3 ความเชื่อผิดๆ ในการทำธุรกิจออนไลน์ที่ทำให้คนทั่วไปไม่สำเร็จ

มนุษย์ปรารถนาความสำเร็จในชีวิตและการทำธุรกิจ เราต่างวิ่งหาสิ่งที่เรียกว่า ‘แหล่งทองคำ’ ซึ่งแหล่งทองคำในที่นี้ไม่ใช่ ทองคำจริงๆ แต่หมายถึงสถานที่ที่มีความเจริญเพื่อจะเข้าไปแสวงหาความมั่งคั่ง

อาทิ สมัยก่อนผู้คนหลั่งไหลไปยังอเมริกาเพื่อสร้างฐานะ สมัยหนึ่งเมืองดีทรอยศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เป็นเมืองแห่งความร่ำรวยที่ผู้คนเข้าไปทำงานและทำธุรกิจ ปัจจุบันก็อาจเป็นซิลิคอนวัลเลย์ สำหรับการค้าคนก็มุ่งไปที่ประเทศจีน ฯลฯ เป็นต้น

และตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา อินเตอร์เน็ตเป็นหนึ่งในแหล่งทองคำของผู้คนแทบทั้งโลก ด้วยจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตกว่า 2.5 พันล้านคนต่อวัน หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊กที่มีคนกวาดสายตาผ่าน Facebook Newsfeed มากกว่า 1.4 พันล้านคนต่อวัน ทำให้หลายคนมองว่าพื้นที่แห่งนี้คือ บ่อเงินบ่อทอง

แต่ทำไมคนจำนวนไม่น้อยยังคงประสบความยากลำบากในการเอาตัวรอดบนโลกออนไลน์ มีเว็บไซต์ที่ไม่ได้ดั่งใจ ไร้คนเยี่ยม เปิดเฟซบุ๊คขายสินค้าก็แทบไม่มีคนกดไลค์ หรือแม้แต่ซื้อโฆษณาเฟซบุ๊คก็ไม่ได้ยอดขายอย่างที่คาดหวัง ฯลฯ

บทความนี้ผมพาดู 3 ความเชื่อเดิม ๆ ที่ปัจจุบันกลายเป็นความเชื่อผิด ๆ ในการเริ่มธุรกิจและการตลาดออนไลน์ครับ

1. ตัวเลขของผู้ใช้งานไม่ได้แปลว่า ‘รายได้’ เสมอไป

คนจำนวนมากชอบบอกว่าโลกออนไลน์มีคนหมุนเวียนมากมาย เฟซบุ๊กมีคนใช้วัน 1.4 พันล้านคน ประเทศไทยมีคนใช้เฟซบุ๊กกว่า 20 ล้านบัญชี อินสตาแกรมอีกกว่า 1 ล้านบัญชี ฯลฯ โอกาสอยู่บนโลกออนไลน์ การหาเงินง่าย ๆ ก็อยู่บนโลกออนไลน์… ผิด!

Tim Ferriss ผู้เขียนหนังสือขายดีตลอดกาล The 4-Hour Work Week บอกว่า “ถ้าคุณพยายามทำให้ทุกคนเป็นลูกค้าของคุณ จะไม่มีใครเป็นลูกค้าของคุณเลย

การเข้ามาสู่โลกออนไลน์โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะสื่อกับคนกลุ่มไหน และแก้ปัญหาอะไรให้ตลาดเฉพาะกลุ่ม ก็ยากที่จะประสบผลลัพธ์ การเปิดเฟซบุ๊กเพจแล้วกระหน่ำโพสต์หน้าฟีดด้วยรูปถ่ายสินค้าที่ก็อปปี้มาจากเว็บไซต์คู่แข่งเพื่อหวังขายของแบบจับเสือมือเปล่าไม่ใช้การเริ่มต้นธุรกิจอย่างมืออาชีพ

ลูกค้าไม่ใช่ลูกกวางที่จะหลงซื้อสินค้าจากใครก็ไม่รู้ ลองมองย้อนกลับไปยังพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคุณดูครับ คุณซื้อเพราะอะไร ซื้อเพราะแบรนด์ ซื้อเพราะรู้จักผู้ขาย ทั้งหมดนี้มาจากรากฐานเดียวกันคือ เพราะเชื่อใจและรู้จักจึงซื้อ นี่คือพฤติกรรมการซื้อแต่ไหนแต่ไรบนโลกออฟไลน์ แล้วคิดว่าบนโลกออนไลน์จะได้รับการยกเว้นจากกฎนี้หรือ?…

2. กระแสแห่ทำตามกันจนตลาดเฟ้อ

อะไรขายดีก็แห่ทำตามเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปและดูจะหนักมากในบ้านเรา ซึ่งนำไปสู่สภาวะตลาดเฟ้อและตลาดวาย

จริงอยู่ที่ทุกธุรกิจที่คุณคิดได้มีคนคิดได้และลงมือทำก่อนคุณไปแล้วหนึ่งก้าวเสมอ แต่การก็อปปี้โมเดลหรือแห่ทำตามคนแรกๆ ที่ทำแล้วเวิร์คก่อให้เกิด Over supply ในขณะที่จำนวนลูกค้าก็ยังเป็นกลุ่มเดิมและจำนวนเท่าเดิม ในที่สุดกลไกทางเศรษฐศาสตร์ก็จะดึงระบบมาสู่จุดดุลยภาพอีกครั้ง คือต้องมีคนเจ๊งออกไปจากตลาด

การทำธุรกิจประเภทเดียวกันไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงศึกษาช่องว่างช่องโหว่ของเจ้าตลาดเดิมที่ยังไม่ถูกเติมเต็มแล้วนำมาพัฒนาเป็นจุดแข็งหรือข้อแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง ไม่ใช่ก็อปปี้มาทั้งดุ้นยันรูปสินค้าก็ไปเอาของเขามาด้วย

ลองดู Grab Taxi—

มีช่วงหนึ่งที่คนหันมาเปิดเต้นแท็กซี่และคนก็หันมาขับแท็กซี่กันจนล้น การมาของ Grab Taxi เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปหมด ถ้าธุรกิจนี้ลงทุนซื้อแท็กซี่ นอกจากจะเป็นเงินมหาศาลแล้วยังเพิ่มปริมาณรถยนต์บนถนนให้ติดอย่างบ้าคลั่งเข้าไปอีก แต่ Grab Taxi เลือกเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อระหว่าง รถแท็กซี่ที่มีอยู่แล้ว และ ผู้โดยสารที่มีอยู่แล้วเช่นกัน ให้สามารถจับคู่ใช้บริการกันโดยไม่ต้องลุ้นเรียกขาจรว่าจะไปหรือไม่ไป เช่นเดียวกับแท็กซี่ที่ไม่ต้องลุ้นว่าลูกค้าจะให้ไปส่งที่ไหน นี่คือการหาช่องว่างในตลาดแล้วพลิกเป็นโมเดลธุรกิจใหม่

3. โฆษณาจะลดความหมายหากไร้แบรนด์ที่แข็งแกร่ง

คนเข้าใจว่าเปิดเฟซบุ๊กเพจแล้วอัดโฆษณาเยอะ ๆ เดี๋ยวก็ขายได้ และเมื่อคนคิดและทำแบบนี้มากขึ้น ๆ ก็เข้าสู่สภาวะโฆษณาล้นจอจนลูกค้าเริ่มมึนและเบือนหน้าหนี

ผมมักย้ำเรื่อง Content marketing และ Personal branding อยู่เสมอทั้งผ่านบทความต่าง ๆ ใน CEOblog และในงานสัมมนาต่าง ๆ ที่ผมมีโอกาสได้ไปพูด สองสิ่งนี้เป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายให้เขาจดจำคุณได้ และนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนสะดุดและหยุดดูโฆษณาของคุณเพราะเขารู้จักคุณแล้ว

จริงอยู่ว่าคุณสามารถซื้อโฆษณาเพื่อทำให้คนเห็นแบรนด์ สินค้า และบริการของคุณมาก ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว แต่อย่าลืมว่าแบรนด์เก่าแก่ของคู่แข่งก็โฆษณาได้เช่นกัน และด้วยงบประมาณอาจสูงกว่าคุณ

อย่างที่บอกในหัวข้อก่อนหน้า คนอุดหนุนคนกันเอง คนอุดหนุนคนที่เขารู้จักและเชื่อใจ ดังนั้นการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ด้วย Content marketing และ Personal branding จะช่วยทำหน้าที่ตรงนี้ และการโฆษณาจะเป็นเครื่องมือในการ Broadcast ข้อความให้คนที่รู้จักคุณเห็นคุณทั่วถึงขึ้นและนานขึ้น

สรุป… ความสำเร็จ แม้บนโลกออนไลน์ก็ไม่มีข้อยกเว้น

ธุรกิจออฟไลน์ใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลานานกว่าจะประสบผลลัพธ์ แต่ธุรกิจออนไลน์เองก็ไม่มีข้อยกเว้น

การเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์อาจใช้เงินเปิดหน้าร้านที่เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซด้วยเงินหลักพันหรือหลักหมื่นในขณะที่หน้าร้านออฟไลน์ใช้เงินเป็นแสน แต่ในแง่ของระยะเวลาในการทำให้คนรู้จัก สร้างแบรนด์ เริ่มมียอดขายเข้ามา ฯลฯ ล้วนต้องอาศัยเวลาและการทำงานหนักไม่แพ้กัน การจะประสบผลลัพธ์ในการทำธุรกิจออนไลน์อาศัย 3 หัวใจสำคัญพื้นฐานดังนี้ครับ

สินค้าดีมีคุณภาพ
ธุรกิจจะก้าวหน้าต้องหาของดีมีคุณภาพมาขาย โดยเฉพาะการขายของออนไลน์ลูกค้าไม่เห็นสินค้าจริงและไม่มีโอกาสมาเจอคุณเหมือนหน้าร้านยิ่งต้องรักษาคุณภาพในสินค้าทุกชิ้นที่ส่งมอบและมีความรับผิดชอบต่อการร้องขอต่างๆ ของลูกค้า ถึงแม้จะเป็นออนไลน์ แต่เสียงลูกค้าที่บอกต่อปากต่อปากยังคงทรงพลังเสมอครับ

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ให้แข็งแกร่ง
ศิลปะในการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ให้เป็นที่ยอมรับและให้คนรู้สึกว่าจับต้องได้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะคนไม่ได้มาเจอมาคุยกับคุณตัวเป็นๆ การปั้นแบรนด์และการตลาดแบบ Content marketing คือเครื่องมือสำคัญที่จะเรียกความเชื่อใจและความภักดีต่อธุรกิจของคุณครับ

สร้างระบบให้เป็นอัตโนมัติ
การขายของผ่าน Line ผ่าน Facebook เป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณกลายเป็นพ่อค้าแม่ขายแทนที่จะเป็นนักธุรกิจ จงสร้างระบบการขายให้เป็นกึ่งอัตโนมัติและสามารถทำงานแทนคุณได้ การวางระบบ Ecommerce ให้เว็บไซต์ การ Outsource ระบบคลังสินค้าและการจัดส่งหรือที่เรียกว่า Fulfillment center อาทิ Shipyours หรือ Sokochan รวมไปถึงการจ้าง Admins ดูแลงานจิปาถะที่คุณไม่จำเป็นต้องทำเองช่วยให้คุณมีเวลาไปพัฒนาธุรกิจให้มีมูลค่าสูงยิ่งๆขึ้นครับ