขที่ใช้ดูอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค รอบนี้มีอัตราพุ่งสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้ง รายเดือน และ รายปี และยังสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และบิทคอยน์ ร่วงยับ โดย บิทคอยน์ ดิ่งกลับมาแตะที่กรอบ 28,000 ดอลล่าร์อีกครั้ง ฉุด Altcoin อื่น ๆ ร่วงไปตาม ๆ กัน

อนาคตอันใกล้ของ บิทคอยน์ จะเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงที่จะหลุดต่ำกว่า 28,000 ดอลล่าร์หรือไม่? และถ้า FED จะขึ้นดอกเบี้ย จะขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์? ส่องตลาดคริปโตฯ กับ CEO Channels จะนำข้อมูลที่ได้มา มาสรุปรายงานให้ฟัง




สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเลขอะไรบ้าง

วันที่ 10 มิถุนายน สหรัฐได้ประกาศตัวเลข CPI และ Core CPI (ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน) ประจำเดือน มิถุนายน 2022 ดังนี้:

CPI ค่าจริง 8.6% จากเดิมคาดการณ์ 8.3%

  • เทียบกับ เดือนที่แล้ว ค่าจริง 8.3%
  • เทียบกับ ปีที่แล้วเดือนนี้ ค่าจริง 3.7%

Core CPI ค่าจริง 6.0% จากเดิมคาดการณ์ 5.9%

  • เทียบกับ เดือนที่แล้ว ค่าจริง 6.2%
  • เทียบกับ ปีที่แล้วเดือนนี้ ค่าจริง 5.0%

โดยตัวเลข CPI ที่ประกาศออกมานับว่าสูงที่สุดในรอบ 40 ปี โดย สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์จาก 2 สถาบันการเงินรายใหญ่ Barclays และ Jefferies Financial Group คาดเดาตรงกันว่า FED อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75% และการตัดสินใจว่าจะขึ้นหรือไม่อาจเกิดขึ้นภายในการประชุมสัปดาห์หน้าเป็นอย่างเร็ว

ประกาศนี้ ส่งผลให้กราฟค่าเงินดอลล่าร์ หรือ DXY ดีดตัวขึ้น 0.85% ซึ่งนับว่าเป็นแท่งเทียนสีเขียวสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม เป็นต้นมา และแน่นอนว่าข่าวนี้ และการดีดขึ้นของดอลล่าร์นี้ ไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดคริปโต


ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบสนองเกือบจะทันที ดังนี้

  • Dow Jones ร่วง 820 จุด หรือ -2.6% โดยประมาณ
  • S&P500 ร่วง 110 จุด หรือ -2.8% โดยประมาณ
  • Nasdaq ร่วง 402 จุด หรือ -3.30% โดยประมาณ

ในขณะที่ บิทคอยน์ นั้นแทบไม่ต้องเดา เพราะมีความอ่อนไหวต่อข่าวเงินเฟ้อ และมักเคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นสหรัฐเสมอมา

ราคา บิทคอยน์ ร่วงจากจุดสูงสุดของวันที่ 10 มิถุนายน ที่ 30,382 ดอลล่าร์ มาแตะจุดต่ำสุด 28,850 ดอลล่าร์ ก่อนที่จะมีนักลงทุนบางกลุ่มเข้าซื้อที่ Dip ดังกล่าว ส่งผลให้ราคาบิทคอยน์เด้งกลับมาแต่ก็เพียงเล็กน้อยและปิดวันที่ 29,091 ดอลล่าร์ ติดลบ 3.38%

ในขณะที่เหรียญรองก็ร่วงหนักไม่น้อยหน้า บิทคอยน์ อาทิ:

  • Ethereum – 7.04%
  • Binance – 1.21%
  • Polkadot – 6.39%
  • Cadano เพิ่งจะคึกคักได้สองสัปดาห์ แต่เพียงวันเดียว -9.16%

เรียกได้ว่า เป็นวันแดงทุกกระดานสำหรับสินทรัพย์เสี่ยง หลังสหรัฐ ประกาศตัวเลข CPI และสถาบันการเงินใหญ่พยากรณ์ว่า FED อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 0.75% เร็วขึ้น

แล้ว บิทคอยน์ จะเป็นอย่างไรต่อไป

เว็บไซต์ Cointelegraph อ้างถึงความเห็นของกลุ่มนักวิเคราะห์บิทคอยน์บนโลกออนไลน์ต่าง ๆ ว่า พวกเขาเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า บิทคอยน์ จำเป็นต้องกลับมายืนเหนือ 3 หมื่นดอลล่าร์ให้ได้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะร่วงหลุด 28,000 ดอลล่าร์ยาว ๆ ไปเลย

คุณ Kevin Svenson หนึ่งนักลงทุนคริปโต ที่ค่อนข้างมีความกาวน้อยหน่อยในวงการนี้ ยอมรับว่า ปัจจัยแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขึ้น และดอลล่าร์พุ่ง แบบนี้ เขาไม่เห็นทางที่ บิทคอยน์ จะกลับสู่ตลาดกระทิงได้ และคาดว่าจะซึม ๆ แบบนี้ไปอีกเป็นหลักปี


ข้อมูล On-chain เผย บิทคอยน์ อาจยังไม่ทำจุดต่ำสุด (ยังลงได้อีก)

ข้อมูล On-chain ตัวสำคัญ ได้แก่ Bitcoin net unrealized profit/loss หรือ NUPL ตามภาพประกอบนี้ เผยให้เห็นถึงสัดส่วน กำไร หรือ ขาดทุน แบบ Unrealized ของทั้งตลาด โดยมีค่าระหว่าง +1 และ -1


วิธีดูสถิตินี้อย่างง่าย คือ ในช่วงที่ บิทคอยน์ เป็นตลาดกระทิง อัตราส่วนนี้จะสูงกว่า 0.50 ซึ่งจะแสดงในเส้นกราฟสีเขียว และกระทิงสุดขีด อัตราส่วนนี้จะทะลุ 0.75 ซึ่งจะแสดงในเส้นกราฟสีฟ้า โดยให้เข้าใจนัยยะอย่างง่าย คือ นักลงทุน 50% และ 75% ขึ้นไป ถือ บิทคอยน์ อย่างมีกำไรถ้วนหน้า

ในทางกลับกัน ตลาดหมี และหมีสุดขีด เส้นกราฟจะติดลบ 0.25, 0.50 และ 0.75 ตามลำดับ แสดงด้วยเส้นกราฟสีแดงทั้งหมด

เมื่อกราฟสีแดงดิ่งลงแรง จะเป็นการทำ Capitulation (คาพิทูเลชั่น) แปลตรงตัว คือ ยอมจำนน ความหมายในโลกของการลงทุน คือ นักลงทุนยอมแพ้ เทขาย และหนีตายออกจากตลาดอย่างเจ็บปวด

โดย ณ ตอนนี้ กราฟ NUPL อยู่ที่ระดับ 0.25 หรืออีกนัยยะหนึ่ง คือ เหลือนักลงทุนเพียง 25% ที่ยังถือบิตคอยน์อย่างมีกำไรอยู่ ส่วนที่เหลือเป็นการทนถือด้วยสภาพที่จมอยู่ใต้น้ำไปแล้ว

ในขณะที่เส้นกราฟขณะนี้ถูกแสดงสัญลักษณ์ สีส้ม แปลว่า เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนกำลังสับสน มีทั้งความหวัง และ ความกลัว ไปพร้อมกัน เป็นช่วงที่จิตใจมีความเปราะ และพร้อมจะยอมจำนนได้ทุกเมื่อหากมีเรื่องลบใด ๆ มาสะกิด

เมื่อย้อนดูสถิติตลาดหมี ปี 2015 และปี 2018 หลังจากกราฟแตะสีส้ม เหตุการณ์ที่ตามมา คือ ตลาดทำ Capitulation เทขายจนถึงที่สุดจนกราฟลงมาเป็นสีแดง เป็นอันว่า บิทคอยน์ แตะจุดต่ำสุด

กรณี ไซเคิ้ลปัจจุบัน

หากไม่นับเหตุการณ์ Covid Crash ปี 2020 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สุดวิสัยที่แทรกเข้ามาเป็นกรณีพิเศษ ก็จะนับว่า บิตคอยน์ ยังไม่ได้ถูกทำ Capitulation หรือ เทขายจนถึงที่สุดในไซเคิ้ลนี้

หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอย บิทคอยน์ จะยังคงรอจังหวะที่จะเกิด Capitulation ใหญ่อีก 1 ครั้ง ซึ่งทาง Cointelegraph ประเมินว่าน่าจะลงไปแถว ๆ $25,700 หรืออาจจะลงไปถึง $20,560 เป็นต้น

ดังนั้น หากอ้างอิงสถิติแบบ On-chain บิทคอยน์ มีความเสี่ยงที่จะหลุด 28,000 ดอลล่าร์ โดยขอย้ำว่า นี้เป็นสถิติเก่าว่ามันเคยทำแบบนี้ แต่สถิติจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือจะถูกพิชิตในรอบนี้ ไม่สามารถรับรองได้ 100%

สรุป

จากข้อมูลเศรษฐกิจเท่าที่เปิดเผยออกมา แสดงให้เห็นว่ายังไม่เป็นผลดีต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เช่น คริปโตเคอร์เรนซี่ ยังไม่เห็นโอกาสการกลับตัวเป็นตลาดกระทิงในเร็ว ๆ นี้ แต่ในขณะเดียวกัน นี้อาจเป็นโอกาสในการสะสมของถูกสำหรับสายถือยาวที่มีเงินเย็น

ดังนั้น ท่านเป็นนักลงทุนประเภทใดในตลาด ก็จะต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับตัวของท่าน สุดท้าย นี่ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

คุณอาจสนใจ



ข้อมูลอ้างอิง

https://th.investing.com/economic-calendar/cpi-733

https://th.investing.com/economic-calendar/core-cpi-736

https://cointelegraph.com/news/bitcoin-price-falls-under-29-5k-after-unexpected-40-year-high-us-inflation

https://cointelegraph.com/news/traders-think-bitcoin-bottomed-but-on-chain-metrics-point-to-one-more-capitulation-event

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-10/barclays-sees-75-basis-point-fed-hike-next-week-on-price-surge