การบริหารเวลา

15 เคล็ดลับในการจัดสรรเวลาเพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

หนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วนั่นก็คือ ทักษะในการจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากขาดการจัดสรรเวลาที่ดีไปแล้ว แม้ว่าคุณจะมีความสามารถที่เก่งกาจแค่ไหน ก็จะทำให้คุณต้องพบกับความวุ่นวายและลำบากไม่รู้จบ

และความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ เวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเท่ากันตั้งแต่กำเนิด ทุก ๆ คนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน ไม่ว่าจะเกิดมา ยาก ดี มี จน ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศใด ทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมด ดังนั้นหากคุณสามารถบริหารเวลาที่มี และใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดแล้ว สิ่งนี้จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ซึ่งหากคุณได้ศึกษาประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จแล้ว คุณจะทราบว่าทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นนักบริหารจัดการเวลาที่ดีเยี่ยม และทุกคนจะสามารถวางแผนทำกิจกรรมอะไรหลาย ๆอย่างได้ใน 1 วัน ในขณะที่คนอื่นอาจจะต้องใช้เวลาทั้งสัปดาห์ ต่อไปนี้เป็น 15 เคล็ดลับที่จะทำให้คุณสามารถบริหารเวลาได้อย่างคนที่ประสบความสำเร็จ

1. ตั้งเป้าหมายให้เป็น

ใช้หลักการ SMART ในการตั้งเป้าหมาย ซึ่ง SMART ในที่นี้ ประกอบด้วย 5 วิธี ดังนี้

1.1 S = Specific คือ เฉพาะเจาะจง – เมื่อความฝันที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมาย คือการเพ้อฝัน และการกำหนดเป้าหมายที่จับต้องไม่ได้ ก็เป็นเพียงแค่ความอยากเท่านั้น ดังนั้นการจะกำหนดเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง คุณควรที่จะเขียนมันลงไปในกระดาษ และจะให้ดีที่สุดควรจะเป็นสมุดบันทึกดี ๆ สักเล่ม โดยต้องเขียนให้ชัดเจนลงไปเลยว่าคุณต้องการบรรลุเป้าหมายอะไร ไม่ใช่แค่เขียนลอย ๆ ว่า ฉันจะต้องรวย หรือ ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ แต่มันจะต้องเป็นจำนวนที่แน่นอน เช่น ฉันจะต้องมีเงิน 10 ล้านบาทในบัญชี หรือ ฉันจะต้องลดน้ำหนักให้เหลือ 45 กิโลกรัมให้ได้ ซึ่งการกำหนดแบบเฉพาะเจาะจงนี้จะช่วยเพิ่มพลังในการตั้งเป้าหมายของคุณอย่างมาก

1.2 M = Meaningful คือต้องมีความหมาย – อย่าตั้งเป้าหมายเพียงผิวเผิน คุณจะไม่มีทางทำสำเร็จถ้าเป้าหมายของคุณเป็นเพียงเป้าหมายแบบผิวเผิน ซึ่งเป้าหมายที่มีความหมายนั้นหมายถึง คุณต้องตระหนักรู้ว่า คุณต้องบรรลุเป้าหมายนั้นไปเพื่ออะไร และเมื่อคุณรู้ว่าต้องบรรลุเป้าหมายเพื่ออะไรแล้ว สิ่งนั้นจะช่วยพยุงคุณไว้เมื่อคุณพบเจอกับอุปสรรค และจะช่วยผลักดันให้คุณเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆได้ เช่น ฉันต้องมีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท เพื่อปลูกบ้านให้พ่อกับแม่ หรือฉันต้องลดน้ำหนักให้เหลือ 45 กิโลกรัมให้ได้เพื่อสุขภาพที่ดีและโอกาสดี ๆ ในชีวิต ซึ่งการมีความหมายนี้เป็นเหตุผลให้คุณยืนหยัดที่จะต่อสู้

1.3 A = Achievable คือสำเร็จได้ – ตั้งเป้าหมายที่คุณสามารถทำให้สำเร็จได้ เช่น ถ้าคุณมีหนี้อยู่ 1ล้านบาท การที่คุณตั้งเป้าหมายว่า ฉันจะต้องมีเงินในบัญชี 1 พันล้านบาทให้ได้ แบบนี้ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคุณเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ก่อนเช่น มีหนี้อยู่ 1 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าจะต้องเคลียร์หนี้ก้อนนี้ให้หมดภายใน 1 ปี แบบนี้เป็นไปได้ ซึ่งระหว่างทางคุณยังสามารถมีแรงกระตุ้นได้ โดยทั่วไปแล้วเมื่อเริ่มต้นควรเป็นเป้าหมายระยะสั้นที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี หลังจากที่ทำสำเร็จแล้วค่อย ๆ ขยายออกไปเป็น 2 ปี 5 ปีและ 10 ปีตามลำดับ

1.4 R = Relevant คือมีความเกี่ยวข้อง – การตั้งเป้าหมายต้องมีความเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับตัวคุณ ซึ่งควรจะสอดคล้องกับแนวความคิดหรือค่านิยมของคุณด้วย เพราะถ้าหากเป้าหมายไม่สอดคล้องกับแนวคิดของคุณแล้ว ก็มีโอกาสสูงมากที่คุณจะล้มเลิกกลางครัน เช่น ถ้าคุณเชื่อว่า คนรวยไม่ดี มีแต่คนเอาเปรียบ เช่นนี้คุณจะพยายามทำตัวเองให้ร่ำรวยขึ้นได้อย่างไร หรือถ้าคุณเชื่อว่าผู้ชายเจ้าชู้ทุกคน แล้วคุณจะตั้งเป้าหมายว่าความสัมพันธ์ของคู่ของคุณจะต้องดีขึ้นได้อย่างไร หรือถ้าคุณเชื่อว่าการควบคุมอาหารอย่างเดียวไม่สามารถลดน้ำหนักได้ คุณจะเริ่มลดน้ำหนักได้อย่างไร ถ้าคุณปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับความเชื่อหรือค่านิยมของคุณได้ โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายก็มีมากขึ้น

1.5 T= Time-Based คือ มีกำหนดเวลา – เป้าหมายที่ไม่มีการกำหนดเวลาเป็นแค่เป้าหมายลอย ๆ ซึ่งกำหนดเวลาในที่นี้หมายถึงเส้นตาย เส้นสุดท้าย พ้นจากเส้นนี้คือทำไม่ได้ ดังนั้นการกำหนดเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นคุณกำหนดเวลาว่า จะต้องมีเงิน 10 ล้านบาทในบัญชีให้ได้ ภายใน 2 ปี ก็แปลว่า ค่าเฉลี่ยคือ มี 5 ล้านภายใน 1 ปี หรือ 2.5 ล้านใน 6 เดือน หากผ่านไป 6 เดือนแล้วทำได้แค่ 2.5 แสน คุณต้องพิจารณาแล้วว่า เป้าหมายของคุณใหญ่เกินไป หรือวิธีการที่ทำมามันผิดกันแน่ คุณสามารถแบ่งซอยเป้าหมายออกเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายวันได้ ยิ่งแบ่งย่อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้บรรลุเป้าหมายง่ายขึ้นเท่านั้น

– เหมือนที่ขงจื้อกล่าวว่า หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ก็ปรับเปลี่ยนที่เป้าหมาย ไม่ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการ –

2. จัดลำดับความสำคัญให้ได้

ใช้หลัก สำคัญ และแร่งด่วน โดยแบ่งออกเป็น 4 อย่างดังนี้

2.1 งานสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งหากละเลยไม่ทำจะส่งผลเสียอย่างมาก งานแบบนี้ควรทำก่อนเป็นงานแรกในทุก ๆ วัน ซึ่งเราทุกคนน่าจะรู้และตัดสินใจกันไม่ยาก

2.2 งานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่น การออกกำลังกาย รู้ว่าสำคัญ แต่ไม่ค่อยจัดสรรเวลามาทำ หรือการใช้เวลากับครอบครัว พ่อ แม่ หรือภรรยาและลูก ๆ ซึ่งงานเหล่านี้ หากละเลยปล่อยไว้ไม่ได้ทำนาน ๆ ก็จะส่งผลเสียเช่นกัน เช่น ไม่ออกกำลังกายทำให้ร่างกายทรุดโทรม ป่วยง่าย ไม่ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว คนในครอบครัวก็ห่างเหิน เกิดปัญหาตามมาไม่รู้จบ งานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนจึงควรถูกจัดสรรเวลาให้ทำอย่างน้อย 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งควรอยู่ในแผนและต้องทำให้ได้

2.3 งานไม่สำคัญแต่เร่งด่วน งานเหล่านี้มักถูกจัดให้ความสำคัญก่อนงานที่ 2 เสียอีก เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นงานแทรก งานด่วนของคนอื่น ซึ่งเราต้องพิจารณาว่า หากไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของเรา หรือไม่อยู่ในแผนแล้ว ก็ควรปฏิเสธงานเหล่านี้ไปบ้าง

2.4 งานไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน ส่วนใหญ่เราจะเสียเวลาไปกับงานเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว เช่นการคุยโทรศัพท์ การตามข่าวดารา ตามข่าวดราม่า หรือเช็คอีเมล เช็คหน้าฟีด Facebook สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวขโมยเวลาของเราในทุก ๆ วัน และเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ต้องตัดออกจากแผนงานให้เร็วที่สุด

3. วัดผลเป็นรายสัปดาห์

คุณควรทำการประเมินตนเองในทุก ๆ สัปดาห์ ว่าคุณกำลังทำอะไรและใช้เวลาไปเท่าไหร่แล้ว บันทึกลงในสมุดบันทึกหรือในโทรศัพท์ของคุณ โดยอาจจะบันทึกสิ่งที่ทำในทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง ว่าคุณทำอะไรได้บ้าง โดยใช้ระบบ ความสำคัญและความเร่งด่วน ช่วยบันทึกในสิ่งที่ทำ แล้วพอครบ 7 วันคุณก็นำสิ่งเหล่านี้มาประเมินตัวเองว่า ได้ทำในสิ่งที่สำคัญเร่งด่วนหรือสิ่งอื่น ๆ ไปมากน้อยแค่ไหน และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอะไร

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นช่วยในการวางแผนจัดการเวลามากมาย เช่น  TopTracker หรือ RescueTime ซึ่งคุณสามารถกำหนดสิ่งที่ต้องทำและช่วงเวลาสิ้นสุด รวมไปถึงการประเมินผลว่าสามารถบรรลุเป้าหมายไปได้กี่เปอร์เซ็นแล้ว โดยสามารถแยกย่อยงานที่ต้องทำได้ ซึ่งจะแตกต่างจากที่เรากำหนด To do List เพราะการตั้งเป้าหมายในแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ จะมีการแจ้งเตือนเมื่อหมดเวลาหรือครบกำหนดตามที่เราตั้งไว้ และเราสามารถตั้งเป้าหมายและรายละเอียดงานที่ต้องทำได้อย่างละเอียด ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้มีทั้งแบบใช้ฟรีและแพ็กเกจที่เสียเงิน

4. ใช้เวลาช่วงเช้าไปกับสิ่งที่สำคัญที่สุด

Mark Twain เคยกล่าวว่า “ถ้าคุณจะต้องกินกบคุณก็ควรกินมันตั้งแต่ตอนเช้าและถ้าคุณต้องกินกบถึง 2 ตัวคุณก็ต้องกินกบตัวที่ใหญ่ที่สุดก่อน” หมายความว่า คุณควรจัดการงานที่สำคัญที่สุด มาอยู่ในลิสต์เป็นอันดับแรก ในทุก ๆ เช้า แน่นอนมันอาจจะเป็นงานที่ยาก และเกือบจะกินเวลาไปทั้งวัน แต่เมื่อคุณฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัยแล้ว คุณจะเลิกผัดวันประกันพรุ่ง และจะพร้อมวิ่งเข้าชนกับปัญหาหรืองานยากๆก่อนเป็นอันดับแรก

5. ใช้กฎ 80/20

กฎ 80/20 หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฎของ Pareto (พาเรโต) ซึ่งเราจะใช้เวลา 80% ไปกับเรื่องไร้สาระ ในขณะที่ใช้เวลา 20% ไปกับงานที่สำคัญ ดังนั้นหากเราต้องการบริหารจัดการเวลาให้ได้ เราควรแยกให้ออกว่า เราจะใช้เวลา 80% ไปทำในสิ่งที่จะสร้างรายได้ หรือสร้างภาระ และเวลา 80% ที่ใช้ไปนั้น สร้างผลงานที่มีคุณค่าได้ถึง 20% ของการบรรลุเป้าหมายในแต่ละวันหรือไม่

6. ปลูกฝังนิสัยหลักในชีวิตของคุณ

คุณควรจะเริ่มต้นปลูกฝังนิสัยดี ๆ หรืออย่างน้อยคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละน้อย เช่น

  • หัดตื่นเช้า เพื่อมาออกกำลังกาย คุณจะได้ทั้งการตื่นเช้าและมีเวลาออกกำลังกาย
  • เริ่มทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเริ่มตั้งแต่มื้อเช้า เป็นอาหารแบบคลีนฟู๊ด คุณจะได้ฝึกการทานอาหารเช้า(ซึ่งสำคัญ) พร้อมกับการควบคุมอาหารและควบคุมน้ำหนักไปในตัว
  • ฝึกเดินขึ้นบันไดในออฟฟิศแทนการใช้ลิฟท์
  • ฝึกทำบัญชีรับจ่าย และเขียนรางวัลให้กับตัวเองในแต่ละเดือน เช่นถ้าเดือนนี้สามารถทำได้ตามเป้าหมายฉันจะซื้อกระเป๋าเป็นของขวัญให้ตัวเอง แต่ถ้ายังทำไม่ได้ก็จะไม่ซื้ออะไรที่ฟุ่มเฟือยเลย

การค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ จะช่วยสร้างเสริมนิสัยที่ดีให้กับคุณในขณะเดียวกันก็จะช่วยขจัดนิสัยที่ไม่ดีออกไปด้วย

7. กำหนดเวลาในการตอบสนองอีเมล

การเช็คอีเมลเป็นงานที่เสียเวลาที่สุด หลายครั้งเราจะเจออีเมลที่ไม่ได้สำคัญอะไร หากมีธุระหรืองานด่วน ควรต้องเลือกที่จะติดต่อกันด้วยช่องทางอื่น การติดต่อกันผ่านอีเมล แม้จะเป็นพุชเมลเข้ามาในมือถือก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการโต้ตอบแบบทันที (Instant)  เพราะอีเมลก็ยังเป็นจดหมาย และจดหมายต้องมีการเรียบเรียงตรวจทานในการเขียน ดังนั้นคุณควรจัดเวลาในการเช็คอีเมล อาจจะเป็นช่วงเช้าก่อนเข้างาน หรือไม่ก็ช่วงเย็นก่อนเลิกงาน ไม่ควรใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเช็คเมลหรือตอบเมล ซึ่งจะทำการรบกวนสมาธิในการทำงานของคุณเปล่า ๆ

8. ขจัดนิสัยที่ไม่ดี

เล่นโทรศัพท์บนที่นอน, ล่องลอยบนอินเทอร์เน็ตเข้าเว็บนู้นออกเว็บนี้, เช็คโทรศัพท์ขณะกำลังคุยกับคนอื่น, รับปากส่งเดชทั้งๆที่ควรพูดว่าไม่, คิดถึงแต่สิ่งที่เป็นกังวล หรือคนที่ทะเลาะด้วย, ทำงานหลายอย่างระหว่างประชุม, ตั้งวงนินทาหรือเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างนิสัยที่ไม่ดี ที่คุณควรรีบกำจัดทิ้งอย่างเร่งด่วน หากต้องการบริหารเวลาเพื่อประสบความสำเร็จ

9. หยุดพักบ่อย ๆ ในเวลาทำงาน

อาจจะดูขัดกับความคิดที่อยากประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว / ทำไมไม่วิ่งทีเดียวให้จบ? การหยุดพักจะไม่เสียเวลาจริง ๆหรือ? ในความเป็นจริงการที่จะมีจุดพักเบรกบ้างเป็นเรื่องที่ดี มีงานวิจับค้นพบว่า การที่ให้สมองได้พักบ้าง จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการทำงานโดยไม่พักเลย แต่ก่อนที่คุณจะพักด้วยการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น Facebook ขอให้อ่านตรงนี้ให้จบก่อน หัวใจของเคล็ดลับข้อนี้คือ คุณต้องแบ่งงานที่คุณต้องทำออกเป็นงานย่อยๆ และงานย่อยเหล่านั้นต้องสามารถทำเสร็จได้ ภายในเวลา 25 นาที และใช้เวลาพักเบรก 5 นาที หรืองานนั้นสามารถทำเสร็จได้ใน 50 นาที และคุณใช้เวลาพัก 10 นาที ทำแบบนี้วนรอบไปจนครบ 8 ชั่วโมง(รอบการทำงานใน 1 วัน) และระหว่างการพัก คือต้องพักจริง ๆ ไม่ใช่พักแล้วเล่นโทรศัพท์ พักแล้วอ่านพันทิป แต่คือพักสายตา พักสมอง ปล่อยจิตใจให้โล่ง และสังเกตดูว่าประสิทธิภาพการทำงานของคุณจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

10. นั่งสมาธิหรือออกกำลังกายทุกเช้า

อย่างที่บอกไป การฝึกนิสัยที่ดี อย่างหนึ่งคือการตื่นเช้า ซึ่งหากคุณตื่นเช้าได้ คุณจะมีเวลาเพิ่มมากขึ้น เวลาที่ได้เพิ่มมาคุณควรทำสิ่งที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน อย่างการฝึกสมาธิหรือออกกำลังกาย ซึ่งหากคุณสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานของคุณ จะดีขึ้นในทุก ๆ วัน

11. ทำ To do list ในตอนเย็น เพื่องานสำหรับพรุ่งนี้

หากคุณได้ฝึกฝนทุกอย่างในเคล็ดลับก่อนหน้านี้มาแล้ว To do list อันใหม่ของคุณนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะก่อนที่จะเขียนลงไปนั้น คุณจะสามารถแบ่งงานที่สำคัญเร่งด่วนและสำคัญไม่เร่งด่วนไว้ได้แล้ว และด้วยการแบ่งช่องเวลาโดยมีจุดพักเบรกเป็นตัวขั้น คุณจะสามารถบริหารเวลาของคุณได้ดียิ่งขึ้น เคล็ดลับอีกอย่างคือ การวัดผลของ To do list ในแต่ละวัน ว่าสมารถทำไปได้กี่ข้อ หากมีข้อที่ทำไม่ได้ ต้องรู้ด้วยว่าเพราะอะไร และพยายามปรับแผนงานให้ดีขึ้น

12. หาแรงบันดาลใจเมื่อคุณรู้สึกเบื่อ

จัดเวลาว่าง(ที่ว่างจริง ๆ) เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ ในวันที่ไฟของคุณมอดดับ ไม่ว่าจะใน YouTube หรือ TED Talks เพราะเป็นธรรมดาที่เมื่อเดินทางไปไกล ๆ ก็จะต้องมีเหนื่อย มีเบื่อ มีท้อกันบ้าง  ลองค้นหาเรื่องเล่าหรือแรงบันดาลใจอื่น ๆ จากคนที่ประสบความสำเร็จแล้วมาช่วยให้คุณมีไฟลุกโชนอีกครั้ง

13. หาพี่เลี้ยง หรือ Mentor มาเป็นที่ปรึกษาให้คุณ

ค้นหาคนที่ประสบความสำเร็จแล้วและเป็นมิตรกับคุณ เพื่อขอให้เค้าเป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ชให้กับคุณ ซึ่งโค้ชนี้จะช่วยให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น เนื่องจากประสบการณ์ของเขาที่เคยผ่านสิ่งที่หนักหน่วงกว่าคุณมาแล้ว Mentor เหล่านี้จะช่วยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้กับคุณได้

14. ปิดการแจ้งเตือนแอปโซเชียลมีเดีย

การแจ้งเตือนจากโซเชียล ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ ไม่จำเป็นจะต้องรับการแจ้งเตือนทุกครั้ง หรือรับรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเพื่อนของคุณ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องไปถึงเป้าหมายให้ได้

15. จัดระเบียบและทำความสะอาด

การที่โต๊ะทำงานรก ไม่เป็นระเบียบ มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมาก มันจะทำให้เราสูญเสียโฟกัส และทำให้เราเสียเวลาในที่สุด ซึ่งคุณหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการจัดระเบียบของทุกอย่างบนโต๊ะ และเริ่มต้นจากงานเล็ก ๆ ก่อน อย่าทำทุกอย่างพร้อม ๆ กัน ด้วยโมเมนตัมที่คุณสร้างขึ้น จะส่งผลให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่วางแผนไว้


และหากคุณชอบใน Content ที่ทาง CEO Blog ได้นำเสนอ ในเร็ว ๆ นี้ ทาง CEO Blog ของเรานั้น กำลังจะมีโปรเจค CEO Premium Content ซึ่งเป็น Content ด้านการค้าปลีกออนไลน์ แบบพรีเมี่ยม ที่หาอ่านไม่ได้บน Blog ปกติของ CEO Blog โดยจะเปิดรับสมัครสมาชิกพรีเมี่ยมในเร็ว ๆ นี้

หากคุณไม่อยากพลาด Content ระดับ Premium สามารถลงทะเบียนเพื่อรับแจ้งข่าวสารได้ที่นี่ก่อนใครเลยครับ รับรองได้เลยว่ามันเป็น Content ระดับพรีเมี่ยมในราคาที่คุ้มสุด ๆ อย่างแน่นอน >>> ลงทะเบียนรับข่าวสารที่นี่ก่อนใครceo premium content

Resources: