ประวัติ Tadashi Yanai แห่ง Uniqlo

Uniqlo คือธุรกิจแฟชั่นค้าปลีกที่ใหญ่เป็นลำดับ 3 ของโลกด้วยมูลค่ากว่า 8 พันล้านเหรียญ (เดือนมีนาคม 2018) เรื่องราวของ Uniqlo เริ่มต้นที่ร้านสูทเล็ก ๆ ในเมืองฮิโรชิม่าและจากวิสัยทัศน์ของ Tadashi Yanai ลูกชายเจ้าของร้านที่กล้าเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจผสมเข้ากับการบริหารสไตล์ญี่ปุ่นที่ล้มได้ก็ลุกได้ เราจะมาดูกันว่า Tadashi Yanai ทำอย่างไรจึงผลักดันให้ Uniqlo ก้าวขึ้นมาต่อกรกับแบรนด์ชั้นนำอื่น ๆได้อย่างทัดเทียม

จากลูกชายช่างตัดสูท สู่อาณาจักรเสื้อผ้าพันล้าน

Tadashi Yanai เกิดที่ยูเบะ ยามากูชิ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1949 โดยพ่อของเขาเป็นช่างตัดสูทที่ร้านเล็ก ๆของครอบครัวแห่งหนึ่งในฮิโรชิม่า ต่อมาเขาเรียนจบระดับมัธยมที่ Ube High School และเรียนต่อที่ Waseda University จนจบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ในปี 1971

หลังจากจบการศึกษา Tadashi ไม่เคยมีความคิดที่จะกลับไปสานต่องานของครอบครัวเลย เขาจึงเข้าทำงานเป็นพนักงานขายเครื่องครัวและเสื้อผ้าผู้ชายที่ห้าง Jusco แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายเขาก็ต้องกลับไปช่วยงานของทางบ้านอยู่ดี เมื่อถูกคุณพ่อเรียกตัวหลังจากทำงานได้เพียง 10 เดือนเท่านั้น

แม้จะทำงานข้างนอกเป็นเวลาสั้น ๆ แต่ประสบการณ์ที่เขาได้รับคือการเรียนรู้การจัดการคลังสินค้าและการจัดวางสินค้าอย่างเป็นระบบ เมื่อกลับมาช่วยงานที่บ้านด้วยความเป็นมือใหม่ไฟแรง Tadashi ตัดสินใจทำการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานทั้งหมดทันที ผลที่ตามมาคือ พนักงานทนไม่ไหวทยอยลาออกจนเหลือเพียง 1 คน ทำให้ Tadashi ต้องลงมือทำเองทุกอย่าง ทั้งการทำความสะอาด ลงบัญชี สั่งของและขายของ

Tadashi กล่าวในภายหลังว่า แม้ช่วงเวลานั้นจะลำบากมาก แต่เขาก็ได้รับประสบการณ์ดี ๆ กลับมาอย่างมากมาย

จุดเปลี่ยนเมื่อมองเห็นโอกาสทางธุรกิจรูปแบบอื่น

ความหันเหทางแนวธุรกิจของเขาเกิดขึ้นเมื่อเขามีโอกาสเจอ จิมมี่ ไร เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ Giordano ทำให้เขารู้จักเสื้อผ้าสไตล์ Casual Wear เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเมื่อเขาไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เขาได้เห็นความสำเร็จของแบรนด์เสื้อผ้าในแนว casual wear และยิ่งเห็นร้านค้าหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยนักศึกษาที่เข้ามาเลือกซื้อเสื้อยืดและฮู้ท เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงร้านสูทของที่บ้านมาเป็นร้านในสไตล์ casual wear ที่ขายเสื้อยืดและเสื้อกันหนาวราคาถูก ที่ให้ลูกค้าตัดสินใจและเลือกซื้อเอง เพราะมองว่าธุรกิจแนวนี้มีโอกาสเติบโตได้ไว

เมื่อกลับถึงญี่ปุ่นและใช้เวลาศึกษาระบบและลองผิดลองถูกอยู่พักหนึ่ง ร้าน Uniqlo สาขาแรกก็เกิดขึ้นที่ฮิโรชิม่าในปี 1984 เป็นร้านที่จำหน่ายเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ให้กับทุกคนโดยไม่จำกัดทั้งเพศ และอายุ ภายหลังเปิดสาขาแรก Uniqlo ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า นั่นทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทของพ่อจาก Ogorishoji เป็น “Fast Retailing” ในปี 1991

ในปี 1994 Uniqlo ก็มีสาขาทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น 100 สาขา ต่อมาเขาจึงตัดสินใจเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยสาขาแรกในต่างประเทศอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนในปี 2002 และมีสาขาที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ 4 สาขา ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 21 สาขา แต่การตัดสินใจขยายสาขาที่เร็วเกินไปในอังกฤษได้ย้อนกลับมาสร้างแผลขนาดใหญ่ให้แก่เขา เพราะทำให้ Uniqlo ประสบกับวิกฤติ เมื่อยอดขายตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เหลือสินค้าค้างสต็อกมากมาย จึงจำเป็นต้องปิดสาขาที่อังกฤษถึง 16 สาขา

Tadashi ต้องหยุดทบทวนแผนธุรกิจของตนเองอีกครั้ง ภายหลังเขาได้ร่วมมือกับดีไซน์เนอร์ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงสินค้าของตนเองครั้งใหญ่ และนั่นจึงทำให้เขารอดพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างหวุดหวิด

ความล้มเหลวในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเคยเผชิญ เมื่อครั้งที่กลับจากดูงานใหม่ ๆ เขาเริ่มต้นทำเสื้อผ้ากีฬาออกจำหน่ายแต่กลับล้มอย่างไม่เป็นท่า แต่เขาก็ไม่ย่อท้อสู้ต่อจนได้กลายมาเป็น Uniqlo ในวันนี้
นับจากวิกฤติของ Uniqlo ในครั้งนั้นที่เขาได้เรียนรู้ บวกกับบุคลิกชอบเสี่ยงอย่างรอบคอบและมีแผนการรองรับที่ดี จึงทำให้ Uniqlo เป็นร้านค้าปลีกอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 3 ของโลก ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,800 สาขาใน 18 ประเทศทั่วโลก

กุญแจสู่ความสำเร็จของ Uniqlo

1. เข้าใจในระบบการทำงานอย่างถ่องแท้

ความสำเร็จของธุรกิจอย่างแรกอยู่ที่การเข้าใจในระบบการทำงานและกลไกในการดำเนินงานอย่างถ่องแท้หรือไม่ ผู้บริหารอาจไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกอย่าง แต่ควรจะรู้จักขั้นตอนการทำงานทุก ๆ อย่างเป็นอย่างดี เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาจะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

2. ตั้งเป้าหมาย มุมานะอย่างไม่ย่อท้อ

ไม่ว่าจะทำงานอะไร เป้าหมายคือสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อที่จะได้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง และพึงจำเอาไว้ว่าการเดินไปสู่เป้าหมายนั้นไม่มีอะไรที่ง่าย ความมานะอดทนและไม่ย่อท้อคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความสำเร็จนั้น

3. คุณภาพสินค้าและบริการเป็นสิ่งที่สำคัญ

คุณภาพของสินค้าและการให้บริการที่ดีจะช่วยซื้อใจของลูกค้าได้ สิ่งที่ควรคำนึงถึงเสมอไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามคือ “จงซื่อสัตย์และจริงใจต่อลูกค้า” เมื่อเราให้สิ่งเหล่านี้ ลูกค้าก็จะมอบความภักดีต่อแบรนด์กลับคืนมา

แนวคิดที่คุณสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจและชีวิต

1. เรียนรู้จากความล้มเหลว

ไม่เคยมีใครที่ไม่ล้มเหลว ความล้มเหลวช่วยสอนบทเรียนที่มีค่าให้เรามากมาย อย่ายอมแพ้ต่อการล้มและจงลุกขึ้นสู้อีกครั้ง นำพาความล้มเหลวเป็นบทเรียนและประสบการณ์ แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ

2. ทำอะไรต้องเอาจริงเอาจัง

ผู้บริหารคือหัวเรือใหญ่ขององค์กร ความตั้งใจจริงของผู้บริหารคือสิ่งที่จะตัดสินชะตาและกำหนดอนาคตของบริษัท ฉะนั้นหากคิดจะทำอะไรต้องเอาจริงเอาจังเสมอ จำไว้ว่าโลกแห่งธุรกิจไม่ใช่การเล่นขายของ และไม่เคยมีที่ว่างให้คนเหลาะแหละ

ความสำเร็จของ Uniqlo เกิดจากวิธีคิดและวิธีบริหารธุรกิจสไตล์ญี่ปุ่นของ Tadashi Yanai ซึ่งได้พิสูจน์ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งมาแล้ว จงอย่ากลัวที่จะตั้งเป้าหมาย และอย่ากลัวการล้ม เพราะแม้แต่คนเก่ง ๆ ล้วนผ่านบทเรียนนี้มาทั้งสิ้น มันขึ้นอยู่กับคุณว่าจะเลือกเรียนรู้สิ่งใดจากความล้มเหลวนั้น และนำมาพัฒนาตนเองได้ขนาดไหน หากคุณไม่ยอมแพ้เสียอย่าง ความสำเร็จก็คือสิ่งที่คุณปรารถนาเอาไว้ได้เลย