มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากอยากลาออกจากงานประจำมาเป็น นายตัวเอง หรือ ผู้ประกอบการ บางคนอยากลาออกเพราะรายได้ไม่พอใช้ บางคนอยากลาออกเพราะต้องการมีอิสระภาพในการทำงาน และบางคนอยากลาออกเพราะเบื่อสังคมที่ทำงาน เป็นต้น ฯลฯ แต่การเป็นนายตัวเองอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสุดสำหรับบางคน
ข้อควรตระหนักรู้ก่อนลาออกมาเป็นนายตัวเอง
1. นายตัวเองไม่มีความมั่นคง
2 – 3 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองอาจเต็มไปด้วยข่าวการปรับโครงสร้างกิจการ ข่าวกิจการขนาดใหญ่ปลดคนงาน ธนาคารลดสาขาและลดคน ไปจนถึงการปิดกิจการของบริษัทน้อยใหญ่ อาจทำให้มนุษย์เงินเดือนรู้สึกว่า งานประจำไม่มั่นคง
แต่อย่าลืม ถ้าแม้แต่ ผู้ประกอบการมากประสบการณ์ ยังต้องปรับโครงสร้าง, ลดต้นทุน, ไปจนถึงปิดกิจการ นั่นแปลว่า อาชีพผู้ประกอบการ ไม่มั่นคงยิ่งกว่า และหากคุณก้าวไปเป็น ผู้ประกอบการมือใหม่ ไร้ประสบการณ์ สายป่านสั้น คุณเองย่อมไม่มีข้อยกเว้นที่จะไม่ได้รับผลกระทบแบบเดียวกับ ผู้ประกอบการรุ่นพี่เช่นกัน
2. นายตัวเองไม่รับประกันรายได้
หากคุณรู้สึกว่าเงินเดือนประจำนั้นไม่น่าพอใจ แต่ขอให้ตระหนักรู้ไว้เสมอว่าอย่างน้อย เงินเดือนของคุณ มีหลักประกันว่าจะได้รับอย่างแน่นอนและโดยมีกฏหมายคุ้มครองให้นายจ้างต้องจ่ายไม่ว่านายจ้างจะ มีรายได้ หรือ ไม่มีรายได้ ในเดือนนั้น ๆ ก็ตาม
แต่เมื่อคุณเป็นนายตัวเองเสียเอง รายได้ของคุณไม่มีหลักประกันอีกต่อไป ไม่มีกฏหมายคุ้มครองรายได้ของ ผู้ประกอบการ ไม่มีกฏหมายบังคับว่า ลูกค้า ต้องซื้อสินค้าจากคุณ
เป็นเรื่องยากที่ ผู้ประกอบการ จะคาดการณ์อย่างแม่นยำว่า ปีหน้า เดือนหน้า หรือ แม้แต่พรุ่งนี้ คุณจะมีรายได้เท่าไร หรือ… อาจจะขายไม่ได้เลยก็เป็นไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ กำไร จากการขายของคุณมักไม่พอต่อค่าครองชีพ
3. นายตัวเองไม่มีสวัสดิการ
กฏหมายบังคับให้นายจ้างต้องมีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และบริษัทที่ได้มาตราฐานสากลก็จะมีสวัสดิการให้พนักงานมากยิ่งขึ้นไปอีก อาทิ ประกันสังคม, ประกันชีวิตกลุ่ม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินโบนัสประจำปี, โควต้าวันลาที่บริษัทยังคงจ่ายเงินเดือนให้แม้คุณจะไม่ได้มาทำงาน ฯลฯ อีกมากมายเหล่านี้ ทำให้ ผลตอบแทนที่มองไม่เห็นนั้นมากมายนอกเหนือจากเงินเดือนประจำ
แต่! ทันทีที่คุณก้าวเป็นนายตัวเอง สวัสดิการเหล่านี้จะไม่มีอีกต่อไป คุณจะต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีหลักประกันรายได้ และไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานใด ๆ ให้ตัวเองในช่วงเริ่มต้นชีวิตผู้ประกอบการ และคุณอาจจะต้องใช้ชีวิตเสี่ยง ๆ แบบนี้ไปตลอดทั้งปีแรก ๆ ของการทำธุรกิจ
4. นายตัวเองไม่ได้รวย (เร็ว)
หนึ่งในเหตุผลอันดับต้น ๆ ที่คนอยากลาออกจากงานประจำมาเป็น นายตัวเอง เพราะอยากรวย แต่ในความเป็นจริงแล้ว นายตัวเอง หรือ การทำ อาชีพ/ธุรกิจส่วนตัว ไม่ได้รวยเร็ว
หากคุณทำอาชีพส่วนตัวตามท้องตลาดทั่วไป อาทิ ขายอาหาร ขายขนม ขายน้ำหวาน ตามท้องถนน นั่นคือ คุณกำลังเป็นลูกจ้างตัวเอง รายได้ของคุณไม่สามารถ Leverage ได้ ธุรกิจของคุณ Scale ไม่ได้ และ อัตรากำไรสุทธิที่ตกถึงมือคุณจริง ๆ อาจ พอ ๆ กับ เงินเดือนประจำในบางตำแหน่ง
และหากคุณทำธุรกิจที่มีความ Creative หรือ Innovative ในระดับหนึ่ง ธุรกิจเหล่านี้อาจใช้เวลาเป็นปีในการตั้งไข่ และอาจใช้เวลา 2 – 3 ปีขึ้นไปกว่าที่จะเริ่มทำกำไรที่ช่วยให้คุณพออยู่ได้ หากคุณลองย้อนไปดู ประวัตินักธุรกิจที่มีกิจการมูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านบาทในต่างประเทศ คุณจะพบว่าพวกเขาทำธุรกิจมายาวนานกว่า 10 ปีกว่าที่จะพาไปถึงจุดนั้น
อ่านบทความ บริษัท Twitter เพิ่งทำกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่นี่
5. นายตัวเองไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหมดไป
ถ้าคุณอยากลาออกเพราะ เบื่อเพื่อนร่วมงาน รำคาญเจ้านาย ไม่ชอบลูกค้าที่แสนงี่เง่าของบริษัท ข้อนี้ขอให้คุณตระหนักรู้ว่า ปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้หมดไปเมื่อคุณลาออกไปทำอาชีพของตัวเอง เพราะคุณมีโอกาสที่จะเจอสิ่งเหล่านี้ในวันที่คุณเริ่มมี พนักงาน มีหุ้นส่วน และ มีลูกค้าจำนวนมาก
6. ไม่ใช่ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นนายตัวเอง
คุณอาจจะรู้สึกว่าข้อนี้ฟังดูเจ็บปวดแต่ก็ต้องยอมรับว่า ทุกคนบนโลกนี้จะเป็นนายตัวเองพร้อมกันมิได้ ระบบเศรษฐกิจจะพังทันทีเพราะ ต่างฝ่ายต่างเป็นนายตัวเองจนไม่มีใครทำงานในระบบให้นายตัวเองแต่ละคน
ทางเลือกอื่นอาจดีกว่าสำหรับคุณ
ขอหยิบยกเหตุผลอันดับต้น ๆ ที่คนอยากเป็น นายตัวเอง หรือ ผู้ประกอบการ นั่นคือ ‘เพื่ออยากรวย’ มาเล่าให้ฟัง
อันดับแรก คุณต้องทบทวนอย่างไม่เข้าข้างตัวเองว่าอาชีพประจำที่ทำอยู่นั้น ‘เงินเดือนน้อยเกินไป’ หรือ ‘ค่าใช้จ่ายส่วนตัวสูงเกินไป’
ถ้าคุณ เงินเดือนน้อยเกินไป อาทิ ทำงานกับบริษัทนี้มา 4 – 5 ปีแล้ว เงินเดือนยังคงอยู่ที่ 15,000 – 16,000 บาท และแทบไม่ต่างจากตอนเข้ามาทำงานใหม่ ๆ นั่นอาจแปลว่าคุณกำลังมีปัญหา เพียงแต่ต้องมาแยกแยะว่าปัญหานี้ เป็นที่ ตัวของคุณ หรือ ที่ตัวบริษัท
ถ้าเป็นที่ตัวของคุณ อาทิ ที่ผ่านมาไม่ได้เรียนรู้พัฒนา Skill set เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ ทำงาน Routine ซ้ำ ๆ เดิม ๆ เรื่อยมา คุณต้องพัฒนาและปรับปรุงตัวใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำไปสมัครและขึ้นเงินเดือนที่บริษัทใหม่ ๆ แทน
แต่หากคุณมี Skill set ที่ยอดเยี่ยม ประสบการณ์การทำงานที่โดดเด่น แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามคุณค่าที่เพิ่มขึ้น คุณอาจต้องกล้าก้าวจาก Comfort zone ไปยังบริษัทใหม่ ๆ ที่ยินดีจ่ายสูงกว่า
แต่หากคุณมีความรู้และประสบการณ์ทำงานอันโดดเด่นก็แล้ว เงินเดือนก็อยู่ในอัตรา 30,000 บาทขึ้นไปก็แล้ว แต่ไม่เหลือเก็บหรือติดลบ คุณอาจ มีปัญหาในการบริหารเงินส่วนบุคคล ที่ต้องลงไปวิเคราะห์ ค่าใช้จ่ายอย่างละเอียด ว่าเงินของคุณหายไปไหน และพยายามทำให้กลับมามีเงินเหลือให้ได้ เพื่ออะไร?
เพราะเงินออม คือ โอกาสในการนำไปลงทุน
นี่คืออีกทางเลือกที่เหมาะกับคุณมากกว่าการเป็นนายตัวเอง หากคุณมี ความรู้ที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการ และ มีรายได้ที่สูงพอสมควรแล้ว อาทิ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป บวกกับสวัสดิการและโบนัสที่ยอดเยี่ยม คุณอาจไม่จำเป็นต้องเหนื่อยเป็นนายตัวเองให้เสี่ยงเปล่า ๆ
คุณเพียงบริหารจัดการการเงินให้ดี และแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดไป ฝั่งหนึ่งคุณทำงานประจำ อีกฝั่งเงินทำงานให้คุณ หากทำทุกอย่างอย่างมีสติและด้วยปัญญาภายใน 10 – 15 ปี คุณก็สามารถมีสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านบาทในฐานะของ ‘นักลงทุน’