Goal! เคล็ด (ไม่) ลับตั้งเป้าหมายใหญ่ และทำได้จริงใน 24 ชั่วโมง

การตั้งเป้าหมายสำคัญ การทำตามเป้าหมายสำคัญยิ่งกว่า ทำอย่างไรจึงตั้งเป้าหมายและทำให้สำเร็จ?

ผมเคยเล่าเรื่อง Passion เพื่อสื่อว่าบางครั้งมันมีเส้นบางๆ ระหว่างคิดเข้าข้างตัวเองว่ากำลังตามหา Passion กับ การลงมือทำเพื่อพิสูจน์ให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่อยากทำจริงๆ หรือไม่ ที่นี่

ต่อจาก Passion ก็คือเรื่อง Goal setting ที่ผมอยากเล่า เพื่อไม่ให้หลงอยู่กับการตั้งเป้าหมายจนละเลยการลงมือทำ หรือหนักสุดคือการสร้างเป้าหมายที่ไม่คิดจะทำจริงตั้งแต่แรก

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งของตนเองและเพื่อนนักธุรกิจสามารถยืนยันได้ว่า ‘การตั้งเป้าหมาย’ สำคัญมาก และหากคุณไม่มี ไม่เขียน ไม่ยืนหยัดในเป้าหมาย โอกาสสำเร็จทั้ง ชีวิต ธุรกิจ การงานของคุณจะน้อยมาก แต่หากมัวแต่เขียนเป้าไปเรื่อยๆ แล้วไม่ลงมือทำก็เป็นเพียงแค่ ‘ความอยาก ที่ไม่มีวันเป็นจริง’ อุปมาอุปมัยกับคนฝันกลางวัน

เหตุการณ์หลายๆ อย่างในชีวิต ไม่ว่าจะจากการเข้าอบรมแล้วได้รับโจทย์ให้เขียนเป้าหมายให้มากที่สุด ไปจนถึงเจอเพื่อนที่เขียนเป้า 20-30 ข้อแล้วแทบไม่ได้ทำสักข้อ ทำให้ผมไม่ค่อยสนับสนุนการเขียนเป้าหมายเยอะเกินไป

แต่ก็ไม่ได้บอกว่าการเขียนเป้าเยอะ เป็นเรื่องผิด ถ้าเขียน 100 ข้อแล้วลงมือทำได้จริงๆ ก็สมควรได้รับการยกย่อง เพียงแต่โดยส่วนตัวผมเคยเจอคนเขียนเป้าหมาย 20-30 ข้อมาพอสมควรแล้วพบว่าเขาไม่ได้ทำ แต่ยังคงแสดงเป้าหมายนั้นเสมอเมื่อเจอกันตลอดช่วงเวลา 3-4 ปี ในขณะที่คนเขียนเป้าหมายน้อยๆ เพียง 3 ข้อ 5 ข้อ หรือไม่เกิน 10 ข้อกลับไปไกลจนทิ้งฝุ่น

ทำไมเขียนเป้าหมายเยอะแล้วทำไม่สำเร็จ

1. เขียนเยอะเกินไปจนท้อ

ผมเคยเจอคนส่งเป้าหมายมาปรึกษา จำนวนเป้าหมายมีประมาณ 20 ข้อ เป็นงานยาก ใช้เวลา ใช้เงินทุน และต้องการการโฟกัสในการลงมือทำอย่างสูง เป้าหมายนั้นถูกเขียนไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปีแต่แทบไม่มีการลงมือทำ และทุกปีจะมีประโยคเดิมๆ คือ ‘อยากทำ’ และตามมาด้วยคำถาม ‘ทำยังไงดี’ และ ‘ช่วยทำให้หน่อยสิ’

ปัญหาคือเขียนเป้าหมายเยอะเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำไม่เป็น และในที่สุดก็ไม่กล้าทำและอยากหาคนมาทำให้

2. เขียนใหญ่เกินไปจนไม่เชื่อใจตัวเอง

หากวันนี้คุณมีเงิน 100,000 บาท ไม่มีทรัพย์สินใดๆ มีอาชีพที่มีรายได้เดือน 20,000 บาท แต่เขียนเป้าหมายว่าจะทำเงิน 1000 ล้านบาทใน 12 เดือน.. คุณเชื่อไหมว่าจะทำได้? คำตอบคือ ไม่เชื่อ!

การเขียนเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ประกอบกับตัวเองยังไม่เชื่อตัวเองว่าจะทำได้ก็เรียกว่า เป็นไปไม่ได้โดยสมบูรณ์แบบ

เขียนเป้าหมายอย่างไรให้ทำได้จริง

1. เขียนเป้าหมายทีละน้อยและอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้

คนประสบผลลัพธ์อาจเขียนเป้าหมายเพียง 3, 6, หรือ 9 ข้อ มีหัวข้อและกำหนดเวลาชัดเจน และอยู่ในขอบเขตที่ตนเองกำลังเป็นและกำลังทำอยู่ โดยเป้าหมายนั้นให้ผลลัพธ์ที่ส่งต่อไปยัง Life style ปลายทางที่อยากเป็น จากนั้นลงมือทำทันที

นั่นหมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องลิสต์ว่า อยากเที่ยวรอบโลก อยากมีเรือยอร์ช อยากมีบ้านบนเขาใหญ่ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะปรากฏทันทีที่คุณมีเงินจำนวนมาก สิ่งที่คุณต้องทำคือเขียนรายการที่จะลงมือทำจริงๆ

2. ลงมือทำทีละขั้น จากเล็กไปหาใหญ่

ต่อมาคือการลงมือทำทีละขั้น คุณไม่สามารถกระโดดจาก 100,000 ไป 1000 ล้าน แต่สิ่งที่ทำได้คือก้าวจาก 100,000 ไป 200,000 ไป 500,000 และไป 1 ล้านแล้วค่อยๆ เบิ้ลทบไปเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น

คุณเป็นพนักงานบริษัท เงินเดือน 25,000 บาท อยากเปิดร้านขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์ เป้าหมายของคุณคือ…

  • คุณจะออมเงินให้ได้ 5000 บาททุกเดือนเป็นทุนสะสม
  • คุณจะปลดหนี้สินเชื่อต่างๆ ภายใน 12 เดือน
  • คุณจะเปิดร้านค้าออนไลน์ภายในเดือนที่ 13 นับจากวันนี้

จากนั้นคุณจะเริ่มทำงานตามกระบวนการ เรื่องปลีกย่อยคือการเรียนรู้วิธีทำเว็บไซต์ การทำการตลาดออนไลน์ การเซอร์เวย์หาซัพพลายเออร์ ซึ่งเวลาคุณมีเป้าแบบนี้ สมองคุณจะคิดแต่เรื่องหาซัพพลายเออร์ หูตาคุณจะไวกับเรื่องนี้ในทุกที่ที่คุณไป มองเห็นสินค้าน่าสนใจ มองเห็นซัพพลายเออร์ที่มีศักยภาพ ฯลฯ

พอคุณเปิดร้านแฟชั่นออนไลน์แล้ว ต่อมาก็ตั้งเป้าว่า…

  • คุณจะมีสินค้า 100 ไอเทมภายใน 6 เดือน
  • คุณต้องการยอดขายเดือนละ 500,000 บาทภายใน 6 เดือนนับจากวันที่เปิดร้าน
  • ฯลฯ

จากนั้นทั้งสมองและจิตใจของคุณจะเริ่มทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเป้าหมายมีความเป็นไปได้เพราะถึงจุดนี้คุณเชื่อ สาเหตุที่เชื่อเพราะคุณกำลังเริ่มทำงานอยู่ ไม่ใช่ฝันกลางวันว่าอยากมี 1000 ล้านโดยที่วันนี้ยังนอนเล่นอยู่บนเตียง

เหล่านี้คือ เคล็ด (ไม่) ลับง่ายๆ ของการตั้งเป้าหมายให้ทำได้จริง และสุดท้ายเมื่อเขียนเป้าใส่สมุดแล้ว จงลงมือทำภายใน 24 ชั่วโมง สิ่งใดที่คุณต้องเริ่มทำและทำได้ก่อนให้เริ่มเลย เพื่อเป็นการ ปักธงก้าวแรก และสร้าง Momentum ของชีวิต