เจ้าของฯ ต้องรู้ ทำอย่างไรเมื่อผลิตภัณฑ์, ผลงาน, และไอเดีย ถูกผู้อื่นขโมยไปใช้แสวงประโยชน์

ปัญหาใหญ่ในทุกวงการขณะนี้คือ ปัญหาด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การขายของออนไลน์ ก็มีโอกาสประสบเหตุขโมยรูปภาพ นำไปใช้ทางการค้า หรือลอกเลียนแบบการออกแบบสินค้า แล้วนำไปขายตัดราคา ลอกแม้กระทั่งแคปชั่น คำพูดของคุณ

Jeremiah Chew ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย ตำแหน่ง Senior Associate แห่ง Ascendant Legal LLC ประเทศสิงคโปร์ จึงมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปกป้องผลิตภัณฑ์ทางการค้าของคุณไว้อย่างเข้าใจง่าย แต่มีประโยชน์ผ่านเว็บไซต์ Tech in Asia ดังต่อไปนี้

สิ่งแรกที่คุณต้องรู้คือ คุณมีสิทธิ์อะไรในสินค้าของคุณบ้าง?

สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา หรือ intellectual property (IP) มีมากมายหลายอย่าง คุณต้องทำความเข้าใจในแต่ละอย่างเพื่อที่จะใช้ปกป้องสิทธิ์ของคุณได้อย่างถูกต้อง

1.เครื่องหมายการค้า

คือตราสินค้าของคุณ เป็นแบรนด์ของคุณเอง หากคุณมีการออกแบบโลโก้ และนำไปใช้ในที่ต่าง ๆ ทั้งบนบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่คุณใช้ในการโปรโมท โฆษณา จะถือว่าโลโก้ หรือตราสัญลักษณ์นี้ เป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งคุณสามารถดำเนินการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ โดยติดต่อกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยตรง

ซึ่งหากคุณดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะได้สิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายทันที โดยผู้ฝ่าฝืนและนำไปใช้ในทางการค้า จะมีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 2ปี หรือปรับไม่เกิน2แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ว่าจะลอกเลียนแบบตราสัญลักษณ์หรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จะใช้ในทางการค้าหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าทั้งสิ้น (อ้างอิง กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 – หมวดที่ 6 บทลงโทษ)

ซึ่งคดีการละเมิดเครื่องหมายการค้า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแจ้งข้อหาและจับกุมได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้มีเจ้าทุกข์มาแจ้งความ

2. ลิขสิทธิ์

ใช้กับผลงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย วรรณกรรม หรือเพลง ซึ่งในกฎหมายไทย ผลงานนั้นจะได้รับสิทธิ์คุ้มครองทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียนลิขสิทธิ์ แต่เจ้าของผลงานก็สามารถนำผลงานไปขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นการยืนยันเวลาที่สร้างสรรค์ผลงานได้

การดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์จำเป็นจะต้องมีเจ้าทุกข์ และเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งสามารถฟ้องได้ทั้งคดีแพ่ง(เรียกร้องค่าเสียหาย) และคดีอาญา(เอาผิดให้ติดคุก) ทั้งนี้กฎหมายจะคุ้มครองทั้งหมด ตั้งแต่งานออกแบบ ไปจนถึงรูปแบบสินค้า หากคุณมั่นใจว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเอง และมีหลักฐานที่มากพอ ก็สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดได้

3. สิทธิบัตร

มอบให้กับผลงานที่เป็นการคิดค้นขึ้นใหม่ เป็นนวัตกรรม เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เป็นผลงานวิจัยที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งสิทธิบัตรนี้มีผลคุ้มครองภายในประเทศที่จดทะเบียนเท่านั้น หากสินค้าของคุณเป็นเครื่องสำอางหรืออาหารเสริม ที่เป็นผลงานจากงานวิจัยที่มีการรับรองสามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรได้ และเมื่อมีผู้ละเมิดก็สามารถเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องได้

4. ความลับทางการค้า/ ข้อมูลลับทางการค้า

หากคุณมีสูตรลับสูตรเด็ด ที่มีเฉพาะในสินค้าของคุณเท่านั้น คุณควรทำการยื่นจดสิทธิบัตร และควรทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร กับหุ้นส่วนหรือผู้มีส่วนรู้เห็นกับสูตรลับหรือข้อมูลลับนั้นทุกคน ว่าห้ามเผยแพร่ หรือนำไปใช้ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะหากไม่มีสัญญาเขียนกำกับไว้ เมื่อหุ้นส่วนแตกคอกัน หรือลูกน้องหักหลัง สูตรลับก็จะไม่ลับอีกต่อไป

ทั้งนี้รวมถึงข้อมูลทางการค้าอื่นๆ เช่นรายชื่อลูกค้า รายชื่อการติดต่อกับซัพพลายเออร์ หากไม่มีสัญญาผูกมัดกับพนักงาน ก็จะพบเจอเหตุการณ์หักหลังเจ้านาย ขโมยข้อมูลลูกค้าแล้วไปเปิดบริษัทเองอยู่บ่อย ๆ

ในมุมของผู้ถูกละเมิดนั้น ย่อมเจ็บปวด ที่เห็นผลงานที่สร้างสรรค์มาด้วยความยากลำบาก ต้องถูกขโมยไปต่อหน้าต่อตา  แต่หากคุณไม่เตรียมมาตรการทางกฎหมายไว้ล่วงหน้า ก็เท่ากับยอมปล่อยให้ผลงานนั้นถูกขโมยไปเอง แม้คนไทยจะมีความเชื่อที่ไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาล แต่การจะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองเป็นเรื่องที่ควรทำ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างการขโมยรูปสินค้า (ที่เราเป็นคนถ่ายเอง) ไปโพสขาย แม้จะเป็นสินค้าที่เราไม่ได้ผลิตเอง แต่ผลงานภาพถ่ายนั้นเป็นฝีมือเรา ก็สามารถฟ้องละเมิดได้ ซึ่งเคสแบบนี้ในต่างประเทศ รูปภาพเพียงรูปเดียวอาจจะโดนเรียกค่าเสียหายเป็นแสนบาทได้

อย่าเลือกวิธีประจาน

หลายคนมักแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยเลือกใช้วิธีประจานให้อับอาย (การเปิดเผยข้อมูลบุคคล และใช้ถ้อยคำให้บุคคลนั้นถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จะเข้าข่ายการหมิ่นประมาท และการโพสลงในที่สาธารณะอย่างสื่อโซเชียล จะกลายเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เป็นโทษทางอาญามีโทษทั้งจำและปรับ – – แต่จะไม่เข้าข่าย พรบ.คอมพิวเตอร์ เพราะไม่ได้ผิดฐานละเมิดความมั่นคงของรัฐ) การประจานจึงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะในทางกฎหมายจะถือว่า เป็นปัญหาการละเมิดระหว่างคนสองคน จึงควรต้องตกลงแก้ปัญหากันเอง หากตกลงกันไม่ได้ก็มีช่องทางในการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่หากผู้เสียหายเลือกที่จะประจานฝ่ายตรงข้าม สุดท้ายจะกลายเป็นฝ่ายผิดเสียเอง

อาจจะมองว่า แค่รูป ๆ เดียว หรือแค่ลอกแคปชั่น หรือลอกแบบสินค้า ไม่คุ้มที่จะเสียเวลาไปขึ้นศาลหรอก แต่วิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่คุณจะสามารถปกป้องสิทธิ์ของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

กฎหมายคุ้มครองผู้ที่ทำถูกกฎหมาย

ในการใช้กฎหมายจัดการกับผู้ละเมิด คุณเองก็ต้องมั่นใจว่าตัวคุณเองได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว เช่น หากคุณขายของออนไลน์ แล้วโดนขโมยรูปภาพไปใช้ในเชิงพาณิชย์ คือขโมยรูปสินค้าไปขายตัดราคา เป็นต้น คุณสามารถฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปภาพนั้นได้ หากคุณมีหลักฐานว่ารูปนั้นคุณเป็นคนถ่ายขึ้นมาเอง

แต่เดี๋ยวก่อน หากเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว จะมีการซักค้านมากมาย หากคุณขายของออนไลน์ โดยไม่จดทะเบียนพาณิชย์ใด ๆ เลย ไม่เคยเสียภาษีทั้ง ๆ ที่มียอดขายถล่มทะลาย คุณอาจจะชนะคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่แพ้คดีกับสรรพากรก็เป็นได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ต้องเคลียร์ตัวเองให้หมดจดด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นข่าวตลกเหมือนโจรปล้นโจร

สิ่งที่ต้องทำ

หากคุณค้าขายออนไลน์ ขายดีมีกำไร ธุรกิจไปได้สวย แต่ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมาย สิ่งที่คุณควรต้องทำก่อนเลยก็คือ เข้าสู่ระบบที่สามารถตรวจสอบได้ อย่างโปร่งใส คือจดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนนิติบุคคล เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม(หากรายได้เกิน 1.8ล้านบาท/ปี) ยื่นแบบเสียภาษีทุก ๆ ปี และสิ่งที่คุณจะได้รับคืนหลังจากนั้นคือ ความคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ (ความคุ้มครองมีอยู่แล้วแม้ไม่เข้าระบบ แต่หากคุณเข้าระบบจะปลอดภัยจากการโดนเรียกตรวจสอบด้านภาษี)

เมื่อมีการละเมิด คุณสามารถติดต่อไปยังผู้ละเมิดได้ โดยทำหนังสือ(เอกสาร) แจ้งเตือน หรือ Notice ที่ออกโดยบริษัทของคุณ ให้หยุดการละเมิด มิเช่นนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย การออกหนังสือโดยบริษัทจะมีน้ำหนักกว่าการที่คุณแค่ทักอินบ็อกซ์ไปแน่นอน

ไม่อยากเสียเวลา?

หลายคนพอได้อ่านว่า ต้องเข้าระบบภาษีก็เริ่มรู้สึกว่า ไม่อยากเสียเวลา(หรือภาษี) ยอมให้โดนก็อปปี้ดีกว่า ยอมโดนตัดราคาดีกว่า ยอมโดนลอกดีกว่า ซึ่งก็กลายเป็นว่า ทัศนคติของเรานี่เองที่ทำร้ายตัวเราเอง เพราะเราเลือกที่จะไม่ปกป้องสิทธิ์นั้นเอง เราจะตำหนิคนที่ขโมยผลงานของเราว่าโกงได้อย่างไร ในเมื่อเรายังโกงภาษีแผ่นดินอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องปรับทัศนคติของการทำธุรกิจที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก่อนที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง

แม้การฟ้องร้องดำเนินคดี จะมีค่าใช้จ่าย และเสียเวลาเป็นอย่างมาก แต่คุณสามารถบรรเทาเหตุการณ์ลงได้ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย ก่อนที่จะแจ้งความ หากทำเอกสารแจ้งเตือนแล้ว ผู้ละเมิดยินดีให้ความร่วมมือ สามารถเจรจาค่าเสียหายได้ลงตัว ก็จะไม่ต้องเสียทั้งเงินและเวลา แต่หากผู้ละเมิดไม่ยอมพูดคุย ก็สามารถดำเนินคดีและเรียกร้องค่าเสียหาย (ซึ่งรวมค่าดำเนินการค่าศาลค่าทนายไว้ด้วย) โดยฟ้องกับผู้ละเมิดได้เลย

Source:

https://www.techinasia.com/talk/product-copycats-what-to-do