Michael Dubin

Michael Dubin แห่ง Dollar Shave Club งบการตลาดน้อยนิด ปั้นธุรกิจออนไลน์หมื่นล้าน

Michael Dubin ผู้ก่อตั้งบริษัท Dollar Shave Club บริษัทที่ขายมีดโกนหนวดที่แสนธรรมดา เกิดจากไอเดียง่าย ๆ เพียงเพราะเขาแค่อยากช่วยให้พ่อของเพื่อนเขาประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่โกนหนวด และเขาก็ได้ใช้งบประมาณในการทำการตลาดโดยใช้งบจำนวน 4,500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 1.5 แสนบาท เพื่อสร้างวีดีโอโฆษณาขายมีดโกนหนวด ที่แสนจะยียวนตามสไตล์กวนบาทาของเขาเองลงบน Youtube และหลังจากปล่อยคลิปวีดีโอไปไม่นาน ก็เกิดกระแสไวรัลแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถทำยอดขายได้ถึง 3.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 115 ล้านบาท) ในปี 2012 และจนถึงปัจจุบัน Dollar Shave Club ก็สามารถทำรายได้รวมแล้วถึง 225 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 7,800 ล้านบาท) จนกระทั่งในปี 2016 ที่ผ่านมานี้ Unilever ได้เข้าซื้อกิจการของเขาไปในราคา 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ(ราว ๆ 30,000 ล้านบาท) ในที่สุด

ก่อนอื่นเลยไมเคิล (Michael Dubin) ได้เล่าให้ฟังว่า โดยพื้นฐานแล้ว เขาเคยทำงานเกี่ยวกับด้านการตลาด การสร้างสื่อมีเดีย และการสร้างแบรนด์ มาแล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ทำงานเกี่ยวกับด้านนี้มาเป็นเวลา 8 ปี จากนั้นเขาก็เลยมีความคิดว่า จะลองทำวีดีโอเพื่อโฆษณาขายใบมีดโกนหนวดให้กับบริษัท Dollar Shave Club สักชิ้นนึง โดยเขาเป็นคนร่างสคริปทั้งหมดด้วยตนเอง และแสดงเองด้วย ซึ่งเขาได้ไหว้วานให้เพื่อนช่างกล้องของเขามาถ่ายทำวีดีโอ ที่ถ่ายทำโดยใช้เวลาเพียง 1 วัน ซึ่งวันนั้นเขาก็ใช้เงินไปประมาณ 4,500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 1.5 แสนบาท ซึ่งมันเป็นไอเดียที่บ้ามาก เพราะเป็นโฆษณาที่เขาเองคิดว่า มันค่อนข้างกวนประสาทอยู่ไม่น้อย และหลังจากปล่อยคลิปวีดีโอนั้นลงไปบน Youtube ให้หลังเพียง 48 ชั่วโมง เขาก็ได้รับออเดอร์คำสั่งซื้อถึง 12,000 รายการเลยทีเดียว

ซึ่งสินค้าตัวแรกที่เขาขายก็คือ ที่โกนหนวดราคาแสนถูก แต่คมโคตร ๆ ในราคาเพียง 1 ดอลล่าร์ และสิทธิพิเศษในการสมัครเป็นสมาชิกรายเดือน ก็คือ เขาส่งให้ถึงบ้าน ในทุก ๆ เดือนโดยไม่ต้องก้าวขาออกไปซื้อที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย และหลังจากนั้นในแต่ละปี เขาก็จะออกสินค้าตัวใหม่ ๆ ออกมา เพื่อเพิ่มยอดขาย อาทิเช่น มีดโกนหนวดแบบพรีเมี่ยม ผ้าขนหนู ครีมโกนหนวด สกินแคร์ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ

Michael Dubin

โดยปัจจัยที่ทำให้วีดีโอโฆษณาของ Dollar Shave Club ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็คือ Storytelling นั่นคือการเล่าเรื่องราวผ่านวีดีโอที่มีความยาวเพียง 1 นาทีกับอีก 33 วินาที ได้อย่างครบถ้วน และมีอารมณ์ขัน

ไมเคิล ได้เล่าให้ฟังว่า ในปีแรกเขาได้ประสบการณ์ในการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ดีมาก เพราะพนักงานทุก ๆ คน ก็ต่างนั่งตอบกลับอีเมล์ของลูกค้า ปริ้นใบเสร็จ แพคของ จนถึงไปส่งของที่คลัสินค้ากันตอนดึก ๆ ดื่น ๆ เพื่อที่จะส่งสินค้าไปถึงลูกค้าให้ได้ตามกำหนด

และเมื่อบริษัทดำเนินมาถึงจุด ๆ หนึ่ง โดยเริ่มมีพนักงานราว ๆ 50-80 คนในองค์กร ซึ่งเมื่อมาถึงจุด ๆ นี้ ในฐานะที่คุณเป็น CEO คุณก็ไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียวเองอีกต่อไป เพราะมันจะต้องมีเรื่องของการจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีกลยุทธ์ให้ทีมงาน และต้องมีกฏระเบียบเพื่อให้ทุกคนในองค์กรทำงานร่วมได้อย่างราบรื่น

และในช่วงที่องค์กรเริ่มขยายนี้นี่เอง ไมเคิล ก็ใช้จุดแข็งของเขาในการช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งเขาพบว่า เราจำเป็นที่จะต้องทำในสิ่งที่เราทำได้ดีและถนัดที่สุดเท่านั้น และจงมอบหมายงานอื่น ๆ ที่คุณไม่ถนัดให้คนที่เขาทำได้ดีกว่าคุณไปทำซะ โดย ไมเคิล ได้คิดแคมเปญใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์อยู่ตอดลเวลา เพราะการคิดไอเดียแหวกแนวเป็นจุดแข็งของเขา ซึ่งเขาก็ได้จัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในย่านการค้าให้ได้มากที่สุด ด้วยงบประมาณที่น้อยที่สุด อีกด้วย

ไมเคิล ยังบอกกับเราไว้อีกด้วยว่า “แล้วคุณจะแปลกใจกับประโยคที่ว่า ทำน้อยให้ได้มาก” ยิ่งคุณทิ้งงานที่คุณทำได้ไม่ดีออกไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะคุณจะมีเวลาโฟกัสในสิ่งที่คุณถนัดและทำได้ดีเท่านั้น ซึ่งมันจะเหลืองานเพียงไม่กี่อย่าง แถมพองานนั้นเสร็จออกมาแล้ว มันก็จะส่งผลลัพธ์อย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับการทำงานที่เราไม่ถนัดหลายสิบหลายร้อยงานรวมกันเสียอีก

ไมเคิลเล่าต่อว่า หลาย ๆ บริษัท อาจใช้ทีมงานครีเอทีฟจากภายนอกบริษัทมาช่วยผลิตผลงาน แต่เขาต้องการให้งานครีเอทีฟ อยู่ภายในบริษัทมากกว่า ซึ่งเขาให้เหตุผลว่ามันคล่องตัวกว่ามาก โดย ไมเคิลเองก็เป็นคนนำทีมครีเอทีฟนี้ ซึ่งมีทีมงานประมาณ 20 คน แต่แทนที่จะทำเองคนเดียวเกือบทั้งหมด เหมือนกับตอนที่พึ่งเริ่มต้นสร้างบริษัท เขาบอกว่าจากเดิมที่เขามีส่วนร่วมร้อยละ 75 ก็เหลือเพียงร้อยละ 20 แต่ในขั้นตอนสุดท้ายเขาก็ยังคงเป็นคนอนุมัติงานอยู่ดี

DollarShaveClub

วีดีโอไวรัลชิ้นแรกของบริษัท ถือได้ว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทั้งความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ความครีเอทีฟ ความกล้าความบ้า ซึ่งนั่นมันทำให้กลายเป็นจุดแข็งของบริษัทนี้ แต่สิ่งที่ยากในฐานะ CEO และในฐานะที่ตัวคุณเองทำสิ่งนั้นได้ดีมาก ๆ ก็คือ การจ้างใครสักคนมาทำแทนคุณ ซึ่งคุณก็มักจะคิดอยู่เสมอว่า “ในเมื่อฉันทำได้ดีกว่าใคร ๆ แต่ทำไมฉันต้องจ้างคนอื่นมาทำแทน” นั่นแหละ คือจุดที่คุณจะต้องตัดสินใจ

และก็เช่นเดียวกัน ในตำแหน่งที่คุณไม่ถนัดเอาซะเลย คุณก็มีโอกาสจ้างงานคนที่ผิดพลาดเพียงเพราะ เห็นเขามีประสบการณ์สูงในด้านนั้น ๆ แต่อาจจะทำงานไม่ได้เรื่องในบริษัทของคุณก็ได้ ดังนั้น เรื่องการคัดคนเข้ามาทำงานมันเป็นอะไรที่ซับซ้อน วุ่นวาย เป็นอย่างมาก แต่หากคุณสามารถหาคนเข้ามาทำงานที่เหมาะสมกับได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งไปได้ไวมากขึ้นเท่านั้น

เพราะในท้ายที่สุดในฐานะผู้นำขององค์กร คุณจะต้องกลายมาเ็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้กับผู้คนที่อยู่ในบริษัทของคุณให้มีพลังในการขับเคลื่อนองค์กรไปยังวิสัยทัศน์ในทิศทางที่คุณเลือก

ไมเคิล ยังบอกกับเราอีกว่า Dollar Shave Club ยังคงเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่กำลังเริ่มต้นไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย และข้อดีของการที่ Unilever เข้ามาซื้อกิจการ มันก็ทำบริษัทขับเคลื่อนไปเร็วยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แถมยังไม่ต้องคอยกังวลหาเงินจากการระดมทุนอีก

Michael Dubin
Image credit : inc

คุณจะสังเกตได้ว่า แม้ว่า ไมเคิล จะขายกิจการโดยมีมูลค่าสูงถึงสามหมื่นล้านแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังคงสนุกและยังไม่หยุดการพัฒนาบริษัทให้เติบโตขึ้นไปอีก ในฐานะที่เขาเป็น CEO ของ Dollar Shave Club บริษัทขายมีดโกนหนวดหมื่นล้าน

 

ที่มา inc