Richard Liu

ประวัติ ริชาร์ด หลิว (Richard Liu) จากคนทำธุรกิจเจ๊งไม่เป็นท่า สู่เจ้าของอาณาจักรแสนล้าน JD.com

หากใครตามข่าวดีลของ JD.com กับเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป น่าจะได้รู้จัก JD.com อีคอมเมิร์ซอันดับ 2 ของจีนกันบ้างแล้ว เจ้าของ JD.com เป็นใคร ทำไมถึงมีเงินมาลงทุนในประเทศไทยถึง 17,000 ล้านบาท วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ ริชาร์ด หลิว (Richard Liu) เจ้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ JD.com ซึ่งสร้างตัวมาจากความล้มเหลวและหนี้สิน สู่อาณาจักรอีคอมเมิร์ซแสนล้านบาท

ริชาร์ด หลิว ล้มเหลวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

หลิว เฉียงตง (Liu Qiangdong) หรือ ริชาร์ด หลิว (Richard Liu) ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของบริษัท JingDong Mall (JD.com) (จิงตงมอล) ซึ่งเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน  ริชาร์ด หลิว เกิดในปี ค.ศ. 1974 ในเมืองซู่เชียน มณฑลเจียงซู พ่อแม่ทำอาชีพขนส่งถ่านหิน ริชาร์ด หลิว สนใจในเรื่องการเมืองจึงเลือกเรียนคณะสังคมวิทยา และระหว่างนั้นก็ฝึกเรียนเขียนโปรแกรมไปด้วย ซึ่งในขณะนั้นเป็นเรื่องใหม่และมีคนเขียนโปรแกรมอยู่น้อยมาก ระหว่างที่เรียนอยู่ ริชาร์ดได้รับงานการเขียนโปรแกรมไปด้วย และนำรายได้เหล่านั้นบวกกับเงินที่กู้ยืมมาจากครอบครัวไปทำกิจการร้านอาหาร แต่เพราะความที่ไม่ได้บริหารอย่างใกล้ชิด ร้านอาหารได้ถูกพนักงานโกงเงินไปจนธุรกิจต้องล้มไม่เป็นท่า

“ผมรู้สึกผิดหวังมาก ทั้ง ๆ ที่ผมทำดีกับพนักงานทุกอย่าง แต่พวกเขากลับทำแบบนี้กับผมได้”
ริชาร์ดกล่าว

ริชาร์ดเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในปี 1996 และได้เข้าทำงานในบริษัท Japan Life เป็นบริษัทด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้งานนี้มาจากการรับเขียนโปรแกรม จนได้ทำงานประจำในบริษัทแห่งนี้ และไต่เต้าจนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ และผู้ดูแลด้านโลจิสติกส์ ซึ่งรายได้จากงานนี้สามารถทำให้ ริชาร์ดชำระหนี้จากร้านอาหารได้ทั้งหมด แม้จะใช้เวลาไปหลายปีก็ตาม

ความผิดพลาดเป็นบทเรียนที่สำคัญของริชาร์ด หลิว

หลังจากที่ทำงานในบริษัท Japan Life อยู่หลายปี เขาค่อย ๆ ตระหนักได้ว่า “ความล้มเหลวของร้านอาหารในวันนั้นเป็นความผิดของผมเอง ผมไม่ได้สร้างระบบการบริหารจัดการ การเงินให้ดี” นับเป็นสิ่งที่ดี ที่ริชาร์ดได้เรียนรู้ที่จะยอมรับในความิดพลาดของตัวเอง จากจุดนี้ริชาร์ดได้เติบโตขึ้นไปอีกขั้น และเรียนรู้ที่จะบริหารธุรกิจอย่างเป็นระบบ

– เลิกโทษคนอื่น แล้วมองที่ความผิดพลาดของตัวเอง –

ในปี 1998 ริชาร์ดได้ลาออกจากบริษัทเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเองอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า Jingdong Century ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ตั้งอยู่ที่ Zhongguancun ในกรุงปักกิ่ง ด้วยทุนเริ่มต้นเพียง 12,000 หยวน(ประมาณ 60,000 บาท) ธุรกิจของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2003 เขามีสาขาของร้าน Jingdong Century ทั้งหมดมากถึง 12 สาขา และมีรายได้มากกว่า 10 ล้านหยวน (50 ล้านบาท)

จะออกไปแตะขอบฟ้า แต่เหมือนว่าโชคชะตาไม่เข้าใจ

แต่ในปี 2003 นั้นเอง เกิดโรค ซาร์ ระบาดในประเทศจีน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 ราย ประชาชนมากมายต่างกลัวการระบาดของโรคนี้ ลูกค้าก็ไม่กล้าออกจากบ้าน แม้แต่พนักงานยังไม่มาทำงานที่ร้าน ทำให้ริชาร์ดต้องปิดร้านค้าทั้งหมด 12 สาขา และยอดขายลดลงเหลือ 0 ทันที

ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป

ตอนนี้ริชาร์ดปิดร้านค้าทั้ง 12 สาขาลงแล้ว แต่สต็อกสินค้าที่ยังมีอยู่มากมายต้องการที่ระบายอออก ในขณะเดียวกันเขาก็ได้ปลดภาระค่าใช้จ่ายของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงานค่าเช่าสถานที่ต่าง ๆ ลงจนหมดสิ้น และเขากำลังหันหัวเรือเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

โรคซาร์ ทำให้ริชาร์ดได้รู้จักเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ด(กระดานข่าว) ริชาร์ดได้ขายสินค้าไปตามเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องคาดหน้ากากอนามัยไปส่งสินค้าที่ไปรษณีย์ด้วยตนเอง ต่อมาในปี 2004 ริชาร์ดก็เปิดตัว Jingdong Mall (JD.com) อย่างเป็นทางการ

“มันเป็นอุบัติเหตุ ถ้าผมยังบังคับให้พนักงานมาทำงานที่ร้านต่อ วันนี้ผมคงไม่เข้าใจอีคอมเมิร์ซ”

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผลจากโรคซาร์ระบาด ทำให้ผู้คนไม่กล้าออกจากบ้าน ส่งผลให้ในปีนั้น ตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากวิกฤติโรคซาร์ ริชาร์ดได้ทุ่มเทให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ชอย่างเต็มที่

JD.com เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในช่วงปี 2005 ยอดขายของ JD ละลงเหลือ 30 ล้านหยวน ซึ่งน้อยกว่าครึ่งนึงของยอดขายในปี 2004 อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปี 2009 ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 300%

ศัตรูของศัตรู คือมหามิตร

ด้วยอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ริชาร์ด ได้ตั้งเป้าจะเป็นคู่แข่งกับ อาลีบาบา บริษัทที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ Taobao และ Tmall ซึ่งในขณะเดียวกัน คู่แข่งคนสำคัญของ อาลีบาบา อย่าง Tencent (เท็นเซ็น) ก็กำลังมองหาการลงทุนในเว็บค้าปลีกออนไลน์อยู่พอดี ในปี 2014 จึงเกิดดีลที่ Tancent เข้าร่วมลงทุนกับ JD.com ด้วยเงินสด 214.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว ๆ 7,000 ล้านบาท) เข้าถือหุ้น 15%ใน JD.com ในขณะเดียวกัน Tencent ก็ได้ย้าย QQ Wanggou (โปรแกรมแชต) และ Paipai (เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ) เข้าสู่บริษัท JD

ซึ่งการลงทุนใน JD ของ Tencent ครั้งนี้ทำให้ Tencent สามารถแข่งขันกับ อาลีบาบาได้ดีขึ้น

JD tencent
Image credit: cheetahmarketing

JD.com เข้า IPO ที่ Nasdaq ก่อน Alibaba

หลังจากการเข้าถือหุ้นของ Tencent  ริชาร์ดก็ก้าวต่อไปอีกขั้น นำหน้า อาลีบาบา 1 ก้าว และเป็นการก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา Nasdaq โดยเปิดขายหุ้น IPO ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 และได้กล่าววลีที่สะท้านใจนักลงทุนทันทีว่า Growth First, Profits Second (เติบโตก่อน กำไรมาทีหลัง) ซึ่ง ณ วันที่เข้าตลาดหุ้นนั้น JD ยังคงไม่มีกำไร แต่มีการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับฐานผู้ใช้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย บวกกับได้พันธมิตรหนุนหลัง อย่าง Tencent จึงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และหุ้นวิ่งขึ้นทันที 15%

จากจุดนี้เองทำให้ชื่อของ ริชาร์ด หลิว เข้าไปอยู่ในทำเนียบ 100 คนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนทันที ด้วยทรัพย์สินราว 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(ราว ๆ 280,000 ล้านบาท) และยังคงถือหุ้นใน JD 84% ทำให้ ริชาร์ดยังคงมีอำนาจในการบริหารอย่างเต็มเปี่ยม

โดย JD.com เพิ่งจะประกาศว่ามีกำไรแล้วในเดือน พฤษภาคม ปี 2017 นี้เอง ถือเป็นการประกาศกำไรครั้งแรกตั้งแต่ Tencent เข้าถือหุ้น

พันธมิตรที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ต้องยอมรับว่าหาก JD.com เดินทางคนเดียวคงไม่สามารถไปได้ไกลถึงตลาดหุ้นอเมริกาอย่างแน่นอน แต่ด้วยการได้เป็นพันธมิตรกับ Tencent นั้นทำให้ JD ชิงความได้เปรียบมหาศาล เนื่องจาก Tencent คือเจ้าของ แอปพลิเคชั่น QQ และ Wechat ซึ่งคนจีนแทบทุกคนใช้ในการสื่อสาร JD จึงมียอดขายจากโปรแกรมทั้งสองนี้เยอะมาก รวมถึง Tencent ยังมีระบบชำระเงินของตัวเอง คือ Wechatpay อีกด้วย ยิ่งทำให้การช้อปสินค้ากับ JD มีความสะดวกสบายอย่างครบวงจรเลยทีเดียว

ลงทุนต่อเนื่อง เพื่อเติบโต

หลังจากเป็นบริษัทมหาชน ริชาร์ดได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า 640 ล้านคนในภูมภาคนี้ ซึ่ง JD คาดหวังกับตลาดในอินโดนีเซีย และไทยเป็นอย่างมาก หวังให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เพราะมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้มาก

สรุปเส้นทางชีวิตของริชาร์ด หลิว มหาเศรษฐีแสนล้าน

ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ คงเป็นคำที่เหมาะสมกับ ริชาร์ด หลิว เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่มีกลีบกุหลาบแล้ว ยังมีแต่หนามที่คอยทิ่มแทงตลอดทาง แต่ทุก ๆ ครั้งที่ล้มเหลว ทุก ๆ ครั้งที่ผิดพลาด ริชาร์ด หลิว เรียนรู้ที่จะยอมรับ ศึกษาบทเรียนจากความผิดพลาดนั้น แล้วลงมือทำใหม่ แก้ไขจากจุดเดิม ไม่ว่าจะเป็นการล้มเหลวในธุรกิจร้านอาหาร ทำให้เขารอบคอบมากขึ้น การที่ได้ดูแลหน่วยงานโลจิสติกส์ของบริษัทญี่ปุ่น ทำให้วันนี้ JD มีระบบขนส่งของตัวเอง ที่รวดเร็วและทันสมัยไม่แพ้ Amazon หรือแม้แต่การที่ต้องพบกับสิ่งไม่คาดฝันอย่างโรคซาร์ ก็สามารถพลิกวิกฤติก้าวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ ประตูสู่อาณาจักรแสนล้าน โชคร้าย หรือ โชคช่วย บางครั้งก็มาในรูปแบบเดียวกัน