รัฐธรรมนูญไทยมาตรา 1 มีใจความสำคัญอย่างไร

thailand-constitution-clause-1

กรณีคำอภิปรายช่วงหนึ่งของ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ในเวทีเสวนาเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2562 ได้มีการพูดถึงการแก้ไข มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นได้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอันนำไปสู่การเคลื่อนไหวของ กอ. รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษความผิดมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ต่อ อาจารย์นักวิชาการ และ 7 พรรคฝ่ายค้านที่อยู่ในงานเสวนา

วันนี้เราจึงจะมาทำความรู้จักตัวบทกฏหมายว่าด้วย มาตรา 1 กันอีกครั้ง ว่ามีใจความสำคัญอย่างไร และทำไมจึงเกิดเป็นประเด็นดังกล่าว

รศ.มานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอธิบายถึงนัยสำคัญของ ‘มาตรา 1’ ของรัฐธรรมนูญไทย ดังนี้

ใจความสำคัญ ของรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 1, 2 และ 3

มาตรา 1 (รูปแบบรัฐ)
ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

มาตรา 2 (รูปแบบการปกครอง)
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา 3 (อำนาจอธิปไตย)
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ประเด็นสำคัญโดยองค์รวม

ประการแรก กฎหมายใดก็ตามถ้ามีเนื้อหาเป็นมาตรา 1 และอยู่ในบททั่วไป โดยหลักกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้รับการวางไว้ในข้อแรก ประการต่อมา รัฐธรรมนูญมาตรานี้รับรองเรื่องรูปแบบของรัฐว่า ประเทศไทยจะต้องมีรูปแบบเป็นรัฐเดียวเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะเป็นมลรัฐ หรือสหพันธรัฐฯ โดยมีคำว่า ‘ราชอาณาจักร’ หมายถึงอาณาจักรที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1

หากมีข้อเสนอเรื่องการแก้ไขมาตรา 1 ก็จะไปชนกับ มาตรา 225 ที่ระบุว่า

‘การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้’

ดังนั้น ทั้งแนวคิดและการกระทำที่จะแก้มาตรา 1 ย่อมทำมิได้ เพราะได้มีการบัญญัติปกป้องไว้ใน มาตรา 225

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ ยังมีหลักการที่เรียกว่า Eternity Clause หรือ บทบัญญัตินิรันดร์ ซึ่งเป็นหลักการสากลที่มีในกฏหมายของประเทศอื่น ๆ โดยหลักการของ บทบัญญัตินิรันดร์ คือจะไม่มีการไปแตะต้องข้องแวะกับบทนั้น ๆ

รูปแบบการปกครองพิเศษ

รศ.มานิตย์ จุมปา ให้ข้อมูลผ่านสื่อ BBC กรณีรูปแบบการปกครองพิเศษต่าง ๆ ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีมาตรา 249 ว่าด้วยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยไม่ต้องแตะมาตรา 1 โดยระบุไว้ใน มาตรา 249 วรรค 2

‘ภายใต้บังคับมาตรา 1 ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน’

คำว่า ‘ภายใต้บังคับมาตรา 1’ แปลว่าไม่ว่าจะออกแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดก็ตาม ห้ามขัดต่อหลักการในมาตรา 1

การเสนอเรื่องนี้ถือว่ามีความผิดหรือไม่

รศ.มานิตย์ จุมปา ให้ข้อมูลผ่านสื่อ BBC ว่าหนึ่งในสิ่งที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง คือ เสรีภาพในทางวิชาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 34 ว่า

‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น’

ถ้าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปภายใต้บทบัญญัตินี้ คือ ใช้เสรีภาพทางวิชาการอยู่และไม่ได้มีการบิดเบือนบุคคลก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ดร. ชลิตา พูดว่าอะไร

ดร. ชลิตา บัณฑุวงศ์ มีการกล่าวถึง มาตรา 1 ในส่วนท้ายสุดของการอภิปราย บนเวที วันที่ 28 ก.ย. 2562 โดยได้นำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อความกระจ่างต่อผู้สงสัย ถ้อยความดังนี้ :

“สรุปสุดท้าย ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่าเราสามารถใช้เวทีรัฐธรรมนูญมาถกเถียงถึงใจกลางของปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้

ฉะนั้นเราต้องการรัฐที่มีความแยกย่อย ยืดหยุ่น มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ สามารถจินตนาการถึงการเมืองประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ดิฉันหวังว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เราจะมีพื้นที่จะสามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ เราจะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะถกเถียงกันในมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญที่เราจะแก้ไข (ปัญหาชายแดนใต้) ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร”