‘ฉันคือเฟมินิสต์’ Emma Watson ประกาศกร้าวต้นแบบผู้หญิงต้องสตรอง

Emma Watson นักแสดงหน้าสวยมากความสามารถ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกกับผลงานภาพยนต์ Harry Potter ได้รับการแต่งตั้งเป็น UN Women Goodwill Ambassador ในปี พ.ศ. 2557 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเพศหญิงโดยเธอเรียกตัวเองว่าเป็น ‘Feminist

เธอกล่าวคำพูดไว้อย่างเด็ดเดี่ยวและตรีงอารมณ์ผู้ฟังในโครงการ HeForShe ณ สำนักงานสหประชาชาติ เมื่อเดือน กันยายน 2557

เนื้อหาจากวีดีโอคลิปนี้จับใจความสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้ Emma Watson ต้องการสร้างจุดยืนเรื่องความเท่าเทียมระหว่างสองเพศได้แก่

1. เธอบอกว่า การเกิดเป็นลูกสาวไม่ได้ทำให้พ่อและแม่รักเธอน้อยไปกว่าครอบครัวที่มีลูกชาย

2. เมื่ออายุ 8 ปี เธอถูกล้อว่าเป็น ‘Bossy’ หรือ เจ้านาย ซึ่งสื่อถึงเพศชายที่บ้าอำนาจเพียงเพราะเธอแสดงออกถึงความต้องการที่จะเป็นผู้กำกับละครเวที ในขณะที่เด็กผู้ชายคนอื่น ๆ ไม่ได้แสดงออกเหมือนเธอ

3. เมื่ออายุ 14 ปี เธอถูกสื่อและสังคมวิพากวิจารย์ในมุมทางเพศเพราะความกล้าแสดงออกในเรื่องของรูปร่างและภาพลักษณ์

4. เมื่ออายุ 15 ปี เพื่อนผู้หญิงของเธอต่างถอนตัวออกจากทีมกีฬาของวิทยาลัยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกมองว่า ‘แข็งแรง’

5. ตอนอายุ 18 ปี เธอสังเกตุเพื่อนผู้ชายของเธอมีมีความกดดันอันเกิดจากปัญหาไม่กล้าแสดงความรู้สึกที่อยู่ในใจเพราะจะถูกมองว่า ‘อ่อนแอ’

ประสบการณ์และการเฝ้าสังเกตุอีกมากมายเป็นบทสรุปที่ทำให้ Emma Watson ประกาศว่าเธอได้ตัดสินใจที่จะเป็น ‘Feminist’

Feminist อาจไม่ใช่อย่างที่คุณเคยคิด

Emma Watson อธิบายความหมายของคำว่า Feminist ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเธอยอมรับว่าคำนี้นำพาไปสู่ความเข้าใจผิดพอสมควรและบานปลายไปสู่ความเข้าใจที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแนว ๆ ‘รังเกียจผู้ชาย’ หรือ Man-Hating

จากคำอธิบายในวีดีโอนี้ทำให้เราตีความได้ว่า Feminist คือทัศนคติที่เห็นว่า ชายและหญิงควรได้รับความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงสิทธิและโอกาสเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและมีเกียรติ ไม่ว่าจะเป็น การงานอาชีพและธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเพศ

นอกจากนั้น Feminist ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของเพศหญิงฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นประโยชน์เพื่อเพศชายอีกด้วย อ้างอิงจากกรณีที่ Emma Watson เห็นเพื่อนผู้ชายที่เกิดความรู้สึกกดดันหรือเก็บกดจากการไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้เพราะจะถูกสังคมมองว่าอ่อนแอ โดยความอ่อนแอมักถูกเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นเพศหญิง ทำให้ผู้ชายเกิดความรู้สึกเสียเกียรติหรือเสียศักดิ์ศรี เหล่านี้เป็นทัศนคติที่ไม่ควร

นอกจากนั้นยังเคยเกิดเหตุการณ์น่าสลดใจกับหญิงสาวชางอินเดียนามว่า Shubhi Arora ที่ภายหลังตัดสินใจเป็น Feminist เช่นกันเมื่อน้องชายวัย 12 ปีของเธอมักถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้งจนร้องไห้อยู่บ่อย ๆ และเมื่อร้องไห้ก็มักถูกล้อเลียนที่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยเทียบกับคำว่า ‘หน้าตัวเมีย’ จนกระทั่งวันหนึ่งน้องชายของเธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่ช่วยชีวิตไว้ทัน

ทั้งสองกรณี ทั้งของ Emma และ Shubhi แสดงให้เห็นว่าความเป็นเพศหญิงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการดูถูกไปได้อย่างไร และด้วยเหตุนี้ เธอทั้งสองและผู้หญิงอีกมากมายจึงต้องการแสดงจุดยืนถึงความเท่าเทียมกัน และเพศหญิงไม่ควรกลายเป็นสัญลักษณ์ที่จะนำมาใช้ดูถูกทางเพศกันไม่ว่าจะกระทำต่อผู้หญิงด้วยกันเองก็ดี หรือนำไปใช้โจมตีต่อผู้ชายก็ดี

มีความดราม่าเมื่อ Emma Watson ถ่ายแฟชั่น (เกือบ) เปลือย

รูปภาพจาก http://metro.co.uk/2017/03/05/confused-emma-watson-responds-to-criticism-over-her-topless-vanity-fair-shoot-6489222/

ด้วยความที่ Emma Watson สาวมั่น ชูความเป็นผู้หญิงต้องสตรองและประกาศว่าตนเป็น Feminist จึงมีทั้งคนรัก คนชัง และคนแอนตี้ โดยล่าสุดเมื่อเดือน มีนาคม 2560 เธอถ่ายแบบลงเว็บไซต์ Vanity Fair พร้อมภาพแฟชั่นสวย ๆ งาม ๆ มากมายแต่มีอยู่เพียงภาพเดียวเท่านั้นที่มีความเกือบเปลือยส่วนหน้าอก

หากมองเป็นศิลปะและแฟชั่นก็ดูสวยดี ไม่โป๊ และดูแข็งแรง แต่งานนี้กลายเป็นประเด็นให้กลุ่ม Hater หรือคนที่ไม่ชอบเธออยู่แล้วออกมาโจมตี กลายเป็นดราม่าหาว่านางเป็นคน ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ ประกาศว่าเป็น Feminist แต่โชว์เรือนรางแสดงสัญลักษณ์ทางเพศล่อผู้ชาย สร้างความเสื่อมเสียให้แก่วงการ Feminist เรียกว่าเธอถูกด่าหนักมากจากบางกลุ่ม

แต่สาวมั่นยังคงมั่นต่อไปโดยเธอได้พูดไว้ในสุทรพจน์ ณ องค์การสหประชาชาติดักไว้ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วว่า

“…If we stop defining each other by what we are not and start defining ourselves by what we are, we can all be free and this is what HeForShe is about. It’s about freedom…”

แปลเป็นไทยว่า

“…ถ้าเราเลิกให้จำกัดความซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของข้อจำกัด และหันมาจำกัดความบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ เมื่อนั้นเราจะเป็นอิสระ และนี่คือที่มาของโครงการ HeForShe…”

ดราม่าของ Emma Watson เกิดจากทัศนคติของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของเพศหญิงบางกลุ่มที่เติบโตบนพื้นฐานของความไม่พอใจพฤติกรรมของเพศชาย และมีความรู้สึกว่าการเปิดเผยเรือนร่างเป็นการเรียกร้องให้เพศชายหันมาสนใจ เป็นการดูถูกตัวเองของผู้หญิง และเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของทั้งสองฝ่าย

แต่สำหรับ Emma Watson นั่นแตกต่าง เพราะเธอย้ำแต่แรกว่า การเกิดเป็นลูกสาวไม่ได้ทำให้ได้รับความรักจากพ่อแม่น้อยกว่าลูกชาย เธอไม่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้ชาย และยังสนับสนุนให้เพศชายควรได้รับสิทธิในการแสดงออกทางความรู้สึกของตัวเองอีกด้วย!

ในกรณีนี้ Emma Watson มีทัศนคติถึงการแต่งกายน้อยชิ้นเพื่อถ่ายแฟชั่นในครั้งนี้เป็นเพียงการแสดงออกถึงความเป็นนางแบบ เช่นเดียวกับผู้ชายที่สามารถแต่งกายน้อยชิ้นหรือสวมกางเกงในว่ายน้ำเล็ก ๆ เพียงชิ้นเดียวซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสามารถเรียกอารมณ์ทางเพศจากเพศตรงข้ามได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเธอจึงมองว่า กลุ่มคนที่ด่าเธอโดยอ้างว่าพวกเขาปกป้องสิทธิและเสรีภาพของเพศหญิง ก็ถือว่ายังไม่ใช่ผู้ที่เข้าถึงและเข้าใจความมีเสรีภาพของผู้หญิงอย่างแท้จริง

บทสรุปของโฉมงามผู้แข็งแกร่ง

เรื่องของทัศนคติและความเชื่อย่อมถกเถียงกันไม่มีวันสิ้นสุด คงมีเพียงแต่เจ้าของแนวคิดและผู้ร่วมอุดมการณ์เท่านั้นที่จะต้องชัดเจนในจุดยืนของตัวเอง และเข้มแข็งให้มากพอที่จะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้ง

ผมเชื่อว่า Emma Watson รู้ดีว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ คนที่ออกมาด่าเธอเรื่องการถ่ายแฟชั่นนั้นอาจเป็นเรื่องขี้ผงเมื่อเทียบกับภารกิจอีกมากมายที่เธอกำลังทำอยู่ เพราะอันที่จริงแล้ว คำว่า Feminist ของเธอนั้นเป็นไปเพื่อความเท่าเทียมในการพัฒนาชีวิตและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเพศหญิง และจุดเริ่มต้นของสองสิ่งนี้คือ ‘การศึกษา’ และนี่คือสิ่งที่เธอมุ่งรณรงค์คือทำให้ผู้หญิงในประเทศที่ถูกกดขี่ทางเพศจนไม่สามาถเข้าถึงการศึกษาได้มีโอกาสรับการศึกษาเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพและธุรกิจอันจะทำให้มีชีวิตดี อันเป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงห่างไกลจากการถูกกดขี่ทางเพศ

นี่คือเรื่องราวของ Feminist ที่ชื่อ Emma Watson นางเอกน่ารักจาก Harry Potter ที่กลายมาเป็นนางเอกหน้าสวยในภาพยนต์ระดับตำนาน Beauty and The Beast โฉมงามกับเจ้าชายอสูร