กรณีศึกษา General Assembly จากธุรกิจ Co-working space สู่ โรงเรียนสอนไอที มูลค่า 400 ล้านเหรียญ

General Assembly จากธุรกิจ Co-working space สู่ ธุรกิจการศึกษา โรงเรียนสอนไอที มูลค่า 400 ล้านเหรียญ ได้อย่างไร เรื่องราวนี้ถ่ายทอดโดย คุณ มาโนช พฤฒิสถาพร ผู้มีประสบการณ์การทำ สตาร์ทอัพ ในต่างประเทศและในไทย และเจ้าของงานเขียนชื่อ Winning With Ideas จะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียด

ปี 2013 ผม (มาโนช พฤฒิสถาพร)ได้งานในบริษัทประเภท FinTech Startup ที่ ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ในตำแหน่ง นักวิเคราะห์รายได้อาวุโส (Senior Revenue Analyst )

​งานที่ผมต้องทำ คือ วิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้และรายได้ ช่วยสนับสนุนข้อมูลด้านการวิเคราะห์ให้กับทีมโปรดักต์ (Product) ทีมพัฒนาธุรกิจ (Business Development) ที่ต้องคุยกับสถาบันการเงิน และทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ที่ต้องสร้างโมเดลแนะนำผลิตภัณฑ์การเงินให้กับผู้ใช้ ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำรายได้สูงสุดให้กับบริษัท

จริง ๆ แล้ว ผมอยากทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ (Product Manager) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องทำงานร่วมกับทีมอื่นในการออกแบบและสร้างโปรดักต์ใหม่ แต่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์นั้นสมัครยากมาก เพราะขอบเขตหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบนั้นค่อนข้างกว้าง ต้องเข้าใจภาพรวมและบริหารบุคลากร โน้มน้าววิศวกรซอฟต์แวร์และดีไซน์เนอร์ซึ่งไม่ได้ทำงานขึ้นตรงกับเขาให้ทำงานออกมาทันตามกำหนด อีกทั้งต้องเป็นคนรับผิดชอบตัวเลขรายได้ของบริษัท

ขณะที่งานของผมนั้นเน้นทำงานร่วมกับทีมโปรดักต์ ด้วยการช่วยออกแบบการทดสอบว่าควรจะแบ่งกลุ่มผู้ใช้อย่างไรเพื่อวัดผล และช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้ให้บริษัทได้ ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีคิดและงานของผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ไปด้วยทางอ้อม

​ผมคุยกับผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ เครดิต คาร์มา เพื่อขอคำแนะนำว่าถ้าอยากทำงานในส่วนนี้ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง และอ่านเพิ่มเติมจากทั้งหนังสือและออนไลน์ และพบว่าหนึ่งในทักษะ-ความรู้ที่ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ควรมีคือ User Experience หรือ การออกแบบประสบการณ์เพื่อให้ผู้ใช้รับได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากโปรดักต์

ผมคิดว่าการไปลงเรียนคอร์สนี้ น่าจะช่วยให้ผมเข้าใจวิธีคิดเฉพาะทางและแนวคิดดังกล่าวซึ่งผมแทบไม่เคยศึกษามาก่อนมากขึ้น และยังช่วยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผมที่จะทำงานในตำแหน่งนี้ด้วย

​พอดีกับที่ทาง เครดิต คาร์มา มีงบสนับสนุนให้พนักงานไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมด้านใดก็ได้ ปีละ 5,000 ดอลลาร์ ขอแค่ได้รับอนุมัติจากเจ้านาย ผมจึงค้นหาคอร์สเรียนในกูเกิล (Google) และเจอคอร์ส ออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience Design) ซึ่งเปิดสอนโดย เจเนรัล เอสเซมบลี (General Assembly)

ผมลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ เจเนรัล เอสเซมบลี แล้วพบว่าฟีดแบ็กของคนที่เคยไปเรียนค่อนข้างดี เนื้อหาใช้ได้จริงในโลกทำงานปัจจุบัน จึงเลือกเรียนที่นี่ในคอร์สเรียน 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 2 ชั่วโมง หลังเลิกงาน เป็นเงิน 3,950 ดอลลาร์ ซึ่งทางบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ถ้าบริษัทไม่ออกให้ ผมคงคิดหนัก

เจเนรัล เอสเซมบลี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งถ้าเดินทางจากออฟฟิศนั้นก็สะดวกมาก ผู้สอนในคลาสที่ผมเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) อยู่ที่ เซอร์เวย์มังกี้ (SurveyMonkey) บริษัทสตาร์ตอัพชื่อดังอีกแห่งหนึ่ง

​เขาสอนโดยเน้นการทำเวิร์คช็อปแล้วให้เรารวมเป็นโปรเจกต์ใหญ่ส่งในสัปดาห์สุดท้าย สอนเทคนิคการคิดและทำงาน มีการบ้านให้ฝึกทุกสัปดาห์ ซึ่งผู้สอนก็จะคอมเมนต์งานของเราอย่างจริงจัง ก่อนที่เราจะพรีเซนต์ผลงานตัวเองในสัปดาห์สุดท้าย

นักเรียนในคลาสมีอยู่ประมาณ 12 คน ไม่มากเกินไป และทุกคนดูตั้งใจกันเต็มที่ หลังเลิกเรียนจะมีนักเรียนหลายคนไปปรึกษาผู้สอน ผมคิดว่าการเรียนที่นี่นั้นค่อนข้างต่างจากการเรียนในมหาวิทยาลัย เนื่องจากที่นี่เน้นเนื้อหาที่ทันสมัย เน้นสอนให้นำไปใช้ได้จริง และเน้นให้งานไปทำจริง



ที่น่าสนใจคือ ที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนสอนทักษะดิจิทัลมาตั้งแต่ต้น

ปี 2011 เจค ชวอตช์ (Jake Schwartz) เห็นโอกาสว่ากระแสความต้องการด้าน Co-working space หรือออฟฟิศที่ให้เช่าที่นั่งทำงานเป็นรายชั่วโมง รายคน เน้นสร้างพื้นที่ให้คนที่มาใช้บริการได้คุยกันนั้นกำลังมา เพราะจำนวนคนที่สนใจทำสตาร์ตอัพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ยังมีสถานที่รองรับไม่เพียงพอ เขาจึงร่วมกับทีมก่อตั้งเจเนรัล เอสเซมบลี ขึ้นมา และเมื่อเปิดให้บริการ พื้นที่ก็ถูกจองเต็มอย่างรวดเร็ว

​เขาสร้างจุดขายของพื้นที่โดยเน้นว่าทุกสตาร์ตอัพที่มาเช่านั้นจะต้องจัดแชร์ความรู้ให้กับสมาชิกคนอื่น และที่นี่มีพื้นที่สาธารณะที่ค่อนข้างกว้างขวาง เมื่อเทียบกับที่อื่นซึ่งเน้นจัดสรรพื้นที่เพื่อวางโต๊ะทำงานเป็นหลัก

เขาพบว่าคนสนใจ เจเนรัล เอสเซมบลี เยอะมาก ๆ รวมถึงคนภายนอกที่อยากมาฟังเวลามีช่วงแชร์ความรู้ เพราะเรื่องสตาร์ตอัพและทักษะดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ที่คนกำลังสนใจ อีกทั้งเห็นปัญหาเรื่องการหาคนของสตาร์ตอัพที่มาเช่าพื้นที่ หลายบริษัทก็เป็นบริษัทของเพื่อนพวกเขาเอง คนที่สตาร์ตอัพพวกนี้จ้างเข้ามาทำงาน ไม่มีคนไหนที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยเลย พวกเขาล้วนเรียนรู้ทักษะสำหรับบริษัทสตาร์ตอัพจากที่ทำงานเก่า

​พวกเขาเห็นช่องว่างระหว่างสิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนกับสิ่งที่บริษัทในยุคนี้ต้องการ จึงเริ่มต้นศึกษาและพัฒนาหลักสูตรสอนทักษะในโลกยุคใหม่อย่างจริงจัง

ผ่านไป 2 ปี เจเนรัล เอสเซมบลี ตัดสินใจปิดการให้เช่าพื้นที่ Co-working space มาโฟกัสที่การสอนทักษะในโลกยุคใหม่อย่างเดียว โดยมีคลาสสอนทักษะในโลกยุคดิจิทัลมากมายที่ครอบคลุมทุกสายงานในบริษัทเทคโนโลยี ตั้งแต่การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience Design), การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development), การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing), การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics), วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science), การพัฒนาเว็บ (Web Development), การพัฒนาอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Development) เรียกได้ว่าอยากทำงานด้านไหน ที่นี่ช่วยได้หมด

ยิ่งไปกว่านั้น เจเนรัล เอสเซมบลี เน้นไปที่การทำความเข้าใจกับบริษัทเทคโนโลยีว่า ความรู้และทักษะที่สำคัญสำหรับแต่ละสายงานมีอะไรบ้าง สิ่งใดที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ยังขาดอยู่ เพราะบริษัทเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ พวกเขาจึงต้องอัพเดทหลักสูตรให้ทันกับโลกที่หมุนเร็วเสมอ

บริษัทต่างๆ เองก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ เพราะมหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตคนที่มีทักษะดิจิทัลได้ทัน ทำให้การเรียนจบคอร์สที่เจเนรัล เอสเซมบลีกลายเป็นสิ่งที่รับรองว่าเรามีทักษะในเรื่องนั้นๆ และบริษัทต่างๆ ให้ความเชื่อถือ

​ทางเจเนรัล เอสเซมบลีเองได้สร้างความสัมพันธ์อันดีไว้กับบริษัทเทคโนโลยี สร้างทีมที่ช่วยนักเรียนหางานโดยเฉพาะ และมีข้อมูลของศิษย์เก่าที่เรียนจบไปแล้วปัจจุบันทำงานในบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ทั้งหมดนี้จึงช่วยให้คนที่เรียนจบจากที่นี่สามารถหางานได้ง่ายขึ้น

​พวกเขารับรองว่า 99% ของคนที่เรียนจบสามารถหางานในสายงานที่เรียนจบได้ภายใน 6 เดือน ตัวเลขที่น่าทึ่งดังกล่าวดึงดูดคนอื่นๆ ให้มาลงเรียนที่นี่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยคอร์สเรียนมีทั้งคอร์สเร่งรัดฟูลไทม์ คอร์สพาร์ตไทม์ที่เน้นเรียนหลังเลิกงาน และคอร์สเรียนออนไลน์ เรียกได้ว่าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายแทบทุกกลุ่ม

พวกเขาเห็นโอกาสมากขึ้นเมื่อพบว่าบริษัททั่วโลกหมดเงินมหาศาลไปกับการพัฒนาพนักงาน จึงขยายธุรกิจสู่การขายคอร์สเรียนเหล่านี้ในระดับองค์กรเพื่อเสนอตัวในการช่วยองค์กรนั้นๆ พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับพนักงาน ผ่านทั้งคอร์สออนไลน์และการจัดเวิร์กช็อปให้โดยเฉพาะ ทำให้ปัจจุบันคอร์สเรียนสำหรับองค์กรเหล่านี้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของเจเนรัล เอสเซมบลีอีกทางหนึ่ง



​ภายในเวลา 7 ปี เจเนรัล เอสเซมบลี ขยายธุรกิจไปทั่วโลก

​เจเนรัล เอสเซมบลี มีสถานที่เรียนทั้งหมดกว่า 20 เมือง รวมถึงที่สิงคโปร์ มีคนเรียนจบจากที่นี่แล้วกว่า 50,000 คน และมีกว่า 300 บริษัทที่ติดอันดับบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกใช้บริการพวกเขาอยู่

​ในที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2017 บริษัท อะเด็คโก้ (Adecco) ซึ่งเป็นบริษัทด้านทรัพยากรบุคคลชั้นนำของโลกก็ติดต่อซื้อ เจเนรัล เอสเซมบลี ไปในมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์

​เรื่องหนึ่งที่ เจเนรัล เอสเซมบลี ทำได้ดี คือการสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าและความกล้าที่จะเปลี่ยน พวกเขาคุยกับบริษัทที่มาเช่า Co-working space จนเข้าใจว่าบริษัทเหล่านี้เจอปัญหาอะไรอยู่บ้าง และค้นพบช่องว่างระหว่างสิ่งที่เรียนมากับสิ่งที่บริษัทต้องการ จนกล้าตัดสินใจเปลี่ยนมาทำธุรกิจด้านการศึกษาแทนและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

​ผมคิดว่าสิ่งที่ เจเนรัล เอสเซมบลี ทำได้นั้นน่าทึ่งมาก พวกเขากล้าที่จะลุยกับปัญหาการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่และหาโมเดลทำเงินได้ยาก ที่น่าทึ่งอีกอย่างคือพวกเขาเชื่อในโมเดลการสร้างแคมปัสเรียนออฟไลน์ ซึ่งใช้เงินลงทุนเยอะและดูเหมือนจะขยายกิจการได้ช้า ในขณะที่สตาร์ตอัพด้านการศึกษาส่วนใหญ่ล้วนมุ่งตีตลาดในพื้นที่ออนไลน์
​อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของพวกเขาส่วนหนึ่งมาจากการไม่เชื่อกระแส โฟกัสไปที่การพัฒนาสิ่งที่จะแก้ปัญหาลูกค้าได้ดีที่สุด…

นี่คือ 1 ใน 20 เรื่องราวการ Disrupt ธุรกิจของตัวเองจากไอเดียที่คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรืออาจจะมองไม่เห็นด้วยซ้ำไป ให้กลายเป็นธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ จากหนังสือ Winning With Ideas เรียนลัด 20 สตาร์ทอัพที่อเมริกาที่ผู้เขียนชอบมากและยังไม่มีในไทย โดย มาโนช พฤฒิสถาพร ผู้มีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพที่อเมริกาและไทย

หากคุณชอบเรื่องราวนี้ คุณสามารถหาซื้อหนังสือ Winning With Ideas ได้แล้ว ที่ สำนักพิมพ์มติชน