Huawei เผยยอดขายโตต่ำกว่าที่คาด หวั่นปี 2020 จะเป็นปีที่ยากลำบาก


31/12/2019 Reuters รายงาน รายได้ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ปี 2019 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 ไปอยู่ที่ 850,000 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 121,720 ล้านเหรียญ แต่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัญหาถูกขึ้นบัญชีดำทางการค้าของสหรัฐฯ จำกัดการเติบโตและทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในการจัดซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์สำคัญ ๆ

ปัญหากับสหรัฐฯ

หัวเว่ย ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก และเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับที่ 2 ถูกสหรัฐฯ แบนไม่ให้ทำธุรกิจกับบริษัทสัญชาติอเมริกันเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2019 เพื่อป้องกันการเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล

รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ เพราะรัฐบาลจีนสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านั้นในการสอดแนมผู้ใช้ ขณะที่หัวเว่ยเองปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงมาโดยตลอด

แนวโน้มรายได้

Eric Xu ประธานที่หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย เปิดเผยตัวเลขดังกล่าวในข้อความสวัสดีปีใหม่แก่พนักงานและลูกค้า โดยในข้อความนั้นได้เผยว่า ปี 2020 “อาจเป็นปีที่ยากลำบาก” (“Difficult year”) พร้อมหวั่นใจว่าบริษัทอาจจะเติบโตได้ไม่รวดเร็วเท่ากับที่เคยทำได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019

โดยสัญญาณดังกล่าวเริ่มส่อเค้าเมื่อ หัวเว่ย ประมาณการการเติบโตของรายได้ตลอดทั้งปี 2019 ว่าน่าจะไปสิ้นสุดที่ประมาณ ร้อยละ 18 ซึ่งต่ำกว่าปี 2018 ที่รายได้ตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5

แม้บริษัทจะยังไม่ได้แจ้งตัวเลขในไตรมาสที่ 4 แต่การฐานข้อมูลเก่า ๆ ของ รอยเตอร์ส คาดว่ารายได้ในไตรมาสสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2019 เพิ่มขึ้น 239,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 23,280 ล้านเหรียญ คิดเป็นอัตราเติบโต ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2018

Eric Xu กล่าวต่อสื่อว่า

“สภาพแวดล้อมภายนอกมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม และแรงกดดันให้เศรษฐกิจโลกต่ำลงมีความรุนแรงขึ้น […] ในระยะยาว รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังคงยับยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ท้าทายสำหรับหัวเว่ยในการอยู่รอดและเติบโต”

แผนโดยคร่าวในปี 2020

อย่างไรก็ดี Xu ยังมีกำลังใจดีโดยกล่าวในจดหมาย หัวเว่ย จะทุ่มสุดตัวในปี 2020 เพื่อสร้าง Huawei Mobile Services ecosystem ซึ่งประกอบไปด้วยบริการต่าง ๆ เช่น การเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ และแกลเลอรีแอปพลิเคชั่น และอธิบายสิ่งนี้ว่าเป็น “รากฐานของศักยภาพในการจำหน่ายอุปกรณ์อัจฉริยะในตลาดนอกประเทศจีน”

หัวเว่ยยังพัฒนาระบบปฏิบัติการเคลื่อนที่ของตัวเอง ที่รู้จักในชื่อ ฮาร์โมนี่ แม้ว่านักวิเคราะห์ยังกังขาว่าระบบนั้นจะเป็นทางเลือกที่ใช้งานได้จริงหรือไม่ ประกอบกับ หัวเว่ย เพิ่งจะมีข่าวการเลิกจ้างและการควบคุมตัวอดีตพนักงานคนหนึ่งโดยมิชอบได้แพร่กระจายออกไป

Xu ได้โต้ข้อกังขาไว้ในจดหมายว่า พวกเขาจะเดินหน้าปลดพนักงานตั้งแต่ระดับ ปฏิบัติการ ไปจนถึงผู้จัดการที่มีผลการทำงานไม่ได้มาตราฐาน โดยมีเป้าหมายที่จะปลดพนักงานที่ทำงานแย่จำนวน 10% ทุกปี เพื่อเป็นการสร้างภาพจำว่า หัวเว่ย คือ บริษัทที่เข้มงวดเรื่องมาตราฐานในการดำเนินธุรกิจ

Reuters รายงาน