กรณีศึกษา วัยรุ่นอายุ 19 ทำแอพฯ Bolt แข่งกับ Uber กลายเป็นสตาร์ทอัพพันล้านที่อายุน้อยที่สุดในยุโรป

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับนักธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ ชาวยิว ที่ไปเติบโต ณ ซิลิคอนวัลเลย์ อเมริกา อาทิ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (เฟสบุค), แลร์รี เพจ และ เซอร์เจย์ บริน (กูเกิล), และ แลร์รี (ออราคัล) เป็นต้น

แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เอสโตเนีย ประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปติดกับรัสเซีย ก็เป็นบ้านเกิดของ เทคสตาร์ทอัพชื่อดัง อาทิ Skype ที่คนไทยเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง และ TransferWise

และล่าสุดกับ Bolt แอพพลิเคชันเรียกบริการรถ หรือ Ride-hailing ที่มีมูลค่ากิจการแตะ 1 พันล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2018 และที่สำคัญ คือ ทำสถิติ ‘แอพพลิเคชันพันล้าน’ โดย ชาวยุโรปที่มีอายุน้อยที่สุด

ผู้ก่อตั้ง Bolt คือใคร

Bolt มีชื่อเดิมว่า Taxify ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2013 โดยชายหนุ่มชาว เอสโตเนียน นามว่า Markus Villig ซึ่งตอนที่ก่อตั้งแอพฯ นี้ เขามีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

ณ ตอนนั้น Markus Villig เพิ่งจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย Tartu ในคณะ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ปีแรกเท่านั้น และเขาก็พบกับปัญหาของผู้คนรวมถึงตัวเขาเองในการเรียกใช้บริการ Ride-hailing ที่มีราคาสูงและใช้งานยาก

เขาจึงเกิดไอเดียที่จะพัฒนาแอพพลิเคชัน Ride-hailing ที่ดีกว่าตลาด ประกอบกับมีความฝันที่จะทำธุรกิจ เทคสตาร์ทอัพ เป็นของตัวเองเพราะหลงใหลในพลังการ Leverage ของธุรกิจ เทคฯ/แอพฯ จากรุ่นพี่อย่าง Skype เป็นทุนเดิม; Markus Villig จึงตัดสินใจ ดรอปเรียน ขอยืมเงินจำนวน 5,000 ยูโร หรือประมาณ 5,565 ดอลล่าร์ จากพ่อแม่มาตั้งตัว พร้อมชักชวน Martin พี่ชาย และ Oliver Leisalu เพื่อนของเขามาช่วยก่อตั้งธุรกิจ

ทำไม Bolt จึงประสบความสำเร็จในยุโรป

กลยุทธ์ที่มีส่วนช่วยให้ Markus Villig ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวแอพพลิเคชัน Bolt ในช่วงเริ่มต้นมี 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ :

1. เข้าใจตลาดในบ้านของตัวเอง

วันที่เขาตัดสินใจที่จะทำธุรกิจ Ride-hailing – ยักษ์ใหญ่อย่าง Uber ได้บุกตลาดยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดย Uber แพร่หลายไป 20 เมืองในเอสโตเนีย ซึ่งล้วนเป็นเมืองสำคัญที่ Bolt จะต้องเข้าไปให้บริการเช่นกัน

แน่นอนว่าคนรอบตัวเขาก็ทักท้วงว่าโมเดลธุรกิจ สตาร์ทอัพ นั้นมีความผูกขาดสูง และไม่เห็นโอกาสที่หน้าใหม่ทุนน้อยโดยคนท้องถิ่นจะแข่งขันได้ แต่ Markus Villig กลับเห็นต่างโดยมองว่า คนท้องถิ่นนี่แหละที่ได้เปรียบ

Markus Villig ให้สัมภาษณ์กับ Quartz ว่า Uber ดูน่ากลัวในแง่ของเครือข่ายที่แพร่กระจายไปทั่วโลกก็จริง แต่ความได้เปรียบสูงสุดของ Uber ยังคงอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่กฏหมายการคมนาคมในแต่ละประเทศล้วนแต่งต่างและมีความซับซ้อนในแบบของมันเอง

นอกจากกฏหมายการคมนาคมที่แตกต่างแล้ว พฤติกรรมลูกค้าในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและศรัทธา และตรงนี้เอง คือ ข้อได้เปรียบของ Markus Villig ที่เป็นคนท้องถิ่น มีความเข้าอกเขาใจผู้คน รวมไปถึงเข้าใจข้อกฏหมายในบ้านเกิดตัวเองมากกว่าคนนอกพื้นที่

กลยุทธ์ชิงความได้เปรียบทางกฏหมายใช้ได้ผล

หลังจากที่ Bolt เริ่มขยายจาก เอสโตเนีย สู่ประเทศใกล้เคียงยุโรป เขาพบว่า ความเข้าใจกฏหมายการคมนาคมของเขา คือ จุดแข็งสำคัญในการแข่งขัน

เพราะภายหลัง Uber ถูกรัฐบาลในบางประเทศไม่อนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ในภายหลัง เนื่องจากขัด หรือ ล้มเหลว ที่จะปฏิบัติตามกฏหมาย – ซึ่ง Uber ประสบปัญหาดังกล่าวในไทยเช่นกัน

2. อยากเป็นสตาร์ทอัพต้องรู้จักประหยัด

คนรุ่นใหม่บางคนอาจมองภาพ สตาร์ทอัพ เป็นนักธุรกิจสมัยใหม่ ใส่สูท กางเกงยีนส์ ร้องเท้าผ้าใบเก๋ ๆ ไปพิชชิงนายทุนและมี เงินพันล้าน (ของคนอื่น) ในมือไว้เผาเล่น (Cash burner) แต่สำหรับทีม Bolt, นักธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ คนที่ต้องลงไปทำงาน คลุกฝุ่น ตากแดด มือเปื้อนดิน ด้วยตนเอง

ในช่วงเริ่มต้น, Bolt ยังไม่มี ยูเซอร์ ในระบบ ไม่ว่าจะฝั่ง คนขับรถ และ ผู้โดยสาร กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งต้องทำงานส่วนใหญ่ด้วยตนเอง พัฒนาแอพฯ, ออกไปสำรวจตลาด, ชักชวนยูเซอร์ ฯลฯ และจ้างพนักงานอย่างระมัดระวังมาก ๆ โดยพนักงานที่จ้างมาต้องคุ้มค่าจริง ๆ เท่านั้น

3. สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าและคู่ค้า

การบริหารธุรกิจที่มีการควบคุมการเงินอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้ Bolt สามารถเจาะตลาดด้วยข้อเสนอที่ดีกว่า คู่แข่ง ให้กับยูเซอร์ทั้ง 2 ฝั่ง ได้แก่ ผู้โดยสารที่สามารถใช้บริการได้ถูกกว่า และ คู่ค้า (คนขับรถ) ได้รับส่วนแบ่งสูงกว่า

กรณีนี้ Uber ขอส่วนแบ่งจาก คนขับรถ จำนวน 25% ในขณะที่ Bolt ขอเพียง 15% ส่งผลให้ Bolt เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีผู้ใช้งานถึง 25 ล้านคน และคนขับในระบบถึง 500,000 คน ในปัจจุบัน



วันนี้ และอนาคตของ Bolt

Bolt ก่อตั้งในปี 2013 ในชื่อ Taxify ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Bolt ในปี 2018 เพื่อรองรับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต อาทิ บริการจัดส่งอาหาร และ บริการสกูตเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น ฯลฯ

ในปี 2019; Bolt มีให้บริการกว่า 100 เมือง ใน 30 ประเทศแถบยุโรปและแอฟริกา ฐานลูกค้า 25 ล้านคน และคนขับรถ 500,000 คน

ก้าวกระโดดสำคัญของ Bolt คือ ได้รับเงินลงทุนจากนายทุนระดับยักษ์ใหญ่ อาทิ บริษัท Didi Chuxing แอพฯ เรียกรถเบอร์หนึ่งของจีน ไม่เปิดเผยจำนวน และ บริษัท Daimler เจ้าของรถหรูยี่ห้อ Benz จำนวน 175 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นอย่างมาก

Markus Villig ติดอันดับ Forbes List 30 Under 30 ในปี 2018 ณ อายุ 24 ปี ในฐานะเจ้าของแอพพลิเคชันมูลค่า 1 พันล้านดอลล่าร์ และยังเป็นนักธุรกิจสตาร์ทอัพพันล้าน ชาวยุโรปที่อายุน้อยที่สุด




Appendix :

https ://www.cnbc.com/2019/10/21/how-bolt-ceo-markus-villig-became-europes-youngest-unicorn-founder.html

https ://qz.com/1303297/markus-villig-ceo-of-taxify-is-smashing-ubers-monopoly-in-europe-and-africa/

https ://www.forbes.com/profile/markus-villig/#46ecfba21230