จีนวางแผนติดตั้งกล้องไฮเทค 626 ล้านชุดทั่วประเทศ เชื่อมโยงเข้าสู่ฐานข้อมูลประชากร

เทคโนโลยีของจีนกำลังเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ล่าสุดในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังเร่งผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยมีผู้ผลิตจากหลายค่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงระบบการขับเคลื่อนด้วยตนเองหรือ Self Driving Car ที่นำโดย Baidu , Didi , BYD , Tencent และ Alibaba โดยเฉพาะ Baidu นั้นมีระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่า Apollo  ที่เป็นระบบ Open Source เปิดให้นักพัฒนาจากทั่วโลกได้ใช้ผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งในที่สุดหากมีนักพัฒนานำไปใช้กับรถยนต์ค่ายอื่น ๆ อาจจะถูก Baidu ฝังโปรแกรมที่จะดึงข้อมูลกลับมายังหน่วยงานของจีนได้ นี่เป็นเพียง 1 ในข้อกังวลหลาย ๆ ด้านจากการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของจีน

รัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารทุกอณู

ป็นที่ทราบกันดีว่า บรรดานักธุรกิจเจ้าของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ต่างมีความสัมพันธ์อันดี และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลของจีนเป็นอย่างดี ในการเปิดให้รัฐบาลเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้ใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงกับผู้ใช้ก่อนที่จะติดตั้งแอปพลิเคชั่นอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างแอปพลิเคชั่นยอดฮิตอย่าง Wechat ซึ่งเป็นของบริษัท Tencent ของ โพนี่ หม่า มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน ก็ยินดีให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลทุกการแชต การพูดคุย รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานทุกอย่างของทุกคน บน Wechat ในประเทศจีน ยังรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่าน Wechat Pay (ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลบัตรเครดิต แต่เข้าถึงบันทึกธุรกรรมว่าซื้อที่ไหนเมื่อไหร่) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ความสงบ และความมั่นคงแห่งรัฐ ของรัฐบาลจีน

แต่ Wechat ไม่ได้มีผู้ใช้เฉพาะบนแผ่นดินจีนเท่านั้น ยังมีผู้ใช้อีกจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นจุกนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า เราจะยังมีความเป็นส่วนตัวกันอยู่หรือไม่

ในส่วนของผลิตภัณฑ์โดรน ซึ่งผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกคือ DJI ของจีน ก็ถูกอเมริกาตั้งข้อสงสัย ว่าอาจจะมีการส่งข้อมูลทางความมั่นคงด้านภูมิศาสตร์กลับไปยังจีน ซึ่งในเบื้องต้น บางรัฐมีการออกกฎหมายการบินโดรน ควบคุมการใช้งานแล้ว ในบางรัฐก็ถึงกับห้ามจำหน่ายโดรนของ DJI กันเลยทีเดียว เนื่องจากโดรนของ DJI มีเฟิร์มแวร์ที่สามารถอัพเกรดและควบคุมโดรนได้ และแน่นอนควบคุมด้วยระบบคลาวด์ จึงถูกต้องสงสัยว่า จะส่งข้อมูลภาพกลับไปยังรัฐบาลจีนหรือไม่

ที่ประเทศอินเดีย มีรายงานว่า ได้ตรวจพบ แอปพลิเคชั่นของจีน จำนวน 42 แอป ได้ทำการส่งข้อมูลที่เป็นส่วนตัวอย่างมากของผู้ใช้กลับไปยังผู้ผลิตแอป ทางด้านผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนชื่อดังอย่าง Huawei และ ZTE ถูกแบน ห้ามจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในบางรัฐ เนื่องจากถูกตรวจพบว่าระบบแอบส่งข้อมูลการใช้งานกลับไปยังคลาวด์

Smartphone อาจกลายเป็นแหล่งเก็บข้อมูลส่วนบุคคลสมบูรณ์แบบ (ให้แก่รัฐบาลจีน)

ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ คือ เทคโนโลยีการระบุตัวตนโดยการแสกนใบหน้า ซึ่งก่อนหน้านั้นก็จะเป็นการแสกนลายนิ้วมือ ซึ่งข้อมูลที่เป็นส่วนตัวเหล่านี้ สามารถหลุดรอดและส่งกลับไปยังคลาวด์และเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าขนาดใหญ่ได้ แม้จะยังไม่มีการยืนยันจากทางผู้ผลิตว่าจะสามารถปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวนี้ได้อย่างไร  และขอบเขตอำนาจของรัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลนอกแผ่นดินจีนหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ทั่วโลกต่างวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่เฉพาะแต่ฝั่งจีนเท่านั้น แม้แต่ Facebook และ iPhone หรือ Samsung เองก็สามารถทำได้เช่นกัน

ลองดูคลิปวิดีโอต่อไปนี้ ที่จะแสดงถึงความล้ำหน้าของการระบุตัวตนจากฐานข้อมูลประชากรของจีน

 

จากภาพในกล้องวงจรปิด สามารถระบุได้ว่าผู้คนที่เดินผ่านไปมา เป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ใส่เสื้อและกางเกงสีอะไร รถยนต์ที่วิ่งผ่านไป กี่ล้อ สีอะไรยี่ห้ออะไร ซึ่งระบบสามารถแยกแยะได้ทันทีหากมีรถหรือบุคคลต้องสงสัยที่ต้องการค้นหา และเมื่อพบผู้ต้องสงสัยแล้ว ระบบสามารถดึงภาพขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลประชากรได้ทันที แม้จะไม่เคยประวัติอาชญากรรมก็สามารถระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำ สามารถจดจำได้แม้กระทั่งท่าทางการเดิน แม้กล้องจะจับภาพได้จากระยะไกล ๆ หรืออยู่ในที่มืดมองไม่เห็นหน้า แต่ท่าทางการเดินนั้นเป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของตัวบุคคลซึ่งค่อนข้างชัดเจน ก็จะสามารถระบุตัวตนของคน ๆ นั้นได้ทันที ในประเทศจีนมีกล้องลักษณะนี้อยู่ประมาณ 10 ล้านกล้อง

จีนกำลังสะสมฐานข้อมูลแบบสแกนใบหน้าโดยปริยาย

เมื่อเดือนตุลาคม 2017 ที่ผ่านมาจีนได้ประกาศสร้างฐานข้อมูลประชากรที่สามารถระบุตัวตนด้วยการแสกนใบหน้า ซึ่งจะใช้เวลายืนยันตัวบุคคลเพียงไม่เกิน 3 วินาที จากฐานข้อมูลบุคคลกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งนำมาใช้แก้ปัญหาการยืนยันตัวตนจากฐานข้อมูลประชากรที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (หากใครเคยเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศจีนจะทราบดีว่า เราใช้เวลาที่ด่าน ตม. ของจีนนานมาก บางครั้งติดอยู่เป็นชั่วโมงก็เพราะการยืนยันตัวตนที่ล่าช้านั่นเอง)

ซึ่งจากฐานข้อมูลนี้ จะสามารถนำไปใช้ร่วมกับระบบเครือข่ายกล้องวงจรปิดข้างต้นที่มีประมาณ 10 ล้านกล้องได้ทันที ในขณะที่กล้องวงจรปิดทั่วประเทศ มีมากกว่า 176 ล้านกล้อง สามารถส่งภาพที่ได้เข้ามาส่วนกลางเพื่อยืนยันตัวตนหากพบผู้ต้องสงสัยได้ทันที และจีนประกาศจะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเป็น 626 ล้านกล้องภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้

ความน่าวิตกคือ…

จีนมีแผนที่จะเชื่อมระบบทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน และเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิดบนรถยนต์ที่จะออกกฎหมายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่รถยนต์ทุกคนจะต้องมี ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งหากทำสำเร็จ อาชญากรในจีนแทบจะไม่มีที่ให้หลบซ่อนได้เลยทีเดียว

และนี่คือความน่ากังวลว่าหากทุกสิ่งที่รัฐบาลจีนสามารถควบคุมได้ ผ่านบริษัทเทคโนโลยีของจีนทุก ๆ บริษัท ในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ แต่กลับมีอำนาจแบบไร้ขอบเขต ขยายออกมานอกแผ่นดินจีน จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอื่นอย่างไร เพราะยิ่งจีนพัฒนาไปเร็วเท่าไหร่ ก็ดูจะยิ่งน่ากลัวมากขึ้นทุกที

สิ่งที่เราเคยเห็นในหนังแอคชั่นไซไฟ ที่คนร้ายสามารถเข้าถึงกล้องทุกตัวบนโลกไม่ว่าจะเป็นกล้องบนมือถือ กล้องบนรถ หรือกล้องตามสี่แยก กำลังจะเป็นเรื่องจริง แต่ผู้ที่จะเข้าถึงได้ ไม่ใช่เรา แต่เป็นรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งบนโลกนี้