Tomas Gorny

4 บทเรียนจากชายหนุ่มถังแตกสู่การเป็น CEO พันล้าน กับ Tomas Gorny ผู้ก่อตั้ง Nextiva

โทมัส กอร์นี่ (Tomas Gorny) เดิมทีเป็นคนยากจนที่เกิดในประเทศโปแลนด์ ซึ่งเขาได้อพยพเข้ามาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อมาลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ ซึ่งในช่วงสมัยวัยรุ่นนั้น เขาได้เข้าร่วมบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถทำรายได้นับพันล้านบาทมาแล้ว และขายกิจการไป แต่ก็ต้องสูญเสียทุกอย่างไปเนื่องจากนำเงินที่ได้จากการขายกิจการไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอมแตกและเจ๊งไม่เป็นท่า

ต่อมาโทมัส ก็ได้ร่วมก่อตั้งบริษัทใหม่และเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดอีกแห่งที่ชื่อว่า Nextiva ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับระบบการสื่อสารบน Cloud ในเมือง Scottsdale รัฐ Arizona และในตอนนี้เขาก็ต้องดูแลพนักงานอีกกว่า 500 ชีวิตที่กำลังขับเคลื่อนให้กับบริษัทนี้

และนี่คือ 4 บทเรียนที่ทำให้ โทมัส กอร์นี่ (Tomas Gorny) จากชายถังแตกก้าวขึ้นสู่การเป็นเศรษฐีพันล้านอีกครั้ง

บทเรียนที่ 1 อย่าดูถูกดูแคลนและตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก

สมัยที่โทมัสเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ เขามักจะโดนดูถูกดูแคลน ว่าเป็นชาวโปแลนด์ห่วย ๆ คนนึง ที่ทั้งทำตัวงี่เง่า แต่งตัวก็ไม่ได้เรื่อง สำเนียงภาษาอังกฤษก็ยังเพี้ยน ๆ อีกต่างหาก แต่แทนที่เขาจะเก็บคำสบประมาทเหล่านั้นมานั่งเสียใจ เขากลับทำงานให้หนักขึ้น หนักขึ้นและหนักขึ้น จนกระทั่งได้รับความไว้ใจจากคู่ค้าทางธุรกิจและซับพลายเออร์เป็นอย่างมาก

และนั่นมันทำให้เขาพึ่งได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุดในชีวิตกับธุรกิจใหม่จนกระทั่งยืนหยัดกลับมาได้อีกครั้ง

ดังั้น สิ่งที่โทมัสได้เรียนรู้ในครั้งนี้ก็คือ เขาเองก็จะไม่ตัดใจคนอื่นด้วยเพียงการเห็นรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น และทุก ๆ ครั้งที่เขาต้องตัดสินใจที่จะรับใครสักคนเข้ามาทำงานนั้น เขาจะมองลึกลงไปถึงระดับทัศนคติและวัฒนธรรมของบุคคลคนนั้น

บทเรียนที่ 2 อย่ากลัวที่จะล้มเหลว

ก่อนที่โทมัสจะอพภพเข้ามาอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เขาได้เปิดบริษัทเกี่ยวกับการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งเขาเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ตั้งแต่อายุ 17 ปี และขายไปในปี 1996 เพื่อที่จะเงินดังกล่าวใช้ในการอพยพเข้ามาลงหลักปักฐานที่ประเทศสหรัฐฯ แต่เงินที่ได้จากขายกิจการนั้น สามารถใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐฯ ได้เพียง 6-8 เดือนเท่านั้น ซึ่งโทมัสจะจำกัดการใช้จ่ายของตัวเองไว้อยู่ที่วันละ 3 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณวันละ 100 บาท โดยเขาอดทนและทำงานอย่างหนักกับกิจการใหม่ จนในที่สุดเขาก็ขายกิจการนั้นไปในปี 1998

และหลังจากที่เขาขายกิจการที่สองไปและมีเงินสดอยู่มากมาย โทมัสจึงนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ แต่ท้ายที่สุด ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอมแตก ทำให้เขาสูญเสียทรัพย์สินไปเกือบทั้งหมด ซึ่งนับจากวันแรกที่อพยพเข้ามาที่ประเทศสหรัฐฯ นี่ก็ครบ 5 ปี พอดิบพอดี แต่เขาก็พบว่า เขากลับมายังจุดเริ่มต้น ที่แทบไม่เหลืออะไรติดตัวเลยอีกครั้ง

แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ล้มเหลวในครั้งนี้ เขาก็ยังไม่ย่อท้อ และควักเงินเก็บก้อนสุดท้ายประมาณ 6,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 2 แสนบาท) เพื่อก่อตั้งเว็บไซต์เกี่ยวกับ Web-hosting และกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอุตสาหกรรมเดียวกันจนถึงปัจจุบัน

บทเรียนที่ 3 จงเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจากลูกค้าของคุณ

ครูที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการก็คือ “ลูกค้า” เพราะธุรกิจจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ ก็ต่อเมื่อมันสามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี และคนที่จะบอกได้ว่าสินค้านั้นมันดีอย่างไร แก้ไขปัญหาได้อย่างไร นั่นก็คือลูกค้าของคุณนั่นเอง

ในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณจำเป็นที่จะต้องศึกษา เรียนรู้และเข้าถึงปัญหาของลูกค้าว่า จริง ๆ แล้ว ลูกค้าต้องการอะไร ติดปัญหาตรงไหน แล้วจะหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างไร ซึ่งคุณสามารถสอบถามได้โดยตรงจากเสียงของลูกค้าเอง หลังจากที่พวกเขาอุดหนุนสินค้าของคุณไปแล้ว

บทเรียนที่ 4 จงโฟกัสที่การสร้างธุรกิจของคุณให้เติบโต และจงลืมเรื่องเกี่ยวกับการขายกิจการไปซะ

หลังจากที่โทมัสได้เรียนรู้จากการที่เขาเคยประสบความสำเร็จ แล้วล้มเหลว แล้วกลับมาสำเร็จได้อีกครั้งหนึ่งนั้น เขาบอกว่ามันไม่ได้เป็นการโฟกัสที่เรื่องเงิน เพราะในช่วงที่เขาเกือบเจ๊งในภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอมแตก นั้น เขาโฟกัสที่เรื่องเงินและการขายกิจการเพียงอย่างเดียว แต่ในขณะที่ตอนนี้ เขาโฟกัสไปที่การส่งมอบคุณค่าที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ไม่ใช่ว่าจะต้องกอบโกยจากลูกค้าได้เท่าไหร่ แต่ให้คิดกลับกันว่า คุณค่าที่เราส่งมอบให้ลูกค้านั้นยิ่งสูงเท่าไหร่ ผลตอบแทนที่กลับคืนมาก็ยิ่งสูงตามขึ้นไปด้วย และโทมัสเองก็เชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้เขากลับมายืนอย่างสง่างามได้อีกครั้งหนึ่งก็คือการโฟกัสที่ทำให้กิจการเติบโตและทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด

โทมัสยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ธุรกิจที่พึ่งพาแหล่งเงินจากภายนอก มักจะถูกกดดันและนำพาไปสู่เส้นทางที่จะต้องขายกิจการเพื่อทำกำไรให้กับเจ้าของเงินได้มากที่สุด จึงทำให้ไม่ได้โฟกัสไปที่การทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงสักเท่าไหร่นัก เพราะการพึ่งพาเงินจากนักลงทุนมากเกินไป คุณก็อาจจะสูญเสียการควบคุมและความเป็นตัวตนของบริษัทไป เพียงเพื่อจะทำให้นักลงทุนพอใจมากที่สุด

แต่สุดท้ายแล้ว มันขึ้นอยู่กับคุณ เพราะหากคุณโฟกัสที่การสร้างธุรกิจมาเพื่อขายกิจการ มันเป็นคนละเส้นทางกับการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง ท้ายที่สุดแล้ว คุณก็จะเห็นความแตกต่างที่ปลายทางด้วยตัวคุณเอง

ถ้าคุณต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่าไล่ล่าตามเงิน
แต่จงสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

– Tomas Gorny –
CEO and Founder of Nextiva

 

ที่มา: Entrepreneur.com