เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์พุ่งสูงกว่าคาด จากราคาแก๊สและที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน
สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สูงขึ้นจากระดับ 3.1% ในเดือนมกราคม โดยได้แรงหนุนจากราคาแก๊สและที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งเดือน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมสำรวจโดย Dow Jones Newswires และ Wall Street Journal คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า CPI จะอยู่ที่ระดับ 3.1%
แม้ว่าก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมกราคมที่สูงกว่าคาด อาจเป็นเพียงความผิดปกติทางสถิติมากกว่าที่จะเป็นสัญญาณของการกลับมาของภาวะเงินเฟ้อ และคาดว่าจะกลับมาเป็นขาลงในช่วงเดือนต่อไป แต่แนวโน้มขาขึ้นดังกล่าวกลับดูเหนียวแน่นกว่าที่คาด
ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) จับตาดูตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยระบุว่ากำลังมองหาหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงว่าแรงกดดันด้านราคาอยู่ภายใต้การควบคุม ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบัน เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี เพื่อชะลอการใช้จ่ายและสกัดเงินเฟ้อโดยการปรับสมดุลอุปสงค์อุปทานในเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด สิ่งสำคัญคือ เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ลดลงมาอยู่ที่ 3.8% จาก 3.9% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 แม้ว่าจะยังไม่ต่ำถึงระดับ 3.7% ตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ก็ตาม ถึงแม้เงินเฟ้อพื้นฐานจะไม่รวมค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่สุดบางรายการของครัวเรือน แต่เฟดก็ยังจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบ่งชี้ถึงทิศทางของราคาในอนาคตได้ดีกว่า
แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์จะสูงกว่าที่คาด แต่นักลงทุนมองว่ามีโอกาสสูงถึง 69% ที่เฟดอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเชิงขาขึ้นที่เฟดได้กดดันอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมต่างๆ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย