เผย 3 Category ทางเลือกสำหรับบล็อกใหม่และ SWOT Analysis เพื่อการตัดสินใจเลือกทำบล็อก

bikers-wallpaper-960x540

ผมมีความคิดที่จะสร้าง Authority Site ตัวใหม่โดยมี Concept สำคัญคือต้องอยู่นอกสาขา Blog-About-Blogging โดยผมยังคงมุ่งเน้นที่จะทำบล็อกสายคุณภาพและหายรายได้ด้วยวิธี Passive Income

กระบวนการคิดและวิเคราะห์บล็อกตัวใหม่นี้ใช้หลักการที่ผมเขียนไว้ใน E-Book The Art of Blog คือเนื้อหาต่างๆนำมาจากความรู้ที่ผมมีอยู่แล้วเพียงแต่ระดับความรู้มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา และเนื้อหาที่จะนำมาทำบล็อกนั้นต้อง Meet-the-Need ตอบโจทย์ความต้องการสูงสุดของผู้คนในสังคมนั่นคือ เงิน คนต้องการเงินและข้อมูลในบล็อกผมจะสามารถช่วยให้คนนำไปประยุกต์ใช้ชีวิต ทำตามฝัน และหาเงินเพิ่มขึ้นได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ของผม

จาก 5 เหลือ 3: สาขาที่ผมคัดมาวิเคราะห์เพื่อเลือกเพียง 1 มาทำบล็อก

ตอนแรกผมก็คิดไว้หลายสาขาและค่อยคัดลงมาเรื่อยๆจนเหลือ 5 สาขาดังนี้

  • บล็อก Investment การลงทุนใน เน้นเรื่องหุ้น
  • บล็อก Career Development หางานสมัครงานและการทำงาน
  • บล็อก Freelance Career การพัฒนาอาชีพอิสระและงานฟรีแลนซ์
  • บล็อก Retail, Import & Logistic การประกอบกิจการค้าปลีกและค้าส่ง
  • บล็อก Retail / E-Commerce การประกอบกิจการค้าปลีกแบบ E-Commerce

ก่อนที่ผมจะคัดลงมาอีกจนเหลือ 3 สาขาดังนี้

  • Investment 
  • Career Development
  • Freelance Career

สาเหตุที่ผมคัดรายการที่ 4 และ 5 ออกไปเพราะ ข้อ 4 Retail, Import & Logistic มีการค้นหาจากรายงานของ Google Keyword Tool น้อยมาก “ค้าปลีก” มีเพียงการค้นหาเพียง 320 Exact-Matched local monthly searches และจากที่ผมทำงานสายค้าปลีกมายาวนานทำให้ผมเห็นค้าปลีกเป็นธุรกิจหนัก ผู้ประกอบการค้าปลีก ไม่ใช่คนอ่านบล็อกเพราะคนเหล่านี้เป็นเจ้าของธุรกิจเสพข้อมูลผ่านทางเว็บข่าวใหญ่ๆเช่น BBC และ CNN และผ่าน connection กับกลุ่มผู้ประกอบการด้วยกันเองเป็นหลัก หากผมทำบล็อกก็คงไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายตรงนี้ได้

ส่วนข้อ 5 Retail / E-Commerce ผมประเมินตัวเองแล้วเห็นแนวโน้มว่าเนื้อหาอาจจะไม่พ้นเรื่องการสร้างเว็บไซต์แบบ Stand-Alone แล้วก็จะวนไปเข้าหลักการเขียน Contents การทำ SEO ฯลฯ ซึ่งมันจะมาซ้ำกับเว็บ The CEO Blogger ประกอบกับเว็บสอน E-Commerce ในตลาด คนที่ทำอยู่แล้วก็มีประสบการณ์สูงมากและเปิดเป็น Online Course กันไปเลย ผมจึงคิดว่าถ้าผมเข้าไปก็คงไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้สุดๆได้จริงๆจึงคัดออกไปและให้ไปรวมอยู่ในหมวดหนึ่งของเว็บ The CEO Blogger แทน

SWOT Analysis สามสาขาของบล็อกที่เลือกไว้

Investment บล็อกเรื่องการลงทุน

analytic stock

เนื้อหาของบล็อก: เกี่ยวกับการลงทุนโดยจะเน้นเรื่องการลงทุนในหุ้นแนว Fundamental และ Value Investing เป็นหลัก ผสมกับการลงทุนแนวอื่นๆไปด้วย เช่น สินค้า ทองคำ และ อสังหาริมทรัพย์ มีการอธิบายหลักการลงทุนขั้นพื้นฐาน แนวคิด ความรู้ความเข้าใจ และเรื่องราวที่ให้แรงบันดาลใจในการลงทุน

กลุ่มเป้าหมายของบล็อก: นักศึกษาตอนปลาย บัณฑิตใหม่ คนวัยทำงาน อายุเฉลี่ย 20-40 ปี

แนวทางการทำเงินของบล็อก: Google AdSense, Private Ads, E-Book, Course

Strength: ความรู้ด้านการลงทุนในเชิงทฤษฏี รวมไปถึงทักษะในการเขียน contents ที่ผมมีจะช่วยเขียนเนื้อหาในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าติดตาม หลักการลงทุนมักเป็นหลักการเดิมๆที่ไม่เปลี่ยนแปลง อาทิ fundamental analysis หรือ value investing ซึ่งมีความอนุรักษ์มาก 100 ปีก็ยังมีหลักการเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทำเนื้อหาให้ละเอียดลึกซึ้งเพียงครั้งเดียวก็ใช้ได้เรื่อยๆโดยไม่ตกยุค

Weakness: อ่อนภาคปฏิบัติจริง ในขณะที่ภาคทฤษฏีเก็บเข้ากรุไปนานจนฝุ่นจับ ต้องเอามารื้อฟื้นใหม่ กว่าจะเข้าที่เข้าทางต้องใช้เวลา รวมไปถึงต้องค้นคว้าหลักการวิเคราะห์หุ้นอีกครั้งหากจะเขียนเนื้อหาให้มีความถูกต้อง

Opportunity: Keyword “หุ้น” มีการค้นหาสูงถึง 49,500 Exact-Matched local monthly searches แปลว่ามีกลุ่มผู้อ่านรองรับแน่แล้วและมีกลุ่มโฆษณา AdWord รองรับคีย์นี้กันพอสมควร การลงทุนเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆและคนที่สนใจก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆมาสู่กลุ่มนักศึกษาที่นิยมท่องเว็บและเข้ากูเกิ้ลหาข้อมูล

Threat: คนที่สนใจการลงทุนโดยเฉพาะหุ้นยังพุ่งเป้าไปที่ แนวเก็งกำไร เป็นส่วนใหญ่และอาจไม่สนใจการลงทุนสายคุณภาพแบบ Fundamental และ Value Investing นอกจากนี้ผมสันนิษฐานว่า การขาย E-Book ด้านหุ้นอาจไม่ได้รับผลตอบรับเท่าไรนัก เพราะหนังสือตีพิมพ์ด้านหุ้นมีเยอะมากและผู้อ่านอาจยังติดอ่านหนังสือเล่มซึ่งต่างจากแนว Internet Marketing ที่ส่วนมากมีขายกันแต่ในแบบ E-Book แนวทางรายได้ที่จะทำเงินจริงๆจะเป็น สัมมนา และ อบรมเล่นหุ้น ซึ่งสำหรับผมแล้วทางเลือกนี้คงเกิดใน 1-2 ปีนี้ได้ยากเพราะประสบการณ์ภาคปฏิบัติยังน้อยมากเกินไปหากเทียบกับเจ้าตลาดนักสอนเล่นหุ้นอย่าง คุณภาววิทย์ กลิ่นประทุม หรือ คุณอัครพงศ์ ขวงธนะชัย (Stockmanday.com)

Career Development บล็อกเรื่องหางานสมัครงานและการทำงาน

analytic job

เนื้อหาของบล็อก: ความรู้เรื่องการวางแผนอาชีพ (career plan) การเลือกงาน การหางาน การสมัคร เขียนประวัติย่อและการสัมภาษณ์ ต่อมาคือการทำงานและการใช้ชีวิตอยู่ในองค์กรไปจนถึงการวางแผนเปลี่ยนงาน

กลุ่มเป้าหมายของบล็อก: นักศึกษาตอนปลาย บัณฑิตใหม่ คนวัยทำงาน อายุเฉลี่ย 20-30 ปี

แนวทางการทำเงินของบล็อก: Google AdSense, Private Ads, Job Board, E-Book, Course

Strength: สาขานี้คือจุดแข็งที่สุดของผม เพราะผมเข้าวงการเขียน contents ออนไลน์จากสายนี้ประสบการณ์เขียนด้าน career development 4-5 ปี ส่วนประสบการณ์ภาคปฏิบัติของผมคือ 10 ปีที่ก้าวหน้าในเส้นทางการงานอย่างรวดเร็วและรู้งานสาย ค้าปลีก, การขาย, บริการ, คลังสินค้า, จัดซื้อ และ นำเข้า

Weakness: ความรู้ที่กว้างเกินไปกลายเป็นงานหนักในการทำเว็บ และการจะทำเว็บงานให้สมบูรณ์ควรจะครอบคลุมหลายสาขาอาชีพสำคัญของไทย โดยเฉพาะ งานราชการ งานบัญชี งานวิศวะ และงานไอที ซึ่ง 4 สายงานนี้ผมอ่อนมากและต้องใช้เวลาเรียนรู้เพิ่มเติม ด้วยขอบเขตของข้อมูลที่จำเป็นต้องบรรจุลงเว็บแนว Career Development ผมคิดว่าจะเป็นอุปสรรคในการสร้างเว็บให้เติบโตในช่วง start-up

Opportunity: Keyword งาน เป็นคำที่ฮิตมากๆ Exact-Matched คำว่า “หางาน” มี 3 แสนกว่า Searches ต่อเดือน สมัครงาน อีก 1แสนกว่า Searches ต่อเดือน คำย่อยอย่างอื่นเช่น งานราชการ, สมัครงาน ปตท. ฯลฯ ก็มีคนค้นเยอะ เรียกว่าเป็นสาขาที่มีอะไรให้เล่นเยอะ ส่วนแนวทางทำเงินผมเห็นชัดๆเลยคือ โฆษณาจาก AdSense และ Private Ads และอาจพัฒนาไปสู่ Job Board ได้และอีกฝั่งหนึ่งก็คือ E-Book แนว Guide Line สำหรับบัณฑิตใหม่ ฯลฯ 

Threat: อุปสรรคคงเป็น SEO จากเว็บไซต์สมัครงานเจ้าใหญ่อย่าง JobsDB, Jobbkk, Nation eJobs ฯลฯ ที่มีอยู่ในตลาดเหล่านี้เป็นเว็บใหญ่ครองหน้าหนึ่งกันเต็มไปหมดและผมสันนิษฐานว่าจ้าง SEO อาชีพมาบริหารงานให้ ส่วนอุปสรรคอีกฝั่ง คือ กลุ่มคนจบใหม่และคนหางานใหม่ๆ อาจยังไม่ต้องการลงทุนกับความรู้อย่าง information product หรือ course ต่างๆ ผมสังเกตกับตัวเองที่เริ่มหางานอายุ 20 ต้นๆ ผมสนใจแต่จะหางานทำให้ได้และ search หาเว็บไซต์สมัครงานและเทคนิคการสมัครงานเยอะก็จริง แต่ไม่ได้มีความสนใจที่จะซื้อคอร์สอบรมสัมมนาเพิ่มทักษะความรู้ใดๆในตอนนั้น เป็นต้น

Freelance Career บล็อกเรื่องการพัฒนาอาชีพอิสระและงานฟรีแลนซ์

analytic freelance

เนื้อหาของบล็อก: ความรู้เรื่องการพัฒนาอาชีพอิสระและงานฟรีแลนซ์ การสรรหาอาชีพอิสระเป็นรายได้เสริมคู่งานประจำ การปูรากฐานอาชีพอิสระระหว่างทำงานประจำเพื่อเป็นแผน Early retirement ไปสู่ Young Self-Employed

กลุ่มเป้าหมายของบล็อก: บัณฑิตใหม่ คนวัยทำงาน และวัยกลางคน อายุเฉลี่ย 25-45 ปี

แนวทางการทำเงินของบล็อก: Google AdSense, Affiliate, Job Board, E-Book, Course

Strength: สาขานี้คือจุดแข็งรองลงมา ด้วยประสบการณ์ตรงที่ผมสร้างอาชีพอิสระและมีรายได้เสริมคู่กับงานประจำและยังเป็นรายได้ทางอินเตอร์เน็ตครั้งแรกของผม ทำให้ผมมีความเข้าใจรสชาติของ กลางวันเป็นลูกจ้าง-กลางคืนเป็นนายตัวเอง ที่จะนำมาบอกเล่าแนะนำและอธิบายได้อย่างคล่องแคล่ว

Weakness: คล้ายกับเว็บสาขา Career Development งานอิสระมีหลายหมวดหมู่ ส่วนที่ผมถนัดคือ นักแปล กับ นักเขียน แต่อาชีพอิสระอื่นๆอย่าง นักถ่ายภาพ, นักออกแบบกราฟฟิก, นักเขียนโปรแกรม, นักปรึกษา ฯลฯ ที่ผมยังไม่รู้ลึก เหล่านี้ผมคิดว่าควรต้องบรรจุลงในบล็อกเพื่อเป็นแหล่งความรู้ที่สมบูรณ์กว่าและผมต้องใช้เวลาไปกับการเรียนรู้ในหมวดที่ผมยังไม่ถนัดอีกพอสมควร

Opportunity: Keyword อาชีพอิสระ มีปริมาณคนค้าหาในระดับที่ถือว่าสูง คือ 14,800 Exact-Matched local monthly searches ในขณะที่คีย์ ธุรกิจส่วนตัว ก็กำลังสวย ถ้าสังเกตในแนวทางทำเงินที่ผมวางไว้จะพบว่าเป็นสาขาแรกที่มี affiliate อยู่ด้วย เพราะสาย Freelance มีช่องทางทำ affiliate แม้เจ้าใหญ่ๆอย่าง oDesk และ Bluehost จะไม่เปิดรับประเทศไทย แต่ Elance และ Go Daddy สามารถทำได้ นอกจากนี้ผมยังเล็งเห็นว่านี่จะเป็นสาขาที่มีกลุ่มเป้าหมายที่พร้อมลงทุนกับ Information มากที่สุด

Threat: อุปสรรคก็คือตลาดอาชีพอิสระแบบ freelance ในไทยยังไม่คึกคัก คนทำงาน freelance ให้รุ่งต้องไปบุกตลาดต่างประเทศ นั่นหมายความว่ากลุ่มเป้าหมายผมต้องเป็นคนที่สนใจอาชีพอิสระแบบ freelance แล้วยังต้องพ่วงด้วย skills ภาษาอังกฤษอีกด้วยจึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ของบล็อก ทำให้บล็อกอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายให้ยิ่งเล็กลงมาอีก

สรุป SWOT Analysis เพื่อการทำบล็อก

3 สาขาคัดมาแล้วว่าน่าสนใจและอยู่ในขอบเขตความรู้ที่ผมมีอยู่แล้วหรือสามารถต่อยอดได้ ตอนนี้ผมยังไม่ตัดสินใจที่สุดว่าจะทำบล็อกแนวไหน จากการทำ SWOT ช่วยให้เห็นว่าทั้งหมดนี้ก็ไม่มีอันไหนยากง่ายกว่ากันแม้แต่สาขา Career Development ที่ผมถนัดที่สุดก็ยังมีอุปสรรค ปัญหาของบล็อกภาษาไทยคือช่องทางทำรายได้แบบ Passive Income มีน้อยกว่าบล็อกภาษาอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ใช่บล็อกเรื่อง Internet Marketing แล้วล่ะก็ส่วนมากรายได้จะไม่พ้น Google AdSense

แต่อย่างที่ผมเตือนตัวเองเสมอว่าไม่ต้องการยึดติดกับ Google AdSense เพียงอย่างเดียวเพราะมันมีความเสี่ยง และนี่คือเหตุผลที่ผมและบล็อกเกอร์หลายๆคนจำเป็นต้องคิดล่วงหน้าว่าบล็อกสาขาไหนมีแนวทางทำเงินอะไรบ้าง บางสาขาขาย E-Book ได้ บางสาขามี Affiliate รองรับ หรือ สาขาไหนที่คุณสามารถผันตัวมาเป็น coach หรือรับงาน Freelance ได้ ฯลฯ เป็นต้น แต่ ณ จุดเริ่มต้นที่บล็อกแค่ติด Search แต่ยังไม่ติดใจมวลชน ยังไม่มี follower และ trust จากผู้อ่านที่เป็นคนจริงๆอย่างเหนียวแน่น การติด Google AdSense ก็ยังถือเป็นช่องทางการหารายได้ระหว่างรอการพัฒนาการในลำดับต่อๆไป

take_flight-wallpaper-960x540