ที่สุดแห่งวิธีเขียนบทความคุณภาพดีที่คนอาจจดจำเว็บคุณไปอีกนาน

library_2-wallpaper-960x540

คำถามสุดฮิตทำบล็อกอย่างไรให้ประสบผลดี คำตอบพื้นฐานสามัญตลอดกาลคือ มีบทความคุณภาพดี แล้วการเขียนบทความคุณภาพดีมันเป็นอย่างไร คำตอบถัดมาคือ ก็ต้องเป็น Useful contents, Likable contents, Sharable contents, Virality contents…. คนฟังบอก ชิบห… เทพชัดๆ ชาตินี้คงเขียนไม่เป็น

ตัวอย่างคนไม่เทพเขียนบทความอย่างเทพ

คุณรู้ไหมนักเขียนที่ประสบความสำเร็จบางครั้งก็ไม่ได้เป็นได้เป็นนักเขียนมาแต่เกิด บางคนตกภาควิชาภาษาด้วยซ้ำ อย่างเช่น

Tom Ewer (ทอม อิเวอร์) สมัยเรียนผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเขาแย่มาก ทักษะการเขียนโหล่สุดๆ แต่ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทความค่าตัวชั่วโมงละ $150++ มีรายได้จากการรับจ้างเขียนบทความเดือนล่าสุด มิถุนายน 2013 ที่ผ่านมาได้ $5790 ลองคูณ 31 บาทสิได้เท่าไร…179,490 บาท โอ้แม่เจ้านี่แค่นั่งเขียนบทความภาษาอังกฤษป้อนเว็บไซต์ชาวบ้านอยู่กับบ้าน

อีกคนคือ Amanda Hocking เป็นชาวบ้านทั่วไปไร้ชื่อเสียงไม่ได้มีงานเขียนที่ไหนมาก่อนแต่ด้วยความชอบจินตนาการบวกกับความมีเวลาว่างจึงเอาเวลาส่วนที่ว่างไปแต่งนิยาย เธอแต่งนิยายเก็บไว้ประมาณ 17 เรื่องแล้วอยู่มาวันหนึ่งเธอต้องการใช้เงินก้อนไม่รู้จะทำอย่างไรดีเพราะสถานภาพของเธอในตอนนั้นไม่เหมาะที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงิน เธอจึงเอานิยายไปเปิดขายที่…ที่ Amazon Kindle Direct Publishing! เปิดขายนิยายในรูปของ E-Book ครั้งแรกเมื่อเดือน เมษายน 2010 และภายในเวลาหนึ่งปีพอดิบพอดี เธอขายนิยายไปกว่าล้าน Orders นับเป็นยอดขายทะลุ $2,000,000!! ปัจจุบัน Amanda Hocking เลยกลายเป็นนักเขียนนิยายอาชีพโดยสถิติการขาย E-Book ของเธออยู่ที่ประมาณ 9,000 Orders/Day ในตลอดช่วงปี 2011

คนไม่ได้เก่งมาแต่เกิดแต่อาศัยการฝึกฝนและทำบ่อย อย่างผมเองผมก็ไม่เคยเขียนบทความมาก่อนจนกระทั่งเมื่อตอนอายุ 28-29 ปีที่ผมเริ่มเขียนให้คำแนะนำการทำงานกับผู้คนในเว็บบอร์ดซึ่งก็เขียนไปตามสิ่งที่ตนรู้และเขียนด้วยใจ พอเขียนด้วยใจมันก็ออกมาใช้ได้พอคนอ่านแล้วบอกว่าได้ประโยชน์ก็เลยทำให้เรายิ่งเขียนมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น และนี่แหละคือการฝึกฝนโดยธรรมชาติ คนที่ผมยกตัวอย่างไปก็เช่นกัน และอีกหลายๆคนบนโลกนี้ก็เช่นกัน

ขยันหาความรู้ + ถ่ายทอดความรู้บ่อยๆ = เขียนเก่ง เขียนดี มีคุณภาพ

ประโยชน์ 3 ข้อของการเขียนบทความคุณภาพดี

Sharable Contents

การเขียนบทความคุณภาพดีช่วยให้เนื้อหาของคุณเป็น Sharable Contents หรือ บทความและเนื้อหาที่น่าบอกต่อ น่าบอกต่อในที่นี้เป็นได้สองทางคือ

เจ้าของบทความบอกต่อเอง:

อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือไม่ดีนะครับ เพราะเวลาคุณมีบทความคุณภาพดีมากๆ มีประโยชน์ลง detail สุดๆในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเมื่อใดคุณไปเจอกระทู้หรือโพสต์ที่กำลังพูดถึงปัญหาที่คุณเคยเขียนแนวทางไว้ในบทความเก่าของคุณ คุณสามารถหยิบยกมาอ้างอิงและบอกต่อได้อย่าง มั่นใจ อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย ระหว่างบทความลวกๆ 200-300 คำที่พื้นๆไม่มีอะไรใหม่ กับ บทความสุดยอดการวิเคราะห์เจาะลึก 2000 คำ อย่างแรกผมไม่กล้าเอาไปแสดงให้ใครดูเลยจนบางครั้งก็รู้สึกว่า “ฉันจะเสียเวลาเขียนบทความ 200 คำที่ทำเสร็จแล้วก็ไม่กล้าเอาไปอวดใครเพื่ออะไรกัน” แต่บทความ 2000 คำนี่ไม่อายใครแน่นอนที่จะเอาลิงค์ไปแปะแนะนำให้คนอ่าน อ่านแล้วเขาก็ชอบ ชอบแล้วก็ Like และ Share ต่อ แล้วก็ Follow ฯลฯ เกิดเลยครับงานนี้ และมันนำไปบอกต่อได้เรื่อยๆ ผ่านไปปีสองปีถ้ามันยังเข้ากับสถานการณ์อยู่ก็เอาไปแชร์ได้เรื่อยๆครับ

คนอ่านนำไปบอกต่อ:

คนอ่านบทความเราแล้วได้ประโยชน์และชอบมากๆเขาจะนำไปบอกต่อโดยการแชร์ผ่าน Social network สำหรับคนมีบล็อกอาจนำไปอ้างอิง หรือนำเนื้อหาส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด (อันนี้ไม่แนะนำให้ทำโอกาสหน้าจะบอกว่ามันไม่ดีต่อเว็บคุณอย่างไร!) ไปแปะในบล็อกแล้วใส่ Credit และ Backlinks กลับมาให้เจ้าของบทความ ส่วนตามกระทู้ต่างๆเมื่อมี Topic ที่เกี่ยวข้องก็จะมีคนนำลิงค์บทความที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยนั้นไปแนะนำต่อ อาทิ กระทู้ใน Pantip ที่คนพูดคุยเรื่องช่องทำการทำงานอื่นๆที่ไม่ใช่การทำธุรกิจ Brick and Mortar มีหน้าร้านแบบเดิมๆก็จะมีคนนำบทความเกี่ยวกับงาน Internet Business ในบล็อก TheCEOBlogger.com ไปแนะนำเป็นต้น เหล่านี้เป็นการบอกต่อโดยผู้อื่นที่เห็นว่าบทความของเรา มีประโยชน์ Useful, เกี่ยวข้อง Relevant, และ มีความเป็นตัวของตัวเอง Authority การบอกต่อลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ Google เองก็ชอบด้วย

Authority Contents

Authority คือการมีเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อผู้อ่าน อิทธิพลในที่นี้หมายถึง คนอ่านแล้วเกิดความเชื่อถือ, เชื่อใจ มั่นใจที่จะนำไปแชร์ต่อ, บอกต่อ, อ้างอิงถึง และปฏิบัติตามคำแนะนำในเนื้อหาของบทความ นั่นคือความเป็น Authority ซึ่งแน่นอนว่าทางเดียวที่จะเกิด Authority ในบทความของคุณ คุณต้องสร้างบทความคุณภาพดีและเป็นตัวของคุณเอง อย่างต่อเนื่องและยาวนานในระดับหนึ่ง

โรมไม่ได้สร้างในวันเดียว – Authority contents ก็ไม่ใช่เกิดจากบทความสองสามบทความ

ยกตัวอย่าง Pat Flynn เจ้าของเว็บ Green Exam Academy สอนวิธีทำข้อสอบสถาปนิกในสาขา LEED Green Exam ที่เริ่มต้นจากการบันทึกความรู้จากการศึกษา LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ลงในบล็อกของเขาเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาส่วนตัวแต่เนื้อหานั้นมีประโยชน์สูงมากเพราะเป็นความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ทำให้คนมุ่งหน้าเข้ามายังเว็บเพื่อศึกษาหาความรู้เรื่อง LEED รวมไปถึงการทำ Backlinks กลับมายังบล็อกของเขาจากทั่วทุกสารทิศและส่งผลให้เว็บติดอันดับต้นๆใน Google Search Result Pages (SERPs) และมี Traffic สูงมากกว่า 5,000 visits ต่อวันภายในไม่ถึงหนึ่งปี ผลลัพธ์นี้มาจากการมีบทความคุณภาพดีภายในบล็อกส่งผลทำให้บล็อกเกิด Authority สูง เป็นจุดหมายปลายทางของผู้แสวงหาความรู้ในสาขา LEED จากทั่วสารทิศ

องค์ประกอบของ Authority contents มีสามประการหลักคือ Age Domain + Number of Links + Size of a Site

ทั้งสามอย่างสอดคล้องกันอย่างเหนียวแน่น เว็บที่เปิดมานานและป้อนบทความสม่ำเสมอย่อมมีจำนวนลิงค์มากและขนาดของเว็บไซต์ก็จะใหญ่มากขึ้น และบทความคุณภาพก็ผลักดันให้มีจำนวนลิงค์มากเช่นกันเพราะเป็น Sharable contents เหล่านี้ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง Authority ให้กับเจ้าของบล็อก

Gets Google’s Love

ความฝันของคนทำเว็บไซต์และบล็อกคือได้รับการยอมรับเป็นที่รักที่ปรารถนาของ Google และถูกยกไปจัดอยู่อันดับหนึ่งหน้าหนึ่งใน Google SERPs แต่หลายคนไปไม่ถึงฝันเพราะขี้เกียจสร้างเนื้อหาและหันไปหาวิธีโกง Google โดยอาศัยช่องว่างของ Google Algorithm มาแทรกแซงระบบ Search ของเขาอีกที ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงรุ่นแรกสุดคือ Keyword stuffing, cloaking ตามมาด้วยเจตนาสร้าง Backlinks ผ่าน Article farming (ปั่นบทความกระจายตาม directory แล้วทำ Backlinks กลับมาที่เว็บแม่), Links buying, SEO link networks ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ Google ไม่ชอบและเมื่อเขาพัฒนา Algorithm ตัวใหม่ๆ เว็บเหล่านั้นก็จะหายไปจากผลการค้นหา

จริงอยู่ที่ Google ใช้ Backlinks เป็นตัววัดคุณภาพของเว็บและบทความ Backlinks เปรียบเสมือนการโหวตที่เว็บไซต์ต่างๆโหวตให้กับบทความใดบทความหนึ่งเป็นการเฉพาะโดยใช้ Backlinks เป็นตัวชี้เป้าภายใต้เงื่อนไขว่า เว็บที่ให้ Backlinks ไปยังบทความเป้าหมายต้องมี Authority ในตนเองเช่นกัน พร้อมกับเนื้อหาต้องมีความเกี่ยวข้องกัน (Relevancy) จึงจะได้ผลและเว็บเป้าหมายที่ได้รับ Backlinks เหล่านี้จึงจะถูกเล็งเห็นว่าเป็นเว็บที่มีเนื้อหามีประโยชน์ควรค่าแก่การจัดอันดับใน SERPs ซึ่งวิถีทางสำคัญในการเป็นเว็บดังกล่าวก็คือการสร้างบทความคุณภาพอย่างต่อเนื่องและมีประโยชน์กับผู้คนจำนวนมาก

เหล่านี้คือประโยชน์ 3 ข้อของการเขียนบทความคุณภาพดี ไม่มีเหตุผลอะไรซับซ้อนเป็นเรื่องเข้าใจง่ายที่เมื่อเข้าใจแล้วคุณจะยิ่งอยากทำเว็บคุณภาพดีแม้มันจะใช้เวลา บทความคุณภาพต่ำเขียนลวกๆ 200-300 คำหรือก็อปมาปั่นและตัดแปะปะติดปะต่อก็ไม่ได้ทำให้คุณประหยัดเวลาขึ้นเลย การเขียนบทความคุณภาพต่ำ 200 คำจำนวนสิบบทความก็ใช้เวลาพอๆกับบทความคุณภาพสูง 2000 คำ แต่ประสิทธิภาพในการใช้งานจริงนั้นต่างกันมากโดยเฉพาะการวัดในระยะยาว

ความยาวของบทความ คำว่า ‘บทความคุณภาพ’ ต้องยาวแค่ไหน?

ที่มาที่ไปของ “บทความคุณภาพดีต้องยาว” หาใช่สักแต่ว่าเพราะความยาวเป็นตัวบอกคุณภาพ แต่เพราะ คุณภาพมันต้องลงรายละเอียดในเนื้อหา การวิจัย วิเคราะห์ กรณีศึกษา สรุป ฯลฯ ทำให้มันยาว!

บทความสั้น 200-300 คำก็คุณภาพได้ เช่นให้อธิบายคำว่า AEC เบื้องต้นให้จบใน 300 คำและถ้าคนไม่รู้เรื่อง AEC เลยแล้วอยากรู้แค่คร่าวๆว่ามันคืออะไร ถ้า 300 คำนั้นตอบโจทย์ได้ชัดเจนคนอ่านแล้วเข้าใจก็คือคุณภาพใน 300 คำเพื่อความเข้าใจขั้นพื้นฐาน แต่นานๆไปบทความนั้นอาจจะไม่เป็น Unique contents อีกแล้วเพราะใครๆก็จะสามารถเขียนบทความเรื่อง AEC คืออะไร ให้จบใน 300 คำได้และเนื้อหาออกมาหน้าตาคล้ายๆกันหมดโดยหาความแตกต่างไม่ค่อยได้ นี่คือปัญหาต่อมาของบทความสั้นเพราะถ้าบล็อกไม่มีความแตกต่างจากบล็อกที่เขาเคยผ่านมาก่อนหน้าก็ไม่มีเหตุผลที่คนอ่านต้องติดตามบล็อกคุณ บทความยาวจึงเข้ามามีบทบาทในจุดนี้ เพราะจากนี้ไป ความต่างวัดกันที่รายละเอียดและความลึกในการนำเสนอ สุดท้ายถ้าวันหนึ่งมีคนเขียนบทความชุด All-In-One About AEC แตกเป็น 10 บทความ บทความละ 1,000 คำแยกเป็นหมวดหมู่ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างที่ต้องการขนาดที่เว็บมหาวิทยาลัย และเว็บจากองค์กรใหญ่ๆ ต้อง Backlinks มาหา เมื่อนั้นบทความอย่างหลังจากติดอันดับ Google SERPs แบบครองหน้าหนึ่งและบทความแรกทีมีแค่ 300 คำอาจหลุดไปหน้าอื่นๆแทน

Neil Partel แห่งบล็อก www.quicksprout.com ได้เขียนบทความวิจัยไว้ที่นี่ซึ่งมีทั้งกราฟสถิติต่างๆโดยละเอียดซึ่งตอบโจทย์ได้ดีว่าทำไมต้องเขียนบทความคุณภาพและทำไมต้องเขียนบทความยาวๆ เฉลี่ยแล้วบทความคุณภาพยาวๆที่มีจำนวนคำประมาณ 2,000 คำเศษๆจะได้ผลตอบรับดีที่สุดทั้งในแง่ของการติดอันอับ SERPs, การได้รับ Backlinks และการได้รับการนำไป Social share กรณีศึกษานี้ทาง Neil Partel เขียนไว้ดีมากจนผมไม่ต้องพูดแทน ให้เข้าไปอ่านที่บล็อกเขาแล้วคุณจะพบกับกราฟสถิติขั้นสุดยอดว่าด้วยการเขียนบทความยาวครับ “How Content Length Affects Rankings and Conversions” By QuickSprout (และสังเกตว่าบทความของเขายาวและเต็มไปด้วยข้อมูลเชิงวิจัย บทความนี้จึงกลายเป็นบทที่คนนำไป reference กันเยอะ ผมเจอ backlinks นี้จากบล็อกเกอร์ท่านอื่นและวันนี้ผมก็กลายเป็น backlinks ให้บทความนี้เสียเอง)

อีกข้อดีของบทความคุณภาพ+ยาว คือได้ Long Tail Keyword

wanna be buyer

การค้นหาส่วนใหญ่เกิดจาก Long Tail Keyword คนใช้ Search มักพิมพ์คำยาวๆที่มีความเจาะจงมากกว่าคำสั้นๆ ซึ่งบทความยาวมักมีโอกาสแสดงผลมากขึ้นเพราะการค้นหาจาก Long Tail Keyword ที่คนป้อนเข้าไป กรณีหนึ่งที่ผมไปเจอโดยบังเอิญคือผมคีย์หาคำว่า

อยากเป็นจัดซื้อ
อยากเป็นจัดซื้อต่างประเทศ
อยากเป็นจัดซื้อต้องเก่งภาษา
อยากเป็นจัดซื้อต้องทำอย่างไร

ผมพบว่าคำค้นเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงไปยังบทความหนึ่งของ The CEO Blogger ที่มีชื่อว่า 5 วิธีฝึกภาษาอังกฤษฯ Google SERPs นำบทความนี้ไปแสดงผลในอันดับสูงทั้งสิ้น โดยคีย์ที่ 4 อยากเป็นจัดซื้อต้องทำอย่างไร อยู่หน้าสอง ส่วนสามคีย์แรกอยู่หน้าหนึ่งและคำว่า อยากเป็นจัดซื้อต้องเก่งภาษา อยู่หน้าหนึ่งอันดับหนึ่ง บทความนี้ไม่ได้สอนเป็นจัดซื้อแต่เป็นบทความแนะนำวิธีการฝึกภาษาอังกฤษโดยมีการกล่าวแนะนำว่า ภาษาอังกฤษสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการทำอาชีพจัดซื้อต่างประเทศได้ ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับวิธีการเป็นจัดซื้อหรือมี Connection ถึงกันจึงถูกนำไปแสดงผลในอันดับสูงๆ

Step by Step ขั้นตอนการเขียนบทความคุณภาพ

บทความคุณภาพต้องใช้เวลาและความละเอียดในการทำ สำหรับบทความขนาด 2,000 คำอาจใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมงในการเขียนซึ่งในเวลาขนาดนี้จะรวมไปถึง การหาข้อมูล, การเขียนเชิงวิเคราะห์, ตัวเลขและสถิติอ้างอิง, การวางแผนเรื่อง links (ไปยังแหล่งข้อมูลอ้างอิงภายนอก) และแผนวาง inbound links (เชื่อมโยงไปยังบทความที่เกี่ยวข้องภายในบล็อก), การจัด Layout ให้อ่านง่าย, การเตรียมรูปภาพที่เหมาะสมและสะดุดตา ฯลฯ ระยะเวลาขนาดนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องทำวันเดียวจบนะครับ แบ่งทำก็ได้แต่รวมเวลาออกมาแล้วคือได้ประมาณนี้

old_book_2-wallpaper-960x540

ขั้นที่ 1) การวางแผนโครงสร้างบทความ

1.1 สร้างผัง Concept ของบทความ

Blog Type > Personal Finance

Main Category > การลงทุนในหุ้น

Sub Category > การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว

Target Audience > มนุษย์เงินเดือนระดับการจัดการ อายุ 30 ปีขึ้นไป

1.2 Ideal Title ตั้งชื่อไว้เป็นแนวทาง

การตั้งชื่อไว้เป็นแนวทางเพื่อช่วยเป็นไกด์ไลน์ให้สมองของเราได้เข้าใจภาพใหญ่ว่าเราจะเขียนเกี่ยวกับอะไร ตั้งไว้เล่นๆ 2-3 ชื่อ เอาชื่อเก๋ๆหรือชื่อมันส์ๆก็ได้พอเขียนเสร็จค่อยมาเลือกแล้วปรับให้ดูเหมาะสมภายหลัง

1.3 กำหนดหัวข้อเขียนหลัก และ หัวข้อเขียนย่อย

Ideal Title: การลงทุนอย่างมีคุณภาพสไตล์ VI (Value Investing)

Header 1 ทำไมต้อง VI

Sub 1.1 VI คืออะไร?
Sub 1.2 VI ดีอย่างไร?
Sub 1.3 VI และ Day Trade

Header 2 วิธีลงทุนแบบ VI

Sub 2.1 ตลาดในภาพใหญ่ (ตลาดเงิน ค่าเงิน ดอกเบี้ย)

Sub 2.2 วิเคราะห์งบการเงิน
    Sub 2.2.1 Asset, Liability, Equity, Cash flow

Sub 2.3 วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
    Sub 2.3.1 อัตราส่วนฯสำคัญ 4 ชนิด (PE, DE, ROI, ROA)

Header 3 ตัวอย่างนักลงทุน VI

Sub 3.1 Ben Graham
Sub 3.2 Warren Buffet
Sub 3.3 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Summary สรุปการลงทุนอย่างมีคุณภาพสไตล์ VI

ขั้นที่ 2) การหาข้อมูล, แหล่งอ้างอิง, การทำวิจัยและวิเคราะห์

การวางแผนโครงสร้างบทความให้มุมมองในภาพใหญ่เพื่อการจัดระเบียบสมองของคุณให้สามารถสร้างบทความคุณภาพดีอย่างมีประสิทธิภาพไม่สับสนหรืองงหรือว่าเหนื่อยท้อไปเสียก่อน เพราะสิ่งต่อมาที่จะต้องทำคือการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่คุณรู้นั้นถูกต้องไม่ Conflict กับข้อมูลเดิมหรือมีการอัพเดทข้อมูลอะไรใหม่ๆนอกเหนือจากที่คุณรู้ นี่คือคุณภาพอย่างหนึ่ง คุณภาพนี้คือความถูกต้องของเนื้อหาที่จะเป็นที่เชื่อถือได้

การหาแหล่งอ้างอิงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำ Backlinks ออกไปยังเว็บที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันกับบทความของคุณ การทำ Backlinks มีประโยชน์ดังนี้

a) ทำให้บทความน่าเชื่อถือ ดูดีมีการศึกษา มีการเชื่อมโยงระหว่างเว็บที่เป็นประโยชน์
b) เชื่อมมิตรไมตรีกับเจ้าของเว็บ ในอนาคตเขาอาจ Links กลับมายังเว็บคุณในฐานะพันธมิตรทางเนื้อหา
c) เป็นทางเชื่อม Google Bots ได้เคลื่อนผ่านไปมาและจดจำได้ว่าเว็บคุณเชื่อมโยงกับเว็บดังกล่าวและหาก Links ระหว่างกันต่างมีทั้ง Authority และ Relevancy ก็จะส่งผลให้อันดับดีขึ้นในระยะยาว

3) การหารูปภาพตกแต่งบทความ

บทความที่มี Feature Image จะดึงดูดกว่าบทความที่ไม่มี และบทความยาวๆ ควรมีรูปภาพแทรกเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการผ่อนสายตาคนอ่าน หารูปภาพสวยๆ คมๆ และให้ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกันมากน้อยแล้วแต่มาเสริมระหว่างบทความเสมอ

4) อ่านทวนและปรับแต่งให้เหมาะสม

อ่านทวนเพื่อแก้ไขคำผิด ปรับแต่งคำบางคำให้กระชับและได้ใจความ บางครั้งเวลาเขียนบทความ First draft อาจจะดูเวิ้นเว้อไปบ้าง พอเขียนเสร็จให้พักตั้งสติแล้วกลับมาไล่อ่านใหม่เราจะพบบางช่วงบางตอนดูใช้คำฝุ่มเฝือยไปก็ตัดแต่งให้สั้นและเข้าใจง่าย

เขียนเสร็จแล้วเอาเนื้อหาทั้งหมดไปใส่ลงในเว็บ (ที่เล่ามาทั้งหมดผมหมายถึงเขียนลง MS Word ก่อนแล้วค่อยเอาลงเว็บนะครับ) ลงเว็บแล้วปรับแต่ง Layout ให้เป็นระเบียบ จัดย่อหน้า จัดหัวข้อใหญ่หัวข้อย่อย วางรูปภาพ ฯลฯ ให้สวยงาม จากนั้น….ยังครับ ยังไม่ Publish ให้เซฟเป็น Draft ไว้ก่อน แล้วเปิดเป็น Preview จากนั้นเก็บไว้สัก 1-2 วันหรือรอวันเหมาะๆเช่น วันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ ที่คนเริ่มจะคลายจากความยุ่งวุ่นวายของวันทำงานและอยากจะอ่านอะไรที่ให้ประโยชน์เอาไปพัฒนาชีวิตในสัปดาห์หน้าหรือวันข้างหน้า

บทสรุปการเขียนบทความคุณภาพ

แนวคิด แนวทาง และวิธีการเขียนบทความคุณภาพดีที่กล่าวมาจะช่วยให้คุณเกิดความมั่นใจในการโปรโมทเว็บไซต์และแนะนำบทความของตัวเองเมื่อคุณไปในที่ต่างๆ ขั้นตอนเหล่านี้ดูวุ่นวายเสียเวลาแต่เมื่อได้ลองทำแล้วมันจะช่วยให้คุณใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมากเพราะข้อมูลถูกจัดระบบไว้อย่างดีเป็นขั้นๆ