ทุนน้อย-เริ่มต้นช้า ก็รวยได้ : 2 เรื่องจริงจากปาก Warren Buffett

ทุนน้อย เริ่มต้นช้า ก็รวยได้ เพราะการเริ่มต้นใหม่ไม่มีคำว่าสาย – เรื่องจริงจาก 2 บุคคลอันเป็นที่รักของ Warren Buffett (วอร์เรน บัฟเฟตต์) มหาเศรษฐีและนักลงทุนชื่อดัง ได้นำมาเล่าในงาน Goldman Sachs Ten-Thousand Small Business Summit ปี 2018



คนที่ 1 ใช้เวลาเก็บเงินถึง 20 ปี กว่าจะได้เริ่มมีธุรกิจของตัวเองก็ปาไปตั้งอายุ 44 และคนที่ 2 เริ่มธุรกิจส่วนตัวตอนอายุ 35 ด้วยวิธีขอร่วมหุ้นกับนายจ้างของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตนก็ไม่ได้มีเงินเพียงพอที่จะลงทุนในตอนนั้น

สิ่งที่ทั้ง 2 คนมีเหมือนกัน และประสบผลลัพธ์แบบเดียวกัน คือ พวกเขามีทุนน้อย เริ่มต้นช้า แต่สามารถผลักดันตนเองไปสู่เจ้าของกิจการที่มีมูลค่าสูงอันดับต้น ๆ ในตลาด ภายในช่วงชีวิตของตนเอง

คนที่ 1 คุณโรส บลัมคิน ผู้ก่อตั้ง เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์


Rose Blumkin
(โรส บลัมคิน) เป็นหนึ่งในบุคคลที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาอยู่บ่อย ๆ ในฐานะที่เธอเป็นตัวอย่างคนสำเร็จที่เริ่มจาก 0 สนิทจริง ๆ

ทุนก็น้อย เริ่มก็ช้า แถมคู่แข่งก็เพียบ แต่เธอสามารถก้าวขึ้นมาเป็นตัวท็อปในตลาดของเธอ แถมยังท้าทายอำนาจนายทุนใหญ่อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ โดยการเปิดกิจการแข่งนายทุนซึ่ง ๆ หน้าหลังจากขายกิจการ เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์ ให้กับเขา

จุดเริ่มต้นในปี 1917 :

คุณโรส บลัมคิน เป็นชาวยิวที่อพยพจาก เบลารุส มาอยู่สหรัฐอเมริกาพร้อมสามีและลูก ๆ โดยตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 24 ปี ไม่ได้เรียนหนังสือ และพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย

คุณโรส ปักหลักอยู่ที่ชุมชนชาวยิวใน เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา และทำงานรับจ้าง และขายสินค้ามือสองเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ส่งลูก ๆ เรียนหนังสือ และเก็บออมเพื่อวันหนึ่งเธอจะได้มีกิจการเป็นของตัวเอง

กระทั่งปี 1937 หรืออีก 20 ปีต่อมา คุณโรส ในวัย 44 ปี มีเงินออมจำนวน 2,500 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 87,500 บาท แต่หากเทียบกับมูลค่าเงินในปัจจุบันก็จะเทียบเท่าประมาณ 1.7 ล้านบาทเศษ ๆ เธอแบ่งเงินออมกึ่งไปลงทุนปรับแต่งพื้นที่บ้านชั้นล่างให้เป็นโชว์รูมเล็ก ๆ และอีกกึ่งหนึ่งไปซื้อเฟอร์นิเจอร์มือสองมาวางขาย โดยตั้งชื่อร้านว่า Nebraska Furniture – เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์

เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์ มีสโลแกนธุรกิจ “Sell cheap, tell the truth, don’t cheat nobody.”

เฟอร์นิเจอร์มือสองของเธอคัดเลือกมาเป็นอย่างดี และเปิดเผยคุณสมบัติทั้งหมดอย่างไม่ปิดบัง หากมีตำหนิตรงจุดไหนก็เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่ามีตำหนิตรงจุดนั้น ลูกค้าสามารถมั่นใจ 100% ว่ากำลังซื้ออะไรลงไป และที่สำคัญ เธอชูจุดขายว่าร้านของเธอราคาถูกที่สุดในตลาด

เป้าหมายของเธอ คือ การทำให้ลูกค้าได้รับสินค้ามือสองที่รู้สึกคุ้มค่ายิ่งกว่าซื้อมือหนึ่ง

ลูกค้าจึงเกิดความประทับใจมากและบอกต่อจนกิจการ เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์ เติบโตอย่างรวดเร็วจนไปขัดแข้งขัดขาคู่แข่ง และทำให้คู่แข่งใช้วิธีโจมตีเธอต่าง ๆ นา ๆ เช่น ฟ้องข้อหาค้าขายไม่เป็นธรรม ก็ดี และล็อบบี้ซัพพลายเออร์ในพื้นที่ไม่ให้ขายสินค้าให้แก่เธอ

แต่ คุณโรส ก็โต้แย้งด้วยข้อมูลทางบัญชีจนชนะคดี และเมื่อซัพพลายเออร์ในพื้นที่ไม่ขายให้ เธอก็พร้อมจะข้ามเมืองไปซื้อที่อื่น วิธีสกปรกทั้งหลายทำอันตรายเธอไม่ได้ และ เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์ ก็เติบโตจนไปสะดุดตา วอร์เรน บัฟเฟตต์

ปี 1983 คุณโรส บลัมคิน ทยอยขายหุ้นจำนวน 80% และ 90% ตามลำดับ ให้แก่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มูลค่ารวม 60 ล้านดอลล่าร์ หรือเทียบเท่า 178 ล้านดอลล่าร์ หรือ ราว ๆ 6,230 ล้านบาทในปัจจุบัน

ปี 1989 เธอถูกกดดันให้เกษียณตัวเองจากธุรกิจ แต่ด้วยความที่ไม่มีสัญญาห้ามค้าแข่ง เธอจึงสั่งสอนกลุ่มทุนโดยการเปิดร้าน Mrs. B’s Clearance and Factory Outlet ตรงกันข้ามกับร้าน เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์ สาขาใหญ่ที่สุด

เอาต์เล็ทของเธอก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ต้องมาขอซื้อกิจการในปี 1992 และตกลงปล่อยให้เธอทำงานที่เธอรักต่อไปจนลมหายใจสุดท้าย


คุณโรส บลัมคิน เสียชีวิต 1998 อายุ 104 ปี แต่เธอทิ้งตำนานนักสู้ชีวิตผู้ยิ่งใหญ่ ปี 2017 เนแบรสกาเฟอร์นิเจอร์ มียอดขาย 1,500 ล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 52,000 ล้านบาท ปัจจุบันมี 5 สาขา และกลายเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์มือหนึ่งและมือสองที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ



คนที่ 2 คุณแจ็ค เทเลอร์ ผู้ก่อตั้ง เอนเตอร์ไพร์ซ เรนต์ เอ คาร์


Jack Taylor
(แจ็ค เทเลอร์) แห่ง Enterprise Rent-A-Car เป็นอีกคนที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จดจำไม่รู้ลืม เพราะเขาเป็นหนึ่งในเจ้าของกิจการไม่กี่คนที่กล้าปฏิเสธการเข้าซื้อกิจการจาก ปู่วอร์เรน

แต่ถึงกระนั้น ปู่ ก็ชื่นชมอย่างติดตลกว่า แจ็ค เทเลอร์ ตัดสินใจถูกแล้วที่ไม่ขายกิจการให้เขา ทุกวันนี้ ปู่ ได้แต่นั่งมองตาปริป ๆ ดูมันกลายเป็นกิจการเช่ารถที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของ แจ็ค เทเลอร์ เริ่มต้นขึ้นในปี 1945 เมื่อเขาปลดประจำการทหารเรือประจำกองเรือ USS Enterprise หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

เขาพยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปิดกิจการรับส่งพัสดุในรัฐมิสซูรี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงไปสมัครเป็นพนักงานขายรถเช่าที่บริษัท Lindburg Cadillac Dealership ในปี 1948 และเติบโตสู่ตำแหน่งผู้จัดการในปี 1957

ปี 1957 แจ็ค เทเลอร์ ในวัย 35 ปี รวบรวมความกล้าเข้าเสนอขอร่วมลงทุนในกิจการของนายจ้าง – นายจ้างยื่นเงื่อนไข ลดเงินเดือนของเขาลง 50% และจะต้องลงเงิน 25,000 ดอลล่าร์ – เขาตอบตกลงทั้งที่ไม่มีเงินเพียงพอ แต่เขาก็ขวนขวายหากู้เงินมาร่วมลงทุนได้ครบตามจำนวนสำเร็จ และทำการเปลี่ยนชื่อเป็น Enterprise Rent-A-Car ตามชื่อเรือรบที่เขาเคยประจำการ

ณ เวลานั้น Enterprise ก็ยังเป็นเพียงกิจการเช่ารถเล็ก ๆ ที่มีรถให้บริการเพียง 17 คันเท่านั้น ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Avis และ Hertz ที่เปิดมาก่อน มีรถจำนวนมากกว่า แถมครองพื้นที่รับส่งลูกค้าในเขตสนามบินไปหมดแล้ว หนำซ้ำ หนึ่งปีต่อมาธุรกิจเช่ารถค่าย Budget Car Rental ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นคู่แข่งอีกราย

แต่ แจ็ค เทเลอร์ ก็ไม่หวั่น เมื่อค่ายอื่นมีจำนวนรถให้บริการมากกว่า และชิงพื้นที่สำคัญ ๆ อย่างสนามบินไปหมดแล้ว Enterprise จึงเจาะตลาดหมู่บ้าน และให้บริการขับไปให้ลูกค้าเช่าถึงหน้าบ้าน

และด้วยขนาดกิจการที่เล็กกว่ามาก จึงเกิดข้อได้เปรียบด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ให้ความเป็นมิตร ทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนพวกเขาเป็นเพื่อน รู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้ใช้บริการ เป็นต้น

ทัศนคติทางธุรกิจของ แจ็ค เทเลอร์ คือ

Take care of your customers and employees first, and profits will follow

แปลว่า จงดูแลลูกค้า และพนักงานให้ดี แล้วกำไรจะตามมาเอง

แจ็ค เทเลอร์ ดำเนินกิจการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ดูแลทั่วถึง และจริงใจ จนกระทั่งมารู้ตัวอีกที กิจการของเขาก็เติบโตไปไกลกว่าที่คาดฝัน

  • ปี 1980 มีรถเช่า 6,000 คัน
  • ปี 1989 มีรถเช่า 50,000 คัน
  • ปี 1992 รายได้ทะลุ 1 พันล้านดอลล่าร์ และอีก 3 ปีต่อมารายได้ทะลุ 2 พันล้านดอลล่าร์

แจ็ค เทย์เลอร์ -เสียชีวิตปี 2016 ด้วยวัย 94 ปี แต่เขาได้ทิ้งตำนานสุดยิ่งใหญ่เอาไว้

จากการรายงานของ Forbes ปัจจุบันกิจการขยายไปเป็น Enterprise Holding มีกิจการขนส่งที่ถูกซื้อเข้ามาในเครือไม่น้อยกว่า 3 ค่าย ส่งผลให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจเช่ารถที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยรายได้ปี 2020 สูงถึง 22,500 ล้านดอลล่าร์ มากกว่ารายได้ของ Avis, Budget และ Hertz รวมกัน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้ข้อคิดปิดท้ายเรื่องราวของ 2 นักธุรกิจในตำนานนี้ว่า…

ฉันจำไม่ได้แล้วว่า เน็คไท เสื้อเชิร์ท และสูทที่ฉันสวมใส่ในวันนี้มันมีอะไรดี แต่สิ่งที่ฉันจำได้ คือ ประสบการณ์ที่ได้รับจากร้านค้าตอนไปซื้อมันมา ลูกค้าจะจดจำประสบการณ์ที่ได้รับจากคุณได้ดีกว่าสินค้าของคุณ

นักธุรกิจ 2 คนนี้ไม่ได้สินค้าที่พิศดารแต่อย่างใด พวกเขาขายสินค้าที่ใคร ๆ ก็ขายกันทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้เขาชนะคู่แข่ง คือ การส่งมอบประสบการณ์ที่ดี ผ่านการให้บริการที่ยอดเยี่ยม

คุณอาจสนใจ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง