Hu Weiwei อดีตนักข่าวสาวแกร่งแห่งแดนมังกร สู่ผู้ก่อตั้ง Mobike สตาร์ทอัพพันล้าน ในเวลา 2 ปี

หากคุณเคยติดตามอ่านประวัติ CEO ของ Didi Chuxing อย่าง Cheng Wei และคิดว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ราวกับนิยายกำลังภายใน ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องที่น่าทึ่งยิ่งกว่า เพราะนี่คือเป็นเรื่องราวของ นักข่าวสาว ที่เริ่มต้นจากงานผู้สื่อข่าว ด้วยเงินเดือนไม่กี่พันหยวน (หลักหมื่นบาท) และใช้เวลาถึง 10 ปี เพื่อให้ได้เงินเดือนเพิ่มเป็นหลักหมื่นหยวน แต่หลังจากที่ตัดสินใจลาออกมาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง กลับใช้เวลาเพียง 2 ปี ปั้นบริษัทสตาร์ทอัพ ให้มีมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และโมเดลธุรกิจยังสั่นสะเทือนไปถึงวงการ Ride Sharing อีกด้วย

Hu Weiwei (หู เหวยเหว่ย) อายุ 35 ปี (ในปี 2017) ถูกจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune ให้เป็น 40 Under 40 มหาเศรษฐีที่อายุต่ำกว่า 40 ปี เส้นทางชีวิตของเธอแตกต่างจากผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพระดับโลกหลาย ๆ คนโดยสิ้นเชิง…

  • เธอไม่ได้เรียนจบจากสแตนฟอร์ด
  • ไม่เคยไปซิลิคอนวัลเลย์
  • ไม่ได้เรียนจบ MBA
  • ไม่ได้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีหรือเป็นโปรแกรมเมอร์

เธอเรียนจบในคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) เมืองหางโจว ในปี 2004 หลังจากเรียนจบก็ได้ทำงานในหนังสือพิมพ์รายวัน อยู่ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจ และทำข่าวเกี่ยวกับวงการยานยนต์ ต่อมาได้ย้ายงานไปที่กรุงปักกิ่ง ทำงานที่ Beijing News และทำงานในสายข่าวยานยนต์ที่นี่เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งทำให้เธอมีความเชี่ยวชาญในเรื่องแวดวงรถยนต์เป็นอย่างดี

Hu Weiwei ทุ่มเทเวลา 10 ปี หลังเรียนจบไปกับการทำงาน เหมือนกับนักศึกษาจบใหม่ทุกคนที่เริ่มต้นด้วยเงินเดือน 4 หลัก (หยวน) และจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน และธุรกิจอินเทอร์เน็ต ทำให้ธุรกิจสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ได้รับผลกระทบไปด้วย การทุ่มเททำงานอย่างหนักของเธอ กลับได้รับผลตอบแทนเพียงการขึ้นเงินเดือนจากหลักพัน เป็นหลักหมื่น แต่เธอต้องเสียเวลาไปถึง 10 ปี

Hu Weiwei เริ่มตระหนักว่า การทำงานอย่างหนักเพื่อคนอื่นทำให้เธอสูญเสียโอกาสในการทำตามความฝันของตนเอง ในขณะที่ผู้หญิงคนอื่นแต่งงานมีลูก บางคนลูกโตแล้ว แต่เธอต้องทำงานอย่างหนัก ทำให้รู้สึกว่าเธอควรจะเห็นคุณค่าของตัวเองมากกว่านี้ ใน 10 ปีต่อจากนี้ เธอต้องการให้เป็น 10 ปีที่ทรงคุณค่า เพราะช่วงอายุ 35-45 เป็นช่วงที่ยังมีพลังในการทำงานและประสบการณ์ที่มีค่า เธอตั้งใจจะทำให้ 10 ปีต่อจากนี้มีความหมายที่สุด และในปี 2014 เมื่ออายุงานครบ 10 ปี เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานผู้สื่อข่าว

ก่อนที่จะลาออกมาตามความฝันของตัวเอง

Hu Weiwei เป็นผู้สื่อข่าวในสายธุรกิจยานยนต์ ด้วยสายอาชีพนี้ต้องเดินทางไปสัมภาษณ์นักธุรกิจในแวดวงรถยนต์มากมาย และอายุงาน 10 ปี ย่อมทำให้มีความคุ้นเคยจนถึงขั้นสร้างคอนเนคชันได้ไม่ยากนัก

แต่ไม่ใช่ว่าผู้สื่อข่าวทุกคนจะสามารถโน้มน้าวนักลงทุนได้ หากคุณคิดว่า เป็นโชคดีที่เป็นนักข่าวสายธุรกิจ และเธอใช้ความโชคดีนี้ในการสร้างคอนเนคชั่นให้ตัวเอง น่าคิดว่าจะมีนักธุรกิจกี่คนที่กล้าลงทุนให้นักข่าวที่ไม่ได้เรียนจบบริหารธุรกิจ และไม่ได้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ให้ไปทำธุรกิจบนโทรศัพท์มือถือ

แต่ Hu Weiwei ใช้สิ่งที่เธอมีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือประสบการณ์ในงานข่าว ทำให้เธอมีความรอบรู้แบบรู้กว้าง และรู้ลึกในเรื่องเฉพาะทาง สามารถสื่อสารกับนักธุรกิจได้เป็นอย่างดี และวันหนึ่งเธอได้ติดต่อกับ Xia Yiping (เซียะ อี้ผิง) หรือ Joe Xia (โจ เซียะ) ผู้บริหาร Ford ประเทศจีน หลังจากที่เธอเคยสัมภาษณ์เขาเมื่อ 3 ปีก่อน ทั้งสองได้พูดคุยกันถึงแนวคิดการแชร์จักรยานให้เช่า โดยปลดล็อกด้วย QR Code จาก โทรศัพท์มือถือ

ซึ่งในตอนแรกนั้นใครได้ฟังไอเดียนี้ต่างก็ปฏิเสธ ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดมากมาย คือประเทศจีนเต็มไปด้วยจักรยาน และเจ้าของจักรยานแทบทุกคนหวงแหนจักรยานของตัวเอง และกลัวถูกขโมยมากที่สุด ในประเทศจีนจักรยานหายบ่อยมาก เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาจักรยานมาแชร์กัน

Hu Weiwei ได้ฟังดังนั้นก็ยิ่งคิดว่านี่คือโอกาส ในเมื่อทุกคนคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ นี่คือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าทุกคนคิดว่ามันง่ายและเป็นไปได้ สิ่งนั้นไม่น่าลงทุน สอดคล้องกับคำกล่าวของแจ็ค หม่า ที่บอกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกคนกลัวที่จะทำ เมื่อนั้นมันคือโอกาส และโอกาสจะเป็นของนักผจญภัยเสมอ

เมื่อ Joe Xia ตอบตกลงที่จะย้ายจากธุรกิจรถยนต์มาสู่ธุรกิจจักรยาน Hu Weiwei จึงไปชักชวนชายอีกคนหนึ่ง คือ Wang Xiaofeng (หวัง เสี่ยวเฟิง) หรือ Davis Wang (เดวิส หวัง) อดีตรองกรรมการผู้จัดการจาก Tencent ที่เคยดูแลงานด้าน Mobile internet และ Social network (ปี2012-2014) และ เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ Uber China (ปี2014-2015)

นอกจากนี้ยังเคยทำงานกับ P&G มาถึง 7 ปี และทำงานกับ Google เซี่ยงไฮ้ อีก เกือบ 3 ปี และในปี 2015 Mobike ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นจาก 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง Hu Weiwei , Joe Xia และ Davis Wang — Reference

Mobike เริ่มต้นจาก Pain

Source: https://mobike.com/

 

Mobike เป็นธุรกิจ Bike Sharing ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ต่างจาก Didi ที่มี Uber เป็นแบบอย่าง ต่างจาก Tencent ที่มี ICQ เป็นต้นแบบของ QQ แต่ Mobike ไม่มีตัวอย่างให้ดู ทุกสิ่งต้องเริ่มต้นเหมือนตำราสตาร์ทอัพ นั่นคือต้องเริ่มต้นด้วยความเจ็บปวด (Pain) ซึ่ง Hu Weiwei ต้องหา Pain ที่เหมือนกันของผู้ใช้จำนวนมาก และในที่นี้คือคำตอบว่า ทำไมคนจีนจึงยังนิยมใช้จักรยาน และหวงแหนจักรยาน ทำไมจักรยานถึงหายบ่อย

แม้ประเทศจีนจะมีความเจริญอย่างรวดเร็ว มีรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินจำนวนมาก มีรถเมล์บริการพร้อม แต่ด้วยความที่มีประชากรหนาแน่น ตามเมืองใหญ่ๆ หากคุณเป็นพนักงานออฟฟิศ ที่มีบ้านอยู่ห่างจากสถานีรถไฟ ในระยะที่จะเดินก็ไกล จะนั่งแท็กซี่ก็เปลือง นี่คือจุดเจ็บปวดของระยะทางที่จะต้องใช้จักรยานเข้าไปแก้ปัญหา

ความยากของ Mobike

ประเทศจีนเต็มไปด้วยจักรยาน ใครจะยอมเสียเงินเช่าจักรยาน? ถ้าทุกคนมีจักรยานเป็นของตัวเอง ใครจะอยากเช่า?

คนทั่วไปต้องคิดแบบนี้แน่นอน แต่ Hu Weiwei มองว่า การมีจักรยานเป็นของตัวเอง จะต้องห่วง พะวง กลัวหาย ตื่นเช้ามาทำงาน ต้องขี่จักรยานมาจอดใกล้ๆสถานีรถไฟ หาที่จอด หาที่ล็อก แล้วไปทำงาน ขากลับนั่งรถไฟกลับบ้าน กลับมา จักรยานหาย!! ต้องเดินกลับ แล้วเก็บเงินไปซื้อจักรยานใหม่ แล้วถ้าหายอีกล่ะ? หรือถ้าไม่โดนขโมย ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูและรักษา ต้องหาที่เก็บ ยิ่งจักรยานราคาแพง อะไหล่ก็ยิ่งแพง

Hu Weiwei จึงมองว่านี่คือโอกาส หากมีจักรยานให้เช่า โดยไม่ต้องเอามาคืน ใช้เสร็จแล้วจะจอดไว้ตรงไหนก็ได้ และไม่ต้องกลัวหาย เมื่อต้องการใช้ใหม่ก็กดค้นหาจากแผนที่ในแอปพลิเคชั่น แล้วปลดล็อกด้วยมือถือ แล้วขี่ไปได้เลย

นี่คือความยากของการทำให้ไอเดียนี้เป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องทำให้นักลงทุนเชื่อก่อนว่า มันจะเกิดขึ้นจริงได้ จะมีใครยอมเชื่อว่าเธอจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่มีมาหลายทศวรรษได้

แต่ในเดือนตุลาคม ปี 2015 Mobike ก็สามารถระดมทุนก้อนแรกในการดำเนินธุรกิจได้ ด้วยเงินลงทุน 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Joy Capital บริษัทกองทุนจากเกาะเคย์แมน ทำให้ Mobike ก้าวเข้าสู่ ซีรีส์ A เป็นครั้งแรก

หลักการทำงานของ Mobike

Mobike เขียนแบบแปลนของธุรกิจใหม่ แตกต่างจากความคาดคิดของใครหลาย ๆ คน เริ่มด้วยการให้เช่าจักรยานที่ ‘ไม่ต้องนำกลับมาคืน

นั่นหมายความว่า จะไม่มีสถานที่รับส่งจักรยาน ไม่มีสถานนีสำหรับจอด ในแง่ของการลงทุน บริษัทจะไม่ต้องเสียงบประมาณ ไปกับการหาเช่าพื้นที่ เพื่อเป็นจุดรับส่งมอบจักรยาน

แล้ว Mobike ทำอย่างไร? เมื่อไม่ต้องคืน นั่นหมายความว่า เมื่อผู้ใช้ ใช้เสร็จแล้ว สามารถจอดไว้ข้างทางได้เลย ไม่ว่าจะตามซอกซอย หรือในสวนสาธารณะ เพราะที่ตัวจักรยาน ติดตั้งระบบล็อกและ GPRS ทำให้สามารถค้นหาตำแหน่งของจักรยานได้อย่างแม่นยำ ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เมื่อผู้ใช้ต้องการเช่าจักรยาน เพียงกดค้นหา จะพบจักรยานที่อยู่ใกล้ที่สุด ผู้ใช้ต้องลงทะเบียนชำระเงินมัดจำก่อน หลังจากนั้น ใช้มือถือสแกน QR Code เพื่อปลดล็อก ระบบจะเริ่มคิดค่าบริการ และสามารถเช่าได้ 1 ชั่วโมง

ด้วยวิธีการนี้เอง ทำให้ผู้ใช้ในจีนเกิดความสะดวกสบาย เมื่อไม่ใช่จักรยานของตนเอง จึงไม่ต้องกลัวหาย ไม่ต้องดูแลรักษา และจะเลือกขี่คันไหนก็ได้ และมีจักรยานให้บริการเพียงพอตลอดเวลา ทำให้ความต้องการครอบครองจักรยานลดน้อยลง Mobike จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และขยายไปยังเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศจีน

เพียง 3 เดือน นับจากที่ระดมทุนครั้งแรก Mobike ก็ก้าวเข้าสู่ ซีรีส์ C ด้วยเงินลงทุนอีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Bertelsmann Asia Investment Fund และนักลงทุนรายอื่น ๆ หนึ่งในนั้นคือ Tencent นายเก่าของ Davis Wang

และในเดือน มกราคม ปี 2017 Mobike ก้าวเข้าสู่ ซีรีส์ D ด้วยเงินลงทุน 215 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Hillhouse Capital Group และ บริษัทอื่น ครั้งนี้ Tencent ก็ยังคงลงทุนเพิ่มแต่ยังไม่ใช่นักลงทุนหลัก

ทะยานเข้าสู่ ซีรีส์ E

ในเดือนมิถุนายน ปี 2017 Tencent เป็นผู้นำการลงทุนรอบใหม่ ทำให้ Mobike สามารถระดมทุนได้อีก 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก้าวเข้าสู่ ซีรีส์ E ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 928 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำลังเตรียมที่จะก้าวเข้าสู่ระดับ ยูนิคอร์น (บริษัทที่มีการลงทุนเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ในตอนเริ่มต้นแนวคิดนี้ Mobike เริ่มต้นมาด้วยความยากลำบาก ทั้งจากความยากในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการโน้มน้าวความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งแม้จะเป็นเพียงจักรยาน แต่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ด้วยการที่จะต้องสั่งผลิตจักรยานแบบพิเศษ คือใช้ล้อยางที่ไม่ต้องเติมลม (เป็นยางแบบตัน) เพื่อลดภาระในการบำรุงรักษา ตัวถังของจักรยานต้องหนักกว่าปกติ (เพิ่มต้นทุนการผลิต) เนื่องจากไม่ต้องการให้น้ำหนักเบาป้องกันการขโมย แม้จะติดตั้งเซ็นเซอร์ป้องกันขโมยแล้วก็ตาม การติดตั้งระบบล็อคจักรยาน ระบบ GPRS และระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวป้องกันการขโมย

แต่หลังจากที่ Mobike เปิดตัวได้ไม่นาน ก็เกิดคู่แข่งอย่าง Ofo ที่มาแรงไม่แพ้กัน นำเอาโมเดลธุรกิจแบบเดียวกันไปใช้อย่างง่ายดาย และหลังจากนั้นก็มีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมาก ออกมาทำธุรกิจ Bike Sharing จนเมืองใหญ่ ๆ ของจีน เต็มไปด้วยจักรยานหลากสี (1 สีคือ 1 บริษัท) มีคู่แข่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนับสิบบริษัท

เข้าสู่การต่อสู้แย่งชิง

แม้ธุรกิจจะต้องการฐานผู้ใช้จำนวนมาก แต่สิ่งแรกที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจอยู่รอดได้คือกระแสเงินสุด ดังนั้นสิ่งแรกที่ Mobike จะต้องแย่งมาให้ได้ ไม่ใช่จำนวนผู้ใช้ แต่เป็นเงินลงทุนจากกระเป๋าของนักลงทุน หรือกองทุน VC ต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ทั้งความชำนาญ ความมั่นใจในธุรกิจ รวมถึงคอนเนคชั่น ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน และหากระดมทุนได้ก่อน ก็มั่นใจได้ว่าธุรกิจจะสามารถแข่งขันได้อย่างแน่นอน

ในจุดนี้ Hu Weiwei ซึ่งตอนนี้ขึ้นเป็นประธานบริษัท ได้ให้ Davis Wang รับตำแหน่ง CEO ผู้เป็นเหมือนมันสมองของทีม ลุยงานด้านนี้อย่างเต็มตัว และสามารถเจรจากับนักลงทุนมากมาย ระดมทุนเข้าบริษัท จนทำให้กระแสเงินสดของMobike พร้อมที่จะลุยกับคู่แข่งทุกคนที่ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้

Ofo VS Mobike สงครามครั้งใหม่ของ Alibaba กับ Tencent

หากต้องการดูศึกสงครามตัวแทน เราสามารถดูได้จากการต่อสู้ของสองคู่แข่ง Ofo และ Mobike ซึ่งเหตุการณ์นี้คล้ายกับสงครามของ Didi ที่ Tencent ลงทุนใน Didi และ Alibaba ลงทุนใน Kuaidi ส่วน Baidu ลงทุนใน Uber Chima จนเกิดเป็นสงครามสามก๊กฉบับดิจิตอล และครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อ Tencent เลือกที่จะลงทุนใน Mobike Alibaba ก็เลือกที่จะสนับสนุน Ofo ให้ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง โดยครั้งนี้มี Xiaomi และ Didi มาร่วมลงทุนใน Ofo ด้วย แต่สงครามครั้งนี้ Alibaba มาช้าเกินไป จึงทำให้ Mobike ที่อาศัยความรวดรเว ขยายตัวและคว้าส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ไปครองก่อน ทิ้งให้ Ofo เป็นอันดับที่ 2

แต่การสู้รบกันของสองยักษ์ใหญ่ ที่ระดมเทคโนโลยีเข้าห้ำหั่นกันอย่างเต็มที่ โดย Tencent มีอาวุธสำคัญอย่าง Wechat และ WechatPay ที่คนจีนนิยมใช้งานเข้าขั้นเสพติด และอาลีบาบามีพันธมิตรอย่าง Xiaomi และ Didi ที่จะช่วยโปรโมทให้ Ofo เข้าถึงฐานผู้ใช้จำนวนมากของ Didi ได้ เมื่อ Tencent ลงทุนใน Mobike $600ล้านดอลลาร์ Alibaba ก็ลงทุนใน Ofo $700 ล้านดอลลาร์ ผลของการปะทะกันของสองยักษ์ใหญ่ ทำให้ทั้งสองครองส่วนแบ่งการตลาดไป 95% เหลืออีกเพียง 5% ไว้ให้อีก 10 บริษัทที่เหลือไปแบ่งกันเอง

และในเวลาเพียง 5 เดือน ก็มีบริษัท Bike Sharing ในจีน ต้องปิดตัวไปถึง 6 บริษัท หนึ่งในนั้นคือ อันดับที่ 6 อย่าง Blue Gogo ที่แม้จะมีมูลค่าบริษัทถึง 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ไม่อาจต้านทานการแข่งขันที่รุนแรงของสองยักษ์ใหญ่แห่งโลกเทคโนโลยีได้ ทั้ง 6 บริษัทต้องปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

แพ้ชนะไม่ใช่แค่จำนวนจักรยาน

Mobike มีระบบ AI ที่จะคำนวณปริมาณความต้องการในการเรียกใช้จักรยาน ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ในเขตเมืองใหญ่จะมีปริมาณความต้องการใช้งานมากเป็นพิเศษ แต่ในช่วงเวลาปกติ จะมีคนนำจักรยานจากในเมืองไปใช้นอกเมือง ดังนั้นธุรกิจนี้จึงต้องมีระบบ AI ที่จะช่วยแจ้งโปรโมชั่นให้กับผู้ที่อยู่นอกเมืองให้นำรถจักรยานเข้ามาในเมือง โดยหากกำลังจะเดินทางเข้ามาพอดี ผู้ใช้จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้ขี่จักรยานเข้าเมืองแบบฟรี ๆ ด้วยวิธีการนี้ ทำให้Mobike มีจักรยานเพียงพอต่อความต้องการตลอดเวลา

เพราะการที่คิดเพียงว่าต้องมีจักรยานจำนวนมาก ๆ ไว้บริการนั้น นอกจากจะต้องใช้ทุนมหาศาลแล้ว ยังต้องเสียแรงงานคนไปขนจักรยานจากนอกเมืองกลับเข้ามาอีก ซึ่งจะไม่ทันต่อความต้องการในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งจุดนี้เอง เป็นจุดเป็นจุดตายของธุรกิจ ซึ่งบริษัทอื่นไม่สามารถทำได้

Mobike ก้าวสู่ระดับโลก

ปัจจุบัน Mobike มีจักรยานให้บริการทั้งหมด 7 ล้านคัน มีผู้ใช้ลงทะเบียนในจีนกว่า 200 ล้านคน มีการเรียกใช้งานเฉลี่ย 30 ล้านครั้ง/วัน และเริ่มขยายไปยังต่างประเทศแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ , อังกฤษ , อิตาลี , ไทย และญี่ปุ่น รวมแล้วกว่า 160 เมือง  ทั่วโลก โดยล่าสุดหลังจากที่ Mobike ได้เปิดตัวในไทยแล้ว ก็ยังได้เข้าสู่ประเทศ ญี่ปุ่น ด้วยการร่วมลงทุนกับ Line Corperation บริการแอปแชตยอดนิยม เพื่อเจาะตลาดญี่ปุ่นที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

Mobike เอฟเฟค

ด้วยฐานผู้ใช้กว่า 200 ล้านคน และการเรียกใช้งานวันละ 30ล้านครั้ง ทำให้จำนวนผู้ครอบครองจักรยาน หายไปเกือบ 200ล้านคน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังร้านขายจักรยาน และโรงงานจักรยาน โดยก่อนที่จะมี Mobike คน 200 ล้านคนนี้ อาจจะครอบครองจักรยาน หรือมีแผนจะซื้อจักรยานมาใช้ แต่เมื่อได้ลองใช้ Mobike และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว จึงส่งผลให้ยอดขายจักรยาน ตกลงอย่างรวดเร็ว และไม่ใช่แค่ Mobike ที่ทำธุรกิจนี้ แต่ยังมีบริษัทอีกมากมายที่โหมกระแส Bike Sharing ที่สุดแล้ว โรงงานผลิตจักรยาน ต้องเลิกผลิตเพื่อขาย แล้วหันมาผลิตจักรยานให้ Mobike และ Ofo แทน และการขายจักรยานก็ซบเซาไปในทันที

เมื่อไม่ต้องครอบครอง ก็ไม่ต้องกลัวหาย เมื่อไม่ใช่ของตนเอง ก็ไม่ต้องดูแลรักษา ด้วยแนวคิดนี้ของ Mobike ถึงกับสั่นสะเทือนไปยังแวดวงยานยนต์ ซึ่งในภาพใหญ่มีธุรกิจ Ride Sharing หรือ Ride Hailing อย่าง Didi หรือ Uber ที่เป็นบริการเรียกรถยนต์โดยสาร แต่โมเดลของ Didi หรือ Uber คือการที่เจ้าของรถยนต์ นำรถของตนเอง มาวิ่งรับคนแทนแท็กซี่ แต่ด้วยโมเดลของ Mobike นี้ จะทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมการผลิตจักรยาน

ในขณะนี้ ทั้ง Didi , Uber และอีกหลายบริษัท กำลังเร่งพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยตนเอง และในอีกทางหนึ่งก็พัฒนาระบบรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อนำ 2 เทคโนโลยีเข้ามารวมกัน จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง โดยไร้คนขับ ซึ่งสามารถใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถให้มารับ และเมื่อใช้เสร็จแล้วก็ไม่ต้องหาที่จอด ไม่ต้องกลัวหาย และไม่ต้องเสียค่าดูแลรักษา

และแนวโน้มในอนาคต คนยุคมิลเลเนียล จะไม่นิยมครอบครองรถยนต์หรือบ้านอีกต่อไป แต่จะใช้การเช่าแทน สิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตจักรยานของจีนในวันนี้ กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในไม่ช้า

สรุปเส้นทางของ Mobike

Source: https://mobike.com/

ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี Mobike ได้ผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชน พร้อมกับคู่แข่งที่แข็งแกร่ง อย่าง Ofo แต่ Mobike ก็สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้ และมูลค่าบริษัทกว่า 1500 ล้านเหรียญสหรัฐฯนี้ Alibaba ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี Didi Chuxing ใช้เวลาถึง 3ปี แต่ Mobike ใช้เวลาน้อยกว่า และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

เส้นทางของ Mobike ยังอีกยาวไกล และจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปอีกมากมาย เมื่อความต้องการคือการเดินทางไปให้ถึงจุดหมาย ด้วยความสะดวกสบายและประหยัดที่สุด โมเดลนี้จึงเกิดขึ้นและสำเร็จอย่างงดงาม

แนวคิดที่ได้จากความสำเร็จนี้ หาก Hu Weiwei ยังคงยอมเป็นนักข่าว หากเธอยอมแพ้กับอุปสรรค ที่ทุกคนกลัว หากเธอไม่คิดว่า 10ปี ต่อจากนี้จะต้องมีคุณค่า วันนี้ก็ยังไม่มี Mobike แต่อาจจะเป็น Ofo แทน เราต้องกล้าที่จะก้าวออกจาก คอมฟอร์ตโซนของตัวเอง อย่างที่ Hu Weiwei กล่าวไว้ว่า

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกคนกลัวที่จะทำ เมื่อนั้นมันคือโอกาส และโอกาสจะเป็นของนักผจญภัยเสมอ”

 

Source, Reference and Credit:

http://www.chinadaily.com.cn/business/2017-08/07/content_30350603.htm

https://www.cnbc.com/2017/06/29/mobike-founder-says-it-is-more-interested-in-expansion-than-profits.html

http://fortune.com/40-under-40/hu-weiwei-and-xia-yiping-20/

https://www.crunchbase.com/organization/mobike

https://www.techinasia.com/talk/visit-mobike-hq-lessons

https://en.wikipedia.org/wiki/Mobike

https://www.ndtv.com/world-news/25-year-olds-500-million-startup-fuels-china-bike-share-battle-1587251

http://wemedia.ifeng.com/7822509/wemedia.shtml