อ.เปี่ยมศักดิ์ โค๊ชนักเขียนและหลักคิดการทำงานแบบสามก๊ก

ผมมีโอกาสเจอ อาจารย์เปี่ยมศักดิ์ ตอนไปร่วมเป็น Guest speaker ในงานสัมมนาแห่งหนึ่งและมีโอกาสได้ไปร่วมเป็น Guest ในงานสัมมนา เขียนเฟซบุ๊กให้เป็นเงิน ที่อาจารย์เปี่ยมศักดิ์ ได้จัดขึ้น ความโดดเด่นคือการถ่ายทอดหลักบริหารผ่านมุมมองแบบสามก๊ก วันนี้ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ เปี่ยมศักดิ์ มาแบ่งปันความรู้ทั้งหลักคิดการทำงานและหลักคิดสำหรับคนอยากเป็นนักเขียนครับ

1. แนะนำตัวอย่างเป็นทางการครับ 

1509985_10153111519179208_7436590418759612500_nสวัสดีครับผม เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเขียน วิทยากรและนักเขียน สำหรับผลงานที่เป็นระดับอมตะคือ สามก๊กฉบับอ่านคนผ่านกลศึก, เล่าเรื่องสามก๊กฉบับคนรุ่นใหม่, CEOในสามก๊ก ขณะนี้ผลงานล่าสุดคือ สามก๊กฉบับเจนวาย, บทเรียนความพ่ายแพ้ของผู้นำในสามก๊ก

2. อาจารย์ เปี่ยมศักดิ์ มีผลงานเขียนเยอะมากและมีการตั้งชื่อหนังสือได้อย่างน่าซื้อ แต่ผมเชื่อว่ากว่าจะถึงวันนี้ ทุกคนต้องมีจุดที่เรียกว่า ‘เริ่มจากศูนย์’ และ ‘ก้าวแรก’?

หลายคน Start ที่ศูนย์
แต่ของผมเริ่มต้นที่ลบสองล้านไม่ใช่ 0 เหมือนคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมต้องขยันมากกว่าคนอื่น

การเขียนหนังสือเป็นงานที่สอดคล้องกับอาชีพเดิมของผมคือนักข่าว
ทั้งยังหนุนเสริมความรู้ของเราให้มากยิ่งขึ้น
อาชีพนักเขียนตอบโจทย์ชีวิตผมที่สุด

จุดเริ่มต้นของผมคือความฝัน
อยากเป็นนักเขียนและอยากมีรายได้ที่มากพอจะใช้หนี้ได้หมด
จึงเขียนต้นฉบับสามก๊กชื่อว่า
บริหาร SMEs ด้วยกลยุทธ์สามก๊กและส่งสำนักพิมพ์
เขาเห็นเรื่องน่าสนใจจึงรับพิมพ์

ถือว่าโชคดีที่เขาไม่ปฏิเสธเพราะสมัยก่อนงานผ่านยากมาก
นักเขียนใหม่ส่วนใหญ่กว่าจะได้ตีพิมพ์บางคนก็เกือบถอดใจ
เพราะท้อกับการถูกปฏิเสธแบบไร้ไมตรี

3. หนังสือหลายเล่มมี Theme สามก๊กด้วย อะไรเป็นสาเหตุให้จับ Theme นี้มาผูกกับหลักบริหารยุค 2015?

สามก๊กไม่เคยแก่ สามก๊กไม่เคยชรา
ที่สำคัญสามก๊กคือวรรณกรรมอมตะ
วรรณกรรมนี้สะท้อนให้เราเห็นความเป็นจริงของมนุษย์
1,600 ปีผ่านไปมนุษย์ก็เหมือนเดิม
นิยมชมชอบในอำนาจวาสนา
อยากร่ำรวยเงินทอง
จนต้องเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนผู้อื่น
ยอมขายแม้กระทั่งคุณธรรมความเป็นคนเพื่อความสำเร็จ

การศึกษาสามก๊กคือการศึกษาคน
หลักการบริหารยุคใหม่สำคัญที่บุคลากร
นี่คือความสัมพันธ์
เจ้านายอยากให้ลูกน้องภักดี
ลูกน้องอยากให้เจ้านายรัก
นี่คือหลักบริหารความสัมพันธ์ที่ทำให้สามก๊กไม่เก่าเลย
สามก๊กจึึงนำมาปรับใช้ในการบริหารคน
เพื่อให้เราสามารถอ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น

4. อาจารย์ ยังเป็นโค๊ชให้กับนักเขียนด้วย ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ว่า ทำไมจึงหันมาปั้นนักเขียน และมีกระบวนการอย่างไร และผลงานนักเขียนเด่นๆภายใต้การโค๊ชของอาจารย์

ผมมีผลงานเกือบ50 เล่มแล้ว
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็เพราะงานเขียน
ผมจึงต้องการที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ให้กับสังคม

จึงตั้งสถาบันพัฒนาการเขียนขึ้นมา
สถาบันดังกล่าวมีหลายหลักสูตรอาทิ
สู่นักเขียนขั้นพื้นฐานซึ่งเปิดมาแล้ว15 รุ่น

เน้นผู้ที่ไม่เคยเขียนให้มาฝึกเขียนเพื่อค้นหาตนเอง
บางคนผ่านคอร์สนี้้้ก็เป็นนักเขียนได้เลยอาทิ
ยศไกร ส.ตันสกุล, หมอกิม ธีรพงษ์ เศรษฐิวัฒน์ ฯลฯ

หลักสูตรเป็นนักเขียนใน1 เดือน เปิดมาแล้ว5 รุ่น
เป็นคอร์สปั้นนักเขียนโดยเฉพาะ
ที่ผ่านมาปั้นนักเขียนได้หลายคนอาทิ
นายแพทย์วิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์โรงพยาบาลนครธน
คุณอ๊อด พานแดง นักธุรกิจผู้วางระบบน้ำ
คุณเกียรติรัตน์ จินดามณี เจ้าของเครื่องสำอางปันสวย
อ.น้ำตาล อินโนเวท, คมกฤช อารีย์, ณัช มัศโอดีน ฯลฯ

หลักสูตรเขียนเฟสให้เป็นเงิน เปิดมาแล้ว1 รุ่น
เป็นคอร์สที่ถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย
เน้นพัฒนาทักษะการเขียน การสร้างแบรนด์
เพื่อพัฒนาให้นักเขียนเป็นมากกว่านักเขียน
โดยเน้นการสร้างผู้ประกอบการบนฐานความรู้

การปั้นนักเขียนแต่ละคนสิ่งสำคัญคือเราต้องวิเคราะห์พื้นฐาน ผมแยกเป็น4กลุ่มตามทักษะ

1.มีความรู้มีทักษะการเขียนที่ดี แค่โค้ชนิดเดียวก็สำเร็จ
2.มีความรู้แต่พื้นฐานการเขียนหรือทักษะการเขียนยังไม่แน่นผมจะเติมเทคนิคการเขียนเข้าไป
3.มีทักษะการเขีียนที่ดีแต่ไม่มีองค์ความรู้ ผมจะพัฒนาทักษะการเชื่อมโยงความรู้และความคิด
4.ความรู้ไม่มีและทักษะการเขียนน้อย จำเป็นต้องปรับทั้ง2ด้านให้พัฒนาควบคู่

5. อาจารย์มองตลาดการเขียนเป็นอย่างไร กำลังเป็นไปในทิศทางใด และนักเขียนต้องปรับตัวอย่างไร

ประเด็นแรกผมมองว่าอนาคตการเป็นนักเขียนจะง่ายขึ้น
เหมือนการเป็นดาราในวงการบันเทิง
เนื่องจากสังคมออนไลน์ นักเขียนเข้าถึง บก.สำนักพิมพ์ ได้ง่ายขึ้น
นักเขียนสามารถเขียนผลงานผ่านเฟสบุ๊คหรือบล็อกต่างๆ
เพื่อสร้างแฟนคลับหรือกลุ่มคนอ่านได้ง่าย
นักเขียนคนไหนมีแฟนคลับเยอะก็มีผลงานได้ง่าย
แต่จะยั่งยืนหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นที่สองปรับตัวอย่างไร
อาชีพนี้คู่แข่งเยอะ
แต่ก็ยังมีช่องว่างให้คนเก่งหรือคนที่แบรนด์แกร่ง
ได้ยืนผงาดเป็นดาวค้างฟ้า
ฉะนั้นนักเขียนต้องสร้างแบรนด์ให้แกร่ง
เพื่อให้นักอ่านจดจำให้ได้มากที่สุด

นอกจากแบรนด์
สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือนักเขียนต้องยกระดับตนเอง
จากนักเขียนธรรมดาที่ขายต้นฉบับ
ให้กลายเป็นขายความรู้ สามารถต่อยอดออกProduct อื่นๆอาทิ
สัมมนา, CD, VCD ,หนังสือเสียง

6. คนอยากเขียนกันเยอะมาก ฝากคำแนะนำ 3 ข้อสำหรับคนอยากมีผลงานเขียน

ผมเชื่อว่าการเขียนเป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ผมมั่นใจว่า
ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้ ขอเพียงทำตามคำแนะนำนี้

1.หาตนเองให้พบว่าชอบสิ่งใด ถนัดสิ่งใด
2.เขียนเลยครับเขียนลงเฟสบุ๊คไม่ต้องรอความพร้อม
3. เขียนทุกวันลงเฟสบุ๊ค เขียนจนกว่าคนอ่านจะจำคุณได้

7. อาจารย์ มีงานเขียนและงานบรรยายสำหรับผู้บริหารเยอะมาก อยากให้ฝาก 3 ข้อคิดสำคัญสำหรับคนที่กำลังจะก้าวเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจใหม่ (CEO/ Startup)

ในฐานะที่ผมสร้างธุรกิจโดยเริ่มต้นจากศูนย์
สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจไม่ใช่แค่เงิน!
แต่มาจากทุน 3ทุน

1.ทุนทางปัญญา
2. ทุนทางคอนเน็คชั่น
3.ทุนทางจิตใจ

สำหรับนักธุรกิจใหม่ผมถือว่าทุนทั้ง3 สำคัญมากในยุคนี้
ทุนทางปัญญาทำให้คุณแตกต่างและโดดเด่นจากคนอื่น
ทุนทางคอนเน็คชั่นทำให้คุณมีแนวร่วมที่แข็งแกร่ง มีคนช่วยเหลือและสนับสนุน
ทุนทางจิตใจจะทำให้คุณไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ล้มแล้วก็ลุกได้
เมื่อเข้าใจแล้วผมมีคำถาม 3 เรื่องในการตรวจเช็คทุนทั้ง3

1.ค้นหาว่าเรามีทุนดังกล่าวหรือไม่
2.ถ้ามีแล้วต้องชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่
3.สามารถต่อยอดได้หรือไม่

หากทุนทั้ง3 ของคุณเจ๋งจริง

ไม่ว่าจะทำการสิ่งใดย่อมประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน