VIDEO : โน้ตบุ๊คเครื่องเดียวหาเงินยังไงดี; ห้ามตอบว่า ‘ขายของออนไลน์’!

โน้ตบุ๊คเครื่องเดียวหาเงินอย่างไร… โดยมีข้อแม้ห้ามตอบว่า ‘ขายของออนไลน์’

อยากสร้างรายได้ ต้องการหาเงินออนไลน์ แต่ไม่ชอบขายของจะทำได้ไหม? คำตอบ คือ ได้แน่นอน! ไปพบกับ 5 โมเดลหาเงินออนไลน์ ที่ไม่ใช่การขายของทั่ว ๆ ไป เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีหัวการค้า, คนโลกส่วนตัวสูง, คนที่ไม่ชอบคุยกับใคร, ไม่ต้องออกมาไลฟ์เฟซบุ๊ค, ไม่ต้องคุยขายสินค้าทางแชท, ไม่ต้องมีการสต็อก, ไม่ต้องแพ็ก และไม่ต้องส่งสินค้าใด ๆ ฟังดูเหลือเชื่อ แต่วิธีหาเงินแบบนี้มีจริง — ทำอย่างไรไปฟังกัน

==========

Video script

มีโน้ตบุ๊คเครื่องเดียวหาเงินอย่างไร… โดยมีข้อแม้ห้ามตอบว่า ‘ขายของออนไลน์’

ท่านใดไม่มีหัวการค้า ไม่ชอบขายของ ไม่ชอบคุยกับคนจำนวนมาก หรือ แม้แต่เป็น Introvert วีดีโอนี้มีแนวทางให้ครับ

ไอเดียหาเงินออนไลน์ขั้นพื้นฐานที่สุด คือ ขายของออนไลน์ ดังนั้น เมื่อหันไปทางไหนก็มีแต่คนขายของออนไลน์ จนวันนี้ไม่รู้จะขายอะไรดี เพราะใคร ๆ ก็ขายของเหมือน ๆ กันหมด

โจทย์ คือ ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบขายของ — บางคนไม่มีหัวการค้า , บางคนก็โลกส่วนตัวสูง, บางคนเป็น Introvert, เป็นสาย Nerd, ไม่ชอบคุยกับใคร เมื่อความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วทำไมจะต้องมาทำอะไรเหมือน ๆ กัน? มีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ขายของออนไลน์หรือไม่ ไม่ต้องไลฟ์เฟซบุ๊ค ไม่ต้องคุยขายสินค้าทางแชท มีวิธีหาเงินออนไลน์โดย ไม่ต้องมีการสต็อก ไม่ต้องแพ็ก และไม่ต้องส่งสินค้าใด ๆ หรือไม่ — คำตอบ คือ มีครับ!

ต่อไปนี้ คือ 5 โมเดลหาเงินออนไลน์ ที่ไม่ใช่การขายของทั่ว ๆ ไป

1. สร้างเว็บข่าว หารายได้จากค่าโฆษณา

เว็บข่าว คือ โมเดลหาเงินออนไลน์สุดคลาสสิกของโลกอินเตอร์เน็ต แม้วันนี้มี Facebook, Pantip, Storylog, และ Medium.com ที่ช่วยให้คนเริ่มต้นเขียนบทความออนไลน์ได้ง่ายขึ้น จนบางคนเข้าใจว่า Website is dead แต่ในข้อเท็จจริง เว็บไซต์ ‘เดดสะมอเร่’ ไปแล้วจริง ๆ หรือไม่?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ SimilarWeb และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า:

บริษัท แอลทีแมน จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ Longtunman
จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2563 เฉลี่ย 2.2 แสนครั้งต่อเดือน
รายได้รวมปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 32.39 ล้านบาท

คิดเรื่องอยู่ เจ้าของเว็บไซต์ Think of Living
จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2563 เฉลี่ย 2.7 แสนครั้งต่อเดือน
รายได้รวมปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 95.05 ล้านบาท

วงในมีเดีย เจ้าของเว็บไซต์ Wongnai
จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2563 เฉลี่ย 6.5 ล้านครั้งต่อเดือน
รายได้รวมปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 244.8 ล้านบาท

นี่คือตัวแทนของเว็บไซต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่กำลังบอกว่า ‘เว็บไซต์ยังไม่ตาย’

รายได้ของเว็บไซต์ข่าวมาจากไหน? มี 2 ช่องทางหลัก ๆ ได้แก่

ช่องทางที่ 1. Sponsored content : บางครั้งอาจเรียกว่า Branded content หรือ Advertorial เป็นการจ้างให้เขียนบทความลงในสื่อของคุณ ราคาค่าจ้างระหว่าง 2 – 3 หมื่นบาท ไปจนถึงหลักแสนบาทต่อ 1 บทความ

ช่องทางที่ 2. Display advertising network : เป็นโปรแกรมโฆษณาอัตโนมัติ และมีผู้ให้บริการหลายค่าย โดยค่ายที่นิยมอันดับต้น ๆ ของโลก โดยผมจะไม่ได้เรียงลำดับให้นะครับ ได้แก่

Google AdSense
Taboola Ad
Media.net
Infolinks
VerizonMedia
AdBlade

เป็นต้น และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้แต่ Facebook เองก็มีบริการดังกล่าวเช่นกัน แต่จำกัดอยู่แค่ในแพลทฟอร์มของ Facebook โดยทำผ่านโปรแกรม Instant Articles

สำหรับค่ายที่คนไทยใช้บริการมากที่สุด คือ Google AdSense พราะ 1) รองรับภาษาไทย, 2) มีรายได้จากทั้งเว็บไซต์ และยูทูบ ซึ่งผู้ให้บริการอื่นทำแบบนี้ไม่ได้ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพราะ YouTube เป็นของ Google

ข้อดีของการสร้างรายได้ผ่าน Display ad network คือ คุณโฟกัสแค่เรื่องเดียว นั่นคือการผลิตคอนเทนต์ ไม่ต้องยุ่งกับใคร ไม่ต้องคุยกับเอเจนซี่ ไม่ต้องต่อรองราคา ไม่ต้องบรีฟงาน ไม่ต้องทำเอกสาร รับเช็ค วางบิล และไม่ต้องกลัวแม้แต่จะถูกลูกค้าโกง

นั่งทำคอนเทนต์อย่างเดียว หาคนเข้าเว็บไซต์เยอะ ๆ ทุกสิ้นเดือน Google โอนเงินให้ตรงเวลาทุกเดือน ข้อควรระวัง คือ รักษาบัญชีไว้ให้ดี ๆ อย่าทำผิดกฏ เพราะคุณมีได้แค่บัญชีเดียว

ส่วนกฏมีอะไรบ้าง ผมจะไม่อธิบายเพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอด ไปที่ Google พิมพ์ google adsense policy และศึกษากันเองครับ

2. สร้างเว็บรีวิว และสาธิตการใช้สินค้า

เท่าที่ผมอ่านตาม Facebook, YouTube, Pantip และ Blogger network ต่าง ๆ ก็สามารถยืนยันได้ว่า คนไทยรีวิวสินค้าเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่บางคนยังไม่รู้วิธีสร้างรายได้จากการรีวิวสินค้า โดยส่วนใหญ่เฝ้ารอและอาศัยรายได้จากเอเจนซีโฆษณา ฉะนั้นผมจะมาแนะนำให้คุณรู้จักกับการสร้างรายได้จากการรีวิวสินค้าแบบ Affiliate partner

Affiliate partner ตามหลักสากล คือ การเป็นตัวแทนขายสินค้าที่ควบคุมการทำงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนได้รับเงินค่าตอบแทนของคุณ ยกตัวอย่าง Teachable ที่ผมทั้งใช้งาน และเป็น Affiliate partner กับเขามีขั้นตอนการทำงานดังนี้:

ข้อ 1 การยื่นเรื่องขอสมัครเป็น Affiliate partner กับแบรนด์ผ่านแบบฟอร์มของเว็บไซต์ต้นสังกัด —

ข้อ 2 เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว คุณจะมี Affiliate account และ ลิงค์สินค้าที่มี Affiliate id ของคุณเอาไว้ —

ข้อ 3 คุณมีหน้าที่ผลิตคอนเทนต์อย่างเดียว กรณีนี้เป็นบทความสาธิตวิธีใช้งานผลิตภัณฑ์ ทำให้คนเข้ามาอ่านแล้วเกิดความมั่นใจ และตัดสินซื้อสินค้าชิ้นนี้ผ่านลิงค์ Affiliate ของคุณ —

ข้อ 4 ลูกค้าจะถูกส่งไปหน้าปิดการขายของแบรนด์ และหลังจากนั้นแบรนด์จัดการที่เหลือจนลูกค้าชำระเงินและได้รับสินค้า —

เมื่อครบ 4 ขั้นตอนนี้ คุณจะได้รับค่านายหน้าตามตารางการจ่ายเงินของแบรนด์ ซึ่งกรณีนี้จ่ายผ่าน Paypal — กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นอัตโนมัติ และแทบไม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับใครเลยตลอดทั้งกระบวนการ

เว็บไซต์ที่ทำ Affiliate marketing ระดับโลกที่บอกชื่อก็ร้อง อ๋ออ ได้แก่ Skyscanner ทำ Affiliate ตั๋วเครื่องบิน รถเช่า ที่พักและโรงแรม

ในไทย ได้แก่ Chill Pai Nai ทำ Affiliate ที่พักและโรงแรม และ Promotions.co.th ทำ Affiliate สินค้าอินเทรนด์ ประกัน และบัตรเครดิต

เว็บไซต์ธุรกิจขนาดใหญ่ในอเมริกาส่วนใหญ่มีระบบ Affiliate คุณเพียงไปที่เว็บไซต์เป้าหมายแล้วเลื่อนหาคำว่า Affiliate Program หรือ Referral program เป็นต้น แล้วลองดูว่าสินค้าและบริการเหล่านั้นพอจะนำมาทำการตลาดกับเว็บไทยได้หรือไม่

3. ทำคอร์สออนไลน์ขายความรู้

ข้อนี้เหมาะกับคนที่มีความรู้เฉพาะทางที่สั่งสมจากประสบการณ์ทำงานและการใช้ชีวิต และอยากนำมาสอนผู้อื่น

ยกตัวอย่าง ผมทำธุรกิจและการตลาดออนไลน์สายสร้างระบบออโตเมชั่นและมีการใช้ซอฟต์แวร์มากมาย ผมจึงเปิดสอน วิธีสร้างเว็บไซต์ด้วย Worpdress, วิธีใช้โปรแกรม Chatbot ของ ManyChat, และ วิธีใช้โปรแกรม Teachable เป็นต้น

ขอให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า ความรู้ในตัวคุณมีราคาและขายได้ สิ่งที่คุณขาย คือ 1) Solution หรือ วิธีแก้ปัญหาให้ผู้อื่น และ 2) Shortcut หรือ ขายความประหยัดเวลา ลดเวลาในการลองผิดลองถูกเอง

โดยผมแนะนำว่าควรทำคอร์สออนไลน์ลงในระบบโรงเรียนออนไลน์อย่างเป็นกิจลักษณะ ถ้าคุณไม่อยากสร้างระบบเองก็ไปทำคอร์สกับ SkillLane หรือ Edumall แต่ถ้าคุณอยากสร้างระบบเองผมแนะนำ Teachable

สาเหตุที่ไม่ทำคอร์สลงใน Facebook group ก็เพราะคุณคงไม่ต้องการที่จะเปิด Facebook มาแล้วเจอทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวอยู่ในนั้นถูกต้องไหมครับ? กรณีผมเอง แม้แต่กล่องข้อความในแฟนเพจผมก็ไม่เปิดผ่านเฟซบุ๊ค ผมอ่านผ่านโปรแกรม ManyChat ที่แยกออกไปอีกที่หนึ่ง

และที่สำคัญ การทำคอร์สกับแพลทฟอร์มอย่าง SkillLane หรือสร้างโรงเรียนเองด้วยโปรแกรม Teachable เหล่านี้ช่วยให้คุณมีระบบ Automation เต็มรูปแบบ และมีรายได้เข้าใกล้ความเป็น Passive income — ถึงตรงนี้ หากคุณเริ่มสนใจโปรแกรมนี้ คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ใต้วีดีโอนี้ครับ

4. เขียนนิยายขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์

ก่อนหน้านี้มีคนบอก Website is dead ซึ่งก็เผยข้อมูลกันไปแล้วว่ามันยังไม่เดด — ต่อมามีคนบอกว่า Book store is dead โอเค ข้อนี้อาจเป็นไปได้ แต่ ร้านหนังสือถดถอย ไม่ได้แปลว่าคนไม่อ่านหนังสือ

2 – 3 ปีที่ผ่านมาผมมักได้ยินเรื่องราวคนแชร์ประสบการณ์สร้างรายได้จากการเขียนนิยายออนไลน์เป็นระยะ ๆ สวนทางกับคำวิเคราะห์ของบางสื่อว่าคนไทยไม่อ่าน E-book

แม้แต่ตัวผมก็เริ่มต้นจากการเขียน E-book และพบว่ามันขายได้จริง ๆ และปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะมีคนสร้างรายได้จากการเขียน E-book ขายในแพลทฟอร์มออนไลน์ อย่าง Ookbee และ MebMarket มากขึ้นเรื่อย ๆ

และที่น่าสนใจ คือ ไม่ใช่แค่ E-book เท่านั้น แต่แพลทฟอร์มเขียนนิยายออนไลน์ อย่าง https://www.tunwalai.com/ ที่ขายนิยายเป็นตอน ตอนละ 4 – 5 บาท สามารถสร้างรายได้ให้นักเขียนบางคนสูงถึงหลักแสน – หลักล้านบาทต่อเดือน! ข้อมูลนี้ยืนยันโดย คุณหมู Ookbee เล่าไว้ในคลิปวีดีโอ BCM EP. 8 Digital Business Planning นาทีที่ 52 เป็นต้นไป

5. ทำช่องยูทูบ หารายได้จากค่าโฆษณา

ถึงจุดนี้อาจจะไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะวันนี้แทบทุกคนรู้แล้วว่า YouTube มันทำเงิน แม้แต่ผลสำรวจระดับโลกอย่าง Lego survey ก็ได้รับคำตอบว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ โตขึ้นอยากเป็น YouTuber มากกว่า นักบินอวกาศ

เหล่านี้ คือ การรับรู้ของผู้คนบนโลกว่า YouTube คืออะไร และสร้างความร่ำรวยได้อย่างไร โดยโมเดลรายได้สุดคลาสสิกของยูทูบเหมือนกันเว็บไซต์ นั่นคือ Sponsored content และ Google ad network

นอกจากนั้นยังสามารถทำ Affiliate โดยการรีวิวสินค้าและบริการ ซึ่งผมเองพูดถึง Teachable ในวีดีโอนี้ และมี Affiliate link Teachable ใต้วีดีโอเช่นกัน ดังนั้น โมเดลรายได้อะไรที่ทำได้บนเว็บไซต์ได้ ก็ทำบนยูทูบได้ทั้งสิ้น

และนี่คือ 5 โมเดลหาเงินออนไลน์ ที่ห้ามตอบว่า ‘ขายของออนไลน์’ — หากคุณชอบวีดีโอนี้ อย่าลืมกด Like, Comment, Share และ Subscribe เพื่อติดตามช่อง CEO Channels และพบกันใหม่ในวีดีโอหน้าครับ