ค้าปลีกจุกเมื่อ Amazon เพิ่มคนแสนอัตรา ชนเจ้าตลาดหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก

เมื่อต้นเดือน มกราคม ปี 2017 ที่ผ่านมา บริษัท Amazon ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของโลกออกมาประกาศว่าจะขยายการจ้างไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราในหลากหลายตำแหน่งเพื่อรองรับการขยายงานของ Amazon โดยอัตราจ้างนี้ยังไม่นับแผนการขยายงานในพื้นที่ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกา

นับเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความแปลกใจกับคนอเมริกาและนักวิเคราะห์ธุรกิจทั่วโลกเพราะเป็นที่รู้กันว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ เจ้าตลาดอย่าง Best Buy, Sears, Kmart และ Walmart ต่างต้องปรับตัวกันอย่างหนัก และลดกำลังคนเป็นอันมาก โดยเฉพาะ Sears และ Kmart ที่แทบไม่เหลือกำลังจะบริหารกิจการต่อ ยุบสาขาอย่างหนัก และต้องกู้เงินมาพยุงธุรกิจ แต่เหตุใด Amazon จึงกลับโตเอา ๆ

Amazon จะจ้างคนไปทำอะไรบ้าง

Jeff Bezos กล่าวว่าการจ้างงานในครั้งนี้จะทำให้กำลังคนของ Amazon USA มีจำนวนเพิ่มไปถึง 280,000 อัตรา โดยคนเหล่านี้จะมีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจสำคัญ ๆ ตั้งแต่ปี 2017 ไปจรดปี 2018 โดยจะมีแทบทุกตำแหน่ง ตั้งแต่ฝ่าย Operation หรืองานภาคปฏิบัติการคลังสินค้าเพื่อรองรับการเปิด Fullfilment center ใหม่ ๆ และภาคหน้าร้านเพื่อรองรับการรุกสู่ธุรกิจแบบออฟไลน์

นอกจากนั้นก็จะมีตำแหน่งด้านเทคโนโลยี อาทิ Software engineer และ Developer และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาระบบเว็บไซต์ ระบบ Cloud computing ระบบ Machine intellegence รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งเฉพาะที่ Amazon จะเป็นเจ้าของเอง

5 อุตสาหกรรมที่ Amazon บุกโหด

1. Logistics

อย่างที่รู้ว่า Amazon มีการลงทุนกับคลังสินค้า ระบบสต็อก ระบบจัดแพ็กสินค้า และจัดส่งสินค้าเป็นเงินจำนวนมหาศาลตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นประสบการณ์และจุดแข็ง ถึงปัจจุบันนี้ Amazon ยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาระบบเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นเพื่อ 1) ลดค่าใช้จ่าย และ 2) เพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ในที่สุด Amazon กำลังจะมีระบบ Logistics supply chain อย่างสมบบูรณ์แบบของตนเองครอบคลุมทั้ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมไปถึงการพัฒนา Drone หรือ หุ่นยนต์ส่งของทางอากาศ จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งการจัดส่งที่อาจนำทรัพยากรตรงนี้ไปให้บริการการจัดส่งแข่งกับธุรกิจ Courier รายย่อยได้แบบชนะขาดลอย

2. พัฒนาระบบ Artificial Intelligence อย่างดุเดือด

ไม่ใช่แค่เจ้าของ Google และเจ้าของ Tesla เท่านั้นที่กำลังทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการพัฒนา Artificial Intelligence หรือ AI — Jeff Bezos ก็เช่นกัน

Jeff Bezos ระดมผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกว่า 1000 คน และงบประมาณอันเหลือล้นของเขาเพื่อพัฒนางาน AI นามว่า Alexa มุ่งเป็นเครื่องจักรอัจฉริยะที่สามารถทำงานตามคำสั่งเสียงของมนุษย์ได้ โดยมีการถอยผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Amazon Echo เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Virtual assistant ส่วนบุคคล ที่สามารถเล่นดนตรี อ่านหนังสือให้ฟัง รายงานสภาพอากาศ และการจราจร และจะพัฒนาต่อไปให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ภายในบ้านและสั่งงานด้วยเสียงของเจ้าของทั้งหมด โดยได้ทำการจับมือกับ General Electrics เรียบร้อยแล้วในการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์โคมไฟภายในบ้าน

3. จาก ออนไลน์ สู่ ออฟไลน์ บุกธุรกิจแบบมีหน้าร้าน

ย้อนกลับเมื่อสมัย Amazon ก่อตั้งใหม่ ๆ และเรียกตัวเองว่า Online book store ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำเอาเจ้าถิ่นธุรกิจร้านหนังสือออฟไลน์อย่าง Barnes & Noble แอบกลัวอยู่เนือง ๆ จนหาเรื่องฟ้อง Amazon ด้วยข้อหา Overclaim ตัวเองเป็น ‘Book store’ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสต็อกหนังสือแต่อาศัยวิธีไปพาร์ทเนอร์กับคนที่มีร้านหนังสืออยู่แล้วแล้วตัวเองกินส่วนต่าง

เวลาผ่านมาหลายสิบปี Amazon จึงกลับมาสวนหมัดหนักใส่คู่ปรับเก่า Barnes & Noble ด้วยการเปิดตัว Amazon Book Store หรือร้านหนังสือแบบมีหน้าร้านของตนเองเมื่อต้นปี 2016 เขย่าวงการธุรกิจหนังสือไปทั่วอเมริกา เพราะการมาของ Amazon ได้เปรียบในเรื่องของฐานข้อมูลยอดขายที่เก็บสะสมมาหลายสิบปีทำให้มีข้อมูลจำนวนมากและแม่นยำพอที่จะวางแผนการกระจายหนังสือไปยังหน้าร้านที่เหมาะสมต่อความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบ E-Commerce เป็นตัวสนับสนุน ทำงานเกื้อกูลกันทั้ง ออฟไลน์ และ ออนไลน์!

แต่ยังไม่จบเท่านี้! Amazon ท้าทายเจ้าพ่อค้าปลีกรายสุดท้ายที่ยังยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งอย่าง Walmart ด้วยการถอย Amazon Go ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคพร้อมด้วยเทคโนโลยีสุดทันสมัย ไม่ต้องมีเคาเตอร์ชำระเงิน แต่สามารถติดตั้ง Application ของ Amazon จากนั้นเข้าไปหยิบสินค้าและเดินออกมาได้เลย ระบบจะทำการประมวลผลสินค้าที่หยิบออกมาแล้วเรียกเก็บเงินผ่านบัตรเครดิตที่เชื่อมต่อกับบัญชีผู้ใช้งาน!

หลังจากโครงการ Amazon แบบมีหน้าร้านเวอร์ชั่นนำร่องทั้งสองลงตัวแล้ว Amazon จึงจะลงทุนขยายหน้าร้านแบรนด์ Amazon ไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ TheMomentum.co Amazon Go ร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะไม่ต้องต่อคิว ไม่ต้องจ่ายเงินสด

4. บุกธุรกิจสื่อ Video Streaming

เป็นที่รู้กันดีว่าธุรกิจ Video streaming อย่าง Net Flix และ Apple เป็นที่โดนอกโดนใจคนทั่วโลกในการรับชมภาพยนต์และซีรีย์ต่าง ๆ ไม่อั้นตนธุรกิจโทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวีแทบจะเจ๊งกันระนาว แต่ที่ผ่านมา Amazon เองก็มีการสะสมไฟล์ภาพยนต์ ซีรีย์ และโชว์ต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมากภายใต้ชื่อโครงการ Amazon Prime ที่เปิดให้บริการเช่าชมในสหรัฐอเมริกา โดยต่อไปอาจพัฒนาสู่การผลิตซีรีย์ภายใต้แบรนด์ Amazon

5. เริ่มขยายธุรกิจสื่อโดยเริ่มจากประเทศอินเดีย

ที่ผ่านมา Amazon Prime รับชมได้ในอเมริกาเท่านั้น แต่ปี 2016 ที่ผ่านมา Amazon ได้เข้าไปลงทุนขยายบริการ Amazon Prime ในประเทศอินเดียเป็นการนำร่อง โดยอาจเล็งเห็นว่ามีจำนวนประชากรจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตภาพยนต์จำนวนมหาศาลรายหนึ่งของโลก จึงน่าจะเป็นพื้นที่แรกที่น่าเข้าทำตลาดก่อน หากผลการดำเนินงานไปได้สวย แน่นอนว่า Amazon จะบุกขยายบริการนี้ออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต่อไป

แชร์เหตุการณ์ใกล้ตัวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ E-Commerce

ด้านบนคือรูปภาพโฆษณาเมาส์ไร้สายยี่ห้อ Logitech ที่ผมค้นหาเจอทาง Google จากนั้นเข้าไปดูในเว็บไซต์แล้วกลับมาเข้า Facebook ก็พบกับโฆษณานี้ นี่คือโฆษณาแบบ Re-targeting ซึ่งถือว่าตรงเป้าเป๊ะ กล่าวคือผมเป็น ผู้ต้องการซื้อ หรือ Buyer 100% เต็ม

แต่ผมได้ทำการสั่งซื้อเมาส์ไร้สายประมาณนี้ แต่เป็นสีดำนะครับ โดยการว่าจ้างบริการมอเตอร์ไซต์ให้ไปซื้อสินค้าที่ห้างที่อยู่ใกล้ที่สุดและนำมาส่งมอบให้ผม สำเร็จภายใน 45 นาที ซึ่งหากเทียบกับการสั่งซื้อทางออนไลน์ผมอาจต้องรอประมาณ 3-5 วันทำการ ยังไม่รวมกับการเปิดบัญชีผู้ใช้งานกับทางเว็บไซต์

(หมายเหตุ ข้อความด้านบนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ที่อยู่ในรูปภาพแต่อย่างใด รูปภาพเป็นภาพประกอบเหตุการณ์ว่าด้วย Facebook re-targeting ads ที่ทำมาดีและตรงกลุ่มเป้าหมาย ส่วนกระบวนการสั่งซื้อ เป็นการพูดถึงในหลักการโดยรวมของธุรกิจ E-Commerce)

ประเด็นน่าสนใจอย่างไร?

ความน่าสนใจคือ ออฟไลน์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Brick-and-Mortar Business ไม่ได้ตาย และยังคงตอบโจทย์บางคนได้ คนที่ต้องการของเร็ว ต้องการของทันที และไม่ต้องการเสียเวลาเปิดบัญชีและรอสินค้า ซึ่งบางเว็บไซต์ E-Commerce ในประเทศไทยมีกระบวนการใช้งานหรือ User Interface และ User Experience ที่ค่อนข้างยุ่งยากจนไม่อยากใช้

ตรงกันข้ามกับ E-Commerce บางเว็บในไทย และหลายเว็บในต่างประเทศ โดยเฉพาะ Amazon.com ที่เริ่มต้นใช้ง่าย พร้อมระบบ Amazon 1-Click ที่แค่คลิ๊กเดียวก็ตัดบัตรเครดิตของคุณเรียบร้อย ซื้อง่ายขายคล่องสุด ๆ

ดังนั้น ต่อไปผู้ประกอบการอาจต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ซื้อสินค้าออนไลน์ (UI/ UX) ให้สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนอยากเข้าช็อปปิ้งออนไลน์ ตามมาด้วยระบบการส่งมอบสินค้าที่รวดเร็ว และการรองรับลูกค้าจากหน้าร้านคู่กันไป

ดังที่ Amazon เองทำอยู่นั่นคือการทำเว็บไซต์ E-Commerce ให้ใช้งานง่าย และกำลังทำเรื่องระบบจัดส่งด้วย Drone ทางอากาศซึ่งต่อไปการรับสินค้าอาจได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง และระบบหน้าร้านที่คนอยู่กลางทางอยากได้ของก็แวะเข้า Amazon Go ไปเลย — นี่คือระบบที่ Amazon สร้างมาเพื่อล้อมหน้าล้อมหลังปิดทุกช่องทางเพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องมีเหตุผลที่จะไม่ซื้อ เพราะอำนวยความสะดวกไว้ทุกทางแล้ว