พื้นฐาน Facebook Marketing และ Facebook Ads

ปลายเดือน มิถุนายน 2016 มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook โซเชียลเน็ตเวิร์คอันดับหนึ่งของโลกประกาศอย่างเป็นทางการถึงการปรับ Facebook algorithm หรือการจัดอันดับการแสดงผลบน Facebook newsfeed ว่าจะเพิ่มความสำคัญของข่าวสารจากเพื่อนและญาติ และจะลดความสำคัญของ Business page หรือที่เรารู้จักกันในนาม Fan page (แฟนเพจ) การปรับลดในครั้งนี้มีโอกาสทำให้ Reach หรืออัตราการเข้าถึงของแฟนเพจใหม่ ๆ อาจตกลงไปอยู่ที่ 0% หรือต่ำกว่า (ซึ่งจากปีก่อน ๆ อัตราการ Reach ของเพจใหม่ก็ต่ำเตี้ยแค่ 1% อยู่เดิมแล้ว)

เหตุการณ์นี้สร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของแฟนเพจจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเว็บไซต์ หรือช่องทางอื่นของตนเอง อาศัย แฟนเพจ ขายของแต่เพียงอย่างเดียวรวมไปถึงคนที่ไม่มีแบรนด์สินค้า ต้องซื้อมาขายไปในอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำก็ได้รับความเสียหายเป็นอันมาก

ทำไม Facebook ลด Reach?

สมัย Facebook เพิ่งก่อตั้ง

สมัย Facebook ก่อตั้งใหม่ ๆ จำนวนผู้ใช้หรือ User งานยังน้อย จำนวนผู้ลงโฆษณาหรือ Advertiser ยังไม่มี ใครโพสต์อะไรไปก็เห็นกันแทบทุกโพสต์ ต่อมาเมื่อผู้ใช้งานมากขึ้นจึงเริ่มดึงดูดผู้ลงโฆษณาเข้ามา จำนวนการเห็นโพสต์ต่าง ๆ ก็เริ่มเยอะขึ้น ทั้งโพสต์ของเพื่อนและโพสต์โฆษณา แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการยอมรับจำนวนโพสต์ได้เพียงระดับหนึ่ง หากมากกว่านั้นก็จะรำคาญและไม่อยากกลับมายัง Facebook อีก

คนใช้งานเยอะขึ้น News Feed ก็รกขึ้น

สิ่งที่ Facebook พยายามทำเสมอมาคือการ Personalize newsfeed ของผู้ใช้งานแต่ละคนให้ตรงตามความชอบ วัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดคนกลับเข้ามายัง Facebook และอยู่บนแพลทฟอร์มของเขานาน ๆ ดังนั้น Facebook จึงมี Algorithm ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานแต่ละคนอย่างละเอียดเพื่อคำนวณและป้อนข้อมูลที่เขาน่าจะอยากเห็นไปยัง Newsfeed ของคน ๆ นั้น

การเก็บข้อมูลส่วนนี้คำนวณจากกิจกรรมของผู้ใช้งานที่ Take action อาทิ…

  • เลื่อนหน้าจอแล้วหยุดที่โพสต์ใด ๆ
  • คลิ๊กอ่านต่อ คลิ๊กที่รูป หรือคลิ๊กขยายหน้าจอวีดีโอเป็น Full screen
  • คลิ๊กลิงค์บนเว็บไซต์
  • คลิ๊กเข้าไปยังหน้าโปรไฟล์ของเพื่อน หรือของแฟนเพจ
  • กด Like, Share, Comment หรือไม่
  • คลิ๊ก Unfollow หรือ Hide Post
  • คลิ๊ก Report post/ profile/ page
  • ฯลฯ อีกมากมาย

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้กลายมาเป็นข้อมูลสำคัญที่ Facebook ใช้ในการทำ Personalization ให้เหมาะสำหรับแต่ละคน รวมไปถึงการพัฒนาการจัดอันดับความสำคัญในการแสดงผลป้อนไปยัง Newsfeed ต่าง ๆ และประเด็นสำคัญคือ ณ ปี 2016 เป็นต้นไป Facebook แนวโน้มลดอัตราการเข้าถึง หรือ Reach ของแฟนเพจต่าง ๆ ที่จากเดิมเริ่มต้นที่ 1% บัดนี้อาจลงไปแตะที่ 0% — สาเหตุเพราะสถิติและการสำรวจผู้ใช้งานบอกว่า เขาไม่ชอบโฆษณา!

จะเกิดอะไรขึ้นหาก Facebook ไม่ทำเช่นนี้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Facebook newsfeed จะล้นไปด้วยโฆษณาจำนวนมหาศาล และสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ใช้งานจนในที่สุดพวกเขาจะพากันเลิกเล่น Facebook!

การลด Reach ก่อให้เกิดสองสิ่งในฝั่งของเจ้าของแฟนเพจ ข้อแรกคือ แฟนเพจต้องแข่งขันกันสร้าง Value content หรือ เนื้อหาที่มีประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายมากพอที่เขาจะเข้ามาติดตาม กด Like, Share, Comment และ ข้อสองคือ แฟนเพจจะต้องเป็นคนทำธุรกิจอย่างมีคุณภาพไม่ฉาบฉวย จึงมีงบประมาณและกล้าประมูลโฆษณาในราคาสูงเหนือคู่แข่ง

กล่าวโดยสรุปในหัวข้อนี้คือ Facebook อาจมีความตั้งใจที่จะคัดสรรให้เหลือแต่ผู้ลงโฆษณาจำนวนน้อย แต่มีคุณภาพสูง และจ่ายค่าโฆษณาในราคาแพง เพื่อรักษาหน้า Newsfeed ให้สวยสะอาดตา และมีคุณภาพ อันจะดึงดูดผู้ใช้งานให้กลับเข้ามา อยู่นาน ๆ และนำพาผู้ใช้งานใหม่ ๆ เข้ามาใช้ Facebook เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และตราบใดที่ Facebook เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด อย่างไรเสีย เจ้าของธุรกิจ ก็จะต้องกลับมาใช้บริการโฆษณาของ Facebook อยู่วันยังค่ำ เพราะแพลทฟอร์มอื่นก็ไม่มีคนมากเท่านี้อีกแล้ว

การย้ายไปใช้แพลทฟอร์มอื่นแก้ปัญหาได้จริงหรือ?

Facebook ปรับปรุง Algorithm ทุกปี และทุกปีนักการตลาดออนไลน์ และคนขายของบนโซเชียลเน็ตเวิร์คแทบทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า “เปลี่ยนไปใช้ช่องทางอื่นเถอะ” แต่… ก็แทบไม่มีใครเปลี่ยนและดูเหมือนส่วนใหญ่จะยังใช้กันอยู่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

แพลทฟอร์มอื่นมีอะไรบ้าง?

หลัก ๆ ได้แก่ Website, Youtube, Line@, Instagram, Twitter, LinkedIn ฯลฯ เป็นต้น

หากไม่นับ Website และ Youtube ตัวอื่น ๆ นับเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งหมด มีระบบโฆษณาทั้งหมด แต่บางอย่างจำนวนคนใช้งานที่ตรงกลุ่มเป้าหมายไม่เท่า Facebook บางอย่างระบบโฆษณาไม่ดีพอ บางอย่างดึงคนเข้ามาใช้งานด้วยตัวเองไม่ได้ ส่วนใหญ่ยังต้องอาศัย Facebook เป็นแม่สื่อในการส่งคนเข้ามาติดตาม ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ Line@ ปัจจุบันนี้ยังใช้วิธีโพสต์เนื้อหาลง Facebook แล้วแนบลิงค์ Line@ ไว้ด้านล่างเพื่อให้คนมากดเข้าไปติดตาม

ส่วน Website และ Youtube หากไม่ใช้ Facebook ก็ต้องรอให้ติด Google search engine บางครั้งติดและค้นหาเจอได้ภายใน 1 เดือน และบางครั้งก็ใช้เวลาหลายเดือนกว่าคนจะเข้ามาเจอ หากจะให้เร็วก็ต้องไปโพสต์ใน Facebook อยู่ดี

ส่วน Twitter และ LinkedIn แม้แต่ต่างประเทศใช้มากกว่าเราก็ยังไม่ประสบผลลัพธ์ในเรื่องของการสร้างยอดขายจากโฆษณาของสองแพลทฟอร์มนี้

สรุปควรย้ายหรือไม่ย้าย?

เราขอเสนอว่าควรสร้างฐานผู้ไว้ยังแพลทฟอร์มอื่น ๆ ด้วย แต่ไม่ได้ถึงกับต้องตัดขาดจาก Facebook เพราะแพลทฟอร์มอื่นมีศักยภาพแตกต่างกันไป เป็นตัวตายตัวแทนกันไม่ได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการทำโฆษณา ณ เวลานี้และหลายปีจากนี้ Facebook ยังคงเป็นที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น…

Instagram เป็นที่หนึ่งสำหรับโซเชี่ยลเพื่อการแชร์รูปภาพ แต่หากจะขายของ รูปคุณต้องเจ๋ง และคุณต้องเซเลปจริง ๆ โพสต์ข้อความยาว ๆ ไม่เหมาะ และใส่ลิงค์ในแต่ละโพสต์ไม่ได้

Line@ ถือเป็นสุดยอดในการประกาศโปรโมชั่นขายสินค้าและบริการเป็นระยะ ๆ ประกาศทีหนึ่งยอดขายมาเต็มจริง ๆ แต่หากจะขายของทุกวันและขายรัว ๆ คนก็ Block เอาได้ง่าย ๆ หรือจะสร้าง Brand awareness ก็ไม่ค่อยเหมาะ

Website อันนี้คือสิ่งที่ทุกคนควรมี เพราะเป็นแพลทฟอร์มการทำธุรกิจออนไลน์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด คุณสามารถติดตั้งระบบ Shopping cart ได้ สามารถทำ SEO เพื่อให้ติด Search engine ได้ สามารถใช้ทำ Re-targeting ร่วมกับ Google AdWord และ Facebook Ads ได้ แต่การจะทำให้เว็บไซต์เข้าถึงคนได้เร็วก็ไม่พ้นการนำมาแชร์ใน Facebook

ฉะนั้นคุณควรมีช่องทางหลัก ๆ อย่างน้อย 3 ช่องทาง หนึ่งในนั้นคือ Website และ Facebook page ส่วนอีกช่องทางจะเป็น Line@, Twitter หรือ Instagram ก็แล้วแต่ว่าโมเดลธุรกิจของคุณเหมาะกับเครื่องมือตัวไหน

สร้างแบรนด์ด้วย Value Content

หัวใจสำคัญของการตลาดออนไลน์คือ Content หรือ เนื้อหา ดังวลีอมตะของฝรั่งบอกว่า Content is King! – ศาสตร์การตลาดออนไลน์จะมี Niche ย่อยอันหนึ่งเรียกว่า Content marketing เป็นวิธีสร้างการรับรู้ด้วยเนื้อหา ได้แก่ บทความในเว็บไซต์ รูปภาพ อินโฟกราฟฟิค วีดีโอคลิป ฯลฯ เพื่อดึงดูดผู้สนใจมายังแหล่งกำเนิดของเนื้อหา เกิดการติดตาม นับถือ และบอกต่อ เพื่อที่วันหนึ่งคุณจะสามารถงัดสินค้าและบริการออกมาขายคนเหล่านั้น ซึ่งจะซื้อได้ง่ายขึ้นเพราะเขาเชื่อถือคุณผ่าน Value content

สรุปกระบวนการใช้ Facebook ทำการตลาด

1. รูปภาพต้องสะดุดตา เนื้อหาต้องสะดุดใจ เพื่อส่งคนเข้าเว็บไซต์ — กฎเหล็กการตลาดออนไลน์คือ จงส่งส่งทราฟฟิกออกจากแพลทฟอร์มอื่นๆ ไปยังแพลทฟอร์มที่คุณเป็นเจ้าของ กรณีนี้คือเว็บไซต์ เพื่อให้เขาเห็นสำนักงานใหญ่บนโลกออนไลน์ของคุณ เพื่อให้เขาเห็นแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของคุณ และเพื่อใช้ในการทำโฆษณาแบบ Re-targeting ต่อไป

2. โพสต์เนื้อหาให้สม่ำเสมอ — ข้อดีของ Facebook page คือตั้งเวลาโพสต์ได้ การโพสต์เนื้อหาสม่ำเสมอเช่น ทุกวันตอน 7 โมงเช้า หรือทุกวันเว้นวันตรงเวลาสม่ำเสมอเป็นการสร้างความคาดหวังและกำหนดพฤติกรรมของผู้ติดตาม ทำให้พวกเขาคุ้นชินและเพิ่มโอกาสกลายเป็นผู้เข้ามายัง Facebook page ของคุณโดยตรง แทนที่จะรอเห็นจาก Newsfeed

และ 3. ทุกการ Boost Post ต้องได้กำไร — บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการที่เพิ่งใช้ Facebook marketing เป็นครั้งแรกโพสต์ข้อความลงบน Facebook page แล้ว Boost post ตรง ๆ โดยไม่มีการส่งคนไปยังเว็บไซต์ของตัวเอง สิ่งที่ได้จะเป็นเพียงการมองเห็น ยอด Like ยอด Share แล้วก็จบกันไป คนอาจไม่จดจำ และอาจไม่สามารถเห็นโพสต์ใหม่ ๆ อื่น ๆ บน Newsfeed ของคุณได้อีก

ทุกการ Boost post ต้องได้กำไรในที่นี้ไม่ได้หมายถึงในแง่ยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงคุณต้องได้อะไรที่จับต้องได้จากการ Boost post เช่นการส่งคนไปยังเว็บไซต์เพื่อเก็บ Facebook conversion pixels สำหรับนำไปใช้ทำโฆษณาแบบ Re-targeting ในอนาคต หรือการทำแบบฟอร์มสมัคร email list เพื่อรับข่าวสารต่อ ซึ่งกรณีนี้คุณจะได้ email ของผู้มุ่งหวังเพื่อสามารถติดต่อกลับไปประชาสัมพันธ์ข่าวสารหรือสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้

ดังนั้น จงอย่าเขียนข้อความเปล่า ๆ แล้ว Boost post แต่ให้ใส่ลิงค์ไปยังหน้าเว็บไซต์ที่เป็น Landing page ที่เก็บรายชื่อและเก็บ Facebook conversion pixels เพื่อนำไปต่อยอดนอกระบบ Facebook ได้เสมอ

อธิบายเกร็ดคำศัพท์ของ Facebook Ads

Boost Post

หมายถึง ‘การกระตุ้นการเข้าถึง’ หรือตรงไปตรงมาคือการโฆษณานั่นเอง ในหน้า Timeline ของ Facebook Page จะมีปุ่มฟ้า ๆ อยู่มุมล่างขวาของทุกโพสต์ เขียนว่า Boost Post เพียงกดปุ่มก็จะมีหน้าต่างปรากฏขึ้นมาให้คุณ set ค่าพื้นฐานเช่น เข้าถึง Fan page อย่างเดียว หรือ Friend of Fans ระบุจำนวนวัน และระบุจำนวนเงินในการโฆษณาต่อวัน วิธีการนี้เป็นการ Boost post ขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด

Ad Manager

เป็นหน้าจอบริหารจัดการโฆษณา ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ละเอียดมาก หรือลึกมากยิ่งขึ้น สามารถกำหนดกล่มเป้าหมายแยกเป็นประเทศ จังหวัด และเขต สามารถตั้งกลุ่ม Interest group ได้ลึกกว่า Boost post จาก Timeline ปกติ และยังทำโฆษณาขั้นสูงอาทิ Custom audience และ Lookalike audience ได้

Power Editor

เป็นหน้าจอบริหารจัดการโฆษณาขั้น Advance เหมาะสำหรับการทำโฆษณาจำนวนมาก ๆ และการทำ Split test จำนวนมากจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่าน Power editor

Interest Group

เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ Facebook กำหนดมาให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งแยกเป็นหลากหลาย Category อาทิ Business, Family, Shopping, Food & Drink และแต่ละ Category แยกเป็น Niche ย่อย ๆ อีกมากมาย

Saved Audience

เป็นกลุ่มเป้าหมายที่คุณเลือกใช้บ่อย ๆ จาก Interest group จึงจับมาเป็น Saved audience เพื่อที่ครั้งต่อไปจะหยิบมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องไปไล่กรอกใน Interest group ทุกครั้งไป

Custom Audience

หาก Interest group คือกลุ่มเป้าหมายที่ Facebook กำหนดให้ ดังนั้น Custom audience คือกลุ่มเป้าหมายที่คุณกำหนดเอง โดยคุณต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า Custom audience campaign จากนั้นก็ขอโค้ดพิเศษที่เรียกว่า Facebook Conversion Pixels เพื่อนำไปติดไว้ในหน้าบทความในเว็บไซต์ คนที่เข้าไปยังหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ ไม่ว่าจะเข้ามาจากช่องทางไหน เขาจะถูกติดตามด้วย Facebook Conversion Pixels กำหนดค่าติดตามสูงสุด 6 เดือน — ติดตามไปเพื่ออะไรเดี๋ยวอธิบายต่อ

Facebook Conversion Pixels/ Tracking Pixels

เป็นโค้ดพิเศษที่เกิดจากการสร้าง Custom Audience Campaign สำหรับนำไปฝังไว้ในหน้าบทความในเว็บไซต์ที่คุณต้องการติดการ Tracking หนึ่ง Campaign หนึ่งโค้ด คุณสามารถสร้างได้หลายแคมเปญแยกตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ Tracking

วิธีฝังโค้ดลงในบทความทำได้ง่ายๆ โดยดาวน์โหลด Plugin ที่ชื่อว่า Facebook Conversion Pixel Plugin มันก็จะปรากฏกล่องวางโค้ดโดยอัตโนมัติใต้ทุกบทความที่คุณสร้างขึ้นมา โดยกล่องและโค้ดจะไม่แสดงผลในหน้าบ้านของเว็บไซต์ปกติ

อีกวิธีคือกดปุ่มเปลี่ยนหน้าสร้างโพสต์บทความนั้น ๆ เป็นภาษา HTML จากนั้นวางโค้ดไว้ส่วนบนหรือล่างสุดของหน้าสร้างบทความก็เรียบร้อย โค้ดนี้จะไม่แสดงในหน้าบ้านของเว็บไซต์เช่นกัน — สรุป ติดไปทำไม? เหตุผลอยู่ต่อจากนี้

เพื่อทำโฆษณาแบบ Re-Targeting Ads

คุณสร้าง Custom Audience Campaign จากนั้นนำ Facebook Conversion Pixels ไปติดไว้ในบทความเพื่อ Tracking คนที่เข้ามาอ่าน จากนั้นในวันที่คุณจะยิงโฆษณา Facebook คุณเลือกกลุ่มเป้าหมายตาม Custom Audience โฆษณาก็จะถูกแสดงต่อคนกลุ่มนี้เท่านั้น — เหมือนตอนที่คุณเข้าเว็บไซต์ Agoda หรือ Lazada พอกลับเข้ามา Facebook ก็เห็นโฆษณาจากเว็บไซต์เหล่านั้น หรือแม้แต่ตัวสินค้านั้น ๆ ที่คุณเพิ่งเข้าไปดู

แม้จำนวนการเข้าถึงของกลุ่ม Custom Audience จะแคบกว่า Interest ปกติ แต่มีความเป็นว่าที่ผู้ซื้อสูงกว่า เพราะเขาคือคนที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องมีความสนใจมากพอที่จะคลิ๊กออกจาก Facebook หรือ Search หาข้อมูลใน Google แล้วคลิ๊กเข้ามาอ่านบทความในเว็บไซต์ของคุณ

การที่เขาได้เห็นเว็บไซต์ ได้อ่านบทความจนจบ ได้แชร์ ได้บอกต่อ จากนั้นการได้เห็นโฆษณาสินค้าและบริการของคุณอีกครั้งหลังจากได้รับบางสิ่งบางอย่างจากคุณไปก่อนหน้านี้ ย่อมมีโอกาสที่เขาจะเพิ่มความสนใจและเชื่อใจมากพอที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณ

Lookalike Audience

กลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกันกับ Custom Audience เป็นฟังชั่นหนึ่งใน Facebook ที่คุณสามารถสั่งให้ระบบ Generate กลุ่มเป้าหมายนี้ออกมาจาก Custom Audience ที่คุณเก็บข้อมูลไว้ก่อนหน้า ซึ่งจะมีจำนวนการเข้าถึงที่สูงกว่า ยกตัว คุณอาจสะสม Custom Audience ได้ 5000 หน่วยใน 2 สัปดาห์ แต่เมื่อนำมาสร้าง Lookalike audience ก็กลายเป็น 300,000-1,000,000 หน่วยภายใน 5 วินาที

ทั้งนี้ ยิ่งคุณสั่งให้สร้างจำนวน Lookalike สูงเท่าไร ความใกล้เคียงก็จะถูกเจือจางลงเท่านั้น ฉะนั้นเลือกการสร้าง Lookalike จาก Custom audience ให้ต่ำที่สุด เพื่อความเข้มข้นและใกล้เคียงของกลุ่มเป้าหมายที่ดีกว่า

วิธีคิดในการวางงบประมาณค่าโฆษณา เท่าไร และเมื่อไรที่ควรหยุด

ก่อนเริ่มต้นขออธิบายคำศัพท์ คำว่า SKU หรือ Stock Keeping Unit แปลว่า จำนวนไอเทมสินค้าที่คุณมีอยู่ในบริษัท ยกตัวอย่าง น้ำรสส้ม นับเป็น 1 ไอเทม หรือ 1 SKU – ต่อมาหากเพิ่มน้ำรสองุ่น และรสลิ้นจี่ จะเท่ากับมี 3 SKU

เข้าเรื่อง… ในช่วงเริ่มต้นที่ทุนมีจำกัด และจำนวน SKU ของสินค้ายังน้อย และเป็นสินค้าชิ้นเล็ก จัดส่งง่าย ราคาปลีกต่อหน่วยไม่สูงมาก คุณสามารถตั้งงบโฆษณาต่อวันเท่ากับราคาขายปลีกบวกค่าจัดส่งต่อ 1 ชิ้น เช่น ครีมทาหน้า ราคาปลีกรวมค่าจัดส่ง 450 บาท ตั้งงบโฆษณา Facebook วันละ 450 บาท โดยคาดหวังว่าต้องขายได้แน่ ๆ ไม่น้อยกว่า 2 ชิ้น เพื่อไม่ขาดทุนค่าโฆษณา ถ้าขายดีอาจพิจารณาเพิ่มงบต่อวันเข้าไป แต่หากขายได้ 1 ชิ้นเท่าทุนก็กลับมาหาสาเหตุ เช่น รูปภาพไม่สวย ข้อความไม่โดน หรือการทำ Content marketing ยังไม่เพียงพอ ฯลฯ ต่อไป

ในกรณีที่คุณมีงบโฆษณาในระดับหนึ่ง และมีสินค้าหลาย Category แต่ละ Category แบ่งเป็นหลาย SKU คุณสามารถเปลี่ยนมาใช้วิธีตั้งค่าโฆษณาเป็น % ต่อเป้ายอดขายทั้งเดือน เช่น เป้ายอดขายสินค้า Category ครีมบำรุงผิว โดยมี Sales page ของสินค้าในกลุ่มนี้ทั้งหมดรวม เป้ายอดขายเดือนนี้ 1 ล้านบาท กันงบโฆษณา Facebook 1 แสนบาท หรือเฉลี่ยวันละ 3,300 บาท และทำการวัดผลทุกวันว่า Performance ของโฆษณาโดยรูปภาพแบบนี้ ข้อความแบบนี้ กลุ่มเป้าหมายแบบนี้มีผลอย่างไร ฯลฯ