พิชิตตลาดโลกแบบจีน ด้วยกลยุทธ์ “ขายถูกขยี้คู่แข่ง”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรนด์จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลกอย่างน่าจับตามอง Hisense ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน ครองส่วนแบ่งการตลาดทีวีเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยสัดส่วน 13.7%




ส่วน Xiaomi แบรนด์สมาร์ตโฟนจีน ก็ทะยานขึ้นมาเป็นเบอร์ 3 ของโลก ขณะที่ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เอาชนะ Tesla ด้วยยอดส่งมอบรถ 526,409 คัน ในไตรมาส 4 ปี 2023 และ SHEIN อีคอมเมิร์ซเสื้อผ้าแฟชั่น ก็ทำรายได้แซงหน้า H&M และ Uniqlo ไปแล้ว ด้วยรายได้ 852,000 ล้านบาทในปี 2022

กุญแจสำคัญที่ทำให้แบรนด์เหล่านี้ประสบความสำเร็จคือ กลยุทธ์ “ขายถูกขยี้คู่แข่ง” โดยใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนต่ำ มาผลิตสินค้าราคาถูก เพื่อเจาะตลาดระดับกลางและล่างให้ได้มากที่สุด จากผลประกอบการของแบรนด์จีนชั้นนำในปี 2022

แม้จะมีรายได้มหาศาล แต่อัตรากำไรสุทธิค่อนข้างต่ำ อาทิ:

BYD:
– รายได้ 2.1 ล้านล้านบาท
– กำไร 83,606 ล้านบาท
– อัตรากำไรสุทธิ 3.9%

Xiaomi Corporation:
– รายได้ 1.4 ล้านล้านบาท
– กำไร 12,471 ล้านบาท
– อัตรากำไรสุทธิ 0.9%

SHEIN:
– รายได้ 8.5 แสนล้านบาท
– กำไร 29,820 ล้านบาท
– อัตรากำไรสุทธิ 3.5%

Hisense Home Appliances Group:
– รายได้ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท
– กำไร 7,229 ล้านบาท
– อัตรากำไรสุทธิ 1.9%

ซึ่งจะเห็นว่ากำไรน้อยกว่าคู่แข่งอย่างมาก แต่ก็ชดเชยด้วยยอดขายจำนวนมากแทน โดยหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนมีต้นทุนการผลิตต่ำ อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำระหว่าง 109 – 120 หยวนต่อวัน หรือประมาณ 436 – 480 บาทต่อวัน และการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 10% ต่อปี ทำให้มีเทคโนโลยีทัดเทียมชาติตะวันตก รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในหลายด้าน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การให้เงินอุดหนุน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศทางธุรกิจ

เมื่อมีต้นทุนต่ำและผลิตสินค้าได้มาก

แบรนด์จีนก็สามารถกำหนดราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดไป เช่น สมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของ Xiaomi ราคาเพียง 15,000-20,000 บาท ถูกกว่า iPhone กว่าครึ่ง ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าของ BYD รุ่นที่ถูกที่สุดอยู่ที่ราว 600,000 บาท ต่ำกว่ารถ Tesla ถึง 3-5 เท่า

เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น แบรนด์จีนก็ใช้เงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D)

เพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า
อาทิ Xiaomi เพิ่มงบ R&D ขึ้น 39.7% ในปี 2022 ในขณะที่ BYD ใช้เงินกว่า 14,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่และเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนเหล่านี้ ช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าให้ทัดเทียมแบรนด์ระดับโลก พร้อมกับการปรับภาพลักษณ์ด้วยการทำการตลาด จนสามารถเจาะเข้าไปในตลาดระดับบนได้มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม!

แม้แบรนด์จีนจะใช้กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นในหลายประเทศ โดยเฉพาะ SME ขนาดเล็ก ที่อาจสู้ราคาและต้นทุนไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นจุดแข็งที่มี ไม่ว่าจะเป็นการบริการที่ประทับใจ ความสัมพันธ์กับลูกค้า ความยืดหยุ่นในการปรับตัว หรือความเข้าใจในตลาดท้องถิ่น ซึ่งแบรนด์จีนอาจทำได้ไม่ดีเท่า หากธุรกิจปรับตัวได้ก็จะสามารถอยู่รอดท่ามกลางคลื่นลมแห่งการแข่งขันนี้ได้อย่างแน่นอน

คุณอาจสนใจ:

Jack Ma เคยเกือบเจ๊ง : โดนวิกฤต SARS ระบาดใหญ่ สมัยเริ่มก่อตั้ง Alibaba เมื่อ 18 ปีก่อน และวันนี้เขากลายเป็นคนจีนที่รวยที่สุดในโลก