สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอรัฐบาล 4 มาตราการอุ้มผู้ประกอบการรายย่อย

วันที่ 5 มีค. 2563 ไทยรัฐ รายงานว่า นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ตั้งแต่ 25 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมามีสัดส่วนจำนวนลูกค้าลดลงมากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาคธุรกิจ ค้าปลีกค้าส่ง มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศ โดยสร้างรายได้คิดเป็น 16% ของจีดีพีรวมของประเทศไทย และมีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 6.2 ล้านคน



ในนามสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีค้าปลีกทั่วประเทศ จึงขอเสนอมาตรการที่จำเป็นให้รัฐบาลช่วยเหลือและเยียวยา โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 4 มิติ ดังนี้ ด้านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงาน และด้านการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ดังต่อไปนี้

1. เสนอให้นำโครงการ ‘ช็อปช่วยชาติ’ กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับขยายวงเงินการบริโภคจากเดิม 15,000 บาท เป็น 50,000 บาท และกำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 31 ก.ย. 2563

2. เสนอโครงการ ‘คืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund’ สำหรับสินค้านำเข้าเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าต่างชาติให้กับทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2563

3. เสนอให้ภาครัฐพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 5% เป็นการชั่วคราว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2563

4. เสนอให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี 2563 เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นข้อเสนอจากสมาคมฯ และจะต้องมีการนำไปศึกษาตามขั้นตอนของภาครัฐฯ ต่อไป

รายงานโดย ไทยรัฐ