Digital Product พลังของการเสกเงินจากมือถือเครื่องเดียว

digital-products-01

ถ้าให้เอ่ยถึงหนึ่งในธุรกิจที่เป็นเจ้าแห่ง Passive income และบางครั้งอาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังเสกเงินจากอากาศได้ หนึ่งในนั้นจะต้องมี Digital product ติดอันดับอย่างแน่นอน

โดยทั่วไปเมื่อคิดจะทำธุรกิจ คนส่วนมากนึกถึงเพียง 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่ขายสินค้า Physical product และ ธุรกิจที่ขาย Service อาทิ บริการ รับจ้าง รับทำ เป็นต้น — แต่น้อยคนจะนึกถึง Digital product

Digital product ทำเงินจากสินค้าที่ไม่มีตัวตน ไม่ต้องสต็อก ไม่ต้องแพ็ก ไม่ต้องส่ง และ ไม่ต้องทำอะไรให้ใคร เพราะ ตัว Digital product จะทำงานและทำเงินแทนคุณ! โดยในบริบทนี้จะแบ่ง Digital product ออกเป็น 4 ประเภทหลักเพื่อให้จำกันง่าย ๆ ได้แก่ Platform, Software, Application, และ Information

1. Platform

แพลทฟอร์ม คือ เว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชั่น ที่เป็นสื่อกลางให้ ผู้ขาย และ ผู้ซื้อ มาเจอกันตรงกลาง มีลักษณะ Marketplace อาทิ Amazon และ Alibaba เว็บไซต์สื่อกลางค้าปลีกและค้าส่งตามลำดับ

เป็นที่ ๆ ผู้ขายมาเปิดร้านและโพสต์ขายสินค้า ในขณะที่ผู้ซื้อมาค้นหาสินค้าและทำการสั่งซื้อโดยธุรกรรมทั้งหมดจะจบภายในเว็บไซต์ และเจ้าของเว็บแพลทฟอร์มนั้น ๆ จะมีรายได้จากค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของเขา

แพลทฟอร์มประเภทอื่น ๆ อาทิ ShutterStock.com เป็นสื่อกลางสำหรับ ช่างภาพมาโพสต์รูปภาพ และ ผู้คนสามารถซื้อ License รูปภาพไปใช้ทำงานกราฟฟิก กรณีนี้ รูปภาพถือเป็น สินทรัพย์ดิจิทัลของช่างภาพคนนั้น ๆ เช่นกัน
อีกกรณี คือ PremiumBeat.com เป็นสื่อกลางสำหรับ นักผลิตดนตรีมาโพสต์คลิปดนตรีต่าง ๆ ให้ผู้คนมาซื้อ License เสียงดนตรีไปใช้ประกอบงานวีดีโอ ส่วนในหมวดการศึกษาก็มี Udemy.com เป็นสื่อกลางสำหรับ นักสอนมาโพสต์คอร์สออนไลน์ ให้คนมาซื้อคอร์สไปเรียน

ทั้ง ShutterStock, PremiumBeat และ Udemy ล้วนเป็น สินทรัพย์ และ สินค้าดิจิทัล ทั้งหมด เจ้าของสินค้าได้ค่า License เจ้าของแพลทฟอร์มได้ ค่าธุรกรรม หรือ ค่าสมาชิก ที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อ

2. Software

หากเปรียบ Platform เป็น King of passive income หรือ ผู้มีรายได้จากทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น, Software อาจเปรียบได้กับ King of recurring income หรือ ผู้มีรายได้ทุกเดือนจากการขายสินค้าเพียงครั้งเดียว!

Software เหล่านี้มักอยู่ในรูปแบบของ ซอฟต์แวร์บริการ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า Software as a Service หรือ SaaS — ยกตัวอย่างเช่น การเช่าบริการโปรแกรมบัญชี, บริการบัญชีจีเมล์นามบริษัท, บริการเว็บโฮสติ้ง หรือ บริการโปรแกรมเว็บ E-Learning

SaaS เหล่านี้บางรายจ่ายเป็นรายปี แต่หลายรายจ่ายเป็นรายเดือน ปิดการขายครั้งเดียวมีรายได้ Passive income จากลูกค้าแต่ละคนทุกเดือนไปตลอดอายุการใช้งานซึ่งอาจจะยาวนานไปหลายปี

3. Application

Application ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนมีหลายประเภท ส่วนมากให้สมัครหรือทดลองใช้ฟรี จากนั้นจ่ายเงินเพื่ออัพเกรดการใช้งาน หรือจ่ายเงินเป็นรายธุรกรรม หรือจ่ายเป็นรายเดือน ยกตัวอย่าง Line Man และ Grab จ่ายเป็นรายธุรกรรม ในขณะที่แอปพลิเคชั่นรับส่งข้อความ Line ใช้งานฟรี มีสติกเกอร์ฟรีให้โหลดเล่นจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นถ้าอยากได้สติกเกอร์ใหม่ ๆ เพิ่มก็ต้องจ่ายเงินซื้อ

เกมส์มือถือต่าง ๆ ก็จัดเป็นแอปพลิเคชั่นชนิดหนึ่งเช่นกัน เกมส์มือถือส่วนมากโหลดฟรี จากนั้นจะเริ่มเสนอให้คุณซื้อไอเทมในเกมส์ โดยสำนักข่าว Wall Street Journal เคยมีรายงานเมื่อเดือน มีนาคม 2018 ว่าชายหนุ่มชาวเอเชียวัย 31 ปี ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามบอกว่าเขาจ่ายเงินให้ซื้อไอเทมในเกมส์ไปแล้วกว่า 70,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2.2 ล้านบาท

[Ref https://www.wsj.com/articles/meet-the-man-whos-spent-70-000-playing-a-mobile-game-1521107255]

4. Information

เมื่อคุณฟังโมเดลธุรกิจแบบ Platform, Software, และ Application จบแล้วอาจรู้สึกว่าไกลตัวเกินไปหรือไม่ครับ? ถ้ารู้สึกเช่นนั้นก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะ 3 โมเดลธุรกิจที่เล่าไปส่วนใหญ่ทำในรูปแบบของธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งสิ้น เพราะ 1) ใช้ทุนเยอะ และ 2) มักไม่มีกำไรในช่วง 1-3 ปีแรก หรือ อาจจะนานกว่านั้น ฉะนั้นหากทำในรูปแบบ SME พูดเลยว่า ‘รอดยาก’

แต่ในโมเดลที่ 4 — SME หรือ แม้แต่ตัวคนเดียวก็ทำได้ โมเดลนี้เรียกว่า Information Product
หากเปรียบ Platform เป็น King of passive income และ SaaS เป็น King of recurring income, Information Product ก็มีโอกาสเป็น King of intellectual income หรือ รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการ ‘แพ็กเกจความรู้’ เพื่อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

Information product ทำง่าย, ใช้ทุนน้อย, และทำเงินได้เกือบจะทันที โดยมีหลายรูปแบบ ได้แก่ หนังสือเล่ม, สัมมนา, หนังสืออิเลคทรอนิกส์ หรือ อีบุ๊ค, หนังสือเสียง หรือ ออดิโอบุ๊ค และ คอร์สออนไลน์

อีบุ๊ค, ออดิโอบุ๊ค, และ คอร์สออนไลน์ เป็นดิจิทัลโปรดักส์ โดยมี คอร์สออนไลน์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในแง่ของ ราคา และ อัตรากำไร

ช่องทางในการขายคอร์สออนไลน์มี 4 ช่องทาง

ได้แก่ 1. ทำคอร์สขายและสอนใน Facebook Group, 2. ทำคอร์สส่งไปขายบนแพลทฟอร์ม เช่น SkillLane, 3. สร้างเว็บ E-Learning ของตัวเอง, และ 4 เช่าระบบ SaaS ด้าน E-Learning โดยเฉพาะ

กรณีของ CEOblog มีคอร์สขายบน SkillLane และ เช่าระบบ SaaS ของ Teachable เปิดเป็นเว็บไซต์ E-Learning ของตนเองชื่อ Expertsity.com โดยสาเหตุที่เลือกทำเป็นเว็บไซต์เองแทนที่จะขายใน Facebook Group ก็เพราะการสร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้ทั้ง เว็บไซต์, โดเมนเนม, วีดีโอคอนเทนต์, และ ดาต้าเบสของผู้เรียน มารวมไว้เป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ในที่เดียว