โจทย์แรกก็ คือ วันนี้ใคร ๆ ก็สามารถก้าวเข้ามาขายของออนไลน์ได้ง่าย ๆ Barrier of Entry ในการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ต่ำมากจนบางคนอาจรู้สึกว่าคนขายของออนไลน์ ‘แทบจะล้นโลก’
โจทย์ คือ การขายของออนไลน์ ยังมีอนาคตอยู่หรือไม่? — ก่อนที่คุณจะไปพบคำตอบ คุณต้องเข้าใจที่มาที่ไปของจักรวาลนี้เสียก่อน ‘จักรวาลโลกออนไลน์’
ย้อนกลับไปยุคก่อนการขายของออนไลน์
ไอเดียเกี่ยวกับ World Wireless Network หรือ เครือข่ายข้อมูลไร้สาย มีมายาวนานตั้งแต่ราว ๆ ปี คศ. 1900 (ช่วงเวลาของ Nikolas Tesla) ก่อนที่จะปรากฏเป็นรูปเป็นร่างใช้งานจริงในปี คศ. 1960 โดยการพัฒนาขององค์การ Advanced Research Projects Agency Network หรือ ARPANET ที่ได้รับการสนับสนุนทุนโดย กองทัพสหรัฐอเมริกา
ระบบอินเตอร์เน็ตช่วยให้ คอมพิวเตอร์หลายเครื่อง สามารถเชื่อมโยงและสื่อสารถึงกันภายใต้เน็ตเวิร์คชุดเดียวกัน หรือ Multiple Computers – Single Network
กระทั่งในปี คศ. 1970 นักวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน ได้แก่ Robert Kahn และ Vinton Cerf ก็ได้พัฒนาวิธีทำให้ คอมพิวเตอร์หลายเครื่อง สามารถเชื่อมโยงและสื่อสารถึงกันภายใต้เน็ตเวิร์คหลายชุด หรือ Multiple Computers – Multiple Networks
ระบบนั้น คือ Transmission Control Protocol และ Internet Protocol ซึ่งเป็นต้นแบบของระบบอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน
จากนั้นในปี คศ. 1990 นักวิทยาศาสตร์นามว่า Tim Berners-Lee ได้คิดค้นระบบ World Wide Web ซึ่งเป็นระบบ เผยแพร่ข้อมูล เข้าสู่ระบบ อินเตอร์เน็ต และเป็นต้นแบบของ เว็บไซต์ ทั้งหมดบนโลกนี้ในปัจจุบัน
World Wide Web หรือ เว็บเพจข้อมูลชุดแรกในประวัติศาสตร์ถูกโฮสต์เข้าสู่ระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 6 กันยายน ปี คศ. 1991 มีชื่อว่า : http://info.cern.ch/hypertext/WWW/TheProject.html
อีก 3 ปีต่อมา ตรงกับวันที่ 5 กรกฏาคม 1994 Jeff Bezos ชายหนุ่มวัย 30 ปีอนาคตไกลในตำแหน่งบริหารให้บริษัทการเงินใน Wall Street ตัดสินใจทิ้งตำแหน่ง อำนาจ และเงินเดือนสูงลิ่ว เพื่อมาเปิดธุรกิจเว็บไซต์ E-commerce นามว่า Amazon.com
ในตอนนั้นทั้ง อินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นเรื่องใหม่ของโลกมาก ๆ มากจนแทบไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่ Jeff Bezos ทำ สินค้าหมวดหมู่แรกของ Amazon คือ หนังสือ โดยเขาโพสต์ขายหนังสือลงในเว็บไซต์โดยที่ตัวเขาไม่ได้ถือครองสต็อกสินค้าใด ๆ เมื่อมีออเดอร์เข้ามา เขาจึงนำออเดอร์ไปไล่ซื้อสต็อกหนังสือจากสำนักพิมพ์มาส่งต่อ
โมเดลนี้ไปได้สวย เขาจึงเริ่มขยายหมวดสินค้าจากหนังสือไปสู่สินค้าดนตรีและภาพยนต์ และขยายต่อไปเรื่อย ๆ กระทั่งเป็นเว็บขายแทบทุกอย่างบนโลกนี้ และได้รับฉายาว่า The Everything Store
ปัจจุบัน — ในช่วงไตรมาสแรกของปี คศ. 2019 Jeff Bezos ขึ้นแท่นคนรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินสุทธิประมาณกว่า 139,000 ล้านเหรียญฯ
และสิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อดูอันดับ Top 10 คนรวยที่สุดในโลกในช่วงหลัง ๆ นี้คุณจะพบว่า คนรวยมีแนวโน้มอายุน้อยลง และเริ่มเห็นกลุ่มคนสร้างเนื้อสร้างตัวจากธุรกิจที่มีความเป็น Digital มากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อนคนรวยมักสร้างตัวจาก โรงงาน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุน เป็นต้น
แนวคิดอินเตอร์เน็ตถูกพูดถึงเมื่อประมาณปี 1900 และต้องใช้เวลาถึง 90 ปีกว่าที่จะถูกนำมาเริ่มต้นใช้งานต่อสาธารณะ
แต่เมื่อนับจากปีที่ Amazon.com ก่อตั้งจนถึงปี 2019 คิดเป็นระยะเวลาเพียง 25 ปีเท่านั้น แต่ถ้านับจากปีที่มีการเติบโตจริง ๆ จะอยู่ราว ๆ ปี 2006 – 2007 เป็นต้นมา ก็เท่ากับธุรกิจ E-commerce มีอายุงานจริงจัง ๆ ก็ประมาณ 12 – 13 ปี เทียบกับมนุษย์แล้วก็ยังเป็นเด็ก ๆ อยู่
ฉะนั้นกลับไปที่ โจทย์ — ขายของออนไลน์ยังมีอนาคตอยู่ไหม ตอบตาม Timeline วิวัฒนาการก็ตอบได้เลยว่า มีอนาคตอีกยาวไกล และ มีพื้นที่ให้เล่นอีกไพศาล
แต่! เด็กสมัยนี้โตเร็ว
เด็กอายุ 12 – 13 ปี พอย่างเข้าอายุ 15 ปีจะเริ่มโตอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีก็เช่นกัน แต่ที่เหนือกว่า คือ เทคโนโลยีเติบโตในอัตราเร่ง หรือ Exponential growth
ดังนั้น การก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์เข้าง่าย แต่ประสบความสำเร็จยากขึ้น แต่สิ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้คุณได้ คือ มองเห็นอนาคตว่าคลื่นลมแห่งโลกออนไลน์จะพัดไปทางไหน และคุณไปดักรอให้ถูกตำแหน่งในวันที่พื้นน้ำยังสงบแล้วคุณจะได้เป็นตัวท็อปของยอดคลื่น
นี่คือวิสัยทัศน์แบบเดียวกับนักธุรกิจ Digital รุ่นบุกเบิก เขาลงมือทำในวันที่น้ำนิ่ง แต่เขารู้ว่ากระแสมันกำลังจะมา และต่อไปนี้ผมจะเผยให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ใหม่ ที่นักธุรกิจออนไลน์ต้องมีวันนี้และเดี๋ยวนี้หากต้องการจะเป็นผู้นำกระแสธุรกิจออนไลน์แห่งอนาคต
คุณเห็นสิ่งที่น่าตกใจจากภาพนี้หรือไม่?
ภาพนี้นำมาจากหน้าที่ 13 ของหนังสือ Bold: How to Go Big, Create Wealth and Impact the World โดย Peter Diamond และ Steven Kotler
นี่คือรายการสินค้าอิเลคทรอนิกส์ขายดีในระหว่างปี 1969 – 1989 ซึ่งการที่คนในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นเจ้าของสินค้าทั้งหมดอาจต้องใช้เงินกว่า 9 แสนเหรียญ หรือ ประมาณ 28 – 29 ล้านบาท ในการเป็นเจ้าของทั้งหมดนี้
แต่ในปัจจุบัน สินค้าในรายการนี้ได้ถูกเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต Disrupt ไปเรียบร้อยแล้ว คนรุ่นใหม่สามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่คล้ายกันหรือดีกว่าในราคาที่ ฟรี จากสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือ
นี่คือความน่ากลัวของการถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต แต่มันคือโอกาสอันมหาศาลสำหรับคนที่มองเห็นการณ์ไกลและปรับตัวรอไว้แต่เนิ่น ๆ และผมมี 1 คีย์เวิร์ดลับ ที่กำลังจะไม่ลับอีกต่อไปมาบอกคุณ
คีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับคนทำธุรกิจออนไลน์ยุคนี้ต้องจดจำและทำให้เกิดขึ้น คือคำว่า! Digital Asset
Digital Asset คืออะไร
คำอธิบายภาษาอังกฤษที่เข้าใจง่ายที่สุดโดยเว็บไซต์ simplicable.com อธิบายว่า
“…A digital asset is something that has value and can be owned but has no physical presence…”
แปลเป็นไทย สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสิ่งที่มีมูลค่าและเป็นเจ้าของได้ แต่ไม่มีตัวตนจับต้องได้ — สินทรัพย์ดิจิทัล มีหลากหลายประเภท และนับวันจะมากประเภทขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการขยายตัวของเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต โดยผมจะยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวทุกคนที่สุดจำนวน 12 ประเภท ได้แก่
1 บทความหรือข้อความตัวอักษร
2 รูปภาพ
3 ไฟล์เสียง
4 วีดีโอ
5 โลโก้และฟอนต์
5 ประเภทนี้ใกล้ตัวคุณที่สุด โพสต์บนเฟสบุ๊ค, รูปในอินสตาแกรม, การเล่าเรื่องลงใน Podcast, วีดีโอใน Youtube, และภาพงานออกแบบต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็น สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์โดยอัตโนมัติ และมีมูลค่าเพิ่มทันทีที่ถูกเผยแพร่
6 โดเมนเนม
7 เว็บไซต์
8 ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่น
9 ชุดข้อมูลความรู้ดิจิทัล
4 ประเภทนี้เริ่มมีความแอดวานซ์ขึ้นมาอีกขั้น และ 4 ประเภทนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเป็นตัวเงินหลักหลายสิบไปจนถึงหลายหมื่นล้านบาทต่อปีให้แก่เจ้าของสินทรัพย์
10 Cryptocurrency หรือ เงินดิจิทัล อาทิ Bitcoin, Lite Coin, Ethereum หรือ ที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อเดือน มิถุนายน 2019 ก็คือโครงการ Libra ของ Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook
11 Facebook Pixel เป็นชุดโค้ดดิ้งพิเศษที่สร้างจากเครื่องมือโฆษณา Facebook Ad นำไปฝังลงในเว็บไซต์ และจะสามารถ Tracking ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ เพื่อนำไปใช้ยิงโฆษณาแบบ Retargeting หรือ ภาษาการตลาดในวงการเรียกว่า การยิงโฆษณาแบบหลอกหลอน โดย Facebook เองยังเป็นผู้กำหนดนิยามให้ Facebook Pixel เป็น สินทรัพย์ดิจิทัล ชนิดหนึ่ง
12 User Database หรือ ฐานข้อมูลผู้ใช้งานในระบบ อาทิ ชื่อ เบอร์โทร อีเมล์ และ ที่อยู่ ของผู้สั่งซื้อสินค้าทางเว็บไซต์, ผู้สมัครเป็นสมาชิกรับข่าวสารจากเว็บไซต์, หรือ ผู้สมัครใช้งานซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะแบบฟรี หรือจ่ายเงินก็ตาม — เหล่านี้เป็น สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กลุ่มทุนใหญ่จ่ายเงินหลายหมื่นล้านบาทเพื่อเข้าซื้อกิจการที่มี User database มหาศาล
การให้ความสำคัญกับการสร้าง User database คือ หนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญของนักธุรกิจออนไลน์ และยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลยุทธ์การตลาดแบบ Growth Hacking Marketing อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม
Growth Hacking Marketing คืออะไร
อยากสร้างรายได้จากเว็บไซต์ทำยังไง
วิธีสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress แบบละเอียดยิบ
ใช้เว็บโฮสต์อะไรดี? อ่านรีวิวผู้ให้บริการโฮสติ้งที่เชื่อถือได้ ที่นี่