คุณเคยอยากตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน หรืออาชีพส่วนตัว แต่ก็ได้แต่จด ๆ จ้อง ๆ ไม่กล้าตัดสินใจเสียทีเพราะกลัวอนาคตที่คาดเดาไม่ได้หรือไม่ครับ? แล้วคนที่เขากล้าตัดสินใจ พวกเขามีวิธีคิด หรือวิธีจัดการกับความรู้สึกอย่างไร CEO Channels มีแนวทางมาฝาก โดยก่อนอื่น จะขอนำเหตุการณ์จริงใกล้ ๆ ตัวมาเกริ่นให้ฟังเป็นกรณีศึกษา
มีเพื่อนนักธุรกิจคนหนึ่ง ทำธุรกิจด้านการจัดอบรมแบบออฟไลน์ให้องค์กรมาโดยตลอด บริษัทมีรายได้ไม่น้อยกว่าหลักสิบล้านบาท ต่อปี
จนกระทั่งปลายปี 2019 เกิดเหตุการณ์ ไวรัสโควิด-19 ระบาด จนประเทศไทยต้องประกาศนโยบายล็อกดาวน์สถานที่ต่าง ๆ องค์กรต่าง ๆ ที่เคยเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทจัดอมรมดังกล่าว สั่งหยุดงานอบรมภายในองค์กรพร้อมกันทั้งประเทศ ส่งผลให้เงิน 8 หลักของบริษัทจัดอบรมผู้นี้หายวับไปกับตา
คุณคิดว่าพวกเขาจะรอให้สถานการณ์กลับมาคลี่คลายเพื่อเริ่มจัดอบรมใหม่หรือไม่?
คำตอบ คือ ไม่
พวกเขาเร่งหาแนวทางใหม่ และตัดสินศึกษาวิธีทำระบบ E-learning ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับการทำเป็นออนไลน์ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และไม่รู้ว่าผลตอบรับจะออกมาเป็นอย่างไร
พวกเขาใช้เวลาศึกษา และพัฒนาระบบออนไลน์ ไปพร้อม ๆ กับการทำสื่อการตลาดออนไลน์อยู่หลายเดือน เพื่อปูทางไปสู่ขายผลิตภัณฑ์การอบรมให้แก่ลูกค้าสามารถกลับเข้ามาเรียนแบบออนไลน์ และในที่สุด บริษัทก็กลับมามีรายได้อย่างน่าพอใจตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่เกิด โควิด-19 ระบาด
ถึงจุดนนี้ ลองนึกภาพตามว่า หากพวกเขาเลือกที่จะรอให้สถานการณ์คลี่คลาย ป่านนี้พวกเขาอาจจะปิดกิจการไปแล้ว ก็เป็นได้
และต่อไปนี้ คือ 6 วิธีเอาชนะความกลัว ในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต
1. ไม่เอาใจไปโฟกัสในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
ชีวิตคนเราจะมีทั้งปรากฏการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ และที่ควบคุมได้ ข่าวร้ายก็ คือ ปรากฏการณ์ที่ควบคุมไม่ได้นั้นมีเยอะกว่า ปรากฏการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ทั้งหลายนั้น พวกเราล้วนประสบทุกวัน เพียงแต่ระดับความรุนแรงมากน้อยไม่เท่ากัน และเมื่อมันเกิดขึ้นและมีผลกระทบใหญ่ เราอาจเจ็บปวด โกรธแค้น และเศร้าโศกเสียใจ เป็นธรรมดา
แต่อารมณ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์โดยรวมคลี่คลายไป มีแต่เราที่ยิ่งอยู่กับอารมณ์ลบ ๆ นานไป ก็จะยิ่งมีโอกาสพอกพูลความรู้สึกกลัวที่จะเปิดใจไปทดลองวิธีการใหม่ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนไปยังเส้นทางใหม่
คนที่เอาชนะความกลัว และก้าวข้ามไปสู่การทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ มักมีโอกาสจะเป็นผู้ที่ใส่ใจกับสิ่งที่เขาควบคุมได้ นั่นคือ ‘สติ’
เราไม่ได้บอกว่าคนที่ก้าวผ่านปัญหาจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันไปได้ เพราะเขาไม่มีอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ — ข้อเท็จจริง คือ พวกเขาก็มีอารมณ์ลบ ๆ เหล่านั้นเช่นกัน เพียงแต่พวกเขาพยายามที่จะตั้งสติ และดึงใจกลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับปัจจุบัน และมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยปัญญา
ใช้ปัญญาพิจารณาดูว่า มีทรัพยากรอะไรเหลือบ้าง มีทักษะอะไรติดมือบ้าง มีโอกาสอะไรแม้เพียงเล็กน้อยบ้าง ที่เขาพอจะหยิบจับมาทำได้เพื่อให้ชีวิตมันผ่านสถานการณ์ตรงหน้านี้ไปให้ได้เสียก่อน
2. ลดหรืองดการเสพข่าวสารในโซเชียลมีเดีย
คุณรู้หรือไม่ว่าข่าวที่คนไทยชอบเสพเป็นอันดับต้น ๆ บนโลกออนไลน์ คือ อะไร?
อ้างอิงจากเครื่องมือวิเคราะห์สถิติสื่อออนไลน์ที่ทีมงาน CEO Channels เคยใช้งาน คำตอบที่ได้คือ ข่าวดราม่า ข่าวร้าย ๆ ข่าวลบ ๆ ซึ่งคนทำอาชีพสื่อสารมวลชนก็น่าจะรู้สถิติตรงนี้เป็นอย่างดี พวกเขาจึงมักเล่นข่าวลบ ๆ มากเป็นพิเศษเพราะพวกเขารู้ว่ามันขายดี
แต่สำหรับฝั่งผู้กำลังมีปัญหาชีวิต ต้องการแก้ปัญหา และต้องการการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ หากไปเสพข่าวลบ ๆ บ่อย ๆ จะมีความเสี่ยงที่คุณจะไม่สามารถมูฟออนชีวิตไปทางใดได้ เพราะคุณจะถูกป้อนข้อมูลในแง่ลบ ไม่ว่าสถานการณ์โลกที่เลวร้าย สถานการณ์ประเทศที่เลวร้าย สถานการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้าย จนไม่กล้าทำอะไร
ถ้าคุณต้องการจะตั้งสติ และกลับมาโฟกัสกับการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ในปัจจุบัน คุณจำเป็นต้องลดหรืองดการเสพข่าวสารลบ ๆ บนโลกออนไลน์ และหันไปหาข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการทำในสิ่งที่คุณอยากทำให้มากกว่า
3. มองโลกตามจริง แต่ไม่ทิ้งความหวัง
คุณเคยได้ยินทฏษฏี Stockdale Paradox หรือไม่ครับ
Stockdale Paradox มาจากเหตุการณ์ของนายทหารอเมริกัน พลเรือโท James Stockdale เป็นหนึ่งในทหารที่ถูกจับตัวอยู่ในค่ายทหารของข้าศึกเวียดนามเป็นเวลา 8 ปี คือ ระหว่างปี ค.ศ. 1965 – 1973
ตลอด 8 ปีแม้จะใช้ชีวิตอย่างทรมานแสนสาหัส แต่เขาก็มีพลังกายพลังใจใช้ชีวิตอยู่รอดมาได้จนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือออกมา ในขณะที่เพื่อน ๆ บางคนตรอมใจตายไปหลายนาย
เมื่อสื่อสัมภาษณ์แนวคิดอันเป็นเหตุให้นายทหารบางคนมีชีวิตจนวันปล่อยตัว พลเรือโท James Stockdale ตอบว่า Faith หรือ ศรัทธา แล้วอะไรเป็นเหตุให้บางคนตรอมใจตายไปเสียก่อน เขาก็ตอบว่า Optimist หรือ ความคิดบวก
ผู้สัมภาษณ์จึงมีความรู้สึกสับสน เพราะทั้ง ศรัทธา และ ความคิดบวก มันน่าจะเป็นอารมณ์ทำนองเดียวกัน คือ เป็นกลุ่มคนที่มีความหวัง คำตอบของท่านพลเรือโทมันจึงฟังดูขัดแย้งจนกลายมาเป็น ทฏษฏี Stockdale Paradox ซึ่งขยายความได้ ดังนี้
คนที่คิดบวก จะผิดหวังเมื่อความหวังของเขาไม่มาถึงตามกำหนดที่คาดหวัง ส่วนคนคิดลบ ไม่ต้องพูดถึง สภาพจิตใจย่ำแย่อยู่แล้ว และทุก ๆ วันเขาจะบอกว่าเขาคิดถูกที่ชีวิตมันหมดหวังแล้วจริง ๆ
ส่วน พลเรือโท James Stockdale มองเหตุการณ์ตามจริงว่าเขาไม่ปฏิเสธว่าเหตุการณ์วันนี้มันเลวร้ายจริง ๆ แต่เหตุการณ์วันนี้มันก็ต้องจบลง และที่สุดสถานการณ์โดยรวมทั้งหมดมันก็ต้องจบลง แม้ไม่รู้ว่าเมื่อไร แต่มันต้องจบแน่ ๆ เพียงแต่วันนี้ คุณต้องมีชีวิตผ่านไปให้ได้ก่อน คุณจึงจะไปเจอวันนั้น
นี่คือการ มองโลกตามจริง แต่ไม่ทิ้งความหวัง ของคุณ James Stockdale
4. จงวางแผน แต่อย่ายึดมั่นในแผน
แนวคิดนี้มีรากฐานมาจากวลี “Plans are worthless, but planning is everything”
แปลว่า แผนการไม่มีประโยชน์ แต่การวางแผนก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง โดย คุณ Dwight Eisenhower (ดไวท์ ไอเสนฮาวเวอร์) ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐฯ และเป็นนายทหารที่เคยผ่านเหตุการณ์วัน ยกพลขึ้นบกสงครามโลกครั้ง 2
สิ่งที่เขาต้องการสื่อ คือ แผนการ จะช่วยให้คุณรู้ว่าต้องไปทางไหน ต้องทำอะไร และจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้คุณสามารถตัดสินใจลงมือทำ
แต่เมื่อคุณลงมือทำไปแล้ว ออกเดินทางบนเส้นทางที่วางไว้ไปแล้ว เหตุการณ์ไม่คาดฝัน และเรื่องผิดแผนมีโอกาสขึ้นตลอดเวลา และการยึดมั่นในแผนโดยไม่ยืดหยุ่นก็ไม่ใช่การกระทำที่ดีเสมอไป
คุณอย่าหงุดหงิดจนเกินไปนักเมื่อบางเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามแผน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มาเปลี่ยนแปลงแผนของคุณ ณ จุดใดมาถึง แผนที่เคยวางไว้ในจุดนั้นก็หมดประโยชน์ สิ่งที่คุณต้องทำ คือ รีบปรับเปลี่ยนแผนงาน
5. ใช้อุบาย ‘ลงมือทำ’ เพื่อหยุดยั้งข้ออ้างที่จะไม่ลงมือทำ
แผนงานก็มีแล้ว แรงบันดาลใจก็มีแล้ว แต่ก็ยังกลัวอยู่ดี ยังไม่สามารถลงมือทำได้จริง ๆ เสียที ปัญหานี้จะแก้อย่างไร
คุณ Joseph Campbell ผู้เขียนหนังสือ A Hero with a Thousand Faces บอกว่า นิยายการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอกต่าง ๆ ก็ล้วนเริ่มต้นจากความรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อจะออกเดินทาง แต่เมื่อพวกเขาก้าวขาออกไปไกลถึงจุดหนึ่ง พวกเขาจะไม่อยากถอยหลังกลับ และต้องมุ่งหน้าต่อไปให้สุดทาง
หากคุณต้องการจะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ มีแผนแล้ว มีแรงบันดาลใจ แต่ยังไม่ลงมือทำ ให้ตัดสินลงมือทำอะไรสักอย่างตามแผน เพื่อสร้างการขับเคลื่อนเล็ก ๆ ให้หมุนก่อน ทำวันละนิด ๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งคุณจะรู้สึกว่าได้ลงทุนแรงกาย และเวลาทำไปขนาดนี้แล้ว จะหยุดก็เสียดาย มีแต่จะต้องเดินหน้าต่อให้ถึงที่สุด
6. บอกกับตัวเองล่วงหน้าว่าจะไม่โทษตัวเองหากล้มเหลว
มนุษย์เกลียดและกลัวความล้มเหลว บางครั้งความล้มเหลวอาจเป็นฝันร้าย หรือเป็นเรื่องจำฝังใจสำหรับบางคน จนพัฒนาไปสู่กลไกป้องกันตัวเองโดยการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปสู่การทดลองสิ่งใหม่ ๆ
ถ้านี่ คือ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คุณไม่ตัดสินใจทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือทดลองแนวทางใหม่ ๆ ในสิ่งเดิม ให้ลองพัฒนาวิธีคิดในการ ให้อภัยตัวเอง และ สัญญาว่าจะไม่โทษตัวเองหากการทดลองนั้นล้มเหลว
จงจำไว้เสมอว่า ทุก ๆ สิ่งที่คุณศึกษา วางแผน และทดลองปฏิบัติออกไป มันล้วนเป็นการเรียนรู้ และประสบการณ์ทั้งสิ่ง ไม่มีอะไรสูญเปล่า ทั้งหมดจะถูกรวบรวมมาเป็นความรู้ให้คุณนำไปพัฒนาตัวเองในก้าวต่อ ๆ ไป
6 วิธีเอาชนะความกลัว ในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต กับ CEO Channels หากคุณชอบเรื่องราวแบบนี้ กดติดตาม CEO Channels เอาไว้ เพื่อจะได้พบกันใหม่ในเรื่องราวถัดไปครับ!