Tesco Lotus พบคนไทยซื้อของออนไลน์มากขึ้น เป็นสัญญาณรุก Omni-Channel เต็มกำลัง

บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเครือร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่นาม เทสโก้โลตัส ในไทยพบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ได้มีการนำระบบอีคอมเมิร์ซมาใช้กับทางห้างฯ และได้ผลว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตของพฤติกรรมผู้บริโภคซื้อของออนไลน์มากเป็นอันดับต้น ๆ นับเป็นสัญญาณที่ดีในการ บุก Omni-Channel เต็มกำลังสำหรับ เทสโก้โลตัส ในไทย

Mark Roughley, ผู้อำนายการฝ่ายการตลาด เทสโก้โลตัส เผยต่อสื่อว่า ปี ค.ศ. 2017 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 67% ของประชากรเทียบกับเดือน มกราคม ปี ค.ศ. 2017 ที่มีผู้ใช้คิดเป็น 56% ของประชากร

แนวโน้มของผู้บริโภคคือเมื่อเห็นสินค้าและบริการใด ๆ แล้วไม่ว่าจะผ่านทางสื่อสิ่งดั้งเดิมอย่าง สิ่งพิมพ์และโทรทัศน์, สื่ออินเตอร์เน็ต, หรือผ่านพบด้วยตัวเอง มักจะต้องเข้าไปค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตก่อนตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้วก็อาจกลับมาซื้อทางหน้าร้าน หรือซื้อผ่านออนไลน์ก็ได้ หรืออาจเรียกใช้บริการ Third party ในการไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านและนำมาส่งยังจุดนัดรับสินค้าก็เกิดขึ้นแล้ว!

กล่าวโดยสรุปคือ ผู้บริโภคมีเส้นทางของ Customer Journey ที่หลากหลาย สุดจะคาดเดา และร้านค้าปลีกไม่อาจดำเนินกิจการแบบเดิม ๆ ได้อีก นั่นคือการเปิดร้านแล้วรอลูกค้ามาซื้อ หรือการทำโปรโมชั่นแรง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน — Mark Roughley กล่าวต่อสื่อว่า

“…We have been witnessing an increasing number of omnichannel customers. […] We know that convenience is key for these customers. And we also know that mobile and innovation is the secret to attracting and connecting with omnichannel customers…”

Source : Bangkok Post; Tesco aims to boost online sales 

การแข่งขันของค้าปลีกออฟไลน์คือ ความสะดวก

ประโยคสัมภาษณ์ของผู้บริหารดังกล่าวสื่อให้เห็นว่า โปรโมชั่นของร้านค้าปลีกต่าง ๆ กลายเป็นกิจกรรมปกติมากกว่าจะเป็นกลยุทธ์สำคัญเหมือนในอดีต และสิ่งที่จะกลายมาเป็นกลยุทธ์ใหม่ก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าจากทุกทิศทาง ซึ่งไม่พ้น Omni-Channel

คำว่า Omni มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน ‘Omnis’ ที่แปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง — Omni-Channel จึงเป็นการทำธุรกิจที่อาศัยทุกช่องทางที่อำนวยเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมา เทสโก้โลตัส เข้าถึงลูกค้าทุกพื้นที่ด้วยโมเดลหน้าร้านหลากหลายขนาดและวัตถุประสงค์ ได้แก่

  • เทสโก้โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต
  • เทสโก้โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต
  • เทสโก้โลตัส เอ็กเพรส
  • เทสโก้โลตัส เอ็กซ์ตร้า
  • เทสโก้โลตัส คุ้มค่า (Compact Hypermarket)
  • รวมทั้งสิ้น 1947 สาขา (โดยประมาณ ณ ปลายปี 2016)

ที่มา : th.wikipedia.org/wiki/เทสโก้_โลตัส 

รุกฝั่งออนไลน์

ในปี 2013 เทสโก้โลตัส เปิดตัว Tesco Lotus Shop Online เพื่อประสบการณ์การสั่งซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งมีสินค้ามากกว่า 20,000 รายการ ปีต่อมาขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสู่เว็บไซต์ Lazada และตามมาด้วยบริการ Click and Collect ในปี 2016 เป็นการเปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์และไปรับของยังสาขา

ในปีเดียวกันนั้น (ค.ศ. 2016) ได้จับมือกับ Happy Fresh ผู้ให้บริการประเภท Personal Shopper รับออเดอร์ ไปซื้อสินค้า และนำไปส่งให้ลูกค้าถึงที่นัดพบ ต่อด้วยการเปิดบัญชีกับเว็บ อีคอมเมิร์ซมาร์เก็ตเพลส อย่าง We Love Shopping เหล่านี้เป็นไปเพื่อขยายกำลังการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกเครือข่ายตนเอง — ทั้งหมดนี้ยังไม่นับช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าที่มีทั้ง Facebook Business Page กว่า 3 ล้าน Likes, ฐานสมาชิกใน Line@ และ Mobile App. ของแบรนด์เอง

Info-graphic จัดทำโดยเว็บไซต์ Positioning

ต้องเข้าถึงลูกค้าทุกทิศทาง

สถิติและผลลัพธ์จากการดำเนินกิจการออฟไลน์ควบคู่ไปกับออนไลน์ชัดเจนพอที่ทีมบริหารมั่นใจว่าถึงเวลาเดินธุรกิจแบบ Omni-Channel อย่างเต็มกำลัง โดย Mark Roughley กล่าวทิ้งท้ายว่ามีโอกาสที่จะเห็นการเติบโต สองเท่า (Double-digit growth) จากฝั่งออนไลน์ในอนาคตอันใกล้