CEO ปั้นธุรกิจ: Julie Wainwright สาวใหญ่วัยเกษียณเริ่มธุรกิจขายถล่มถลายกระเป๋าแบรนด์เนมมือสอง

ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจบางคนอาจสอนว่า “จงหาธุรกิจที่ไม่มีใครทำ–จงหาสินค้าที่ไม่มีใครขาย” แต่ในความเป็นจริง เงื่อนไขแบบนั้นจะยังหาได้อีกหรือ? เกือบทุกสิ่งที่คุณคิดได้วันนี้ส่วนล้วนมีคนคิดได้ และได้ลงมือทำมาก่อนคุณแล้วไม่เว้นแม้แต่ Facebook ของ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก!

ก่อนหน้า Facebook มี Hi5 และก่อนหน้า Hi5 ไปหลายสิบปีก็มีโซเชียลเน็ตเวิร์ครุ่นแรก ๆ ที่สร้างโดย โทนี่ เชย์ (Tony Hsieh) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่นาม Zappos ได้เคยแอบทำเอาไว้สมัยเป็นนักเรียนมัธยมโดยอาศัยห้องแล็ปคอมพิวเตอร์ โทนี่ เชย์ ถูกครูจับได้ว่าแอบใช้ห้องแล็ปพัฒนางานส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงถูกสั่งห้ามเข้าแล็ป เขาจึงไม่ได้พัฒนาโซเชียลเน็ตเวิร์คของเขาต่อ

ดังนั้น หากวันนี้คุณพบไอเดียธุรกิจสุดเจ๋งที่คิดว่าไม่มีใครเคยทำ ให้ลองเข้าไปหาดูในกูเกิ้ล ผมเชื่อว่าคุณจะพบข้อมูลว่ามีคนทำมาก่อนแล้วอย่างแน่นอน

แต่ไม่ต้องกังวล เพราะผู้เชี่ยวชาญธุรกิจ รวมไปถึงนักธุรกิจที่ประสบผลลัพธ์จำนวนไม่น้อยก็เห็นตรงกันในอีกมุมว่า “คุณไม่จำเป็นต้องคิดนวัตกรรมเหนือโลก” บางสิ่งบางอย่างปล่อยให้คนแรก ๆ เขาทำไปก่อน แล้วหากไอเดียและโมเดียธุรกิจใดเวิร์ค คุณก็ก็อปปี้อย่างมีศิลปะมาเลย!

ก็อปปี้อย่างมีศิลปะ

การก็อปปี้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการลอกเลียนแบบตามเขาทุกอย่าง หรือการละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่ผมกำลังหมายถึงการนำไอเดียและโมเดลธุรกิจที่มีอยู่แล้วในตลาดซึ่งได้รับการ Approve แล้วว่ามีตลาดจริง ๆ มาต่อยอดในแนวทางของคุณให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

สิ่งใดที่เจ้าตลาดยังทำได้ไม่ดี หรือกลุ่มเป้าหมายย่อยที่เจ้าตลาดไม่สามารถเข้าถึง คุณนำช่องว่างตรงนั้นมาประยุกต์เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม

แนวคิดนี้ทำให้นึกถึงเรื่องราวของ Julie Wainwright สาวใหญ่ที่สร้างธุรกิจในยุคที่ใคร ๆ ก็ชอบพูดคำว่า Startup, Disrupt, และ Innovation — แต่ธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นไม่มีอะไรใหม่ เป็นโมเดลธุรกิจเก่าแก่ แต่ใช้วิธีระดมทุนในแบบที่ Startup นิยมใช้ และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดราวกับคุณสมบัติของธุรกิจ Startup

Julie Wainwright เป็นคน Gen X  ที่หลังผ่านประสบการณ์เป็นลูกจ้างในระดับ Senior management มาครึ่งชีวิต เธอก็ตัดสินใจที่จะเป็นนายตัวเองอย่างจริงจังในวัย 50 กลางๆ กับธุรกิจเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ www.therealreal.com

เธอแบ่งเงินเก็บของตัวเองประมาณ 100,000 เหรียญหรือ 3 ล้านกว่าบาท และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเสนอนายทุน Angel investor และ Venture capital ตามลำดับเพื่อระดมทุนมาขยายกิจการ

The Real Real คืออะไร?

Julie Wainwright ได้ไอเดียธุรกิจต่อยอดมาจากสังคมเพื่อนฝูงของเธอที่ชอบซื้อและสะสมกระเป๋า เสื้อผ้า และเครื่องประดับแบรนด์เนม และเมื่อถึงจุดหนึ่งสาวๆ นักช็อปปิ้งเหล่านั้นเกิดความรู้สึกอยากขายสินค้าของตัวเองแบบมือสอง ในขณะเดียวกัน เว็บขายสินค้ามือสองอย่าง eBay ก็มีปัญหาคือผู้ซื้อไม่ไว้ใจว่าสินค้ามือสองเหล่านั้นเป็นของแท้จริง ๆ หรือไม่

เธอจึงอาศัยช่องว่างตรงกลางนี้ไปต่อยอดสร้างเว็บไซต์ The Real Real ศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามือสองที่เจาะกลุ่ม สินค้าแบรนด์เนมโดยเฉพาะ โดยแบรนด์หลักๆ ได้แก่ Chanel, Hermès, Prada, Gucci ฯลฯ เป็นต้น โดยจุดเด่นของเว็บไซต์เธอคือ…

1. มีทีมผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์สินค้าแบรนด์เนม
2. มีการทำแคทตาล็อกบอกวิธีการดูสินค้าแบรนด์เนมไว้เป็นชุดๆ
3. มีบริการไปรับสินค้าถึงบ้านผู้ขาย
4. มีความซื่อสัตย์ กรณีพบเจอของมีค่าภายในกระเป๋าที่รับมา เขาจะติดต่อคืนเจ้าของทันที
5. The Real Real รับค่านายหน้าเริ่มต้นที่ 40% จากยอดขาย

นี่คือจุดแข็งที่ทำให้เธอมีสามารถแข่งขันกับเว็บที่มีโมเดลธุรกิจคล้ายกันอย่าง eBay กล่าวคือเจาะ Niche market ที่ eBay เข้าไปดูแลได้ไม่เต็มที่ เลือกเฉพาะสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมมือสอง มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และระบบที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า (Humanly) สื่อสารพูดคุยกับคนจริงๆ มีคนไปรับสินค้าถึงบ้านผู้ขาย

สิ่งที่เธอทำจะช่วยกระตุ้นให้คนยินดีซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือหนึ่งมากขึ้น เพราะคนรู้แล้วว่ามีแหล่งปล่อยสินค้าแบรนด์เนมโดยเฉพาะที่เชื่อถือได้ ในขณะที่คนอยากเป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมด้วยงบประมาณจำกัดก็จะมีโอกาสได้ซื้อของมือสองจากเว็บไซต์อย่างมั่นใจว่าจะได้ของแท้

Julie เริ่มต้นพัฒนาเว็บไซต์นี้ในปี 2011 และในปี 2014 ณ วัย 57 ปี เธอมียอดขายทั้งปี 100 ล้านเหรียญหรือประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท โดยเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าคือทำยอดขายให้ได้ปีละ 1,000 ล้านเหรียญ หรือ 30,000 ล้านบาท!

ความท้าทายของ The Real Real

The Real Real ถือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มอีคอมเมิร์ซและต้องการนายทุน และ Julie ต้องเผชิญกับความท้าทายในฐานะ Startup entrepreneur ที่ดูแปลกแยกจากคนอื่นๆ

นักธุรกิจ Startup ในปัจจุบันมักเป็นคนหนุ่มสาวและบางคนก็เป็นนักศึกษาหนีเรียนมาสร้างธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า College dropout คนเหล่านี้สร้างความตื่นเต้นให้กับนายทุนกับไอเดียไฟลุกและโปรเจคที่น่าเร้าใจ

ในขณะที่ Julie เป็นผู้หญิงผมบลอนด์ ไฮโปรไฟล์ (ทำงานมามาก ไม่สดเหมือนน้องๆ College dropout) และมีอายุ 53-54 ปีตอนที่เริ่มพัฒนาโครงการ The Real Real ทำให้เป็นที่แปลกตาและกังขาของนักลงทุนที่คุ้นเคยกับการสนับสนุน Startup วัยรุ่น ทำให้เธอต้องพิสูจน์ตัวเองหนักขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้นักลงทุนมั่นใจในโมเดลธุรกิจและโอกาสในการทำเงิน

Julie บอกว่าที่สุดแล้ว สิ่งที่นายทุนต้องการมากที่สุดคือ “ผลตอบแทน” ดังนั้นแม้เธอจะมีจุดอ่อนในด้านภาพลักษณ์ Startup entrepreneur ที่ไม่น่าสนใจในตอนแรก แต่หากพิสูจน์ผลงานที่ออกมาเป็นเศรษฐศาสตร์และตัวเลขที่จับต้องได้จริง นักลงทุนก็ต้องยินดีลงทุนในที่สุด โดยจุดแข็งสำคัญที่ Julie มีแต่นักธุรกิจ Startup วัยรุ่นไม่มีคือประสบการณ์ในการบริหารที่หลากหลาย ซึ่งตัวเธอผ่านงานมามากและสามารถนำประสบการณ์ในการเป็นลูกจ้างในระดับบริหารมาใช้ในธุรกิจจริงของตนเองได้อย่างสมบูรณ์

 

Slide2

 

Slide3

 

Slide4
Slide5