Recession ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คืออะไร ดูยังไง และใครกำหนด

ช่วงนี้ หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย บ่อย ๆ จากสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวกับข่าวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากทางฝั่งสหรัฐอเมริกาที่พูดถึงประเด็นนี้มากเป็นพิเศษ

ว่าแต่ Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐ คืออะไร ใช้เกณฑ์อะไรชี้วัดว่าเกิดเศรษฐกิจถดถอย และใครเป็นผู้ประกาศว่าประเทศได้เข้าสู่สภาวะดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว วันนี้ CEO Channels จะพาไปพบคำตอบครับ




Recession คืออะไร

Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ อัตราการลดลงของตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ รายได้ของกิจการ, รายได้ของประชาชน, อัตราการจ้างงาน, และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP เป็นต้น

โดยทาง สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ หรือ NBER อาศัยเกณฑ์ชี้วัดขั้นพื้นฐาน คือ ตัวเลขที่กล่าวไปมีอัตราลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส หรือ 6 เดือนก็จะเริ่มพิจารณาว่าประเทศมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แต่อย่างไรก็ดี นี้เป็นเพียงเกณฑ์พื้นฐานเท่านั้น โดยปัจจุบัน สำนักวิจัยเศรษฐกิจฯ ไม่ได้อิงเงื่อนไขนี้แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมกันว่าช่วงเวลานี้ คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการแล้วใช่หรือไม่

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดจากอะไร

เศรษฐกิจถดถอย เป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะความเป็นอยู่ของทุกคนก็จะฝืดเคืองกันถ้วนหน้า แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นตลอดไป เมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง

สาเหตุที่ประเทศหนึ่ง ๆ เข้าสู่ภาวะถดถอย อาจเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือจากภายนอกประเทศมากระทบ ก็ได้, อาจเกิดจากปัญหานโยบายการเงินที่เรื้อรังเดินมาถึงจุดแตกหัก ก็ได้ หรือ อาจเกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยาของประชาชนที่มีต่อเหตุการณ์บางอย่าง ก็ได้

ตัวอย่างที่ 1 ปัญหาสงคราม รัสเซีย – ยูเครน

รัสเซียเป็นประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก พอเกิดสงคราม ก็ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ทำให้น้ำมันราคาพุ่งขึ้นมาแตะหลัก +50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เหตุการณ์นี้ ย่อมกระทบต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ต้องบริโภคน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้นทุนธุรกิจก็สูงขึ้น ค่าครองชีพประชาชนก็สูงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อไป

ตัวอย่างที่ 2 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจนที่สุด และกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก เมื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อประมาณเดือน พฤศจิกายน ปี 2019 ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ ได้แก่ รัฐสั่งปิดประเทศไม่ให้คนเดินทางเข้าออก, สั่งปิดห้างร้าน สถานบันเทิง และโรงเรียน และให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน

มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหนัก การค้าสะดุดหยุดชะงัก ยอดขายหดหายไปมาก ตามมาด้วยการเลิกจ้าง ไปจนถึงปิดกิจการ กระทบทั้งผู้ประกอบการ และประชาชน ผู้คนมีรายได้น้อยลง ก็ยิ่งใช้จ่ายน้อยลง เศรษฐกิจก็ถดถอย

ตัวอย่างที่ 3 ปัญหาเงินเฟ้ออันเกิดจากนโยบายทางการเงินของสหรัฐ

ข้อนี้กำลังเป็นประเด็น Talk of the town ที่ผู้สนใจในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเงินทั่วโลกกำลังจับตาไปที่สหรัฐ โดยที่ผ่านมา สหรัฐ ได้มีการพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก เมื่อเงินอยู่ในระบบจำนวนมาก จึงเกิดภาวะเงินเฟ้อซึ่งสะท้อนออกมาผ่านทางค่า Consumer Price Index หรือ CPI แปลว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค

เดือน มิถุนายน ปี 2022 ค่า CPI อยู่ที่ 8.6% ปรับสูงขึ้นจากเดือนนี้ในปีที่แล้วถึง 132% และเป็นการปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 40 ปี

โดยเงินเฟ้อนั้นมองได้ 2 มุม ได้แก่ แปลว่าข้าวของแพงขึ้น ประชาชนอาจมีรายได้เท่าเดิม ไปจนถึงอาจต้องทำงานหนักขึ้นแต่มีรายได้เท่าเดิม แต่ต้องจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น

หรืออีกมุม แปลว่า เงินสดที่มีอยู่ในมือนั้น แม้มีจำนวนเท่าเดิมแต่กลับมีอำนาจในการซื้อสินค้าลดลง และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจต่อไป



Recession และ Depression ต่างกันอย่างไร

สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ รายงานว่านับตั้งแต่ ปี 1854 – ปี 2020 สหรัฐเกิด Recession จำนวน 34 ครั้ง และระหว่างปี 1980 – 2020 เกิดขึ้นถึง 5 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุก ๆ 8 ปี

จึงดูเหมือนว่า Recession ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีโอกาสเกิดบ่อย และกินเวลาเฉลี่ยครั้งละ 4 – 5 ปี ในขณะที่ Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จะกินเวลานานกว่านั้น เช่น The Great Depression ระหว่างปี 1929 – 1939 กินเวลา 10 ปี และเศรษฐกิจของประเทศจะเสียหายทั้งกว้างและลึก เช่น ภาคการผลิตหายไป 33% คนตกงาน 25% และตลาดหุ้นร่วง 80% เป็นต้น

สรุป

Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ ปรากฏการณ์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ รายได้ของกิจการ, รายได้ของประชาชน, อัตราการจ้างงาน, และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP มีอัตราลดต่ำลงอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ทางผู้บริหารประเทศนั้น ๆ ก็จะเริ่มนำความเคลือนไหวดังกล่าวพิจารณากับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่า เศรษฐกิจ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วใช่หรือไม่ โดย Recession นั้นจะกินเวลาไม่นานมาก เฉลี่ย 4 – 5 ปี หรือน้อยกว่านั้น

คุณอาจสนใจ




ข้อมูลอ้างอิง

https://www.investopedia.com/terms/r/recession.asp

https://www.reuters.com/markets/us/how-do-you-define-recession-let-us-count-ways-2022-06-17/

https://economictimes.indiatimes.com/industry/energy/oil-gas/oil-prices-will-remain-above-100/barrel-as-long-as-ukraine-war-rages-on/articleshow/91065993.cms