เมียนมาเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ พลังงานน้ำจากเขื่อน และนอกจากนั้นยังมีทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีค่า เช่น อัญมณี แร่ธาตุ ประมง ป่าไม้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งด้วยทำเลที่ตั้งที่มีภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบของเมียนมา สามารถติดต่อค้าขายและเชื่อมโยงกับฝั่งยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
ซึ่งอัตราการเติบโตของเมียนมามี GDP อยู่ที่ 6.5%* (2016)
*ที่มา : World Bank
นอกจากนั้นเมียนมายังได้รับ GSP จากประเทศสมาชิกต่าง ๆ ของ WTO รวมถึงสหภาพยุโรป โดยได้รับคืนสิทธิตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ซึ่งส่งผลให้หลาย ๆ ประเทศในฝั่งตะวันตกทยอยยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า
ด้วยการที่รัฐบาลของเมียนมานั้นเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนในการสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติรวมไปถึงน้ำมัน ทำให้พบแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของเมียนมา
- โดยน้ำมันและเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากถึงร้อยละ 33.4* ของมูลค่าการลงทุนต่างชาติทั้งหมด
- รองลงมาคือ กลุ่มพลัง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.3*
- อุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.9* และ
- การคมนาคมขนส่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.0*
*ที่มา : สารวิจัยธุรกิจ Volume 21 Issue 1 ทิศทางและโอกาสการลงทุนใน CLMV
รัฐบาลเมียนมานั้นมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองทวายซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ โดยเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อระหว่างเมียนมาและไทย ประกอบไปด้วยอู่ต่อเรือ หากโครงการท่าเรือน้ำลึกแล้วเสร็จจะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากทางฝั่งยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ โดยสามารถเดินทางจากท่าเรือน้ำลึกทวายเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังที่ไทย โดยใช้เวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น
ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม สามารถแบ่งออกตามขนาดของอุตสาหกรรมได้ดังนี้
- พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก: โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปุ๋ย โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
- พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง: อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ยางรถยนต์ โรงงานกระดาษ โรงงานผลิตยิปซั่มบอร์ด
- พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดย่อม: อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การแปรรูปอาหาร
3 ปัจจัยที่ทำให้เมียนมาน่าลงทุน
ปัจจัยที่ 1 ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์
เนื่องจากภูมิประเทศของประเทศเมียนมานั้น มีพรมแดนติดกับทะเล ซึ่งเป็นทะเลที่เชื่อมต่อออกไปทางฝั่งยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่โครงการท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวายแล้วเสร็จ ก็จะเกิดโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลจากเดินเดินเรือ และนอกจากนั้นจากท่าเรือน้ำลึกทวายใช้เวลาเดินทางมาท่าเรือแหลมฉบังที่ประเทศไทยโดยใช้เวลาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้พรมแดนของประเทศเมียนมา ยังเชื่อมต่อกับประเทศจีนและประเทศอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมแล้วมากกว่า 2 พันล้านคน
ปัจจัยที่ 2 ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรที่โดดเด่นและมีอยู่เป็นจำนวนมากของเมียนมาจะเป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติ ได้แก่ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนอกจากนั้นยังมีพลังงานน้ำจากเขื่อนในลุ่มแม่น้ำสาละวิน
ส่วนด้านทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ป่าไม้, ดีบุก, แร่พลวง, แร่เหล็ก, สังกะสีทองแดง, แร่ทังสเตน, ตะกั่ว, หินอ่อน, หินปูน, อัญมณี และโบราณสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ
ปัจจัยที่ 3 มีแรงงานที่มีศักยภาพและค่าแรงต่ำ
ค่าแรงในกลุ่มประเทศ CLMV นั้น เมียนมาถือได้ว่ามีค่าแรงเฉลี่ยที่ยังคงต่ำอยู่โดยมีค่าที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มนี้
- เมียนมา มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเดือนละ 3,300 บาท
- กัมพูชา มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเดือนละ 2,230 บาท
- ลาว มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเดือนละ 2,400 บาท
- เวียดนาม มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเดือนละ 2,850 บาท
- ไทย มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท
จะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบค่าแรงขั้นต่ำระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาแล้ว มีค่าแรงต่างกันกว่า 2-3 เท่าตัว
ที่มา : สารวิจัยธุรกิจ Volume 21 Issue 1 ทิศทางและโอกาสการลงทุนใน CLMV
3 ข้อควรระวังในการลงทุนในเมียนมา
การลงทุนในประเทศเมียนมามีปัจจัยที่ดีและโอกาสต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ แต่ก็ต้องพึงระวัง เพราะทุก ๆ การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ซึ่งแม้ว่าจะมีการลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก แต่เมียนมากลับยังคงมีปัญหาขาดดุลทางการคลังและมีเงินเฟ้อในระดับที่สูงอยู่ อันเนื่องมาจาก ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลง และราคาก๊าซลดลง
จากการที่มีนักลงทุนต่างชาติแห่กันเข้ามาลงทุนในประเทศเมียนมา และจากการวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนทางตรง (FDI) สามารถจัดอันดับการน่าลงทุนได้ดังนี้
- กลุ่มดาวเด่น: การคมนาคมขนส่งและอสังหาริมทรัพย์
- กลุ่มแนวโน้มดี: ภาคโรงแรม
- กลุ่มที่ต้องจับตา: น้ำมันและเชื้อเพลิง และอุตสาหกรรม
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการลงทุน: เกษตรกรรม, ประมง, เหมืองแร่, และพลังงาน
ข้อที่ 1 ระบบราชการของเมียนมามีการคอรัปชันสูง
จากผลการให้คะแนนของ Corruption Perceptions Index ในปี 2016 ประเทศเมียนมา มีคะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 28 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งโดยค่าเฉลี่ยของทั่วโลกจะอยู่ที่ 43 คะแนนโดยประมาณ โดยความโปร่งใสของประเทศเมียนมาอยู่ลำดับที่ 136 จากทั้งหมด 176 ประเทศ
(ที่มา : Corruption Perceptions Index 2016)
และนอกจากนั้น ยังมีความไม่นอนทางการเมือง ซึ่งเมียนมาปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาประชาชน สภาชาติพันธ์และสภาท้องถิ่น สมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้ง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล แต่ก็ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากระบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ทำให้ยังคงมีความขัดแย้งทางการเมืองกับชนกลุ่มน้อยที่เคยสู้รบกันมาก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็เป็นเพราะปัจจัยภายในประเทศที่คณะรัฐบาล จะต้องหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติมากที่สุด โดยที่ประชาคมโลกไม่อาจเข้าใจปัญหาภายใน ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะของเมียนมาเอง
ข้อที่ 2 ประชากร จำนวนมาก แต่ยังมีกำลังซื้อต่ำ
แม้ว่าในปัจจุบันเมียนมาจะมีการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการก่อสร้าง การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน ส่งผลให้ชนชั้นกลางเติบโตขึ้นมาก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วกว่าร้อยละ 40 ของคนย่างกุ้งจะใช้จ่ายมากกว่า 300 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แต่ก็ยังคงเป็นเพียงประชากรของคนกลุ่มน้อย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าประชากรอีกว่าร้อยละ 25 มีฐานะยากจนต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ เดือนละ 3,300 บาท แต่นั่นก็กลับกลายเป็นข้อดี ของการลงทุนเพราะได้แรงงานที่มีศักยภาพในค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกกว่าประเทศไทย 2-3 เท่าตัว
ที่มา : TDRI สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ข้อที่ 3 ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
แม้ว่าเมียนมาจะมีแหล่งก๊าซและน้ำมันตามธรรมชาติอยู่อย่างมากมาย แต่ก็ยังไม่มีระบบการลำเลียงและระบบการคมนาคมและการขนส่งที่ดีพอ ทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าของเมียนมาถือว่าต่ำสุดในแถบเอเชีย
จะขยายธุรกิจไปประเทศเมียนมา และกำลังมองหาแหล่งเงินทุน
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเข้าไปลงทุนในเมียนมา จำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแข็งขัน ทั้งทางภาครัฐและเอกชน ซึ่งทางธนาคารกรุงไทยเองก็เล็งเห็นความสำคัญในการขยายธุรกิจไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยได้จัดงบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนและผลักดัน SMEs ไทย ขยายธุรกิจในกลุ่ม CLMV
ประเทศเมียนมา ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยในชื่อโครงการว่า KTB CLMV สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEsทีมีธุรกรรมการค้ากับกลุ่มประเทศ CLMV โดยวงเงินสูงสุดอยู่ที่ 100 ล้านบาทต่อธุรกิจ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เริ่มต้นเพียง 3.9% ต่อปี* ผ่อนชำระสูงสุดนาน 7 ปี นอกจากนั้นในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็สามารถยื่นเรื่องให้ บสย.ค้ำประกันได้จำนวน 100% เต็ม และสำหรับลูกค้าที่ต้องการออกหนังสือค้ำประกันการซื้อสินค้า ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมพิเศษเริ่มต้นที่ 1.5% ต่อปี สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึง 30 มิถุนายน 2561 โดยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
โดยผู้ประกอบการที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุน สามารถติดต่อและขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สินเชื่อ KTB CLMV สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีธุรกรรมการค้ากับกลุ่มประเทศ CLMV หรือโทร 02-111-1111