หนังสือ สตาร์ทอัพสร้างได้ใน 7 วัน ที่เขียนโดย Dan Norris เป็นหนังสือแนะนำสำหรับวันนี้ ซึ่งเหล่าบรรดาผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องอ่านให้ได้ เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงของ Dan Norris ที่เขาเคยสร้างธุรกิจมาหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งมียอดขายหลายล้าน แต่ก็กลับพบว่าไม่มีกำไรเหลือเลย แถมกว่าจะออกสินค้าแต่ละที ก็ใช้เวลาเป็นเดือน ๆ แต่ก็กลับพบว่า สินค้าบางตัวก็ปังบางตัวก็แป๊ก
จนกระทั่งในที่สุดเขาก็ค้นคบวิธีที่ดีกว่าในการเริ่มต้นทำธุรกิจ คือ ทำยังไงก็ได้ให้เกิดธุรกิจขึ้นภายใน 7 วัน นั่นหมายถึงว่า ภายใน 7 วันนี้ ธุรกิจของคุณจะต้องมีลูกค้าเข้ามาจ่ายเงินให้สินค้าหรือบริการของคุณ อย่ารอเป็นเดือนหรือเป็นปี เพราะมันเสียเวลาโดยใช่เหตุ เพราะคุณคงไม่อยากเจอสถานการ์ที่ว่า อุตส่าห์ทุ่มเทเพื่อผลิตสินค้าที่ดีที่สุดออกมา แต่พอถึงวันขายจริงกลับไม่มีคนซื้อซะงั้น
สำหรับหนังสือเล่มนี้ พอแอดมินเห็นจากเพื่อนแชร์ปุ๊บก็ซื้อปั๊บ ลองมาดูเนื้อหาที่น่าสนใจภายในเล่มนี้กันครับ สำหรับคนที่ต้องการหนังสือสตาร์ทอัพสร้างได้ใน 7 วัน ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปได้เลยครับผม
*หมายเหตุ: เนื้อหาการรีวิวหนังสือชุดนี้ เป็นการผนวกกันระหว่างแนวคิดจากหนังสือและแนวคิดจากแอดมิน CEO Blog ผสมกัน เพื่อให้รสชาติออกมากลมกล่อมในสไตล์ CEO
การสร้างสตาร์ทอัพภายใน 7 วัน สไตล์ Dan Norris
วันที่ 1 องค์ประกอบทั้ง 9 ของไอเดียที่ยอดเยี่ยม
องค์ประกอบที่ 1 เป็นงานประจำที่คุณทำแล้วสนุก
จากที่แอดมินได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจและการพัฒนาตนเองมาพอสมควรก็พบว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่ประสบความสำเร็จนั้น มักจะทำในสิ่งที่พวกเขาหลงใหล ทำแล้วรู้สึกสนุก ทำแล้วรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้ง เพราะการที่ทำอะไรที่เราสนุกแล้วนั้น ต่อให้ไม่มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็ยังยินดีที่จะทำมันอยู่ และยิ่งมีรายได้เข้ามาด้วยก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่
องค์ประกอบที่ 2 ผลิตภัณฑ์เหมาะกับตัวผู้ประกอบการ
หลาย ๆ คนอาจเห็นโอกาสทางธุรกิจจากธุรกิจเครื่องสำอาง แต่ตัวเองดันเป็นคนไม่ชอบการแต่งหน้า ไม่ชอบการแต่งตัว ไม่ชอบแต่งหน้าทาปาก แต่อยากทำเพราะอยากรวย อยากมีส่วนแบ่งกับเขาบ้างในธุรกิจนี้ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งธุรกิจที่ไม่เหมาะกับตัวคุณอาจพาคุณล่มได้ ดังนั้นแอดมินจึงสรุปได้ว่า ธุรกิจที่ดีควรประกอบด้วย 3 ข้อนี้ คือ
- เป็นสิ่งที่เราชอบ
- เป็นสิ่งที่เราทำได้ดี และ
- เป็นสิ่งที่มีคนยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับสิ่งนั้น
องค์ประกอบที่ 3 เป็นโมเดลธุรกิจที่ขยายและเติบโตได้
หากฟังความหมายจากนักธุรกิจสตาร์ทอัพแนวหน้าของเมืองไทยอย่างคุณหมู ผู้ก่อตั้ง Ookbee ให้คำจำกัดความของธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ จะต้อง Repeatable และ Scalable ได้ นั่นหมายถึงว่า ต้องสามารถทำซ้ำได้โดยที่ขยายธุรกิจที่ค่าใช้จ่ายไม่ได้เพิ่มเป็นเงาตามตัว ยกตัวอย่างจากธุรกิจ eBook ของ Ookbee นั้น สามารถขายอีบุ๊คไปเท่าไหร่ก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนในการพิมพ์หนังสือเป็นเล่มออกมา ดังนั้นแค่โฟกัสไปที่พัฒนาระบบอ่านอีบุ๊คและระบบป้องกันลิขสิทธิ์และระบบอื่น ๆ ที่จำเป็น แต่ไม่จำเป็นต้องทำอีบุ๊คซ้ำอีกแล้ว เพราะต่อให้ขายไปเป็นร้อยเป็นพันออเดอร์ก็แทบจะไม่มีต้นทุนในการผลิตอีบุ๊คเลย
องค์ประกอบที่ 4 สามารถดำเนินการและทำกำไรได้โดยที่ไม่ต้องมีผู้ก่อตั้ง
หากท่านเคยสังเกตธุรกิจแบบดั้งเดิมอย่างเช่นร้านขายเหล็กหรือวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างในแบบดั้งเดิมคือ มีเถ้าแก่เจ้าของร้าน คอยเก็บเงินและเฝ้าหน้าร้านอยู่ตลอดเวลา แบบนั้นคงไม่แฮปปี้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของปัจจุบันที่เน้นไลฟ์สไตล์เป็นหลัก ดังนั้นธุรกิจที่คุณก่อตั้งขึ้น คุณจะต้องคิดเอาไว้ตั้งแต่วันแรกเลยว่า เมื่อมันถึงเวลาที่จะต้องจ้างพนักงานหรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาดูแลแทน ในระหว่างที่คุณไม่อยู่หรือล้มหายตายจากไปแล้ว ก็สามารถให้คนอื่นทำแทนคุณได้
องค์ประกอบที่ 5 เป็นสินทรัพย์ที่ขายได้
ถ้าหากลูกค้าที่ซื้อของคุณคือรายได้ ดังนั้น รายชื่อและข้อมูลการติดต่อของลูกค้าคุณก็คือสินทรัพย์ดี ๆ นี่เอง เพราะเมื่อคุณมีข้อมูลการติดต่อของลูกค้าเก่าอยู่ในมือคุณ คุณสามารถนำเสนอขายสินค้าหรือบริการแก่กลุ่มคนเหล่านั้นได้อยู่เรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ลูกค้าคุณยังพึงพอใจในแบรนด์ของคุณอยู่
แต่หลาย ๆ ธุรกิจกลับพบว่า ไม่เคยเก็บข้อมูลลูกค้าเก่าเอาไว้เลย ได้แต่รอความหวังว่า สักวันหนึ่งเขาจะกลับมา ซึ่งอย่างมากก็อาจจะจำหน้าตาของลูกค้าขาประจำได้ แต่คุณก็ไม่รู้กระทั่งแม้แต่ชื่อแซ้ หรือสามารถติดต่อเขาได้เวลาที่คุณมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของสู่ท้องตลาด
จากประสบการณ์ของแอดมินเอง ได้ทดสอบแล้วว่า การเสนอขายสินค้าใหม่ให้กับลูกค้าเก่านั้น แอดมินได้ทั้งโทรไปแจ้ง อีเมล์ไปแจ้งลูกค้าเก่า เพื่อให้เข้ามาสั่งซื้อสินค้าใหม่ ก็พบว่าลูกค้าเก่าให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากพึงพอใจในสินค้าที่เคยอุดหนุนไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนการเสนอขายกับว่าที่ลูกค้าใหม่นั้น จะทำได้ยากกว่ามาก เพราะเขายังไม่เชื่อมั่นในแบรนด์และสินค้าของเรามากขนาดนั้น ดังนั้นจงเก็บข้อมูลและสร้างฐานรายชื่อลูกค้าของคุณซะ
องค์ประกอบที่ 6 มีความต้องการของตลาดสูง
จากบทความของ Noah Kagan ได้ให้แนวคิดก่อนเริ่มเริ่มต้นธุรกิจเอาไว้ว่า ตลาดที่คุณจะลงเข้าไปเล่นนั้น มันจะต้องมีมูลค่ามากพอที่จะทำให้ธุรกิจคุณเติบโตและมีเม็ดเงินเข้ามามากพอในระยะยาว เพราะหากตลาดนั้นเล็กเกินไป มีคนสนใจน้อยเกินไป ท้ายที่สุดธุรกิจก็จะไปไม่รอด เพราะธุรกิจจะดำรงอยู่ได้จำเป็นที่จะต้องมีลูกค้าอย่างพอเพียง
องค์ประกอบที่ 7 แก้ปัญหาได้ตรงจุดและสร้างความประจับใจที่แตกต่าง
ไอเดียธุรกิจของเรานั้น อาจแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้จริง แต่จงค้นหาให้ลงลึกไปยิ่งกว่านั้นว่า จริง ๆ แล้วต้นกำเนิดปัญหาของพวกเขานั้นมาจากไหน และมีปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วยหรือไม่ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเรียนรู้จากลูกค้าของคุณ เพราะลูกค้าของคุณจะเป็นคนบอกเอง
ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่แอดมินผลิตสินค้าประเภท DVD คอร์สเรียนนั้น แอดมินไปโฟกัสที่คุณภาพของภาพและเสียงอยากให้ออกมาดีที่สุด ทำให้ขนาดไฟลืมีขนาดใหญ่มาก และทำให้รองรับได้เฉพาะเครื่องเล่น DVD บางรุ่นเท่านั้น
มันทำให้เครื่องเล่น DVD ทั่วไป ไม่สามารถรับชมวีดีโอนั้นได้ หรือถ้ารับชมได้ก็จะเกิดอาการกระตุกขณะที่เล่นแผ่น จึงมีลูกค้าตอบกลับมาว่า ลดคุณภาพไฟล์ลงหน่อยก็ได้ แต่ขอให้เล่นลื่นไหลก็พอ ภาพไม่ต้องชัดมาก แต่หากเรียนรู้เนื้อหาภายในนั้นมากกว่า และนั่นก็ทำให้แอดมินตาสว่างเลยว่า ต่อจากนี้จะต้องสอบถามลูกค้าทุกครั้งหลังจากที่พวกเขาซื้อสินค้าหรือบริการไปแล้ว เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไข และให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด และนั่นก็สามารถที่จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
องค์ประกอบที่ 8 มีข้อได้เปรียบในการดึงดูดผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า
Dan Norris ได้ยกตัวอย่างจากนักการตลาดฝีมือขั้นเทพอย่าง Neil Patel ที่ทำการตลาดด้วย Content Marketing ที่เป็นข้อมูลการทำการตลาดออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ แบบพรีเมี่ยม แถมให้อ่านฟรี ๆ กันอีกด้วย เพราะสินค้าของเขาแล้วคือ ซอร์ฟแวร์ ที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเว็บไซต์ธุรกิจต่าง ๆ และด้วยควยามโดดเด่นในการทำ Content คุณภาพสูงของ Neil Patel ก็ส่งผลให้มันสามารถดึงดูดว่าที่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
องค์ประกอบที่ 9 สามารถเปิดตัวได้เร็ว
จงใช้ข้อมูลของลูกค้าในรุ่นแรก ๆ ในการพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดียิ่งขึ้น อย่าเสียเวลาเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมา เพราะกว่าจะถึงเวลานั้น ก็คงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี แต่อย่าลืมว่า ต้องเป็นสินค้า MVP และต้องใช้งานได้โอเคด้วยนะ
วันที่ 2 MVP คืออะไร?
จากหนังสือ The Lean Startup ที่เขียนโดย Eric Ries ให้คำจำกัดความของ MVP ว่า Minimum Viable Product หรือ ผลิตภัณฑ์ที่พอใช้การได้ ซึ่งผู้ประกอบการหรือเหล่าสตาร์ทอัพมักจะตีความผิด ๆ ว่าทำยังไงก็ได้ให้ผลิตสินค้าหรือบริการออกมาเร็วที่สุดแม้จะห่วยก็ตาม
ก็เป็นไปตามคาด เพราะส่วนใหญ่ผลิตสินค้าหรือบริการที่ห่วย ๆ ออกมา ก็ไม่แปลกที่จะไม่มีคนซื้อและไปไม่รอด ดังนั้นคำว่า MVP นั้น นอกจากที่จะต้องผลิตให้เร็วแล้ว ยังต้องใช้งานได้โอเคด้วย
CEO Note: จากประสบการณ์ของแอดมินเอง แอดมินเคยทำสินค้าประเภท Audio Book แบบแผ่นขาย ซึ่งในเวอร์ชั่นแรกสุด แอดมินใช้ห้องรับแขกเป็นที่อัดเสียง ไมค์อัดเสียงกับเครื่องอัดเสียงธรรมดา ๆ อย่างละตัว แล้วก็นำไฟล์เสียงไปตัดต่อเพื่อไรท์ลงแผ่นแล้วขาย ผลปรากฎว่า สิ่งที่กังวลเกี่ยวกับคุณภาพของเสียงนั้นเป็นรองไปเลย เพราะเนื้อหาภายใน Audio Book นั้นดีและมีประโยชน์ ผู้ฟังสามารถเอาไปใช้ได้ในทันที ทั้ง ๆ ที่คุณภาพของเสียงอัดนั้น ไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำไป แถมยังไม่มีห้องอัดโดยเฉพาะอีกต่างหาก เพราะถ้าหากลงทุนสร้างห้องอัดและอุปกรณ์อัดเสียงขั้นเทพ ก็คงจะหมดเงินไปเยอะสมพอสมควร แถมยังต้องมานั่งเครียดอีกว่า สินค้าจะขายออกหรือไม่ แต่ในท้ายที่สุด ไอ้เจ้าตัว Audio Book จุดแรกนี่แหละ ที่เป็นสินค้า Bestseller ของแอดมินตลอดกาล ในขณะที่ Audio Book ชุดต่อมา ใช้ห้องอัดและอุปกรณ์ที่เทพกว่าเดิมมาก แต่ยอดขายก็ยังสู้ชุดแรกไม่ได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นจงทำสินค้าที่ดีออกมาให้เร็วที่สุด และต้องใช้งานได้โอเคด้วย
วันที่ 3 ตั้งชื่อให้ธุรกิจ
ควรใช้เวลาไม่เกิน 1 วันสำหรับการตั้งชื่อ เพราะในฐานะที่คุณเป็นแบรนด์น้องใหม่แบบถอดด้าม ไม่มีใครเขาสนใจคุณมากนักหรอก โดยเฉพาะลูกค้า เพราะลูกค้าสนใจเพียงอย่างเดียวก็คือ มันสามารถช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง
อย่าไปซีเรียส เพราะตอนที่ Steve Jobs ตั้งชื่อบริษัท Apple นั้น เขาคิดได้ตอนที่กำลังไปอัพยาในฟาร์มแอปเปิ้ลแห่งหนึ่ง แล้วก็ บูมมมม! กลายเป็นโกโก้ครั้น
แม้กระทั่งแบรนด์ใหญ่ ๆ หลายแบรนด์ก็ยังเปลี่ยนชื่อแล้วเปลี่ยนชื่ออีก อย่างแบรนด์ Kaidee.com ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า OLX.co.th ซึ่งใช้งบประมาณก้อนใหญ่เลยทีเดียวกว่าที่จะเปลี่ยนให้ผู้คนจดจำในแบรนด์ใหม่ของพวกเขาได้
วันที่ 4 สร้างเว็บไซต์ในหนึ่งวัน
คุณเชื่อหรือไม่ว่า ภายในไม่กี่สิบนาที คุณก็สามารถมีเว็บไซต์ไว้พร้อมขายของออนไลน์ได้แล้วในสมัยนี้ ซึ่งแอดมินได้ทำวีดีโอเกี่ยวกับการ สร้างเว็บไซต์ด้วยตนเอง ภายใน 1 ชั่วโมง ด้วย WordPress เอาไว้ (ซึ่งเมื่อคุณชำนาญขึ้นคุณสามารถสร้างเว็บไซต์ใหม่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น)
วันที่ 5 สิบวิธีนำธุรกิจออกสู่ตลาด
บางแนวทางอาจจะไม่เหมาะกับบ้านเรา แต่สามารถดูเป็นแนวทางเพื่อปรับใช้ให้เข้ากับบ้านเราได้
วิธีที่ 1 สร้าง Content ในเว็บไซต์ของคุณ
Content is KING ยังคงสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบแพลตฟอร์มที่มันอยู่หรือเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเท่านั้นเอง
Content ที่ดีจะช่วยดึงดูด ให้ผู้คนที่เป็นว่าที่ลูกค้าของคุณเข้ามา ที่เหลือมันก็ขึ้นอยู่กับทักษะในการปิดการขายของคุณแล้วทีนี้
คุณสามารถเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ Content Marketing บนเว็บไซต์ของ CEO Blog ได้เลย
วิธีที่ 2 ส่งอีเมล
อย่างที่บอก ว่ารายชื่อและข้อมูลการติดต่อของลูกค้านั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะในครั้งแรกที่พวกเขาเห็นเราแต่ยังไม่ได้อุดหนุนสินค้าหรือบริการของเรานั้น แต่หากมีการติดต่ออยู่เรื่อย ๆ คุณก็สามารถมีโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้นก่อนส่ง Email คุณต้องเรียนรู้การเก็บ Email จากกลุ่มเป้าหมายและผู้ชมของคุณเสียก่อน หรือหากคุณยังไม่มีเว็บไซต์ ก็แนะนำให้ใช้ Facebook Lead Ads ในการเก็บข้อมูลว่าที่ลูกค้าก่อนได้ (แต่ยังไงผมก็แนะนำให้คุณมีเว็บไซต์อยู่ดี)
วิธีที่ 3 ทำรายการ Podcast
ในบ้านเราคำว่า Podcast อาจจะฟังแล้วไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่นัก ถ้าแปลเป็นไทยก็จะประมาณว่า มันคือการจัดการรายการทีวีหรือวิทยุออนไลน์ขึ้นมา เสมือนกับว่าคุณเป็นผู้ดำเนินรายการ แล้วโพสต์มันลงไปในช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Youtube เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนได้ หรืออย่างในสมัยนี้ก็จะฮิต Facebook Live คุณก็สามารถใช้มันจัดรายการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคุณได้เช่นกัน
วิธีที่ 4 เข้าเว็บบอร์ดและกลุุ่มออนไลน์
แน่นอนว่า เว็บไซต์ที่เราสร้างขึ้นมาเสร็จหมาด ๆ นั้น มันแทบไม่มีใครเข้ามาเยี่ยมชมหรอก แต่หากคุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเว็บบอร์ดและกลุ่มออนไลน์ต่าง ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมของคุณ โดยเข้าไปแลกเปลี่ยน พูดคุย จนกระทั่งนำไปสู่การปิดการขายก็สามารถทำได้ และในหลาย ๆ เว็บบอร์ด ก็อนุญาตให้คุณสามารถขายสินค้าได้อย่างเปิดเผยอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อควรระวังก็คือ คุณต้องเคาระกฏเกณฑ์ของกลุ่มนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด เพราะมันเป็นพื้นที่เฉพาะส่วนบุคคล ที่มีแอดมินคอยดูแลอยู่ และหากคุณเผลอทำผิดกฏ (จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่) คุณก็อาจหมดสิทธิ์เข้าร่วมในกลุ่มนั้น ๆ ไปตลอดกาล ซึ่งมันก็จะทำให้คุณสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปอีกช่องทางหนึ่ง
วิธีที่ 5 เขียนโพสต์หรือบทความบนเว็บของชาวบ้าน
ภาษาฝรั่งจะเรียกว่า Guest Post วิธีการคือให้คุณหาเว็บชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับคุณ แล้วเสนอตัวเขียนบทความให้กับพวกเขาแบบฟรี ๆ ซึ่งก็ต้องเป็นบทความที่ดีมีคุณภาพ และเป็นประโยชน์กับกลุ่มแฟนคลับของพวกเขาด้วยนะ เพราะยังไงแล้วบรรดาเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ต้องการ Content ที่ดีและมีคุณภาพอยู่แล้ว
วิธีที่ 6 ประกาศในเว็บไซต์ประเภทรวมรายชื่อ
วิธีนี้ในประเทศไทยอาจมีตัวเลือกไม่มากนัก และไม่เป็นที่นิยม แอดมินขอข้ามเลยก็แล้วกัน
วิธีที่ 7 จัดสัมมนาออนไลน์
Webinar คือการจัดสัมมนาออนไลน์ ที่แม้คุณจะอยู่ที่บ้าน คุณก็สามารถจัดสัมมนาให้แก่บรรดาผู้ที่ติดตามคุณได้ ซึ่งข้อดีคือ มันช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางของทั้งผู้พูดและผู้ฟังได้ แถมยังไม่ต้องไปเสียค่าเช่าห้องจัดสัมมนาอีกด้วย เพียงแค่คุณเตรียมเนื้อหาลง PowerPoint ไว้ให้พร้อม หลังจากนั้นก็แจ้งผู้ติดตามว่าคุณจะจัดขึ้นในวันและเวลาใด
วิธีที่ 8 จัดงานอีเวนท์
แน่นอนว่า แม้ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นธุรกิจออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การที่ผู้คนมาพบปะกันจริง ๆ นั้นก็ยังจำเป็นอยู่ ซึ่งการจัดงานอีเวนท์นั้น จะช่วยให้เหล่าบรรดาผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน มาพบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึงการต่อยอดทำธุรกิจร่วมกันอีกด้วย เพราะยังไงซะถ้าคุณจะดีลธุรกิจหลักล้าน คุณก็จำเป็นที่จะต้องคุยและเจอหน้ากันแบบตัวต่อตัวอยู่ดี เพราะมันออกจะยากสักหน่อยหากจะให้ใครสักคนโอนเงินให้คุณล้านนึงทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน
วิธีที่ 9 ทำงานให้ชาวบ้านฟรี ๆ
แน่นอนว่าหากคุณไม่มีทุนในการทำการตลาดมากนัก นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ Dan Norris แนะนำ เพราะมันจะเข้าหลักที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้” ยกตัวอย่างเช่น มีนักวาดรูปคนหนึ่ง เขาวาดรูปได้สวยมาก เขาจึงวาดรูปให้เหล่าดาราและเซเลปแบบฟรี ๆ และเหล่าดาราก็โพสรูปวาดนั้นลงอินสตาแกรม จนกระทั่งเกิดเป็นกระแสขึ้นมา ว่าใครวาดรูปให้ และหลังจากนั้น ศิลปินคนนี้ก็สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะภาพที่ดาราโพสลงอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามนับล้าน ๆ คนได้เห็นผลงานของเขา ซึ่งถ้าจ้างให้เหล่าดาราโพสรูปให้ ก็นับเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
วิธีที่ 10 ออกสื่อ
แน่นอนว่างบประมาณของคุณไม่เพียงพอที่จะออกสื่อใหญ่ ๆ อย่างทีวีได้เป็นแน่แท้ ดังนั้น วิธีแบบลูกทุ่งของ Dan Norris ก็คือ การรวบรวมรายชื่อสื่อต่าง ๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วติดต่อและส่งเรื่องราวของคุณไป อย่าขายเด็ดขาด แต่ให้คุณเล่า Story ของแบรนด์คุณ
วิธีต่อมาก็คือ ติดต่อเพื่อน ๆ ในแวดวงนักธุรกิจของคุณให้ช่วยแนะนำแบรนด์ของเราแก่สื่อ เมื่อมีโอกาส
ซึ่งแนวทางนี้อาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่หากสำเร็จมันก็คุ้มค่าพอตัวทีเดียว
วันที่ 6 ตั้งเป้า
การตั้งเป้าหมายนั้นสำคัญ เพราะมันจะทำให้คุณมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำธุรกิจแบบล่องลอยไปเรื่อยเปื่อย
ธุรกิจคุณอยู่ระยะไหน
- ทดสอบไอเดีย
- เปิดตัว MVP
- ทดสอบโมเดลธุรกิจ
- ช่วงเติบโต
วัดอะไร
- คนต้องการผลิตภัณฑ์นี้จริงหรือไม่
- มีคนสมัครใช้งานกี่คน
- มีกำไรเกิดขึ้นเท่าไหร่
- วิเคราะห์ต้นทุนในการสร้างฐานลูกค้า CPA – Cost Per Action และมูลค่าตลอดช่วงชีวิตของลูกค้า LCV – Lifetime Customer Value
วัดยังไง
- ให้ถามลุกค้าที่มีอยู่ว่า หากคุณปิดตัวธุรกิจนี้พวกเขาจะปิดหวังไหม
- ดูยอดการสมัครในสัปดาห์แรกหรือเดือนแรก
- เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์กำไรระหว่างที่คุณบริหารเองอยู่กับจ้างคนอื่นมาบริหารแทน
- CPA สามารถคำนวณได้อย่างไม่ยาก หากคุณใช้การลงโฆษณากับ Google Adwords หรือ Facebook Ads ที่จะมีรายงานให้คุณหลังจากลงโฆษณาไปแล้วว่า คุณใช้งบประมาณไปเท่าไหร่และได้ฐานข้อมูลว่าที่ลูกค้ามากี่ราย ส่วน LCV นั้น ก็ให้คุณลองคำนวณดูว่าตลอดช่วงชีวิตของลูกค้า เขาจะจ่ายให้เราเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่
แบบไหนถึงจะเรียกว่าสำเร็จ
- ถ้าลูกค้ามากกว่าร้อยละ 40 บอกว่าเสียใจหากคุรปิดตัวกิจการลง ก็ถือว่าใช้ได้ล่ะ
- สำหรับแดนแล้วอย่างน้อยต้องมีลูกค้าเดือนละ 10 คนขึ้นไป
- อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้มีกำไรที่บริษัทสามารถเลี้ยงดูตัวมันเองได้ แต่หากเป็นธุรกิจประเภทให้บริการก็ควรมีกำไร 50% ขึ้นไป
- ค่า CPA ยิ่งต่ำยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่ถูกลง และค่า LCV ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่คุณมีโอกาสจะได้รับจากลูกค้าของคุณ
วันที่ 7 เปิดตัว
ถึงเวลาเปิดตัวแล้ว อย่าลืมเช็คให้เรียบร้อยว่า ปุ่มชำระเงินของคุณนั้นไม่มีปัญหาอะไร เตรียมพร้อมรับมือกับคำถามที่จะเกิดขึ้นจากลูกค้า เตรียม Content เตรียมเว็บไซต์ ให้พร้อม แล้วส่งอีเมลไปหากลุ่มเป้าหมายของคุณเพื่อแจ้งเปิดตัว และ อย่าซีเรียส! เพราะหากมันปังคุณก็ไปต่อ แต่หากแป๊ก คุณก็แค่ใช้เวลาอีก 7 วันในการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาก็เท่านั้นเอง ขอให้คุณโชคดี
และนี่ก็คือรีวิวเนื้อหาภายในหนังสือ สตาร์ทอัพสร้างได้ใน 7 วัน เขียนโดย Dan Norris และแอดมินก็หวังว่าในช่วงของ CEO Book จะถูกใจแฟน ๆ บ้างไม่มากก็น้อย อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ ให้กับเพื่อน ๆ ของคุณที่กำลังมองหาลู่ทางเริ่มต้นทำธุรกิจกันนะครับ