เจ้าของ Fin-e ไข่ขาวพร้อมรับประทาน เล่าวิธีพลิกเกมส์เมื่อ SME ถูกรายใหญ่ก็อปปี้สินค้า

หลายคนคงรู้จักกับคำว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs แทบทุกคนที่อาจเคยถึงขั้นประสบและรู้ซึ้งถึงความเสียหายดั่งที่เคยเป็นข่าวดังในอดีต กรณีโมเดิร์นเทรดที่มีสาขาจำนวนมาก ทำสินค้าประเภทเดียวกันในรูปแบบของ Private label หรือ House brand ออกมาวางขายในราคาถูกกว่าของ Supplier

อันที่จริง กรณีเจ้าของห้างค้าปลีกผลิตสินค้า Private label ออกมาขายคู่ (แข่ง) กับ Supplier เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และเกิดขึ้นกับทุกค่ายทั่วโลกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ยกตัวอย่างกรณี Amazon.com ค้าปลีกออนไลน์ประเภท Marketplace รายใหญ่ที่ เริ่มทำสินค้า Private label ออกมาขายและสามารถเขียนโปรแกรมให้ระบบแสดงสินค้าของ Amazon โดดเด่นได้ตามต้องการ เพราะเจ้าของแพลทฟอร์มเหล่านี้ (ออฟไลน์และออนไลน์) กุมอำนาจทั้งพื้นที่ขาย และฐานข้อมูลการขายทั้งหมดไว้ในมือ จึงไม่ยากที่จะนำทรัพยากรของตนมาใช้แสวงประโยชน์สูงสุดให้แก่ตนเอง

ในเชิงธุรกิจ คือ การแข่งขัน แต่ในแง่ชีวิตโดยเฉพาะสำหรับ SMEs หน้าใหม่ เหตุการณ์นี้นับว่ารุนแรงมาก เพราะ SMEs ใหม่มีทรัพยากรที่จำกัด ศักยภาพในการแข่งขันยังน้อย สิ่งเดียวที่มี คือ สินค้าคุณภาพ และความหวังว่าจะเจอพันธมิตรการค้าที่ทำงานกันยาว ๆ แต่พอสินค้าเริ่มติดตลาดแล้วถูกพันธมิตรที่เป็นห้างร้านสกัดกลางอากาศ ความเสียหายอาจถึงขั้นหมดตัวก็เป็นได้สำหรับบางราย

เจ้าของ Fin-e เล่าวิธีพลิกวิกฤติสำหรับ SMEs

รูปประกอบบทความเท่านั้น มิได้หมายถึงสถานที่ที่มีประเด็น

บทความนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ตัวจริงเสียงจริงที่เพิ่งประสบเหตุการณ์ทำนองนี้มาหมาด ๆ และสามารถพลิกสถานกาณณ์ผ่านวิกฤติกลับมายืนได้อีกครั้งได้มาให้คำแนะนำแก่เพื่อน ๆ ผู้ประกอบการที่กำลังประสบเหตุการณ์ที่คล้ายกัน และที่กังวลว่าอาจจะประสบในวันข้างหน้า

คุณสอง ภาสกร ไวยวรรณะ และ คุณก้อย ภารดี สองสามีภรรยาผู้ร่วมกันก่อตั้ง Fin-e ผลิตภัณฑ์ไข่ขาวพร้อมรับประทาน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาให้ตัวเอง นั่นคือการทำไข่ขาวให้ง่ายสำหรับการรับประทานเพื่อพกติดตัวในยามเดินทางและเวลาไปออกกำลังกาย แต่ปรากฏว่าเพื่อน ๆ หลายคนชอบ จึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อขาย

ทั้งสองใช้เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ 3 ปี จากหน้าตาเหมือนเต้าหู้หลอดกว่าจะมาเป็น Fin-e ที่มีหน้าตาสวยงามในปัจจุบัน และจนสามารถผลักดันเข้าร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรดสำเร็จ —การเข้าโมเดิร์นเทรดควรจะเป็นการก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่สำหรับ SMEs ทุกคน เพราะมีพันธมิตรที่มีสาขาทั่วประเทศช่วยกระจายสินค้าให้ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

หลังจาก Fin-e เข้าโมเดิร์นเทรดรายหนึ่ง สินค้าเริ่มขายดีจนได้รับเชิญออกรายการต่าง ๆ จู่ ๆ ทางห้างฯ ก็หยุดสั่งสินค้าไปดื้อ ๆ และยุบพื้นที่วางสินค้าของตนออกไป และนำสินค้าที่คล้ายกันแต่คนละแบรนด์มาวางขาย —ทางห้างฯ ให้เหตุผลว่า ‘Fin-e ขายไม่ดี’

หลังจากเจ้าของ Fin-e ลงพื้นที่ตรวจสอบจึงพบว่า ทางห้างฯ ได้นำสินค้าที่คล้ายกัน และยังผลิตจากโรงงานเดียวกันมาวางขายในราคาถูกกว่า พร้อมสนับสนุนการขยายขาการวางสินค้าอย่างเต็มที่อีกด้วย

ถึงจุดนี้ คุณสอง รู้ตัวแล้วว่าโดนทางห้างฯ เล่นเกมส์ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และตนได้สูญเสียช่องทางขายสินค้าระดับประเทศโดยที่ไม่มีสิทธิอุทรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ณ เวลานั้นเขานึกถึงประโยค คุณต็อบ เถ้าแก่น้อย ที่เคยประสบวิกฤติหนัก ๆ มาแล้วเช่นกัน ประโยคนั้นคือ…

“…หมดอะไรก็หมดได้ แต่อย่าหมดกำลังใจ เพราะถ้ากำลังใจยังมี เกมส์จะยังไม่จบ แต่ถ้าหมดกำลังใจเกมส์จะจบลงทันที…”

คุณสองและครอบครัวปรับตัวและคิดแผนหาวิธีเปลี่ยนกลยุทธ์การทำธุรกิจทันที ออกหาช่องทางใหม่ จับมือพันธมิตรใหม่ จนในที่สุดก็กลับมายืนได้อีกครั้งโดยไม่ต้องพึ่งพาโมเดิร์นเทรดบางค่าย และต่อไปนี้ คือ 3 กลยุทธ์ที่ คุณสอง และ คุณก้อย นำมาใช้ในการแก้เกมส์ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

3 กลยุทธ์ SMEs แก้เกมส์ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

รูปประกอบบทความเท่านั้น มิได้หมายถึงสถานที่ที่มีประเด็น

สร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง

สินค้าของเราอาจจะถูก ก็อปปี้ แต่ แบรนด์ เราต้องสร้างให้เป็นที่จดจำ ต้องทำให้กลุ่มลูกค้า รู้จักและรักเราให้มากที่สุด เราโชคดีครับที่ 3 ปี เกือบ 4 ปี เราไม่ยอมหยุด เราเข้าหาลูกค้า ออกบูทมากมายหลายที่ ได้โอกาสไปออกรายการ และไปเข้าร่วมงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น Fit Fest ของ พี่วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา

ต้องบอกว่างานพี่วู้ดดี้ ตรงกับกลุ่มลูกค้าเรามากๆ และระยะหลังมานี้เราก็เริ่มมีแฟนคลับที่รักในสินค้าของเรา ซื้อซ้ำเป็นประจำ และมันตื้นตันทุกครั้งที่มีคนบอกว่า เค้ารู้จักสินค้าเรา เคยมีครั้งหนึ่ง เราเอาสินค้าไปเข้าร้านสุขภาพ แล้วเจ้าของร้านบอกว่า สินค้าเรา “ดังนะเนี่ย” การสร้างสินค้าให้เป็นที่รู้จัก มันไม่ได้ใช้ระยะเวลาแค่เวลาสั้น ๆ แต่มันต้องทำเป็นประจำ ทำซํ้า ๆ บางคนบอกให้ทำออนไลน์ บางคนบอกให้ทำออฟไลน์ แต่ผมจะบอกว่า “เอาให้หมดทุกทาง

ครั้งหนึ่งในงานแกะรอยร้อยล้าน ของอายุน้อยร้อยล้านร่วมกับ SCB ผมได้ฟัง เฮียนพหมูนุ่ม พูดว่า “ทำธุรกิจอย่าหยุดตะโกน” เราจึงเอาคำนี้มาใช้ตลอด วันนี้เราอาจยังไม่ดัง แต่ไม่นานแน่นอนเราจะทำให้ทุกคนได้รู้จัก “ฟินอี (Fin-e) ไข่ขาวพร้อมทาน” Original Never die!

Innovation สร้างนวัตกรรม

เมื่อเกมส์เริ่มแล้วคงหยุดไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือวิ่งไปข้างหน้า วิ่งให้เหมือนพี่ตูน วิ่งจนกว่าจะถึงเส้นชัย คำหนึ่งที่ได้มาตอนไปนั่งฟังสัมมนาการเงินคือ “If you’re not growing, you are dying” ถ้าคุณไม่กำลังโตแปลว่าคุณกำลังตาย!

ดังนั้นหากสินค้าคุณโดนก็อปปี้อย่าถอดใจครับ เค้าอาจจะก๊อปสินค้าเราได้ แต่เค้าก๊อปมันสมองและจิตวิญาณเราไม่ได้ ออกสูตรใหม่ ออกรสชาติใหม่ ออกนวัตกรรมใหม่ ทำให้ตัวเราเป็นผู้นำอยู่เสมอ เพราะถ้าแค่เราหยุดพักหายใจอยู่กับที่ รู้ตัวอีกที่เราอาจเป็น Follower ในตลาดไปซะแล้ว แทนที่จะนั่งโกรธว่าโดนก๊อป เรามาเปลี่ยนโฟกัสว่า เราจะสร้างารรค์สิ่งใหม่ๆอะไรในธุรกิจเราออกมาได้บ้าง พอคิดแบบนี้เราจะใช้พลังเรามากกว่าเดิม ใช้จินตนาการมากกว่าเดิม สู้มากกว่าเดิม และเราจะรู้ว่าศักยภาพเรามันไม่มีขีดจำกัด ถึงเราจะยังเล็กแต่เราจะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่

Partner อย่าหยุดค้นหาพันธมิตร

ถ้าเราเล็กด้วย แถมยังโดดเดี่ยวด้วย ยุคนี้ผมว่าอยู่ยาก มันคงจะดีกว่ามาก ถ้าเรามีเพื่อนที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือกันและกัน ใครจะไปเข้าใจหัวอก SMEs ได้เท่า SMEs ด้วยกัน ดังนั้นเราอย่ามัวมาแข่งกันครับ หาพันธมิตรในอุตสาหกรรมเดียวกัน คอยเป็นหูเป็นตา และส่งเสริมซึ่งกันและกัน โปรโมทสินค้าของพันธมิตรในช่องทางของกันและกัน

ถ้าเราอยู่คนเดียว กว่าจะสร้าง Awareness ให้ลูกค้ารู้จักเรา เจ้าใหญ่ที่มาก๊อปก็แซงไปถึงไหนแล้ว อย่างฟินอี โชคดีมากๆที่เรามีเพื่อนร่วมวงการอาหารสุขภาพที่คอยช่วยเหลือมาตลอด เช่น ลุงโจนส์ (Jones Salad) ที่ทั้งช่วยแนะนำ ช่วยสนับสนุนกันเรื่อยมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สสว. ที่ให้การสนับสนุน SMEs ดังนั้น สร้าง Partner หาพันธมิตรกันเข้าไว้ครับ

คุณสอง ส่งท้ายถึงเพื่อน SMEs

อยากฝากอะไรถึง SMEs ที่กำลังประสบเหตุการณ์เดียวกัน? 

ดีใจด้วยครับ นั่นพิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่เราคิด สินค้าที่เราทำ มันเข้าตาตลาด มันตอบโจทย์ลูกค้า ภูมิใจกับตัวเองแล้วก้าวต่อไป

อยากฝากอะไรถึงห้างร้านรายใหญ่?

มาช่วยเหลือ SMEs มาพัฒนาประเทศด้วยกันนะครับ อนาคตประเทศชาติ จะเป็นอย่างไรหากไม่เหลือพื้นที่ให้ SMEs ได้ก้าวเดิน และผมเชื่อว่าความภาคภูมิใจของ R & D (Research & Development) คือ การทำวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ แต่สิ่งเหล่านั้นจะหายไปหากสิ่งที่ทำเป็นเพียงการ C & P (Copy & Paste)

สุดท้ายของบทความกับความฝันเล็กๆของผม อยากให้วิชาเรียนวิชาหนึ่งที่ผมเคยเรียนสมัยอยู่ ABAC เป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทยมากกว่าแค่หน่วยกิจ นั่นคือวิชา “Business Ethics” ขอให้บทความนี้เป็นกำลังใจให้ SMEs และขอให้คุณมาช่วยยกระดับสังคมไทยไปด้วยกัน

ผม สอง ภาสกร ไวยวรรณะ เขียนในฐานะ สามีธรรมดา ที่อยากทำอะไรบางอย่างเพื่อฝันของภรรยา และในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ไม่อยากเห็นข่าวแบบนี้เกิดขึ้นกับ SMEs ไทย อีกแล้ว

รูปประกอบบทความเท่านั้น มิได้หมายถึงสถานที่ที่มีประเด็น