Information Business สำรวจโมเดลธุรกิจและสินค้าความรู้

บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Information Business ต่อจาก บทความก่อนหน้านี้ โดยบทความนี้จะอธิบาย 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ อธิบายโมเดลธุรกิจความรู้ประเภทต่าง ๆ และ อธิบายสินค้าความรู้ประเภทต่าง ๆ

1 โมเดลธุรกิจความรู้ประเภทต่าง ๆ

Information Business คือ ‘ธุรกิจข้อมูลความรู้’ มีโมเดลธุรกิจหลายประเภท โดยในบริบมนี้จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบและเรียกชื่อให้จำง่าย ได้แก่ ประเภทนักสอน, ประเภทแพลทฟอร์ม, และประเภทองค์กร

1.1 ประเภทนักสอน:

น่าจะเป็นประเภทที่พบบ่อย คือ ปัจเจกบุคคลที่ทำธุรกิจการสอนเป็นหลัก และมุ่งเน้นสร้างรายได้เลี้ยงชีพจากการสอน ผ่านสินค้าความรู้ต่าง ๆ อาทิ หนังสือ อีบุ๊ค หนังสือเสียง คอร์สออนไลน์ สัมมานา และโค้ชชิ่ง เป็นต้น

1.2 ประเภทแพลทฟอร์ม:

เป็นคณะบุคคลหรือองค์กรที่ร่วมกันพัฒนาแพลทฟอร์ม E-learning เพื่อให้ผู้อื่นมาเปิดคอร์สสอนภายในแพลทฟอร์มของตน และแบ่งรายได้กันกับผู้สอน อาทิ Udemy, Coursera, SkillShare เป็นต้น ส่วนในไทย ได้แก่ SkillLane

1.3 ประเภทองค์กร:

เป็นคณะบุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจประเภทอื่น และมีรายได้หลักจากธุรกิจประเภทนั้น แต่พัฒนา Information product อาทิ หนังสือ อีบุ๊ค หรือ คอร์สออนไลน์ ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้แก่ลูกค้าของตน โดย อาจขายหรือแจกฟรี ก็ได้

ยกตัวอย่าง GetResponse หนึ่งในผู้ให้บริการซอฟต์แวร์อีเมล์มาร์เก็ตติ้งชื่อดัง ก็มีคอร์สออนไลน์สอนเกี่ยวกับ การตลาดออนไลน์ ไว้ทั้งขายและแจกฟรี โดยใช้แพลทฟอร์ม E-learning ค่ายเดียวกับที่ผมใช้อยู่ นั่นคือ Teachable

2. สินค้าความรู้ประเภทต่าง ๆ

โดยจะขอจำกัดขอบเขตเฉพาะในกลุ่มประเภท ‘นักสอน’ คือผู้ประกอบอาชีพสอนแบบปัจเจกบุคคล

2.1 หนังสือและอีบุ๊ค:

เป็น Information product ที่เริ่มต้นง่าย โดยทั้งสองประเภทสามารถทำในรูปแบบ Self-publishing คือ เขียน ผลิต และจำหน่ายเอง โดยหากทำเป็นอีบุ๊คจะมีต้นทุนต่ำมาก เขียนลง Microsoft word แล้วแปลงเป็น PDF หรือนำไปขายผ่านแพลทฟอร์มอีบุ๊คเพื่อเพิ่มการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ได้

อีบุ๊คที่เป็น How-to มีโอกาสตั้งราคาได้ค่อนข้างสูง โดยเคยมีคนตั้งราคาขายหลักพันบาท รองลงมาคือไม่เกิน 500 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การที่หนังสือหรืออีบุ๊คจะขายออก อาจต้องอาศัย Personal branding ที่แข็งแกร่งของผู้เขียน โดยผมก้าวเข้าสู่อาชีพ Information business จากการทำอีบุ๊คขาย โดยตอนนั้นใช้ Gumroad เป็นหน้าร้านและ Paypal เป็นระบบชำระเงินออนไลน์ ส่งผลให้การทำงานดังกล่าวมีความเป็นออโตเมชั่นเกือบ 100%

2.2 ออดิโอบุ๊ค:

ออดิโอบุ๊ค คือ หนังสือ หรือ อีบุ๊คในเวอร์ชั่นอ่านให้ฟัง สาย How-to สามารถราคาขายหลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาทได้เช่นกัน จะขายผ่านแพทลฟอร์มออดิโอบุ๊ค หรือจะ set ระบบของตัวเองก็ได้อีกเช่นกัน

2.3 คอร์สออนไลน์:

คอร์สออนไลน์ จะมีการลงทุนที่สูงขึ้น ทั้งอุปกรณ์ และ เวลา เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตที่เริ่มซับซ้อนกว่าอีบุ๊ค แต่ก็เป็นประเภท Information product ที่ตั้งราคาสูงได้ โดยราคาเริ่มต้นหลักพันบาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อคอร์ส ก็ยังได้ ขึ้นอยู่กับ ความ Niche ของเนื้อหา ความ Advance และชื่อเสียงของผู้สอนก็ล้วนมีผล

คอร์สออนไลน์ สามารถขายผ่านแพลทฟอร์มอีเลิร์นนิ่ง เช่น SkillLane ก็ได้ หรือจะสร้างระบบของตัวเองก็ได้ โดยการสร้างระบบของตัวเองยังแยกเป็นอีก 3 วิธี ได้แก่:

2.3.1 ประยุกต์ใช้โปรแกรม Video Conference เช่น Zoom รวมนักเรียนเข้ามาแล้วเปิดสอนสดผ่าน Zoom วิธีนี้เหมาะกับผู้เริ่มต้นที่ต้องการเน้นเริ่มต้นเร็วโดยยังไม่ต้องลงทุนกับระบบ

2.3.2 สร้างโรงเรียนออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์มสำเร็จรูป เช่น Teachable วิธีนี้เหมาะกับผู้พร้อมลงทุนในระบบในระดับหนึ่ง เพราะมีค่าใช้จ่ายประจำในการใช้บริการแพลทฟอร์ม

2.3.3 สร้างเองจากศูนย์ไปเลย เช่น ใช้ Learndash LMS Plugin ไปเชื่อมเข้ากับ WordPress แล้วบิวต์ขึ้นมาใหม่ทั้งเว็บด้วยตนเอง วิธีนี้เหมาะกับคนที่ทั้งมีทุน มีเวลาพอสมควร และมีความรู้การใช้ทั้งโปรแกรมเหล่านี้

2.4 สัมมนาสดและเวิร์คช็อป:

สัมมนาสดและเวิร์คช็อป คือการเรียนการสอนในเวอร์ชั่นเจอตัว แน่นอนว่าการพบเจอกันอาจเพิ่มอรรถรสในการเรียนรู้ และสามารถมีกิจกรรมร่วมกันได้อย่างมีมิติกว่าการเรียนออนไลน์หลายเท่า อย่างไรก็ดี สัมมนาสดและเวิร์คช็อป มักตามมาด้วยต้นทุนที่สูงกว่า เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ ค่าทีมงาน เป็นต้น

การจัดสัมมานาและเวิร์คช็อปในปัจจุบันจึงมักมีราคาเริ่มต้นที่ 8 – 9 พันบาท หรืออาจเริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป สำหรับสัมมานา 1 วัน และกรณีสัมมนาต่อเนื่อง เช่น สัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 4 – 5 สัปดาห์ขึ้นไป ก็อาจมีราคาหลักแสนบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้จะมีราคาเริ่มต้นที่สูงกว่า Information products ทั้งหมดที่เล่าไป แต่อัตรากำไรของสัมมนาก็อาจจะน้อยกว่าหากคิดเเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น สัมมนาสดทั้งหลายจึงมีโอกาสที่จะทำสิ่งที่เรียกว่าการ ‘Upsell’ ในข้อต่อไป

2.5 วันออนวันโค้ชชิ่ง:

วันออนวันโค้ชชิ่ง คือการเข้าไปเป็นโค้ชหรือเทรนเนอร์ส่วนตัว ทุ่มเทเวลาให้นักเรียนคนนั้นเป็นการเฉพาะ เป็นเวลาต่อเนื่องตามตกลง เช่น Call วันละ 30 นาที และนัดเจอสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน เป็นต้น ดังนั้น วันออนวันโค้ชชิ่ง จึงเป็น Information products ที่อาจมีราคาเริ่มต้นหลักแสนบาท นั่นเองครับ

2.6 ที่ปรึกษา:

ที่ปรึกษา เป็นอีกหนึ่ง Information products ที่คุณมีโอกาสได้จากการไปบรรยายหรือจัดสัมมานา เพราะผู้เรียนได้เจอตัวคุณเป็น ๆ หากเขาชื่นชอบและชื่นชมความรู้ของคุณ เขาก็อาจจะอยากร่วมงานกับคุณในฐานะที่ปรึกษาและรับทำหน้าที่บางอย่างในธุรกิจของเขา ซึ่งแน่นอนครับว่าราคาเริ่มต้นก็หลักแสนบาท เช่นกัน

2.7 โปรดิวเซอร์:

ข้อนี้อาจจะแตกต่างจากข้ออื่น ๆ ตรงที่คุณใช้ความรู้ในธุรกิจ Information business ไปปั้น Information production ให้คนอื่นแทนการที่คุณจะทำโปรดักของตัวเอง อาทิ ไปปั้นผู้มีความรู้ให้กลายเป็นนักสอน แล้วแบ่งส่วนแบ่งกัน

ในกรณีของผม คือ การเป็นโปรดิวเซอร์ให้ โค้ช ออย เจ้าของแฟนเพจ Getupteacher ในการสอนเรื่องการตลาด Facebook เป็นต้น และอีกผลงานหนึ่ง คือ การออกแบบคอร์สออนไลน์ให้องค์กรที่มีสินค้าประเภทอื่น และต้องการมีคอร์สออนไลน์ไว้สอนการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าของพวกเขา อาทิ SMS KUB เป็นต้น

คุณอาจสนใจ