7 ข้อคิดปรับตัวพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ในวันที่ E-Commerce ใหญ่บุกตลาดหนักมาก

Jack Ma teaching 1908001

7 ข้อคิดปรับตัวพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ในวันที่ E-Commerce ใหญ่บุกไทยหนักมาก จาก โค้ชออย ธีรนุช กมลเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายแบบเจาะลึกแบบ Deep Learning

—– —– —–

พ่อค้าแม่ค้าไทยแย่แล้ว! นี่คือหนึ่งในประโยคที่ ออย ได้ยินบ่อยที่สุดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเพราะปัญหาการลดการมองเห็นโพสต์ต่าง ๆ ที่ทาง Facebook กระทำต่อเพจขายสินค้าของคุณ หรือเพราะค่าโฆษณาออนไลน์ โดยเฉพาะค่าโฆษณา Facebook Ad แพงขึ้นทุกปี

รวมไปถึงโรงงานจีนที่ทะลักเข้ามายัง ‘เว็บมาร์เก็ตเพลส’ รายใหญ่ของไทยและขายในราคาที่ถูกกว่า และล่าสุดกับการเคลื่อนทัพของ Alibaba พร้อมแสนยานุภาพด้านเงินทุนมากกว่า 13,000 ล้านบาท มาลงหลักปักฐาน ณ ศูนย์กระจายสินค้าฉะเชิงเทรา ในเร็ว ๆ นี้

ตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านี้นอกจากส่งผลกระทบให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยบางคนไปแล้ว ยังสร้างความกังวลให้อีกหลายคนต่ออนาคตการขายออนไลน์ไทย ในสถานการณ์แบบนี้ ออย — ในฐานะลูกแม่ค้าชาวสวนคนหนึ่ง อยากให้ทุกคนนึกถึงประโยคอมตะของ Charles Darwin กันนะคะ

It Is Not the Strongest of the Species that Survives,
But the Most Adaptable


ไม่ใช่คนที่แกร่งที่สุด หากแต่เป็นผู้ปรับตัวเก่งที่สุด ที่จะอยู่รอด

ออยรู้ค่ะว่าหลายคนอาจไม่ชอบคำนี้ แต่วันนี้มีแนวคิดดี ๆ ที่อาจทำให้คุณหลงรักคำ ๆ นี้มากขึ้น และพร้อมที่รับมือล่วงหน้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปค่ะ

ออย มี 7 Mindset สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้นำไปใช้กันง่าย ๆ โดยเป็น Mindset ที่สะสมมาจากประสบการณ์ และจากการมีโอกาสได้พบเจอ ผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านที่เริ่มต้นจาก พ่อค้าแม่ค้า ซื้อมาขายไป ไม่มีแบรนด์ ไม่มีแผน และสามารถปรับตัวไปสู่ผู้ประกอบการที่มีอาณาจักรธุรกิจ

ออยขอสรุปให้ฟังเป็น 7 ข้อย่อยง่าย ๆ นะคะ

1. พ่อค้าแม่ขายสร้างรายได้ ผู้ประกอบการสร้าง Asset

ในวันที่พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นเริ่มขายออนไลน์ใหม่ ๆ สิ่งที่พวกเขาอยากมีคืออะไรรู้ไหมคะ? ใช่แล้วค่ะ พวกเขาอยากมีรายได้! อยากมีรายได้ไม่ผิดนะคะ แต่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

เวลาที่ในหัวของพวกเขาคิดเพียงทำยังไงให้ขายได้เยอะ ๆ โฟกัสเรื่องเฉพาะหน้าอย่างเดียว งัดสารพัดเทคนิค ตอบแชทไว ขายของถูก อะไรขายดีก็หา ๆ ๆ มาขาย และเมื่อผ่านไปเป็นปี ๆ พวกเขาเอาแต่ขายเพื่อสร้าง ‘รายได้’ แต่ไม่เคยมี ธุรกิจจริง ๆ เป็นของตัวเอง

หากวันนี้คุณยังเป็นแบบนี้อยู่ ให้ถอนคันเร่ง Mindset การ ‘สร้างรายได้’ และเปลี่ยนเกียร์ไปเป็น ‘สร้าง Asset’ ได้แก่ เริ่มสร้างแบรนด์ของตนเอง จดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรสูตรสินค้า จดชื่อเว็บไซต์ จดเครื่องหมายการค้า จัดตั้งบริษัท ฯลฯ

Entrepreneur หรือ ผู้ประกอบการมืออาชีพ โฟกัสที่การสร้าง Asset ซึ่งจะไปสู่เครื่องจักรสร้างรายได้ในระยะยาวค่ะ

2. พ่อค้าแม่ขายสนใจเทคนิค ผู้ประกอบการสนใจกลยุทธ์

ออยทำเพจ Getupteacher และมีเพื่อน ๆ ที่ติดตามตั้งแต่ตอนแฟนเพจมี 1000 Like จนมาเจออีกทีเป็น 200,000 กว่า Like โดยไม่เสียค่าเฟสบุ๊คแอด คำถามที่ออยถูกถามมากที่สุด คือ ‘ทำยังไง?’

ทุกคนถามแต่คำว่า ทำยังไง ๆ ๆ แต่ไม่มีใครเคยถามว่า ออย ‘ใช้กลยุทธ์อะไร

ออย อยากบอกว่า Tips & Trick ในการทำแฟนเพจแสนไลค์ไม่ยากค่ะ โพสต์ดราม่า โพสต์ Fake News โพสต์ Engagement bait ต่าง ๆ ก็พาให้แฟนเพจของคุณไปถึงแสนไลค์ได้ไม่ยาก แต่อาจจะอยู่ได้ไม่นาน

สิ่งที่สำคัญกว่า ‘ทำยังไง’ คือ ‘ใช้กลยุทธ์อะไร’ กลยุทธ์ คือ Action Plan ที่แตกออกมาจาก วิสัยทัศน์และพันธกิจในการทำธุรกิจว่าเราต้องการอะไร อยากได้ลูกค้าแบบไหน ต้องการลูกค้ากี่คน จากนั้นวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า แล้วแจกแจงออกมาเป็น แผน 3 เดือน, 6 เดือน, 12 เดือน และแผน 1 ปีขึ้นไป

หากคุณมองหาแต่ ทริก หรือ เทคนิก คุณจะได้ผลลัพธ์โดยไม่รู้เหตุผลว่าได้ผลเพราะอะไร และสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจู่ ๆ ไม่ได้ผลเพราะอะไร!! ส่วนผู้ประกอบการมืออาชีพ จะโฟกัสไปที่การวางกลยุทธ์ระยะยาวค่ะ

3. พ่อค้าแม่ขายขายทุกอย่างให้ทุกคน ผู้ประกอบการขายบางอย่างให้บางคน

บางคนพยายามเป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกค้าทุกคน อยากได้อะไรก็หามาให้ ทักมาตีสามตีสีก็ต้องลุกมาตอบ ฯลฯ แต่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จบางคน ‘เลือกลูกค้า’

ออยเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยถูก ผู้ขาย ที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ หรือ สินค้าแบรนด์เนม มีกฏระเบียบในการค้าขาย อยากได้ของต้องรอคิว เข้าไปในร้านได้ทีละคน หรือแม้กระทั่งปฏิเสธที่จะขายสินค้าให้ โดยผู้ขายเป็นฝ่ายบอกว่า “คุณไม่เหมาะกับสินค้าของบริษัทเรา” ออยเคยเจอนะคะ

ผู้ประกอบการเหล่านั้น เลือกตลาดและกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน และมุ่งสร้าง Branding ให้แข็งแกร่งในตลาดเฉพาะของตัวเอง — แม้แต่ Amazon และ Alibaba ที่ดูเหมือนจะขายทุกอย่าง แต่ดูดี ๆ 2 เว็บนี้ทาร์เก็ตก็ยังต่างกัน

4. พ่อค้าแม่ขายทำตามกระแส ผู้ประกอบการทำตามอนาคต

ออย จัดเรื่องการ ขายตามกระแส อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ‘เทคนิก’ คุณได้ผลเร็วแน่นอน แต่อาจจะได้ผลในระยะสั้น ในขณะที่วิธีคิดแบบ ‘ผู้ประกอบการ’ มองไปที่อนาคต

อนาคตจะเป็นอย่างไร โลกจะเปลี่ยนไปทางไหน ไลฟ์สไตล์ของคนในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง จากนั้นคิดย้อนกลับและเริ่มปรับตัวหรือออกแบบธุรกิจที่รองรับกับอนาคตตั้งแต่วันนี้

5. พ่อค้าแม่ขายตัดราคา ผู้ประกอบการเพิ่มคุณค่า

คนทีซื้อมาขายไปโดยไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเองแทบทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์ ‘ตัดราคา’ การถูกตัดราคา เป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาก และรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม เมื่อไม่ยุติธรรมก็ทำยังไงต่อ ก็ตัดราคาสวนไปเลย!

บางคนที่เคยทำการค้าแบบ ซื้อมาขายไป วันนี้เกือบหลุดพ้นจากสงครามราคาไปแล้ว เขาทำได้อย่างไรรู้ไหมคะ? เขาแค่พลิกวิธีคิดจาก ซื้อมาขายไป ไปสู่การสร้างแบรนด์ และใส่คุณค่าต่าง ๆ ลงไปในแบรนด์ของตัวเอง เมื่อไรก็ตามที่คุณสร้างแบรนด์ แบรนด์ ถือเป็น Asset ตามที่เล่าไปในข้อแรก

Asset มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และออกดอกออกผลเป็นเครื่องจักรทำเงินระยะยาวให้ธุรกิจ

6. พ่อค้าแม่ขายทำตามใจ ผู้ประกอบการใช้ระบบ

คำว่า ‘ทำตามใจ’ มีทั้งน่ารักและไม่น่ารัก — แบบ น่ารัก ก็คือ ตอบเร็ว รีบตอบ ตอบทุกเวลา ลดแลกแจกแถม และแบบที่ ไม่น่ารัก ก็คือ ด่าลูกค้า ไม่ซื้อก็ด่า ทะเลาะกับแฟนก็ไม่ขายของ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม ในระยะยาวคุณก็อยู่ยากค่ะ เพราะคุณทำงานระบบ Manual วัดผลยาก ขยายธุรกิจก็ยาก

ผู้ประกอบการมืออาชีพทำยังไงรู้ไหมคะ?

พวกเขา ‘ใช้ระบบ’ ได้แก่ สร้างเว็บไซต์ มีเงื่อนไขการค้าขายที่ชัดเจนและควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ง่าย ๆ มีการแทรกกิ้งวัดผลการทำงาน พอมีระบบก็สามารถจ้างคนมาทำงานและให้ระบบคุมอีกที ตัวเจ้าของก็สามารถออกไปขยายกิจการได้ทั่วประเทศ หรือทั่วโลก เพราะทุกอย่างวัดผลผ่านรายงาน

7. พ่อค้าแม่ขายแยกกันอยู่ ผู้ประกอบการร่วมกันบุก

วันนี้ลูกค้าหลายคนมีความรู้สึกว่า “คนขายมากกว่าคนซื้อ” คนก้าวเข้ามาขายของออนไลน์กันมากขึ้นด้วยทัศนคติตามข้อ 1 คือ อยากสร้างรายได้ คนขายจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การแย่งกันขายของเหมือน ๆ กันด้วยเทคนิคการตัดราคาตามมา

แต่ผู้ประกอบการมืออาชีพมีกลยุทธ์ที่แตกต่างค่ะ พวกเขาบางคนจะมีแนวคิดเชิง Partnership นั่นคือแทนที่จะแข่งขันหรือทำเอง พวกเขาเลือกที่จะ จับมือ ร่วมงาน ไปจนถึงเข้าลงทุนหรือรวมเป็นทีมงานหรือบริษัทร่วมกัน เพื่อขยายแสนยานุภาพทางธุรกิจให้ใหญ่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ดังคำกล่าวของ Robin Jones Gunn

“ไปคนเดียวไปได้เร็ว แต่ถ้าไปหลายคนจะไปได้ไกล”

ออยเองก็เป็นอดีตแม่ค้าที่วันนี้ได้รับโอกาสดี ๆ สังคม เพื่อนร่วมงานดี ๆ และผู้หลักผู้ใหญ่จนมีโอกาสเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว และนี่คือ 7 ข้อคิดที่ทำมาฝากจากใจ ให้คนค้าขายทุกคนสามารถผ่านอุปสรรคน้อยใหญ่ต่าง ๆ ไปให้ได้ค่ะ

==========
หากคุณชอบคำแนะนำของ โค้ชออย คุณจะต้องไม่พลาด…
ขอรับฟรี!! คลิปวีดีโอสอนการตลาดออนไลน์สุดเข้มข้นอีกหลายตอนโดย โค้ชออย ธีรนุช ที่นี่

==========

เกี่ยวกับโค้ชออย :

 


โค้ชออย ธีรนุช กมลเดช
ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท นวัตกรรมสร้างสรรค์การศึกษา บริษัทผู้คิดค้นเครื่องมือวิเคราะห์อัตลักษณ์บุคคลและธุรกิจ ยี่ห้อ HabitScan ใช้วิเคราะห์บุคคลตั้งแต่ เยาวชน คนทำงาน ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ และ ลูกค้าของธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจและสามารถบริหารใจคนแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้องตรงใจ รวมไปถึงการหาอาชีพหรือธุรกิจให้เหมาะกับผู้ประกอบการแต่ละคน

HabitScan เป็นเครื่องมือวิเคราะห์อัตลักษณ์ที่ได้รับการรับรองโดย สถาบันคุรุพัฒนา และ สำนักกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้บรรจุเครื่องมือนี้ลงในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถม 4 จนถึงประถม 6 ทั่วประเทศไทย และมีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 300,000 คน

ส่วนโค้ชออย เป็น Certified Coach สาขา Ht.NLP, และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์คนผ่านเครื่องมือ HabitScan นอกจากนั้นยังเป็นผู้บริหารฝ่ายการตลาดของบริษัท ดูแลแบรนด์ย่อย ที่ทางบริษัทแตกสาขาออกมา ได้แก่ เว็บไซต์และแฟนเพจ GetupTeacher, GetupSchool และ ชุมชนพัฒนาครู