บอกเล่ากรณี Spring News ให้ข้อมูลชื่อเจ้าของเว็บไซต์ CEOblog ไม่เคลียร์หวิดเข้าใจผิดคดีดัง

กรณีสำนักข่าว Spring News ได้โพสต์ข่าวลงในเว็บไซต์ต้นสังกัดในหัวข้อข่าว กระชากหน้ากาก! “ภูดิศ” แชร์ลูกโซ่คอร์สสัมมนา 

ว่าด้วย นายภูดิศ กิตติธราดิลก ผู้ตกเป็นข่าวว่ามีประชาชนจำนวนมากเข้าร้องเรียนเรื่องเกรงจะสูญเงินจากพฤติกรรมที่มีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ของบุคคลดังกล่าว โดยร้องเรียนกับ DSI หรือ กรมสวนพิเศษ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2017 และวันรุ่งขึ้นทาง Spring News ก็จัดทำข่าวนี้อย่างรวดเร็วในรูปแบบวีดีโอคลิป โดยเนื้อความในนาที 9.18 คุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการได้พูดออกอากาศว่า

“เข้าใจว่า ภูดิส ได้สร้างบล็อกเกอร์บนเว็บไซต์ที่ชื่อ The CEO Blogger”

ทำให้มีเพื่อน ๆ และแฟน ๆ ที่ติดตามเว็บไซต์ CEOblog สอบถามข้อเท็จจริงกันเข้ามา และบางท่านเกือบเข้าใจผิดไปว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ฯลฯ

ข้อมูลที่ทางรายการประกาศออกอากาศไปนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เนื่องจาก The CEO Blogger หรือชื่อปัจจุบันคือ CEOblog ก่อตั้งและเป็นเจ้าของโดย พรพรหม กฤดากร เป็นเว็บไซต์ข่าวธุรกิจและรับฝากลงประกาศต่าง ๆ รวมไปถึงการประกาศงานอีเวนต์และงานสัมมนาทั่วไป ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบุคคลที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว

ทีมข่าว Spring News ทำข่าวรวดเร็วทันใจ

สันนิษฐานว่าอาจเพราะทีมผู้จัดทำข่าวรีบทำข่าวออกไปด้วยความปรารถนาดี อยากให้ประชาชนเข้าถึงคดีดังและรู้ทันเล่ห์กลของแชร์ลูกโซ่ ด้วยอาจมิทันได้ตรวจสอบและเรียบเรียงข้อมูลให้ใกล้เคียงข้อเท็จจริง ทำให้ปรากฏข้อความสั้น ๆ แต่สร้างความเข้าใจผิดและเรื่องร้อนมาถึงผู้เจ้าของเว็บไซต์ตัวจริงต้องเคลียร์ข่าวกับคนรู้จักตลอดทั้งวัน

ในขณะเดียวกัน ทางเจ้าของเว็บไซต์ CEOblog และพยานได้เข้าไปทำการแจ้งใน Comment ของโพสต์ดังกล่าวแฟนเพจ Spring News เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและแนวทางในการแก้ปรับปรุงข้อมูล แต่ยังไม่ได้รับการชี้แจงจากทางสื่อดังกล่าว จึงต้องนำข้อเท็จจริงมาบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ณ โอกาสนี้อีกทาง

ความเป็นมาเรื่องการฝากประกาศสัมมนาของนายภูดิศ บนเว็บไซต์ The CEO Blogger

เจ้าของเว็บไซต์ The CEO Blogger (หรือ CEOblog ในปัจจุบัน) ได้พบกับ นายภูดิศ เมื่อช่วงปลายปี 2557 ณ งานสัมมนางานหนึ่ง ในฐานะของนักเรียนทั้งคู่ โดย นายภูดิศ ได้เข้ามาทักทายและแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าของบริษัท The System Plug & Play และอื่น ๆ อีกนับสิบบริษัท ได้มีการเชิญไปฟังงานสัมมนาที่เขากำลังจะจัด และได้มีการฝากประชาสัมพันธ์งานสัมมนาผ่านสื่อของ CEOblog

หลังจากรู้จักกันได้ประมาณ 4 เดือน นายภูดิศ จึงได้เริ่มชักชวนเจ้าของเว็บไซต์ CEOblog และคณะให้ลงทุนใน กองทุนเงินดิจิตอล โดยเสนอว่ามีผลตอบแทนสูง โดยทางฝั่งของเจ้าของเว็บไซต์ CEOblog มีคณะที่เป็นนักการเงินและนักลงทุนมืออาชีพไปฟังด้วย และได้ทำการประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูงเกินไป และมีลักษณะโครงสร้างระบบคล้าย Money Game ประเภทเดียวกับ ยูฟันด์ จึงลงมติ ‘ปฏิเสธ’ ที่จะลงทุนด้วย

จากนั้นอีกประมาณ 1 เดือนต่อมาได้ปรากฏข่าวใหญ่ กองปราบปรามบุกทลายและจับเครือข่ายยูฟันด์ ก่อนที่จะมาเกิดข่าว DSI รับเรื่องร้องเรียนกรณี สัมมนาแชร์ลูกโซ่ที่มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาท ในเวลาต่อมา 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องแชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่ หรืออาจเรียกกันว่า Money Game เป็นกลเกมการเอาเงินต่อเงิน มีทั้งในรูปแบบของการสร้างหน่วยลงทุน และการสร้างสกุลเงินสมมุติ ดึงคนจริงและเงินจริงเข้ามาในระบบของตน และเอาเงินของคนในระบบไปจ่ายต่อกันเป็นทอด ๆ โดยไม่มีธุรกิจจริงเกิดขึ้นภายในบริษัทที่กล่าวอ้าง

สุดท้าย พอระบบใกล้ถึงจุดอิ่มตัว เจ้าของระบบก็ชัตปลั๊กหอบเงินหนีไป โดยหากไม่มีใครแจ้งความเอาเรื่องถึงที่สุดหรือยังไม่ถูกจับ ผู้ก่อการมีโอกาสไปตั้งบริษัทใหม่และหากินในรูปแบบเดิมกับคนกลุ่มใหม่ที่ไม่รู้ประวัติของผู้ก่อการ วนเวียนแบบนี้ไปเป็นเวลาหลายปี

ทำไมคนจึงหลงไปใน Money Game?

เรื่องนี้ไม่อาจตัดสินได้ที่ความโง่หรือฉลาด เพราะคนที่หลงมีทุกระดับ ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนโปรไฟล์ดี และคนมีสตางค์ เพราะพวกเขาเล่นกับจิตวิทยามนุษย์ โดยจากที่สังเกตจะมี 3 ด่าน

ด่านที่ 1. ผลตอบแทนสูง
ข้อนี้ไม่เท่าไร คนมีความรู้และมีเงินเย็นยังไม่หลงกับข้อนี้ง่าย ๆ

ด่านที่ 2 เพื่อนทำอยู่
ข้อนี้ที่ทำให้คนจำนวนมากเริ่มไขว้เขว อันนี้เข้าทางจิตวิทยาแล้วว่าเรามีแนวโน้มจะเชื่อ Reference ที่มีเครดิต ได้แก่ เพื่อน ญาติ คนที่เคารพนับถือ

ด่านที่ 3 ได้เงินจริง
เนื่องจากอาจมีเพื่อนที่เป็นคนเก่งคนประสบความสำเร็จในชีวิตก็ยังทำด้วย ทำให้เราคิดว่าน่าจะเป็นไปได้อยู่บ้าง เพราะไม่อย่างนั้นเพื่อนของเราคงไม่เสี่ยงเอากับเขาด้วย แถมเพื่อนบอกว่า ทำแล้วได้เงินจริง ๆ

สามปัจจัยที่ทำให้คน ๆ หนึ่งใกล้ตัดสินใจ โดยมี Payment Cycle มาเป็นตัวช่วยปิดจ็อบ — ข้อเสนอรอบจ่ายเงินที่เร็ว โดยมากอยู่ที่หลักเดือนนี่แหละทำให้คนรู้สึกว่ามีความเสี่ยงน้อยลง ด้วยผลตอบแทนเดือนละ 10% จ่ายทุกเดือนแล้วคนที่ไว้ใจก็คอนเฟิร์มว่าได้เงินจริง ตรงนี้ที่ทำให้หลายคนกล้าตัดสินใจและลองเสี่ยงดู

วิธีป้องกันจึงมีเพียง ‘สติ’ คำเดียว

ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สมเหตุสมผลน่าจะเป็นอย่างไร?

ขออิงตามสถิติของบริษัท Berkshire Hathaway บริษัทบริหารการลงทุนที่ดำเนินการโดย Warren Buffet นักลงทุนที่เรียกว่าเก่งอันดับต้น ๆ ของโลกและบริหารเงินลงทุนชนะขาดลอยแทบทุกดัชนีหลักทรัพย์

กว่าครึ่งศตวรรษของการบริหารจัดการเงินลงทุน Berkshire Hathaway สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 21.7% ต่อปี และปีที่ดีสุดเคยทำได้ 39.1% ต่อปี หรือประมาณ 3.25% ต่อเดือน อันนี้คือตัวเลขที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริการเงินลงทุนเก่ง ๆ เคยทำไว้

หากเทียบกับ Money Game ที่ให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของเงินที่ 10% ต่อเดือน หรือ 120% ต่อปีจึงเป็นตัวเลขที่ต้องพิจารณาให้มาก ๆ ว่า Too good to be true หรือไม่?

By: http://awealthofcommonsense.com/2015/03/buffetts-performance-by-decade/