นักเขียนน้ำหมึกทองคำ! เปิดตำนาน Eiichiro Oda ผู้ให้กำเนิดการ์ตูน One Piece เริ่มต้นจากศูนย์ สู่รายได้ปีละกว่า 1 พันล้านบาท

หากพูดถึง One Piece สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่คอการ์ตูน อาจจะนึกถึงชุดว่ายน้ำ แต่สำหรับคอการ์ตูนแล้ว หากเป็นนักอ่านมาตั้งแต่ยุค 90 คงไม่มีใครไม่รู้จักการ์ตูนอันโด่งดังเรื่องนี้แน่นอน เป็นเรื่องราวของ ลูฟี่ ชายที่ต้องการเป็นราชาโจรสลัด และออกเรือตามหาสมบัติล้ำค่าที่ชื่อว่า One Piece

วันนี้ CEO Blog จะพาผู้อ่านดำดิ่งสู่โลกของวงการ มังงะ, อนิเมะ และ โอตาคุ กับซีรีส์การ์ตูนเรื่องยาวที่จัดได้ว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง มีฐานแฟน ๆ ติดตามอยู่ทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะตีพิมพ์ไปหลายภาษาแล้ว รายได้จากการขายของที่ระลึก เช่น โมเดลหรือสินค้าลิขสิทธิ์จากคาแรคเตอร์ในการ์ตูนก็ทำรายได้มหาศาลให้กับทางต้นสังกัด และนักเขียนเป็นอย่างมาก เราไปทำความรู้จักกับ Eiichiro Oda นักเขียนผู้ให้กำเนิด One Piece กันเลย

Source: http://onepiece.wikia.com/wiki/File:One_Piece_Anime_Logo.png

วัยเด็กของ Eiichiro Oda

Eiichiro Oda ((尾田 栄一郎 เออิจิโร่ โอดะ) เกิดในวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 1975 ในเมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น (เมืองเดียวกับที่มีมาสคอตคือ เจ้าหมีคุมะมง นั่นเอง) ถ้านับถึงปี ค.ศ. 2018 อาจารย์โอดะ ก็จะมีอายุ 43 ปี พอดี

ในวัยเด็กนั้น อาจารย์โอดะชื่นชอบการอ่านการ์ตูนเอามาก ๆ จนถึงขั้นหลงใหลในศิลปะแขนงนี้ และอยากที่จะเป็นนักวาดการ์ตูนบ้าง สาเหตุหนึ่งที่เลือกอาชีพนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่เด็กส่วนหนึ่งมาจาก ไม่ต้องการทำงานแบบผู้ใหญ่ ที่ตนเองเคยเห็น (หมายถึงงานทั่วไปที่เป็นงานจริง ๆ เช่นงานออฟฟิศ หรือแม้แต่ขายของก็ตาม)

สิ่งที่มีอิทธิพลต่ออาจารย์โอดะ ในวัยเด็กก็คือ การ์ตูนอนิเมชั่นซีรีส์เรื่อง Vicky the Viking ซึ่งเป็นรากฐานให้อาจารย์โอดะ ชื่นชอบเรื่องการออกเดินเรือเพื่อเป็นโจรสลัด และการ์ตูนที่มีอิทธิพลต่ออาจารย์โอดะอีก 1 เรื่องคือ Dragon Ball โดย อาจารย์โทริยามะ อากิระ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ในการเขียนการ์ตูนแอคชั่น

ในตอนเด็ก เขาเคยออกแบบตัวละครที่ชื่อว่า แพนด้าแมน ส่งไปหาอาจารย์ Yudetamago ผู้วาดการ์ตูนเรื่อง Kinnikuman การ์ตูนแอคชั่นมวยปล้ำคลาสสิกเรื่องหนึ่ง แต่ตัวละครที่เขาออกแบบไม่ได้รับการตีพิมพ์ ภายหลังอาจารย์โอดะ ก็นำแพนด้าแมนกลับมาเป็นไข่อิสเตอร์ ซ่อนไว้ในการ์ตูนของเขาเอง One Piece โดยจะชอบแทรกคาแรกเตอร์แพนด้าไว้ตามที่ต่าง ๆ

เริ่มอาชีพนักวาดการ์ตูน

เมื่อวาดฝันแล้วก็ต้องไปให้สุด ในปี 1992 อาจารย์โอดะเริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนการ์ตูนอาชีพตั้งแต่อายุ 17 ปี ด้วยการส่งการ์ตูนเรื่องสั้นเข้าประกวด ชื่อเรื่อง Wanted (ซึ่งเป็นต้นแบบของการ์ตูนวันพีช ในเวลาต่อมา) ซึ่งผลงานของเขาได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดรางวัล Tezuka Award ที่สนับสนุนโดย นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Shōnen Jump (โชเน็น จั๊มพ์) ทำให้ในปีเดียวกัน เขาสามารถสมัครเข้าเป็นักเขียนผู้ช่วย ในสำนักพิมพ์ โชเน็น จั๊มพ์ได้สำเร็จ

งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือ เป็นผู้ช่วยอาจารย์ Shinobu Kaitani ผู้วาดการ์ตูนเรื่อง Suizan Police Gang หลังจากนั้นในปี 1994 ก็ย้ายมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ Masaya Tokuhiro ผู้วาดการ์ตูนเรื่อง Jungle King Tar-chan (ทาร์จังเจ้าป่าฮาเฮ) และในปี 1995 ก็ได้ช่วยอาจารย์ Masaya Tokuhiro วาดเรื่อง Mizu no Tomodachi Kappaman จนถึงปี 1996

ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน เขาก็ยังได้ร่วมงานกับ อาจารย์ Nobuhiro Watsuki วาดเรื่อง Rurouni Kenshin (ซามูไรพเนจร) ซึ่งหากใครติดตามอ่าน One Piece จะเห็นว่า อาจารย์โอดะ ได้รับอิทธิพลหลาย ๆ อย่างจากการร่วมงานกับอาจารย์นักวาดการ์ตูนทั้ง 3 ท่าน โดยสะท้อนผ่านลายเส้น มุขตลก ฯลฯ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่อาจารย์โอะค้นหาสไตล์การวาดภาพที่เป็นของตนเอง

ระหว่างปี 1993 – 1994 อาจารย์โอดะ ได้วาดการ์ตูนเรื่องสั้นหลายเรื่อง เช่น God’s Gift for the Future (1993), Ikki Yako (1994) และ Monsters (1994) ซึ่งทั้งหมดได้ถูกผสมผสานกันในภายหลังกลายเป็นไอเดียในการเขียนวัน พีช

ในช่วงปลายปี 1996 ขณะที่ร่วมงานกับอาจารย์ Nobuhiro Watsuki อาจารย์โอดะ ก็ได้วาดการ์ตูนสั้นขึ้นมาสองตอน ชื่อว่า Romance Dawn, Version 1 และ Version 2 ซึ่งกลายเป็นปฐมบทของการตูนเรื่องวันพีชในปี 1997 หลังจากนั้นเขาก็ลาออกจากการทำงานร่วมกับ  Nobuhiro Watsuki เพื่อมาเริ่มเขียน One Piece การ์ตูนเรื่องยาวของตัวเองอย่างจริงจัง

จุดกำเนิด One Piece

ในปี 1997 ขณะที่อาจารย์โอดะ อายุได้เพียง 22 ปี เขาก็เริ่มต้นโครงการการ์ตูนซีรีส์เรื่องยาว ที่ชื่อว่า One Piece ซึ่งเขาจะได้เขียนในฐานะนักเขียนเต็มตัว ซึ่งการเลือกโครงเรื่องเกี่ยวกับโจรสลัดนั้น ฉีกและแหวกแนวจากการ์ตูนที่เคยโด่งดังหรือกำลังโด่งดังอยู่ในขณะนั้นทั้งหมด ซึ่งถ้าไม่ใช่แนวแฟนตาซี ก็จะเป็นแนวกีฬา หรือการ์ตูนดราม่าวัยรุ่นไปเลย และ One Piece ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด

One Piece ไม่เพียงเป็นการ์ตูนมังงะที่ได้รับความนิยมสูงสุดเท่านั้น  ในปี 1997 เพียงปีเดียว One Piece เป็นการ์ตูนมังงะ ซีรีส์ ที่ทำยอดขาย Best Seller ทุบสถิติอันดับ 1 ตลอดกาล ในญี่ปุ่น ในปี 1998 เพียงปีเดียวหลังจากที่เปิดตัว One Piece ก็ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะ (หรือ อนิเมชั่น ภาพยนตร์ การ์ตูนฉายทางทีวีรายสัปดาห์) ภายใต้การผลิตของ Toei Animation

Source : https://akibapress.com/oda-eiichiro-announces-end-date-one-piece/

ปรากฏการณ์ One Piece บุกโลก

One Piece ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการมังงะ ด้วยยอดขายถล่มทะลายจากทั่วโลก ในปี 2005 มียอดขายรวม 100 ล้านเล่ม ในปี 2011 มียอดขายรวม 200 ล้านเล่ม และในปี 2011 มียอดขายรวม 430 ล้านเล่ม ทุบสถิติการ์ตูนมังงะขายดีอันดับ 1 ตลอดกาลแบบขาดกระจุย และจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครโค่นสถิตินี้ลงได้เลย (อันดับ 2 คือ ดราก้อนบอล 240 ล้านเล่ม อันดับ 3 คือ นารูโตะ 220 ล้านเล่ม อันดับ 4 คือ ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน 200 ล้านเล่ม — อ้างอิง )

ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=dEuTgeToLEU

Source : http://onepiece.wikia.com/wiki/File:Chapter_598.png

ทำไม One Piece จึงขายดีกว่าการ์ตูนรุ่นเก๋าเรื่องอื่น ๆ

สาเหตุที่ One Piece เป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยม และมียอดขายถล่มทะลายนั้น ส่วนหนึ่งมาจาก การวางโครงเรื่องที่เกินคาดเดา ซึ่งไม่เหมือนใคร ด้วยเส้นเรื่องหลักที่เกี่ยวกับโจรสลัด ที่มีความเป็นสากล ไม่ผูกติดอยู่กับเชื้อชาติหรือประเทศใดเป็นหลัก การวางคาแรกเตอร์ของตัวละครที่มีความหลากหลาย และการกระจายบทของตัวละครที่สม่ำเสมอ มีความลึกในทุกตัวละคร มีที่มาที่ไป และมีเหตุผล

และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น การ์ตูน One Piece มีวิวัฒนาการ หรือมีการเจริญเติบโตของช่วงวัย แม้ตัวละครเอกของเรื่อง อย่าง มังกี้ ดี ลูฟี่ จะเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นในตอนต้นเรื่อง และในขณะนี้ (หลังจากตีพิมพ์มาแล้วกว่า 21 ปี) ลูฟี่จะอายุไม่ครบ 20 ปีก็ตาม

ในช่วงเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ลูฟี่เป็นเพียงเด็กวัยรุ่น ที่มีความฝัน มีพละกำลัง มีความคึกคะนอง และผู้อ่านในสมัยนั้น (ปี 1997) ก็เช่นเดียวกัน ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน เมื่อผ่านกาลเวลาไป 21 ปีแล้ว แต่การ์ตูนเรื่องนี้ยังคงดำเนินต่อไป และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ แฟน ๆ ที่ติดตามมาตั้งแต่ต้น ตอนนี้อายุก็ใกล้จะ 40 ปี แล้วเช่นกัน

สิ่งที่ยังดึงดูแฟน ๆ ให้ติดตาม และเฝ้ารออ่านได้ทุกอาทิตย์ คือเนื้อเรื่องที่เข้มข้น และเกินคาดเดา ซึ่งอาจารย์โอดะ เคยให้สัมภาษณ์ใน SBS ว่า

“…ผมจะคอยถามผู้ช่วยอยู่เสมอ ๆ ว่า แฟนมีความคิดเห็นอย่างไร หรือคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้นในตอนต่อ ๆ ไปของ One Piece บ้าง ซึ่งถ้าทุกคนเดาไปในทางเดียวกันหมด ผมก็จะไปอีกทาง…”

*SBS (質問を募集する Shitsumon o Boshū Suru?, “I’m Taking Questions” คือช่วงถามตอบปัญหากับนักเขียน)

อุปสรรคในการทำงานของ Eiichiro Oda 

อาจารย์โอดะ เขียนการ์ตูน One Piece เป็นซีรีส์เรื่องยาวเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น และเขียนมา 21 ปีแล้ว จนมีช่วงหนึ่งถึงกับให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า

“…One Piece คงเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเพียงเรื่องเดียวในชีวิตการเป็นนักเขียนการ์ตูนของผมแล้ว และผมคงจะเกษียณอายุไปกับ One Piece นี้…”  

แม้ว่าอาจารย์โอดะ จะมีความต้องการเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ให้เป็นการ์ตูนเรื่องยาวอีกก็ตาม แต่ดูจากเวลาและวิธีการทำงานแล้วคงจะไม่ไหว และวางแผนไว้ว่าหลังจากเขียน One Piece จบลงแล้ว อาจจะเขียนเรื่องสั่นออกมาเรื่อย ๆ เหมือน อาจารย์ โทริยามะ อากิระ ผู้เขียนดราก้อนบอลที่เป็นแรงบันดาลใจของเขานั่นเอง

ด้วยความที่คิดว่าจะเขียน One Piece เป็นการ์ตูนเรื่องยาวเพียงเรื่องเดียวในชีวิต เขาจึงทุ่มเทอย่างหนัก และโดยส่วนตัว อาจารย์โอดะ เป็นคนที่สูบบุหรี่จัดมาก และจากสภาพการทำงานอย่างหนักจึงทำให้เขามักจะล้มป่วยอยู่บ่อย ๆ โดยจะพัก 1 สัปดาห์บ้าง และสัปดาห์ต่อไปก็จะมี One Piece กลับมาให้อ่านตามปกติ

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาจารย์โอดะ ล้มป่วยอย่างหนัก และต้องหยุดพักติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในปี 2013 ซึ่งกำลังเป็นช่วงสำคัญที่เนื้อหากำลังเข้มข้น แฟน ๆ ทุกคนก็แทบจะลงแดงกันเลยทีเดียว แต่ก็ได้ส่งกำลังใจให้กับอาจารย์โอดะ ให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว ทำให้เขารู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างมาก

โดยหลังจากนั้น อาจารย์โอดะก็มีปัญหาสุขภาพเรื่อยมา มีการหยุดหรืองดเป็นครั้งคราว แต่ไม่เคยหยุดยาวกว่า 1 สัปดาห์ เพราะรู้ว่าทุก ๆ คนกำลังรอติดตามผลงานอยู่

“…หากผมได้พักซักช่วง ร่างกายก็จะฟื้นตัวกลับมาเร็วมาก และเริ่มมีกำลังใจฮึกเหิม ที่จะพยายามเขียนการ์ตูนให้ออกมาดีกว่าเดิม อาจจะเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก แต่เมื่อคิดถึงการเขียนการ์ตูน ผมก็ไม่ค่อยสนใจอะไร หากผมสามารถกดดันตัวเองถึงขั้นจนตรอกได้ ก็จะสามารถคิดไอเดียเยี่ยม ๆ ออกมาได้เช่นกัน…”

อาจารย์โอดะ จะต้องเขียน One Piece 1 ตอนต่อสัปดาห์ จึงต้องมีการจัดเวลาการทำงานให้ดี โดยปกติจะใช้เวลาในการร่างภาพ 3 วัน และอีก 3 วันในการเก็บรายละเอียดจนเสร็จ ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์โอดะ จะเขียนไว้ล่วงหน้าถึง 5 ตอน ด้วยกัน และเขามีผู้ช่วยประมาณ 5 คน ในการช่วยลงหมึก ลงรายละเอียด ฉากหลัง และแปะสกรีนโทน (เป็นเหมือนสติ๊กเกอร์ใช้ในการให้สีหรือลายในการ์ตูนขาวดำแบบมังงะ)

โต๊ะทำงานของ อาจารย์โอะ ที่สร้างรายได้ปีละกว่า 1 พันล้านบาท

Source : https://kotaku.com/famous-japanese-manga-were-born-on-these-desks-1537642979

One Piece จะอวสานเมื่อไร

ยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงที่แน่นอนว่า ตอนนี้ One Piece ได้เดินทางมากี่เปอร์เซ็นต์แล้ว และเหลืออีกกี่ปีถึงจะจบ แต่ โคเฮ โอนิชิ อดีตผู้ดูแลการ์ตูน One Piece เคยกล่าวว่า One Piece ได้ดำเนินเรื่องมาประมาณ 60-70% แล้ว น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปี น่าจะถึงจุดอวสาน (ถ้าแฟนบอยคนไหนที่ตามมาจนถึงอายุ 40ปีในตอนนี้ กว่าจะจบลูกก็คงเข้ามหาวิทยาลัยพอดีนะครับ)

Eiichiro Oda มีรายได้เท่าไหร่

อาจารย์โอดะ มีรายได้จากค่าต้นฉบับ ‘หน้าละ’ 50,000 เยน x 20 หน้าต่อ 1 ตอนโดยประมาณ เท่ากับว่าในหนึ่งสัปดาห์โอดะจะมีรายได้จากค่าต้นฉบับถึง 1 ล้านเยนเลยทีเดียว (ประมาณ 287,000 บาท) รายได้จากการขายหนังสือมังงะรวมเล่ม เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น 32 ล้านเล่ม เล่มละ 420 เยน อาจารย์โอดะในฐานะนักเขียนจะได้ส่วนแบ่ง 10% จึงมีรายได้จากการขายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น 1,358 ล้านเยน (390 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีรายได้จากอนิเมชั่น ค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ รายได้จากการฉายตอนพิเศษ เดอะมูฟวี่ ค่าลิขสิทธิ์ในการขายสินค้าที่ระลึก โมเดล ฟิกเกอร์ กาชาปอง รวมแล้วอาจารย์โอดะจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากที่กล่าวมาทั้งหมดอีก 3,122 ล้านเยน (หรือราว ๆ 897 ล้านบาท) เลยทีเดียว

Source: https://otakumode.com/news/5209d5159d8536912200003b/Shibuya-rsquo-s-Pop-Culture-Shop-Destination-Shibu-Pop-1-of-2

Mindset ความสำเร็จสไตล์ผู้ให้กำเนิด One Piece

Source : onepiece.wikia.com

Eiichiro Oda เริ่มต้นจากเด็กธรรมดา ที่ไม่อยากทำงานประจำแบบพนักงานออฟฟิศ เขาหลงใหลในลายเส้นของการ์ตูน จึงเริ่มหัดวาดด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากความพยายามฝึกฝน หาใช่พรสวรรค์แต่เพียงอย่างเดียว

เพราะการที่จะยืนอยู่เป็นอันดับ 1 ในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว หากคุณแต่งนวนิยาย คุณเพียงมีจินตนาการสร้างสรรค์บทประพันธ์ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ หรือหากคุณอยากสร้างภาพยนตร์คุณก็จะต้องไปเรียนรู้ในการเป็นผู้กำกับ ต้องคัดเลือกตัวนักแสดง เลือกฉากที่จะถ่ายทำ เลือกเสื้อผ้า เขียนบท ใส่คำพูดให้ตัวละคร

แต่ในการทำภาพยนตร์นั้น มีหลาย ๆ ฝ่ายช่วยกัน ในขณะที่การจะวาดการ์ตูนที่เป็นนิยายภาพนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างคุณจะต้องสร้างขึ้นมาเอง เนื้อเรื่องก็ต้องคิดเอง คำพูดคิดเอง ตัวละครสร้างเอง เสื้อภาพออกแบบเอง ฉากสถานที่ วาดเอง ทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วยตนเองจากความว่างเปล่าทั้งสิ้น มีเพียงกระดาษ ดินสอ และปากกาเท่านั้น ที่จะสร้างเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผู้คนติดตามได้ตลอด 21 ปี และยังคงติดตามต่อไปเรื่อย ๆ

จากความสำเร็จของการ์ตูน One Piece และอาจารย์ เออิจิโร่ โอดะ เป็นการลบคำสบประมาทว่า นักเขียนการ์ตูนไส้แห้งลงจนหมดสิ้น เหมือนกับที่ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เคยกล่าวว่า

“…ไม่มีหรอกนักเขียนไส้แห้ง ศิลปินไส้แห้ง ในโลกนี้ไม่มีอาชีพอะไรไส้แห้ง มีแต่พวกกระจอกเท่านั้นที่ไส้แห้ง…” (เวอร์ชั่นเต็ม ๆ อาจจะมีคำรุนแรงกว่านี้ แต่ก็เป็นเช่นที่อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวไว้จริง ๆ)

การทำในสิ่งที่รัก ทำตามความฝันนั้นหากเอาเงินหรือรายได้เป็นตัวตั้ง ก็จะไม่กล้าทำตามความฝันและปล่อยฝันนั้นทิ้งไป แต่หากไม่คิดถึงเรื่องรายได้เอาไว้เลย พอมาถึงจุดที่ลำบากถึงที่สุด ก็อาจจะละทิ้งความฝันไปอีกเช่นกัน

ดังนั้นความฝัน ความต้องการ หรือความรักที่จะทำ หรือ Passion นั้น เป็นเพียงตัวช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจไว้ ให้อดทนและก้าวเดินต่อไปในทางที่ฝันได้เท่านั้น แต่สิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในทางที่เลือกเดินได้คือ ความมุ่งมั่นและตั้งใจ ซึ่งต้องอาศัยความพยายาม ทุ่มเท และเอาจริงเอาจัง

หากรู้ว่าชอบแต่ทำไม่เก่งก็ต้องพยายามฝึกฝนให้มากกว่าคนอื่น หากฝึกฝนจนมีทักษะและความชำนาญแล้ว ก็จะเริ่มหาทางที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ และเมื่อนั้นก็จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนว่า จะไม่มีใครมาทำงานนั้นทดแทนเราได้เลย หากคนต้องการผลงานนี้ที่มีชื่อเราเป็นผู้สร้าง จะต้องซื้อจากเราเท่านั้น

ชีวิตครอบครัวของ Eiichiro Oda

Eiichiro Oda ได้แต่งงานกับหญิงสาวที่มีชื่อว่า Inaba Chiaki ซึ่งอดีตเคยเป็นนางแบบ โดยจิอากิได้เข้าร่วมแสดงในงาน Jump Festastage ในปี 2002 ซึ่งเธอรับบทเป็น นามิ หนึ่งในตัวละครหลักของ One Piece นั่นเอง หลังจากนั้นทั้งสองก็ได้ออกเดทด้วยกันและแต่งงานกันในปี 2004 ให้กำเนิดลูกสาวในปี 2006

โลกของการ์ตูนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวัยเด็กอีกต่อไป

หากคุณได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังคิดว่า ก็แค่การ์ตูน ที่เป็นเรื่องหลอกเด็ก อยากให้ลองปรับมุมมองใหม่ หากเป็นเมื่อ 30-40ปีก่อนที่เพิ่งจะเริ่มมีการ์ตูนอนิเมชั่นฉายทางทีวี เด็กยุคแรกที่ได้ดูคือ เด็กยุค GenX ซึ่งต่างจากเด็กยุค Baby boomer  ที่ความบันเทิงมีแค่ละครวิทยุ

ในยุคของเด็ก Gen X การ์ตูนถูกผลิตเพื่อให้เด็กดูและขายโฆษณาขนมขบเคี้ยว ที่เรียกว่าขนมหลอกเด็ก เรื่อยมาจนถึงเด็ก Gen Y ก็ยังคงมีการ์ตูนเป็นความบันเทิงสำหรับเด็กอยู่ และแล้วเด็กเหล่านั้นก็ได้เติบโตขึ้น จนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นวัยทำงาน เป็นผู้บริหาร เป็นคุณพ่อ จนถึงปัจจุบัน เนื้อหาในการ์ตูนหลายเรื่องไม่ได้ทำเพื่อให้เด็กดูอีกต่อไปแล้ว แต่ทำให้คน Gen X หรือ Gen Y ได้ดู ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ใหญ่ เป็นคุณพ่อ เป็นวัยทำงานกันหมดแล้ว

ในต่างประเทศให้การยอมรับการ์ตูนเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เหมือนการแสดงละครทีวี การแสดงภาพยนตร์ จัดเป็นความบันเทิงประเภทหนึ่ง ที่จะจำกัดอายุผู้ชมตามเนื้อหาเช่นกัน ไม่ใช่การ์ตูนทุกเรื่องที่เหมาะกับเด็ก

หากวันนี้คุณอยู่ในวัย 40+ แล้วยังมีทัศนคติต่อการ์ตูนว่า ‘ก็แค่การ์ตูน‘ คุณอาจจะยังไม่ทราบว่า ในโลกของธุรกิจการ์ตูนสามารถแตกแขนงออกไปเป็น ภาพยนตร์ (อย่างค่ายดิสนีย์ ที่มีลิขสิทธิ์ของมาเวลคอมมิค) หรือเกม ซึ่งเมื่อเอาเข้าไปรวมกับการสตรีมมิ่งแล้ว ก็จะทำรายได้มหาศาล ยังโยงไปถึงวงการ E-Sport ที่ทำให้การเล่นเกมกลายเป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สร้างรายได้ให้กับหลาย ๆ อุตสาหกรรม เหล่านี้จะยิ่งขยายช่วงอายุของกลุ่มลูกค้าออกไปกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุของคน Gen X และ Gen Y ที่เพิ่มขึ้น ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นคนแก่อายุ 50-60 ปี ที่ยังคงอ่านการ์ตูนอยู่ และคงใช้คำว่า “โตแล้วยังอ่านการ์ตูนเป็นเด็ก ๆ” ไม่ได้อีกแล้ว

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวงการการ์ตูน

มังงะ หรือ manga
หมายถึงการ์ตูนลายเส้นที่ถ่ายทอดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์แบบหนังสือ หรืออีบุ๊ค

อนิเมะ (Anime)
หมายถึง ภาพยนตร์อนิเมชั่น เป็นการ์ตูนที่เป็นภาพเคลื่อนไหว อาจจะฉายทางทีวีเป็นรายสัปดาห์ หรือมาในรูปแบบของภาพยนตร์

คอมมิค (Commic)
เป็นเหมือน มังงะ แต่เป็นชื่อเรียกทางฝั่งอเมริกา เป็นการ์ตูนลายเส้นที่ตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือหรืออีบุ๊คเช่นกัน

โอตาคุ
หมายถึง ผู้คลั่งไคล้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะติดภาพว่า โอตาคุ คือคนที่ชอบอ่านการ์ตูน หรือเล่นเกม แม้จะมีอายุมากแล้ว เป็นคุณพ่อ คุณลุงแล้วก็ยังเล่นเกม อ่านการ์ตูนอยู่ ในความเป็นจริงคำว่า โอตาคุ มีความหมายที่กว้างกว่านั้น คือ เป็นผู้ที่คลั่งไคล้เรื่องใดเรื่องหนึ่งถึงที่สุด อาจจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือ รถไฟ หรือหุ่นยนต์ก็ได้

ในยุคนี้อาจจะเห็นว่ามีโอตาคุที่คลั่งไคล้ไอดอล อย่าง BNK48 ก็มี และโอตาคุนี้เอง เป็นแหล่งทำเงินมหาศาลใหกับวงการการ์ตูน เกม และไอดอล ด้วยความคลั่งไคล้ของเหล่าโอตาคุ ที่จะพร้อมเปย์ได้ไม่อั้นในสิ่งที่ตนเองรัก ธุรกิจเหล่านี้จึงทำเงินได้มหาศาล

มูลค่าตลาดของการ์ตูนญี่ปุ่นทั่วโลก คือ 448.3 พันล้านเยน (สี่แสนสีหมื่นห้าพันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ หนึ่งแสนสองหมื่นเก้าพันล้านบาท) เฉพาะมูลค่าตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทยก็มีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว นี่คือมูลค่าตลาดในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการละเมิดลิขสิทธิ์ การอ่านฟรีบนเว็บไพเรทต่าง ๆ แต่ในอนาคต เมื่อทุกสิ่งอยู่บนสตรีม ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป และจะยิ่งทำให้ตลาดนี้เติบโตมากยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้นเราจึงต้องปรับมุมมองเกี่ยวกับการ์ตูนกันใหม่ว่า ไม่ได้ทำเพื่อหลอกขายขนมอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนสื่อบันเทิงอย่างหนึ่ง เหมือนละครหลังข่าว หรือซีรีส์เกาหลี หรือรายการวาไรตี้ ที่ก็เป็นอุตสาหกรรมบันเทิงเช่นกัน  แต่อุตสาหกรรมการ์ตูนนั้นขยายวงกว้างได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ครอบคลุมผู้ชมทุกเพศทุกวัย จึงทำเงินได้มากมายมหาศาลเช่นนี้

Source:

https://en.wikipedia.org/wiki/Eiichiro_Oda

http://onepiece.wikia.com/wiki/Eiichiro_Oda

https://short-biography.com/eiichiro-oda.htm

http://www.ign.com/boards/threads/10-things-you-should-know-about-eiichiro-oda-creater-of-one-piece-repost.454213463/

https://www.famousbirthdays.com/people/eiichiro-oda.html

https://thenetworthportal.com/celeb-net-worth/artists/eiichiro-oda-net-worth/