4 เหตุผล ทำไมเศรษฐีถึงเป็นเศรษฐี ก็อปปี้วิธีคิดไปทำตามได้เลย




[TRANSCRIPT]

ท่านผู้ฟังน่าจะเคยได้ยินคำคมเศรษฐีเหล่านี้กันมาหมดแล้ว เช่น อยากรวยต้องตื่นเช้า อยากรวยต้องหยุดกินสตาร์บักส์ หรืออยากรวยต้องอ่านหนังสือเยอะ ๆ

เราไม่ปฏิเสธว่ากิจกรรมเหล่านี้มีส่วนเกื้อกูลอยู่บ้าง แต่คนที่ปฏิบัติตามคำคมเศรษฐีแล้วไม่รวยก็มีไม่ใช่น้อยนะครับ เพราะองค์ประกอบยังไม่ครบ การ Take action ให้เม็ดเงินจริง ๆ เข้ามานั้นยังไม่มี และวันนี้ CEO Channels จะพาไปค้นพบ 4 เหตุผล ทำไมเศรษฐีถึงเป็นเศรษฐี

ไปดูสิ่งที่พวกเขาทำกันจริง ๆ สื่งที่ทำให้ได้เม็ดเงินของจริงเข้ามาในชีวิต ฟังจบคุณสามารถก็อปปี้วิธีคิดทั้งหมดนี้ ไปเริ่มต้นวางแผนสร้างผลลัพธ์ให้ตัวเองได้ทันที หากคุณพร้อมแล้ว โปรดกด Subscribe ช่อง CEO Channels และกด Like วีดีโอนี้ แล้วไปเริ่มต้นฟังคำตอบพร้อมกันครับ!

คุณเคยได้ยินคนรอบตัวบอกแบบนี้ไหมครับ?

บอกว่า …เศรษฐีส่วนมากบ้านรวย และมีต้นทุนชีวิตดีมาก่อนแล้ว

ฟังแล้วรู้สึกแย่ไหม แย่นะครับ หมดกำลังใจเลย แต่รู้หรือไม่ว่า เศรษฐีที่มีต้นทุนชีวิตดีมาตั้งแต่เกิดมีสัดส่วนน้อยกว่า ในขณะที่กลุ่มคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากศูนย์จนร่ำรวย มีสัดส่วนสูงถึง 55.8%

เราไปดูสัดส่วนเศรษฐี 3 ประเภทของผลสำรวจนี้กันก่อนนะครับ

WealthX หน่วยงานวิจัยข้อมูลด้านความมั่งคั่ง ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ CNBC เมื่อปี 2019 อ้างถึงผลสำรวจ Billionaire เศรษฐีพันล้านดอลล่าร์ หรือ บุคคลที่มีสินทรัพย์ 35,000 บาทล้านบาทขึ้นไป แบ่งเป็น 3 ประเภทที่มาพร้อมสัดส่วน ดังนี้ :

– 55.8% เป็น เศรษฐี Self-made สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเอง

– 30.9% ได้รับทรัพยากรสนับสนุนจากครอบครัวกึ่งหนึ่งมาเริ่มกิจการ

– และมีเพียง 13.3% รับมรดกจากทางบ้านทั้งหมดมาบริหารต่อ

และสำหรับ 5 อันดับ บุคคลมั่งคั่งที่สุดในโลก เดือน กรกฏาคม 2022 โดยเว็บไซต์ Forbes เรียงจาก 1 – 5 ดังนี้ :

– Elon Musk ธุรกิจสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยี อาทิ Tesla และ SpaceX

– Bernard Arnault ธุรกิจแฟชั่น LVMH หรือ Louis Vuitton นั่นเอง

– Jeff Bezos ธุรกิจแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Amazon.com

– Bill Gates ธุรกิจซอฟต์แวร์สำเร็จรูป Microsoft

– Gautam Adani (โกตัม อดานี) ธุรกิจสินค้าและบริการด้านพลังงานและขนส่งเครือ Adani

และหลังจากไล่เรียงศึกษาคนร่ำรวยทั้งติดอันดับ และไม่ติดอันดับโลก แต่ก็เรียกได้ว่ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายเป็นที่เรียบร้อย พวกเขามี 4 วิธีคิดที่พาชีวิตไปสู่จุดนั้น ที่คล้ายกันหมดทุกคน ได้แก่ –

ข้อ 1 จะต้องเริ่มต้นทำธุรกิจ

เพียงเริ่มต้นข้อแรก ทุกคนคงอุทานเหมือนกันว่า ‘มันก็แน่นอนอยู่แล้ว’

หนทางสู่ความร่ำรวยก็ต้องทำธุรกิจ ทำงานประจำหรือรับจ้างตัวคนเดียวนั้นยากจะไปถึงจุดที่จะได้จับเงินสิบล้านร้อยล้านภายในเร็ว ๆ นี้ เพียงแต่มันมีมุมวิธีคิดที่มันชิงไหวชิงพริบกันเล็กน้อยระหว่างคนทั่วไปกับคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

คนทั่วไปอยากทำธุรกิจมักเริ่มจากคำถาม ขายอะไรดี, ขายอะไรรวย, ขายอะไรกำไรเยอะ หรือต่อให้บางคนมีรายการสินค้าที่อยากขายในใจแล้ว เช่น ขายเสื้อผ้าเด็กดีไหม ขายอาหารแมวดีไหม ขายเครื่องสำอางดีหรือไม่ เป็นต้น

เหล่านี้เป็นคำถามที่ฟังดูง่าย แต่ตอบไม่ง่าย เพราะทุกอย่างที่ถามล้วนมีคนทำแล้วดี แต่คุณไปทำแล้วมันจะดีเหมือนเขาหรือไม่ นี่แหละคือประเด็นสำคัญ และคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเขาถามอย่างไร จึงนำไปสู่คำตอบที่ทำให้เขาได้ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

มีเหตุการณ์จริงจากผู้หญิงไทยที่ไปขายของอยู่ที่อเมริกา

เธอชื่อ Ann McFerran (แอน แม็คเฟอร์แรน) เดิมทีเธอเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายแต่งหน้าลงอินสตาแกรม พอเธอแต่งหน้าให้คนดูไปสักพักใหญ่ ๆ ก็เริ่มมีคนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลจนเธอสืบทราบว่า กลุ่มแฟนคลับของเธอชอบซื้อขนตาปลอมเป็นส่วนมาก และพวกเขาก็มีปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับขนตาปลอมเจ้าประจำในตลาด

เธอจึงนำข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ของตลาดนี้มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ขนตาปลอมยี่ห้อ Glamnetic และโพสต์ขายผ่านทางอินสตาแกรมของเธอตรง ๆ และใช้วิธีทักแชทหลังไมค์ไปพูดคุยปิดการขายกับลูกค้าที่มาคอมเมนต์ใต้โพสต์สินค้าของเธอเป็นรายคน

ภายในเวลาเพียง 6 เดือน เธอทำยอดขายได้ถึงมากกว่า 50 ล้านดอลล่าร์ หรือราว ๆ กว่า 1,700 ล้านบาท โดยตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น

ความแตกต่างในการตั้งโจทย์ธุรกิจ คืออะไร?

คนที่ประสบความสำเร็จตั้งโจทย์เช่นกัน แต่จะบิดคำถามเล็กน้อย คือ จากโจทย์เดิม ขายอะไรดี, ขายอะไรรวย, ขายอะไรกำไรเยอะ ไปเป็น กลุ่มเป้าหมายของตลาดนี้ชอบอะไร อะไรขายดี และตอนนี้พวกกำลังขาดเหลือหรือต้องการอะไรเพิ่ม

คุณ แอน แม็คเฟอร์แรน ใช้โจทย์นี้ในการสร้างธุรกิจ ส่งผลให้เธอได้ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเป้าหมายของเธอต้องการอย่างแม่นยำ นั่นเองครับ!

ข้อ 2 จะต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อ Leverage ตัวธุรกิจ

ปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการแบบดั้งเดิม หรือภาษาอังกฤษเรียก ‘Brick and Mortar’ ที่ค้าขายแบบมีหน้าร้าน หันมาใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นในการขยายและรักษาฐานธุรกิจของตัวเองกันเป็นอันมากแล้ว

ในขณะคนรุ่นใหม่ สามารถก้าวขึ้นมามีฐานะร่ำรวยจากการมุ่งตรงเข้าสู่ธุรกิจโดยใช้เครื่องมือออนไลน์ และไม่ต้องผ่านการมีหน้าร้านเหมือนผู้ประกอบการรุ่นก่อน ๆ อีกแล้วนะครับ

เหล่านี้คือการ Leverage ธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเศรษฐีโลกก็ปรับตัวมาทางนี้กันแทบทุกคน

ดังนั้น บางคนที่มีงานประจำและอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลาเลย หรืออาจมีความคิดว่าจะหาวันเสาร์อาทิตย์ไปกางโต๊ะขายของตามตลาดนัด ก็ต้องบอกว่าสิ่งนี้ช่วยให้คุณมีรายได้เสริม แต่ไม่ทำให้เกิดการเติบโตก้าวกระโดดได้โดยง่ายเลย เพราะยังติดอยู่ในข้อจำกัดเรื่อง ร่างกาย และ เวลา

ดังนั้นจงใช้เครื่องมือ Leverage ครับ!

เช่นเดียวกับ คุณ แอน แม็คเฟอร์แรน ถ้าเธอเอาขนตาปลอมไปยืนขายตามท้องถนน เธอทำยอดขายพันล้านไม่ได้แน่นอน แต่ถ้าต้องเปิดหน้าร้านตั้งแต่ว่าแรกก็คงไม่มีทุนเหมือนกัน แต่เพราะเธอใช้เทคโนโลยีที่มีคนทำมาให้ใช้ฟรีอยู่แล้ว นั่นคือ การขายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค

วันนี้เรามี Facebook, Instagram, Tiktok, Youtube, Lazada, Shopee ฯลฯ เป็นเครื่องมือ Leverage การเริ่มต้นธุรกิจของคุณ เหล่านี้ยังไม่ต้องลงทุนมาก ยังไม่ต้องเปิดหน้าร้าน และที่สำคัญ ยังไม่ต้องลาออกจากงานหลัก เครื่องมือออนไลน์เหล่านี้ช่วยให้คุณเริ่มต้นก้าวแรกได้วันนี้เลยครับ



ข้อ 3 จะต้องมีสิ่งประดิษฐ์เป็นของตัวเอง

ข้อนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ได้จะบอกว่าคุณต้องเป็น Elon Musk หรือ Bill Gates ที่ต้องสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก คุณสามารถทำสิ่งที่ง่ายกว่านั้นเยอะครับ

ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์จริงของหนุ่มชาวจีนคนหนึ่ง ชื่อ Steven Yang

ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของบริษัทสินค้าอิเลคทรอนิกส์ยี่ห้อ Anker ซึ่งสินค้าของเขาก็มีขายในไทยเช่นกัน โดยในเดือน กรกฏาคม 2022 Anker มีมูลค่ากิจการประมาณ 4,770 ล้านดอลล่าร์ หรือราว ๆ 1.67 แสนล้านบาท

Steven Yang เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานประจำเช่นกัน และไม่ได้มีความรู้หรือความสนใจในสินค้าอีเลคทรอนิกส์แต่อย่างใด เขาเพียงอยากมีรายได้เสริมโดยเริ่มจากการสมัครเป็น Amazon Affiliate จากนั้นก็ทำเว็บไซต์และเขียนบทความรีวิวอุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟนต่าง ๆ เพื่อส่งคนที่เข้ามาอ่านรีวิว ไปซื้อสินค้าในเว็บไซต์ Amazon อีกที และเขาจะได้รับค่านายหน้าเมื่อสินค้าขายได้

การทำแบบนี้ ทำให้ คุณ Steven Yang แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย มีเพียงค่าเช่าโฮสต์ จดโดเมน และทำเว็บไซต์ เริ่มต้นรวม ๆ หลักพันบาทเศษเท่านั้น เขียนบทความก็เขียนเอง สินค้าไม่ต้องสต็อก หน้าร้านไม่ต้องเปิด งานประจำยังไม่ต้องลาออก

เพื่อน ๆ เห็นไหมครับว่าเขาใช้เทคโนโลยี Leverage การทำงานอย่างเต็มพิกัดเลย แต่จุดก้าวกระโดดสู่ความเป็นเศรษฐีมันอยู่ตรงนี้ครับ

พอเขาเริ่มต้นจากการขายหรือโปรโมทสินค้าให้คนอื่น ทำให้เขาเริ่มมีข้อมูลว่ากลุ่มลูกค้าในตลาดนี้ต้องการอะไร อะไรขายดี และจุดไหนในตัวสินค้าในตลาดนี้ยังทำได้ไม่ดีพอ และเขาก็ได้นำเงินที่เขามีจากงานหลักและงานเสริมเป็นทุนในการทำแบรนด์อุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟนของตัวเอง

สิ่งที่จะสื่อก็คือ ถึงจุดหนึ่งคุณควรมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง เพื่อที่คุณจะมีสิ่งที่เรียกว่า Brand asset เป็นของตัวเอง และสามารถที่จะคิดราคา สร้างมูลค่าเพิ่มที่ทำให้คุณมีกำไรมากกว่าการซื้อมาขายไปให้คนอื่น

นี่คือความหมายของคำว่า จะต้องมีสิ่งประดิษฐ์เป็นของตัวเอง ซึ่งในกระบวนการผลิตนั้น คุณสามารถจ้างโรงงานทำให้ครับ เช่น คุณ Steven Yang ก็ไม่ได้นั่งประดิษฐ์และประกอบชิ้นส่วนเอง เขาเพียงกำหนดสเปกตามข้อมูลความต้องการของตลาดสมัยทำ Amazon affiliate แล้วไปจ้างโรงงานผลิตและตีแบรนด์ให้

ข้อ 4 จะต้องลงทุนแบบ ‘ใช้เงินต่อเงิน’

ผู้ฟังทุกท่านน่าจะรู้อยู่แล้วใช่หรือไม่ว่าใคร คือเจ้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Amazon.com

ถูกต้องครับ เจ้าของคือ Jeff Bezos (เจฟ เบโซ) – แล้วหลายท่านก็น่าจะรู้ว่าเขามีอีกกิจการ คือ กิจการคลาวด์คอมพิวติ้ง ชื่อ AWS หรือ Amazon Web Services แต่เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่านอกจากสองกิจการนี้ คุณ เจฟ เบโซ ก็มีหรือเคยมีส่วนของความเป็นเจ้าของในกิจการอื่น ๆ อาทิ :

  • สำนักข่าว The Washington Post
  • เว็บไซต์ฐานข้อมูลภาพยนต์ IMDb
  • เว็บไซต์รีวิวหนังสือ GoodReads
  • เว็บไซต์หนังสือเสียง Audible
  • ซอฟต์แวร์วิเคราะห์เว็บไซต์ Alexa
  • แพลทฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ค Twitch

และอื่น ๆ อีกมากมาย… ว่าแต่ คุณ เจฟ เบโซ ไปสร้างกิจการเหล่านี้ตอนไหน?

เขาไม่ได้สร้างเองครับ เขาใช้วิธี ‘Invest’ หรือ แบ่งกำไรจากธุรกิจหลักไปลงทุนในกิจการที่คนอื่นเขาทำไว้ดีแล้ว แปลงเงินเย็น ๆ เป็นหุ้นในกิจการอื่นเพื่อให้มันงอกเงยโดยไม่ต้องเขาไปนั่งทำเอง

เพราะการสร้างธุรกิจเองมันเหนื่อยหนักหนา และใช้เวลามาก เมื่อนักธุรกิจปั้นกิจการแรกจนรวยแล้ว เขาเลือกแบ่งเงินเย็น ๆ ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ตนไม่ต้องนับ 1 ใหม่ และไม่ต้องเข้าไปทำเอง

การลงทุนขั้นพื้นฐานที่สุด ได้แก่ ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวม หรือทองคำ นักธุรกิจรุ่นใหม่อาจพิจารณาซื้อบิทคอยน์ เมื่อเงินมากขึ้นมาอีกก็อาจซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสำหรับกรณีนี้นักธุรกิจที่มีเงินจำนวนมากจริง ๆ ก็จะเข้าลงทุนในกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ และกิจการสตาร์ทอัพต่าง ๆ

นี่เป็นวิธีที่เศรษฐีทำทุกคน คือ ‘ใช้เงินต่อเงิน’

มาถึงจุดนี้จะเห็นว่า เศรษฐีทุกคนลงทุน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เริ่มต้นก้าวแรกก็ตรงไปที่การลงทุนเลย พวกเขาเริ่มจาก Build a business หรือ สร้างธุรกิจ เพื่อเป็นเครื่องจักรผลิตกระแสเงินก่อน จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่ช่วงของการไล่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นจากเงินเย็น ๆ ที่ได้มาจากเครื่องจักรผลิตเงินตัวหลัก

พอสองส่วนนี้มาประกอบกัน ความรวยก็มีแต่รวยยิ่ง ๆ ขึ้นนั่นเองครับ

สรุป เศรษฐีทำอะไรถึงเป็นเศรษฐี

ข้อ 1 จะต้องเริ่มต้นทำธุรกิจ – แต่ยังไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นล้าน จะต้องลาออกจากงานหลัก เพราะ

ข้อ 2 ใช้เทคโนโลยีเพื่อ Leverage การทำงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อการตลาดออนไลน์ ร้านค้าออนไลน์สำเร็จรูป และเครื่องมือโฆษณาออนไลน์ หรือแม้แต่ทีมงานผู้ช่วยสมัยนี้ก็ทำแบบออนไลน์

ข้อ 3 จะต้องมีสิ่งประดิษฐ์เป็นของตัวเอง – แน่นอนว่าช่วงแรกยังไม่จำเป็นต้องทำแบรนด์ของตัวเอง ซื้อมาขายไป ขายของให้คนอื่นให้มันได้เสียก่อน จะได้รู้ว่าขายใคร ขายอย่างไร อะไรขายดี เมื่อรู้ใจตลาดแล้ว บวกกับทุนมากขึ้น จึงค่อยเริ่มทำแบรนด์ของตัวเองเพื่อเพิ่มมูลค่าและกำไรให้กิจการ

และสุดท้าย ข้อ 4 ‘ใช้เงินต่อเงิน’ เมื่อกิจการเดินเครื่องจนกลายเป็นเครื่องจักรผลิตเงินแล้ว เศรษฐีจะไม่ปล่อยให้เงินส่วนใหญ่นอนอยู่เฉย ๆ แต่จะกระจายกันลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อ 1) รักษามูลค่าของเงินนั้นไม่ให้เสื่อมไปเพราะเงินเฟ้อ และ 2) เพิ่มมูลค่าของเงินนั้นให้งอกเงยจากมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์

4 เหตุผล ทำไมเศรษฐีถึงเป็นเศรษฐี ! หากคุณชอบฟังเรื่องราวแบบนี้ โปรดกดติดตามช่อง CEO Channels เพื่อไม่พลาดเรื่องราวถัดไปครับ

คุณอาจสนใจ