ทำไมต้องมีเว็บไซต์

ทำไมต้องมีเว็บไซต์: ในยุคโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์จำเป็นหรือไม่ เว็บไซต์มีประโยชน์อย่างไร

สมัยก่อน เมื่อพูดถึงการทำเว็บไซต์ หลายคนจะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง และต้องเขียนภาษาโปรแกรมเมอร์เป็น แต่ปัจจุบันการทำเว็บไซต์ของตัวเองนั้นง่าย ไม่ต้องรู้โคดดิ้ง เพียง 15-20 นาทีคุณก็มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้แล้ว

ส่วนปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ผู้ประกอบการหลายคนยังมีความรู้สึกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่ โดยค่ารับจ้างทำเว็บไซต์อาจเริ่มต้นที่ 20,000-30,000 บาทและเป็นเว็บไซต์ที่ไม่ได้ดั่งใจ กลาง ๆ ก็ประมาณ 50,000-70,000 บาท และระดับสูงก็มากกว่า 100,000 บาท เป็นต้น แต่ก็อีกนั่นแหละ หากคุณรู้วิธีทำเว็บไซต์ด้วยตนเอง ค่าใช้จ่ายจะลงมาที่ไม่เกิน 5,000 บาทสำหรับการเริ่มต้นมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง

บทความนี้ เราอยากสร้างทัศนคติเพื่อผู้ประกอบการทั่วไป และคนอยากทำธุรกิจออนไลน์ให้ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์สำคัญมาก ๆ หากคุณคิดเอาจริงกับ ธุรกิจและการตลาดออนไลน์

เพราะความเชื่อว่าการมีเว็บไซต์ยุ่งยากและแพงที่ติดมาแต่อดีต ประกอบกับการมาของ Social media อาทิ Facebook, Instagram, Line@ ฯลฯ ที่เริ่มต้นฟรี และสำเร็จรูปมาก ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งราว ๆ ปี 2010-2013 เพียงโพสต์ประกาศขายของตรง ๆ บน Facebook ส่วนตัว หรือ Facebook page ก็สามารถขายของได้เงินกันเดือนละหลายแสนบาท ทำให้คนต่างตื่นเต้นและหลั่งไหลกันไปขายของผ่าน Social media กันมากมาย ละทิ้งคิดว่าต้องมีเว็บไซต์ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ทำความเข้าใจว่า พวกเขากำลังพลาดหัวสำคัญของการทำธุรกิจออนไลน์อย่างแท้จริง — และจากนี้ไปคุณจะไม่มีวันพลาดในจุดนี้

ประโยชน์ 6 ข้อสำคัญที่ทำให้คุณรู้สึกอยากมีเว็บไซต์

1. เพิ่มความน่าเชื่อถือ

อุปมาอุปมัยกับการขายของที่ตลาดนัด ระหว่างคนขายที่ไม่มีหน้าร้าน กับคนขายที่มีหน้าร้าน คนที่มีหน้าร้านย่อมน่าเชื่อถือในสายตาลูกค้ามากกว่า การมีเว็บไซต์ก็เช่นกัน เว็บไซต์เปรียบเสมือนหน้าร้าน หรือสำนักงานใหญ่บนโลกออนไลน์ ส่วน Social media เปรียบเสมือนออกบูธ หรือสาขาย่อยให้แก่ธุรกิจของคุณในการอำนวยความสะดวกในแง่ของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และสุดท้ายคุณควรใช้ช่องทางเหล่านี้กลับมายังเว็บไซต์หลักของคุณมากกว่า

2. เป็น Content Marketing

Content marketing หรือการตลาดผ่านเนื้อหา เนื้อหาในที่นี้ได้แก่ บทความ รูปภาพ บทความเสียง วีดีโอ อินโฟกราฟฟิก ฯลฯ ที่บรรจุลงในเว็บไซต์ และบทความเหล่านี้จะมีลิงค์เฉพาะ หรือ URL ที่สามารถนำไปเผยแพร่ที่ใดก็ได้เพื่อที่คนคลิ๊กลิงค์แล้วจะถูกส่งกลับมาดูเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์ของคุณ

ความหมายของ Content marketing ก็เพื่อสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ หรือคาดว่าน่าสนใจต่อกลุ่มเป้าหมาย และนำไปเผยแพร่ยังช่องทางต่าง ๆ อาทิ Social media, Web board, หรือการติดบน Google search engine เพื่อทำหน้าที่เป็นแม่สื่อในการส่งคนมายังแหล่งกำเนิดของเนื้อหา กรณีนี้คือเว็บไซต์ของคุณเพื่อหวังผลทางธุรกิจ อาทิ เพื่อให้เกิดจำนวนทราฟฟิกภายในเว็บไซต์ และนำทราฟฟิกไปขายโฆษณา หรือเพื่อให้คนเข้ามาเห็นสินค้าและบริการและเกิดการซื้อขาย หรือการสมัครสมาชิกเว็บไซต์เพื่อเข้าไปอยู่ในวงจร Sales & marketing funnels ต่อไป กระบวนหลังสุดเป็นขั้นตอนของ Inbound marketing

3. เป็น Inbound Marketing

การประชาสัมพันธ์ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ หรือการติดป้ายแบนเนอร์ยังเว็บไซต์ที่เป็น media partner ต่างๆ ของคุณเป็นหนึ่งใน Push marketing strategy กรณีนี้จัดอยู่ในกลุ่มของ Outbound marketing ส่วน Inbound marketing จะทำตรงกันข้ามกัน คือ การผลิตสื่อทั้งหมดภายในเว็บไซต์ของตนเองและให้เกิดการหมุนเวียนของผู้คนภายในเว็บไซต์ในระยะยาว

Inbound marketing จึงประกอบไปด้วย บทความประเภทต่าง ๆ, เอกสารหรือของแจกต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบไฟล์ดิจิตอล หรือแบบจับต้องได้เพื่อแลกกับข้อมูลส่วนตัวของผู้สนใจ, เครื่องมือลงทะเบียนเก็บอีเมล์เพื่อส่งข่าวสารไปหาสมาชิก, ระบบสมาชิกเว็บบอร์ดไว้เข้ามาพูดคุย

เหล่านี้เป็น Inbound marketing ที่ทำงานคู่กับ Content marketing โดยตรง และสร้างการหมุนเวียนของคนที่หลงรักเว็บไซต์ของคุณจนกลายเป็น Funnels คือ จากผู้สนใจ เป็นผู้สมัครสมาชิกแบบฟรี และจากสมาชิกกลายเป็นผู้ซื้อและผู้บอกต่อสินค้าและบริการของคุณในที่สุด – ทั้งหมดนี้ต้องมีเว็บไซต์จึงจะทำได้อย่างสมบูรณ์

4. ใช้ทำโฆษณาแบบ Re-Targeting

สมมุติคุณเข้าเว็บไซต์ Agoda แล้วมาล็อกอินเข้า Facebook, Youtube, หรือเว็บไซต์ข่าวบางเว็บไซต์ คุณจะเห็นโฆษณาของโรงแรมหรือห้องพักที่คุณเพิ่งเข้าไปดูมาเมื่อสักครู่ เป๊ะ! — นี่คือ Re-Targeting สามารถทได้ทั้ง Google AdWord และ Facebook Ads, แต่คุณจำเป็นต้องมีเว็บไซต์จึงจะอำนวยความสะดวกในการทำโฆษณาด้วยวิธีนี้

กรณี Facebook Ads จะมีโค้ดที่เรียกว่า Facebook Conversion Pixel สำหรับฝังลงในหน้าเว็บไซต์ที่คุณต้องการเก็บผู้เยี่ยมชมมาไว้ใน Pixel อาทิ บทความออกกำลังกาย จากนั้นเมื่อคุณจะซื้อโฆษณา Facebook เพื่อขายบริการ Personal fitness trainer คุณก็ยิงโฆษณาไปหาเฉพาะคนกลุ่มนี้ นี่คือการ Re-Targeting ซึ่งอุปมาว่าเป็นกลุ่มที่เข้มข้นกว่า ตรงเป้ากว่า โอกาสการผันจากผู้เห็นโฆษณาไปเป็นผู้ซื้อมีสูงกว่า และประหยัดงบโฆษณาโดยรวม เป็นต้น

5. ถูกหาเจอบน Google Search Result

หลายคนถามว่า เขียนบทความลง Social media อย่างเดียวไม่ได้หรือ? ได้ แต่การกลับไปค้นข้อมูลเก่าอาจทำได้ไม่สะดวกเท่าเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ และโอกาสติด Search engine ก็ต่ำกว่า บทความดี ๆ จำนวนมากที่อยู่บน Social media มักค้นหาไม่เจอ เหตุเพราะโปรแกรมของ Google search engine มีความตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อจำกัดการแสดงผล Social media โดยเฉพาะ และมุ่งเน้นให้ไปแสดงผลการค้นหาของเนื้อหาบนเว็บไซต์มากกว่า กล่าวโดยสรุป เว็บไซต์ มีความเป็น Search friendly มากกว่า Social media

6. ติดตั้งระบบ eCommerce และ Digital marketing มากมาย

ประเทศไทย เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ หรืออาจเป็นประเทศเดียวทีขายของผ่าน Social media แจ้งสลิปโอนเงินทางแชทอย่างเป็นล่ำเป็นสัน — สำหรับต่างประเทศ ได้แก่ ยุโรปและอเมริกา พวกเขาสร้างเว็บไซต์และระบบการค้าขายออนไลน์ขึ้นมาทำงานแทนแทบทั้งสิ้น!

มี Developer ทั่วโลกร่วมกันพัฒนา Software และ application ต่าง ๆ มากมายมหาศาลเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยคุณทำการตลาดและการค้าขายออนไลน์ให้เป็นกึ่งอัตโนมัติที่สุด ไม่ว่าจะเป็น eCommerce software, web analytic software, payment software, customer service software ฯลฯ — ขอเพียงคุณต้องมีเว็บไซต์ คุณก็จะสร้างระบบธุรกิจเหล่านี้ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการเปิดหน้าร้านที่เป็น offline หลายสิบ หรือหลายร้อยเท่าตัว

3 องค์ประกอบและค่าใช้จ่ายในการสร้างเว็บไซต์

อย่างที่บอกไปว่าการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองในปัจจุบันไม่ได้ยาก ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่ถึงหมื่นบาท และใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น และเมื่อคุณคล่องแล้ว การมีเว็บไซต์ใหม่ของตัวเองสามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 5 นาที!

1 Host

หรือ Web Hosting Services ผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์ เปิดให้เจ้าของเว็บไซต์สามารถเผยแพร่ข้อมูล และถูกพบเจอได้บนอินเตอร์เน็ต หลัก ๆ แบ่งออกเป็น Shared host, Virtual Private Server หรือ VPS และ Dedicate Server

ราคาค่าเช่า Host ของแต่ละเจ้าจะต่างกัน Host ไทยกับ Host ต่างประเทศก็ราคาต่างกัน โดยค่าเช่าของ Host ต่างประเทศมาตรฐาน ราคากลาง ๆ จะเริ่มต้นที่ประมาณ 3-5 เหรียญต่อเดือน สำหรับสัญญา 12 เดือน เท่ากับไม่เกิน 60 เหรียญในการชำระครั้งแรก

2 Domain Name

เมื่อมี Host แล้วต่อไปก็จดชื่อเว็บไซต์ เรียกว่า Domain name ซึ่งสามารถจดภายใน Host ได้เลย โดยค่าจัดโดเมนเนมเริ่มต้นที่ประมาณ 10-15 เหรียญต่อปี และจด Domain privacy เพื่อช่วยปิดข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของโดเมนเนมไว้ไม่ให้ถูกค้นเจออีกปีละ 11-12 เหรียญ รวมเป็นไม่เกิน 27 เหรียญ

หลักการตั้งชื่อโดเมน มีหลักคิดง่าย ๆ 3 ข้อ ได้แก่

1. สั้น ๆ เพื่อให้จำง่าย มีสองถึงสามพยางค์กำลังดี

  • Blue Host, Paypal, eBay, Amazon, Facebook, Snapchat
  • Kaidee, Lazada, OokBee
  • ยกเว้นบางกรณี ที่ชื่อมีเอกลักษณ์จริง ๆ อาจยาวกว่าแต่จำได้ อาทิ Alibaba, CEOblog, SmartPassiveIncome เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงขีดกลาง

3. สกุล .com, .net, .co

3 Content Management System

ย่อสั้น ๆ ว่า CMS เป็นซอฟต์แวร์การทำเว็บไซต์ มีหลายซอฟต์แวร์ เจ้าที่นิยมได้แก่ Blogger.com และ WordPress.org

Blogger.com เป็นของกลุ่ม Google ใช้ฟรีเพียงมีบัญชี Gmail ก็สามารถเปิดเว็บไซต์ได้แล้ว โดยเว็บไซต์จะอยู่ในรูปแบบ Blog สำเร็จรูปที่คุณปรับแต่งได้เล็กน้อย และมีเครื่องมือในการทำระบบธุรกิจออนไลน์ที่จำกัด นอกจากนั้นยังพ่วงด้วยนามสกุล [dot] blogspot.com อีกด้วย ยกเว้นคุณจะซื้อโดเมนจากทาง Blogger.com ราคา 10 เหรียญ คำว่า Blogspot ก็จะหายไป

แต่แนะนำว่า ถ้าจะจริงจังขนาดนี้ก็ให้เช่า Host จดโดเมน และลงโปรแกรม WordPress.org ลงใน Host เพื่อทำเว็บไซต์เต็มรูปแบบเป็นคำตอบสุดท้าย

ตัว WordPress.org นั้นฟรี เมื่อติดตั้งลงใน Host เสร็จแล้วก็เพียงซื้อ Theme สวย ๆ เพิ่ม โดยค่า Theme จะอยู่ระหว่าง 30, 50, 80 เหรียญ เว็บไซต์ยอดนิยมที่มี Theme ขายมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกคือ Themeforest.net

สรุปค่าใช้จ่ายในการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองโดยประมาณ

Hosting $60
Domain name $27
Theme $50-80

รวม $137 – 167 หรือประมาณ 4,800-5,900 บาท

อยากเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress ทำอย่างไร

ปัจจุบันการสร้างเว็บไซต์ไม่ยาก และไม่ต้องข้องเกี่ยวกับ Coding ใด ๆ