GSP (จีเอสพี) คืออะไร มาทำความรู้จักสิทธิภาษี GSP กัน

วันที่ 26 ตุลาคม 2562 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือ USTR. (U.S. Trade Representative) เผยว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐประกาศระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทาง ภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับสินค้าไทย เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล

ส่งผลให้หลังข่าวออกไป สังคมมีการพูดถึง GSP เป็นอันมากและวันนี้เราจะมาทำความรู้จักคำนี้กัน

GSP คืออะไร

GSP ย่อมาจาก Generalized System Preference เป็น สิทธิทางภาษี โดยประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศมอบให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา โดย ไม่เรียกร้องผลประโยชน์ ตอบแทนจากประเทศผู้รับสิทธิ วัตถุประสงค์ คือ เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาสามารถตั้งตัว แข่งขัน และเติบโตได้

จุดเริ่มต้นของ GSP. เกิดขึ้นเมื่อไร

แนวคิด GSP เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักหลังสงคราม ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนายิ่งเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าและส่งผลต่อการก่อร่างสร้างประเทศใหม่หลังสงคราม แนวคิดเกี่ยวกับระบบช่วยเหลือประเทศยากลำบากเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นผ่านที่ประชุม องค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา สมัยที่ 1 ปี ค.ศ. 1964 ณ นครเจนีวา

จากแนวคิด สู่ แนวทางการช่วยเหลือทางการค้า ได้แก่ เสนอให้ ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ช่วยลดหย่อนภาษีขาเข้าแก่สินค้าที่นำเข้าจาก ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ และในที่สุดจึงผลักดันแนวทางออกมาเป็นระบบ Generalized System Preference หรือ GSP ในการประชุม UNCTAD สมัยที่ 2 ปี 1968 ณ กรุงนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย โดยปัจจุบันมีประเทศพัฒนาแล้วเข้าร่วมจำนวน 28 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

สิทธิประโยชน์ที่ประเทศผู้รับสิทธิจะได้รับ

ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP จะได้รับการ ยกเว้นภาษีขาเข้า สำหรับสินค้าบางรายการเมื่อส่งไปขายยังฝั่งของประเทศผู้ให้สิทธิ ยกตัวอย่าง สินค้าไทยไอเทม A ได้รับสิทธิ เมื่อสหรัฐอเมริกา สั่งซื้อสินค้าไอเทม A ฝั่งผู้ซื้อในสหรัฐฯ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าไอเทมนั้น

เมื่อผู้ซื้อในฝั่งสหรัฐฯ ไม่ต้องเสียภาษี ต้นทุนก็ของผู้ซื้อก็ถูกลง ก็จะอยากสั่งสินค้าไอเทม A จากผู้ขายคนไทย แทนที่จะไปสั่งซื้อสินค้าไอเทมเดียวกันจากผู้ขายประเทศอื่นที่ไม่ได้รับสิทธินี้

เมื่อประเทศผู้ได้รับสิทธิ GSP สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ก็จะเข้าสู่กระบวนห่วงโซ่เศรษฐกิจขาขึ้น ได้แก่ เกิดการผลิต การขยายกิจการ นำไปสู่การจ้างงาน เกิดรายได้และเม็ดเงินหมนุเวียนไปทั่วประเทศ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิมีความเจริญเติบโตในที่สุด



เงื่อนไขในการได้รับสิทธิ GSP

แม้ GSP จะเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบไม่ขอผลประโยชน์แลกเปลี่ยนโดยตรง แต่การจะได้รับสิทธิเหล่านั้น, ประเทศผู้รับสิทธิจะต้องมีคุณสมบัติหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ประเทศผู้ให้สิทธิกำหนดไว้ ได้แก่

  • จะต้องมีรายได้ของประชากรต่อหัว ไม่เกิน 12,476 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (ประเทศไทยมีรายได้ประมาณ 6,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี)
  • ต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุน หรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ
  • ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร
  • มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล
  • มีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก
  • และมีเงื่อนไขอื่น ๆ ในด้านการค้า และการปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น เป็นต้น
  • ฯลฯ

ประวัติการยกเลิกการให้สิทธิ GSP ในอดีต

  • สหรัฐเคยมีการยกเลิกการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ อาทิ
  • ยกเลิกด้วยสาเหตุ ไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น บังกลาเทศ ในปี 2013 เบลารุส ในปี 2000
  • ยกเลิกด้วยสาเหตุ ไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ฮอนดูรัส ในปี 1998 ยูเครน ในปี 2001

อย่างไรก็ดี ประเทศที่ถูกยกเลิก GSP เมื่อมีการปรับปรุงและปฏิบัติตามเงื่อนไขก็จะได้สิทธิ GSP กลับคืนมา หรือ บางประเทศอาจถูกยกเลิกสิทธิถาวรเมื่อยกระดับสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ฮ่องกง ในปี 1989 มาเลเซีย ในปี 1998 และรัสเซีย ในปี 2013 ส่

การใช้อำนาจกับประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP

แม้การให้สิทธิ GSP จะไม่ได้เรียกรับผลประโยชน์โดยตรงแก่ประเทศผู้ให้สิทธิอย่าง สหรัฐอเมริกา แต่ก็มีบทบาททางอ้อมสำคัญในการเป็นเครื่องมือสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้ในการชักจูงหรือกดดันประเทศต่าง ๆ ให้ปรับปรุงกฎระเบียบและพัฒนาแนวทางปฏิบัติทางการค้า และทางสังคมที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การควบคุมการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงลดการกีดกันทางการค้าให้น้อยลง เป็นค้น

อ่านเพิ่มเติม

สนค. เผยกรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีประเทศไทย (GSP) กระทบส่งออก 0.01 เปอร์เซ็นต์
โดนัลด์ ทรัมป์ ระงับสิทธิประโยชน์ภาษี GSP ไทย กระทบสินค้าไทย 1,300 ล้านดอลลาร์