Web Monetization เครื่องจักรทำเงินจากโน้ตบุ๊คเครื่องเดียว

web-monetize-01

คุณรู้หรือไม่ว่า เว็บไซต์ ที่คุณคลิกเข้าไปอ่านฟรี ๆ ตามอินเตอร์เน็ตอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักร้อยล้าน ไปจนถึงหลักหมื่นล้านบาท!

ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Think of Living เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย ถูกเข้าซื้อโดยกลุ่ม iProperty ด้วยหุ้นและเงินสดไปในปี 2015 ด้วยมูลค่าอย่างไม่เป็นทางการที่ประมาณ 200 ล้าน (Source : BlogNone)

Huffpost เว็บไซต์ข่าวขนาดใหญ่ถูกเข้าซื้อโดย AOL ในปี 2011 ในราคา 315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท

นี่คือราคาค่าตัวของเว็บไซต์โดยยังไม่นับรายได้ที่เว็บไซต์เหล่านั้นสร้างผลตอบแทนให้เจ้าของในแต่ละปี กิจกรรมเหล่านี้เรียกว่า Web Monetization หรือ การสร้างรายได้จาก ‘เว็บไซต์’ — ว่าแต่ เว็บไซต์ที่เปิดให้คนอ่านฟรี สร้างรายได้ให้เจ้าของได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปที่เรื่อง Digital Asset อีกสักครั้ง

Digital Asset คือ สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ สินทรัพย์บนโลกออนไลน์ อาทิ บทความ, รูปภาพ, วีดีโอ, โดเมนเนม, ดาต้าเบส เป็นต้น ฯลฯ ต่อมา เว็บไซต์ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัล ที่รวมรวบ สินทรัพย์ดิจิทัลปลีกย่อยอื่น ๆ ไว้ในที่เดียวกัน ดังนั้น เว็บไซต์จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น Center of Digital Asset

อ่านบทความ Digital Asset คืออะไร ที่นี่ 

เว็บไซต์มีรายได้จากอะไร

โดยในบริบทนี้จะจำกัดเฉพาะรายได้ประเภท Intangible คือ ไม่ได้ถือครองสินค้าเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ต้องมีการสต็อก แพ็ก หรือว่าขนส่ง รายได้จากการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ประเภท Intangible โดยพื้นฐานมี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ค่าโฆษณา, ค่านายหน้า, และ ค่าเว็บไซต์และโดเมนเนม

1. ค่าโฆษณา

ค่าโฆษณาเป็นประเภทรายได้สุด Classic ของเจ้าของเว็บไซต์ โดย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย ได้แก่

ประเภทที่ 1 Banner ad : เป็นการรับติดป้ายโฆษณาสินค้าในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ ราคาเป็นไปตามตำแหน่ง อาทิ บริเวณส่วนบนสุดของเว็บไซต์มีราคาสูงสุด ต่อมาคือบริเวณด้านข้าง ตามมาด้วยป้ายขั้นกลางลำตัวของเว็บ และบริเวณด้านล่างสุด ที่เรียกว่า Footer ก็จะถูกที่สุด

ค่าโฆษณาคิดเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส รวมไปถึงราคาค่าแบนเนอร์ก็แล้วแต่จะตกลงกัน โดยมากเหมาะกับเว็บที่มี Traffic หลายแสนไปจนถึงหลักล้าน Visitor ต่อเดือน

ประเภทที่ 2 Sponsored content : เป็นการรับผลิตคอนเทนต์ อาทิ บทความ รูปภาพ อินโฟกราฟฟิก หรือ วีดีโอ ลงในเว็บไซต์ — Sponsored content อาจไม่จำเป็นต้องมี Traffic สูงเสมอไป เพราะการมีผู้ติดตามบน Social media จำนวนมากและมี Engagement ที่ดีอาจสามารถชดเชยกันได้

สำหรับเว็บไซต์ที่มี Traffic 50,000 – 100,000 Visitor ต่อเดือน บวกกับแฟนเพจ 50,000 – 100,000 Like และมี Engagement ที่คึกคัก อาจมีค่า Sponsored content เริ่มต้นที่ 40,000 – 60,000 บาท ต่อ 1 บทความ

ประเภทที่ 3 Display advertising network : เป็นระบบป้ายโฆษณาอัตโนมัติ ผู้ให้บริการรายใหญ่ ได้แก่ Google AdSense และ Taboola Ad — ข้อดีของ Display advertising network คือ เป็นระบบอัตโนมัติ คุณไม่ต้องเจรจาต่อรองกับ Advertiser ไม่ต้องวางบิล รับเช็ค ทวงเงินใด ๆ คุณโฟกัสเรื่องเดียว ทำคอนเทนต์ และหา Traffic เข้าเว็บไซต์

แต่ความยากของ Display advertising network คือ รายได้ขึ้นกับจำนวน Click ที่ป้ายโฆษณา ซึ่งอัตราการคลิกไม่ได้สูงมากอยู่แล้ว ค่า Click ต่ำ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องหาทางทำเว็บไซต์ให้มีทราฟฟิกเข้าเว็บเป็นหลักล้าน Visitor ต่อเดือนจึงจะ พออยู่ได้

อ่านบทความ 7 เว็บข่าวทำเงินปีละหลายร้อยล้าน ที่นี่

2. ค่านายหน้า

ภาษาอังกฤษเรียกว่า Affiliate Marketing — หน้าที่ของคุณ คือ เขียนบทความเกี่ยวกับสินค้า อาทิ เขียน Review สินค้า, เขียน How-to การใช้งานผลิตภัณฑ์, หรือ เขียนตรวจสเปกเช็คราคาสินค้า จากนั้นแปะลิงค์ไปยังหน้าซื้อสินค้าที่คุณเป็นนายหน้า โดยภายในลิงค์จะมี Affiliate ID ของคุณ หากซื้อขายสำเร็จ คุณจะได้ค่านายหน้าน

สินค้า Physical product อาจมีอัตราค่านายหน้าระหว่าง 1- 10% และค่านายหน้าจาก Intangible product อาทิ ซอฟต์แวร์, แอปพลิเคชั่น, บริษัทประกัน, บริษัทโบรกเกอร์, บริการโฮสติ้ง เป็นต้น อาจมีอัตราค่านายหน้าระหว่าง 15 – 50% ขึ้นไป

ความท้าทายของการเป็น Affiliate ในกรณีนี้ คือ คุณต้องยื่นสมัครและต้องได้รับการอนุมัติจากทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ก่อน โดยปัจจัยสำคัญในการได้รับอนุมัติให้เป็นนายหน้า ได้แก่ คุณต้องมีเว็บไซต์คุณภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย มีฐานผู้ติดตามทางแฟนเพจ และ List ดาต้าเบส เป็นต้น

ส่วนข้อดี คือ หากคุณวางแผนการทำงานมาอย่างดี เว็บไซต์ติด Google search engine รายได้จาก Affiliate ของคุณจะมีความเป็น Passive income ค่อนข้างสูง และ ไม่ต้องแตะเรื่อง Custom service ใด ๆ เลย

อ่านบทความ ประวัติเว็บไซต์ Skyscanner สุดยอดเว็บทำเงิน Affiliate ระดับโลก ที่นี่

3. ค่าเว็บไซต์และโดเมนเนม

เมื่อคุณพัฒนาเว็บไซต์จนเติบโต มี Content คุณภาพเป็นร้อยเป็นพันคอนเทนต์ มี Traffic เป็นล้านหน่วยต่อเดือน มีโมเดลรายได้ที่มั่นคง และมี List รายชื่อแฟนคลับจำนวนมากในมือ เว็บไซต์ของคุณจะกลายเป็น Digital Asset ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก และอาจดึงดูดนายทุนมาเข้าซื้อหรือลงทุนในเว็บไซต์ของคุณด้วยเงินหลายล้านบาท

สาเหตุที่นายทุนพร้อมลงทุนเป็นเงินนับล้านให้กับเว็บไซต์ที่ผ่านคุณสมบัติ เพราะ เว็บไซต์ คือ สื่อชนิดหนึ่ง สามารถใช้เป็นพาหนะในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจภายใน ประเทศ พื้นที่ และ กลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ ได้

และแทนที่จะสร้างเองจากศูนย์ นายทุนก็เลือกที่จะเข้าซื้อหรือลงทุนในเว็บไซต์ที่เป็นเจ้าถิ่นอยู่แล้วจะดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเว็บไซต์ของคุณมีโดเมนสวย ๆ เก๋ ๆ และ จำง่าย มูลค่าเว็บไซต์ของคุณจะยิ่งแพงขึ้นไปอีก

อ่านบทความ 20 โดเมนราคาแพงที่สุดในโลก ที่นี่